‘บรรยง’ชวนจับพิรุธรฟท.ซื้อโบกี้4พันล. ประมูลผิดสังเกต-บ.ก่อสร้าง-โรงแรมได้

21 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2013 ครั้ง

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich ระบุว่า เกรงใจประชาชนซะบ้างเถอะครับ....(20 ตุลาคม 2557)

ใครเห็นข่าวการจัดซื้อรถไฟโดยสารรุ่นใหม่ของรฟท. 115 คัน เกือบ 4,700 ล้านบาท แล้วรู้สึกยังไงบ้างครับ...ผมขอเรียบเรียงความรู้สึกส่วนตัวให้ฟังนะครับ

- การจัดซื้อรถใหม่ย่อมเป็นเรื่องดี เพราะรถเก่านั้นสภาพโหลยโท่ย ไม่มีใครอยากนั่ง (แถมไม่ปลอดภัย..อย่างกรณีน้องแก้ม) ...แต่ผมสงสัยหน่อย ๆ ว่า ได้มีการศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ เรื่องความคุ้มทุนหรือเปล่า จะตั้งราคาดี แข่งกับรถทัวร์ และเครื่องบิน อย่างที่ท่านปลัดฯ ว่าได้จริงไหม (พูดอย่างนี้ แสดงชัดว่า ต้องการแข่งขัน ไม่ใช่สวัสดิการปชช.ที่อาจยอมขาดทุนได้อย่างที่ชอบอ้าง ๆ กัน) ...เรื่องนี้น่าจะมีการเปิดเผยรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ต่อสาธารณะได้นะครับ

- สมมุติว่ามีการศึกษาความเป็นไปได้จริง ...ซึ่งเค้าก็ต้องทำให้เป็นไปได้อยู่แล้ว ผมก็ยังคงสงสัยอยู่ดีว่า การซื้อโบกี้ที่มีที่นั่ง 36 ที่ ในราคา 40 ล้านบาทนั้น มันคุ้มค่าได้อย่างไร ในเมื่อรถทัวร์ 36 ที่นั่ง มันคันละ 4.0 ล้านบาทเอง (ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ของรฟท.มากกว่าของเอกชนแน่นอน) รฟท.ที่มีขาดทุนสะสมกว่าแสนล้านบาทควรที่จะลงทุนเพิ่มเรื่องนี้เองหรือไม่

สรุปเบื้องต้นว่า....ในประเด็นแรก ผมสงสัยมากว่า ที่ซื้อนี่ ...ควรซื้อ หรือ อยากซื้อ

ที่นี้ก็มาถึงประเด็นสำคัญ คือ วิธีการจัดซื้อ

- ในข่าวไม่ได้มีการเปิดเผยว่าจัดซื้อกันอย่างไร มีการประมูล หรือจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ ...ถ้าประมูล เริ่มต้นวิเคราะห์ออกแบบ TOR กันอย่างไร กำหนดราคากลางด้วยวิธีใด มีใครเข้าประมูลบ้าง เสนอราคากันเท่าใด ...ถ้าจัดซื้อวิธีพิเศษ ก็คงต้องเปิดเผยรายละเอียดยิ่งขึ้นอีก ว่าทำไมต้องพิเศษ เร่งด่วนอย่างไร สืบราคากันดีแล้ว วิเคราะห์ทางเลือกอื่น ๆ (เช่น ต่อเองอย่างที่เคยทำ)

         “ที่งงกว่านี่ก็คือ ผลสุดท้ายของการได้คู่ค้านี่แหละครับ ...ในกิจการร่วมค้าบีบีซี ที่ได้สัญญาไปนั้น บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ น่ะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่อีกสองบริษัทไทย คือ บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จก. กับ บ. ร่วมมิตรเหมืองแร่ จก. ...เห็นชื่อแล้วชวนให้สงสัยอยู่ ว่าเข้ามามีส่วนร่วม มีบทบาทยังไงในเรื่องนี้ ...จะว่า เค้าใช้แคร่ไม้ไผ่ทำเตียงนอนรถไฟ หรือจะประดับดอกกล้วยไม้ทั้งขบวน หรือ ว่าเค้าต้องเริ่มจากการขุดแร่ถลุงเหล็กไปทำโบกี้ มันก็ฟังดูไม่เข้าเค้า ...ก็เลยเกิดคำถามต่อว่า ทำไมต้องมี เค้ามีหน้าที่อะไร ในช่วงไหน แล้วได้อะไรตอบแทนบ้าง ...งานขนาดนี้ คงต้องดูถึงประสพการณ์ ความชำนาญ ความมั่นคงของคู่สัญญาให้ดีด้วย และถ้าจะให้ดี คู่สัญญาทุกฝ่าย จะต้องเปิดเผยข้อตกลงระหว่างกันทั้งหมดด้วย จะได้รู้ว่า ใครทำอะไร ได้อะไร มีเรื่องไม่ถูกต้องบ้างหรือเปล่า...ทำไมรฟท.ไม่ติดต่อซื้อตรงจากผู้ผลิต เรื่องเหล่านี้มันชวนสงสัยไปหมด” นายบรรยงระบุ

นายบรรยงระบุต่อว่า ขอกราบเรียนว่า....ทั้งหมดนี่ยังไม่ใช่ข้อกล่าวหาใด ๆ เป็นเพียงข้อสงสัย ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา และเป็นสิทธิ์ของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ที่จะตั้งข้อสงสัยได้ ...อย่าว่าแต่ในสังคมเรา มันมีแต่เรื่องชวนให้สงสัยชวนให้ระแวงไปทั้งสิ้น ตั้งแต่ซื้อไมโครโฟนราคาไม่กี่ล้าน ไปจนถึงโบกี้รถไฟเป็นหลายพันล้านอย่างนี้ ยิ่งตอนนี้มีแผนจะเร่งลงทุนหลายล้าน ๆ บาท ถ้าไม่ทำให้ดี ย่อมมีแต่ความสงสัยไปทุกจุด คำว่า “ความโปร่งใส” เป็นเครื่องมือเดียวเท่านั้น ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่ว่านี้ได้ ทุกอย่างทุกขั้นตอนต้องโปร่งใสเปิดเผยได้ และต้องตั้งใจเปิดเผยตั้งแต่ต้น อย่ารอจนมีคำถามแล้วค่อยโต้แย้ง

เครื่องมือที่จะช่วยให้ “ความโปร่งใส” มาช่วยคลี่คลาย ป้องกันไม่ให้มีเรื่องมิชอบ รวมทั้งทำให้"เรื่องชอบ"ที่ถูกกังขาได้รับความกระจ่างจากสังคม มีอยู่มากมายครับ เช่น มาตรฐานบรรษัทภิบาลและการเปิดเผยข้อมูลของรัฐวิสาหกิจ (มีทั้งของ World Bank ของ OECD ของ IMF) มาตรฐานการติดตามโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่(Cost) ที่ประเทศไทยเพิ่งเข้าเป็นสมาชิก มาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้าง Integrity Pact ของ Transparency International ซึ่งหลายเรื่องก็กำลังถูกจัดเตรียมนำมาใช้ในประเทศเรา โดยเฉพาะ การขับเคลื่อนโดย คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ที่คนชอบเรียกว่า Super Board) ที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งต้องใช้เวลาบ้าง และยังอาจไม่สามารถครอบคลุมไปทั้งหมดได้ทันที และที่สำคัญต้องได้รับการหนุนหลังจากประชาชนเพื่อให้เกิดผลแท้จริงในระยะยาว

ขอกลับมาเรื่องจัดซื้อโบกี้รถไฟต่อนะครับ....เพื่อให้เรื่องนี้เป็นตัวอย่างนำร่อง เพื่อสร้างมาตรฐานการโปร่งใส ผมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาสร้างความกระจ่าง ขอให้ คตร.ของ พลอ.อนันตพร เข้าดำเนินการตรวจสอบ (ไม่ใช่เพราะสงสัยนะครับ แต่ทำเพื่อยืนยันความโปร่งใส) ขอให้สำนักข่าวต่างๆ ตามกัด ตามตรวจ รายงานให้ประชาชน. ขอให้การรถไฟฯเปิดเผยทุกอย่างอย่างไร้เงื่อนไข ขอลองให้เรื่องนี้ เป็น Project นำร่องของความโปร่งใสสักครั้งนะครับ

ความเคยชินเดิมๆ ที่เราเคยเห็นเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดาจะได้ถูกแก้ไข ประชาชนจะได้รู้จักตื่นตัวลุกขึ้นมารักษาประโยชน์ชาติบ้าง อย่าให้พวกนั้นเค้าดูถูกเรา จนแม้กระทั่งจะยอมเสียเวลาไปเปลี่ยนชื่อบริษัทให้มันเข้าเค้ากับภาระกิจสักหน่อย เขายังไม่ทำเลยครับ

นอกจากนี้นายบรรยง ยังนำข่าวจาก “ไทยรัฐออนไลน์” แนบมาด้วยดังนี้

ว้าว!รถไฟยกเครื่องจัดซื้อรถแอร์ใหม่ วันที่ 18 ตุลาคม 2557 นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ลงนามสัญญาจัดซื้อรถโดยสารรุ่นใหม่สำหรับให้บริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน วงเงิน 4,668.89 ล้านบาท กับกิจการร่วมค้าบีบีซี ซึ่งประกอบด้วยบริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด บริษัท ร่วมมิตรเหมืองแร่ จำกัด และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊กชั่นจำกัด เพื่อให้บริการรถไฟประเภทรถนอนปรับอากาศเพิ่ม รองรับผู้โดยสารระดับกลางและระดับบน ทั้งนี้โครงการจัดซื้อรถโดยสารครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ได้ผ่านมติ ครม.เมื่อปี 2553 ซึ่งอยู่ในแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนปี 56-57 วงเงิน 1.76 แสนล้านบาท

เนื่องจากรถโดยสารประเภทรถนอนปรับอากาศในปัจจุบันไม่พอ และมีอายุใช้งานนาน ดังนั้นจึงต้องจัดซื้อเพิ่มเพื่อให้บริการของ ร.ฟ.ท.ดีขึ้น หวังจะช่วยให้แข่งขันกับรถทัวร์ และเครื่องบินได้ โดยรถโดยสารรุ่นใหม่ที่จัดซื้อจะส่งมอบรอบแรกได้ 26 ตู้ ในเดือน ส.ค.2558 หลังจากนั้นจะทยอยส่งจนครบในปี 2559 ส่วนการจัดซื้อหัวรถจักร 20 หัว ที่ลงนามก่อนหน้านี้ กำลังอยู่ระหว่างรอรับมอบ คาดว่าในปลายปีนี้จะได้รับมอบ 2 หัวแรกก่อน ส่วนที่เหลือจะส่งมอบครบในเดือนมิ.ย.ปีหน้า สำหรับแผนการจัดซื้อรถโดยสาร หัวรถจักร และแคร่ขนสินค้าในระยะต่อไป ร.ฟ.ท.มีแผนจัดซื้อรถโดยสารดีเซลชั้นสอง 186 คัน มาใช้วิ่งในเส้นทางระยะไกลและกลาง นอกจากนั้นขั้นต่อไป ร.ฟ.ท.ยังเตรียมจัดซื้อรถขนสินค้า (แคร่) จำนวน 308 คันต่อไป

จากการค้นข้อมูลเบื้องต้นของ TCIJ พบว่า บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด ระบุว่า ตั้งอยู่เลขที่ 589 ถ.พระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีชื่อระบุในรายชื่อบริษัทที่ออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ของกรมบังคับคดี ระบุว่า

บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด ผู้ร้องขอ / ลูกหนี้

ประเภทธุรกิจ : โรงแรมและการบริการ

ศาลล้มละลายกลาง หมายเลขดำที่ 6/2552

หมายเลขแดงที่ 38/2552

ผู้ร้องขอ : บริษัท เขาหลักแบมบู ออร์คิด จำกัด

ทุนทรัพย์ : 624,212,275 บาท

วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอ : วันที่ 26 มกราคม 2552

วันกำหนดนัดไต่สวน : วันที่ 23 มีนาคม 2552 เวลา 09.00 น.

ยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ : วันที่ 16 ธันวาคม 2552

ส่งเก็บ 11ต.ค.55 (34/55) (1 แฟ้ม) ยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ วท.16 ธ.ค.52

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามไปยังกรมบังคับคดี เจ้าหน้าที่คนหนึ่งแจ้งว่า ตรวจสอบไม่พบว่ามีการฟ้องล้มละลาย เพียงแต่เป็นการแจ้งขอฟื้นฟูกิจการเท่านั้น และไม่พบเอกสารอื่นใด

ส่วนบริษัท ร่วมมิตรเหมืองแร่ จำกัด พบข้อมูลเมื่อปี 2533 ระบุว่า ตั้งอยู่เลขที่ 113 ถ.สุพรรณบุรี-ชัยนาท ต.วังน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เป็นของนายประสิทธิ์ โพธสุธน พี่ชายของนายประภัตร โพธสุธน อดีตส.ส. พรรคชาติไทยพัฒนา ก่อนจะประสบปัญหา จึงหันมารับเหมาก่อสร้าง ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการสร้างถนนของราชการ ประมาณ 100-200 ล้านบาทต่อปี

เป็นที่ผิดสังเกตว่า ทั้งสองบริษัทของไทยแทบจะไม่มีประสบการณ์โดยตรง เกี่ยวกับธุรกิจคมนาคมเลย เหตุใดจึงได้รับเลือกให้เข้ามาดำเนินการจัดซื้อหัวรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีมูลค่ามากถึงเกือบ 4,700 ล้านบาท

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: