บทวิเคราะห์: ปู่สมบูรณ์ในฐานะชีวประวัติของคนจน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ 21 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1731 ครั้ง

คนในสื่อจากศตวรรษที่แล้วอย่างหนังสือพิมพ์ เรียกตัวเองเป็นสื่อกระแสหลักเพื่อลอบบอกว่ามีแต่ตัวเองเท่านั้นที่เป็นสื่อมืออาชีพ แต่การเติบโตของสื่อใหม่อย่างสำนักข่าวอิสระต่างๆที่มีความชำนาญเฉพาะด้านและโซเชียลมีเดียก็เป็นหลักฐานอยู่แล้วว่าความเป็น “กระแสหลัก” และเป็น “มืออาชีพ” เป็นฉลากที่คนในองค์กรสื่อเก่าแปะบนหน้าผากตัวเองมากกว่าจะเป็นเรื่องที่คนเขาคิดไปด้วย คำว่ามืออาชีพจึงไม่ได้มีความหมายแตกต่างจากการบอกให้โลกรู้ว่าข้าพเจ้าทำสื่อเป็นอาชีพประจำ

อย่างไรก็ดี ในยุคสมัยที่สื่อเแทบจะหันหลังให้การทำข่าวสืบสวนสอบสวนหรือการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนในความหมายที่เคร่งครัด  หากตัดบทความของนักวิชาการที่ผันตัวเองเป็นคอลัมนิสท์ทิ้งไป  สื่อเก่าจะเหลืออะไรให้จดจำ? แม้การกอบกู้ความไม่เชื่อถือโดยวิธียอสรรพคุณตัวเองจะเป็นเรื่องเข้าใจได้  แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่ไม่ต่างจากโฆษณายาเสริมสมรรถนะทางเพศในแง่ที่ไม่มีน้ำหนักเลยกับคนที่พอเข้าใจความหมายของคำว่าวิจารณญาณ

ภาพยนตร์เป็นสื่อเหมือนหนังสือพิมพ์  แต่น่าแปลกว่าในเวลาที่วงการสิ่งพิมพ์หมกมุ่นกับการประกาศตัวเองเป็นสื่อมืออาชีพจนถึงขั้นขอร้องให้ทหารออกกฎหมายให้ตัวเองมีอำนาจคุมสื่อที่ “ไม่ใช่” มืออาชีพได้ด้วย วงการภาพยนตร์กลับให้ความ

สำคัญต่อประเด็นกระแสหลักและมืออาชีพแบบนี้น้อยกว่ามาก หนังกระแสหลักหมายถึงหนังตามใบสั่งของนายทุนหรือรัฐเพื่อคนดูในประเทศ ส่วนหนังนอกกระแสมีความหมายครอบคลุมถึงหนังเพื่อความเป็นเลิศทางศิลปะสู่ผู้ชมระดับสากล

ขณะที่ตลาดอันจำกัดของผู้อ่านภาษาไทยกดดันจนสื่อเก่าต้องปกป้องที่มั่นของตัวเองในโลกใบเล็กๆ โดยวิธีวิ่งเต้นขออำนาจในการควบคุมสื่อใหม่ของคนกลุ่มใหม่ที่มีความคิดใหม่ ๆ  สื่อภาพยนตร์กลับไม่ได้เผชิญปัญหาแบบนี้ไปด้วย เทศกาลภาพยนตร์เป็นทั้งพื้นที่ศิลปะและพื้นที่สื่อซึ่งเป็นเสมือนเส้นทางสายไหมของคนหน้าใหม่ที่มีความคิดใหม่ๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ  ผลก็คือภาษาไม่ใช่ข้อจำกัด  ส่วนรัฐและเจ้าของค่ายก็ไม่ใช่ปัจจัยกดดันคนทำสื่อนี้เท่ากับที่เคยเกิดกับสื่อเดิมๆ

ขอบคุณภาพจาก http://p3.isanook.com/

ในสังคมที่ภาพยนตร์ในฐานะสื่อนั้นเป็นสื่อที่ถูกควบคุมหรือแทรกแซงด้วยวิธีต่างๆ มากที่สุด และคนในวิชาชีพมีการรวมตัวเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของตัวเองน้อยที่สุด  เทศกาลภาพยนตร์ก็เป็นเสมือนยาเม็ดสีแดงให้ผู้ชมได้เลือกเพื่อไปสู่สภาวะตาสว่างจาก The Matrix   หรือไม่อย่างนั้นก็อยู่กับการเสพยากล่อมประสาทสีน้ำเงินต่อไป

ตัวอย่างของพื้นที่ทางศิลปะซึ่งเป็นพื่นที่สื่อในเวลาเดียวกันในสังคมไทยคือเทศกาล World Film Festival ที่จัดมาแล้ว ๑๒ ครั้ง และ Thai Short Film Festival ซึ่งกำลังจะมีอายุครบสองทศวรรษในอีกสองปี และไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ ๆ ที่หนังสั้นหลายต่อหลายเรื่องในเทศกาล Thai Short Film ปีนี้มีเนื้อหาและรูปแบบที่ทำให้ผู้ชมเข้าสู่สภาวะตาสว่างโดยไม่ต้องโวยวายให้อึกทึก ขณะที่หนังเปิดเทศกาล World Film ปีนี้ก็มีด้านที่เป็นแบบนี้เหมือนกัน ถึงจะเป็นไปอย่างระมัดระวังก็ตาม

เมื่อเทียบกับภาพยนตร์เปิดเทศกาลนี้ซึ่งมักเป็นผลงานของผู้กำกับที่มีชื่อในวงการหนังอิสระหรือในระดับโลกมาแล้ว “ ปู่สมบูรณ์” เป็นผลงานของผู้กำกับซึ่งโดยเปรียบเทียบแล้วเป็นที่รู้จักไม่มากนัก ยิ่งไปกว่านั้นคือนี่เป็นภาพยนตร์สารคดีในประเทศที่สารคดีมีความหมายแทบจะเท่ากับสกู๊ปข่าวโทรทัศน์หรือตามรอยบุคคลสำคัญจนคนธรรมดามีพื้นที่ในสื่อนี้น้อยมาก ถ้าไม่พูดถึงงานประเภทวงเวียนชีวิตหรือโลกใบน้อยของปู่เย็น  การเลือกเปิดเทศกาลด้วยภาพยนตร์สารคดีจึงมีความเสี่ยงจากความเข้าใจผิดของผู้ชมอยู่พอสมควร

ปู่สมบูรณ์บันทึกชีวิตของชายสูงวัยที่ต้องดูแลเมียผู้ป่วยด้วยโรคไต และทั้งที่พากันตระเวนหาหมอหลายโรงพยาบาล แต่กว่าหมอจะวินิจฉัยได้ถูกว่าเป็นโรคร้ายนี้ อาการก็ทรุดหนักถึงขั้นที่ต้องล้างไตแล้ว คำว่าการล้างไตในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อรับการล้างไตจากแพทย์ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย แต่เป็นการล้างไตเองที่บ้านทุกสี่ชั่วโมงของชายชราร่างเล็กต่อหญิงชราร่างใหญ่ ซึ่งร่างกายอยู่ในสภาพเคลื่อนที่เองไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นคือเป็นการล้างไตที่ผู้ป่วยและคู่ชีวิตต้องช่วยเหลือตัวเองโดยไม่มีมือแห่งความอาทรจากใครให้เห็น และปู่สมบูรณ์ก็เป็นผู้ทำหน้าที่นี้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่าสองปี  แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ฟังดูคล้ายนิทานเรื่องรักแท้จนตายจากกันของผู้สูงวัยในโฆษณาไทยประกันชีวิต แต่เมื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้ต่อไป ผู้ชมจะพบด้วยตัวเองว่าชีวิตของปู่สมบูรณ์และย่าละเมียด ไม่ได้ถูกเล่าโดยให้น้ำหนักกับความฟูมฟายทางอารมณ์เพื่อตอบสนองความใฝ่ฝันเรื่องรักแท้แบบกระฎุมพีอย่างที่หวาดกลัว  ชีวิตอันแสนรันทดของคู่สามีภรรยาสูงวัยซึ่งอยู่ในสภาพคล้ายชนชั้นปลายแถวของสังคมทั้งหมดนั้นไม่ได้ถูกเล่าแบบที่มุ่งทำให้ผู้ชมกรีดร้องฟูมฟายไปด้วยแม้แต่นิดเดียว

ท่ามกลางความจงใจสร้างระยะห่างระหว่างผู้ชมกับปู่สมบูรณ์และย่าละเมียด จนการฟูมฟายแทบเป็นไปไม่ได้ ปู่สมบูรณ์เป็นเรื่องของคนชั้นล่างในสังคมไทยที่เกิดในทศวรรษ 2480 ซึ่งมีกำพืดเป็นลูกชาวนายากจนแถบอยุธยาที่คล้ายไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ในพื้นที่ซึ่งการชลประทานเพื่อการเกษตรยังไปไม่ถึง ชาวนาในเวลานั้นจึงทำนาได้เพียงปีละหนึ่งครั้งจนโอกาสในการสะสมทุนเพื่อเลื่อนสถานะทางชนชั้นเป็นเรื่องยากมาก ลูกหลานของชาวนาจึงจบด้วยการเป็นชาวนาและชาวนา

ขอบคุณภาพจาก http://movie.mthai.com/

ในกรณีของปู่สมบูรณ์ รายได้จากการทำนาที่ต่ำมาก กดดันให้ปู่หันไปเป็นกรรมกรก่อสร้างในที่สุด แม้จะไม่แน่ชัดว่าปู่สมบูรณ์เริ่มชีวิตกรรมกรเมื่อไร  แต่ภาพยนตร์ก็ทำให้เรารู้ว่าปู่เป็นกรรมกรเมื่อก๋วยเตี๋ยวชามละ 1 บาท ส่วนค่าแรงวันละ 15บาท ซึ่งถ้าปู่กำลังพูดถึงอัตราค่าแรงสุดท้ายที่ได้รับก่อนเลิกเป็นคนงานในทศวรรษ 2530 ก็แสดงให้เห็นว่าปู่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดอยู่มาก เพราะครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทยมีค่าจ้างขั้นต่ำใกล้เคียง 15 บาท คือช่วง 2516-2517 ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 12-16 บาท ไม่ใช่ทศวรรษ 2530 ซึ่งค่าจ้างอยู่ระหว่าง 35-73 บาทต่อวัน

อย่างไรก็ดี ถ้าเงินที่ปู่พูดว่าได้รับวันละ 15 บาท เป็นค่าแรงเมื่อเริ่มต้นอาชีพกรรมกร เราก็อาจคาดเดาได้ต่อไปว่าปู่เป็นคน

งานในช่วงที่ใกล้กับปี 2517 นั่นหมายความว่าปู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2517 ซึ่งฐานะทางชนชั้นชะงักอยู่กับความเป็นกรรมกรจนทศวรรษ 2530 ขณะที่นักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตยมีชีวิตที่ผันผวนจากการถูกปราบปรามสู่การเป็นนักปฏิวัติในเขตป่าเขา และจบด้วยการปรับตัวเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายชนชั้นนำในสังคม

 แม้สารคดีจะไม่ได้เล่าชีวิตปู่สมบูรณ์ในช่วงวัยทำงานว่าเป็นอย่างไร แต่ปากคำของปู่เองคือปู่และย่าละเมียดเร่ร่อนเป็นกรรมกรจากอยุธยาไปจนถึงอำเภอขลุง ชีวิตคนงานของปู่จึงต้องเป็นชีวิตที่ค่าตอบแทนในการทำงานต่ำและไม่มีสวัสดิการแน่ๆ เพราะคงไม่มีใครรับจ้างเป็นกรรมกรทั่วราชอาณาจักร หากมีงานที่ค่าตอบแทนสูงและมีความมั่นคงในการทำงาน

ควรระบุด้วยว่าลูกของปู่สมบูรณ์ก็เป็นกรรมกร และถ้าถักทอข้อเท็จจริงที่กระจัดกระจายอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ให้เป็นผืนเดียวกันทั้งหมด ปู่สมบูรณ์ก็คือชีวประวัติของครอบครัวชาวนาจนสามชั่วคน ที่ทุกคนถูกปัจจัยทางเศรษฐกิจกดดันให้เปลี่ยนอาชีพจากชาวนาสู่กรรมกรไปในที่สุด ความเปลี่ยนแปลงของเวลาจึงไม่ได้หมายถึงจังหวะที่จะมีชีวิตดีขึ้นของครอบครัวนี้ และฐานะทางชนชั้นที่ชะงักงันแบบนี้แสดงให้เห็นความอยุติธรรมและการจัดสรรทรัพยากรทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมโดยตรง

ปู่สมบูรณ์หยุดเป็นคนงานเมื่อย่าละเมียดป่วยด้วยโรคไตขั้นต้องฟอกไตทุกสี่ชั่วโมง และต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และในขณะที่ภาพการดูแลและทำความสะอาดร่างกายย่าละเมียดทุกซอกหลืบนั้น ทำให้ผู้ชมซาบซึ้งไปกับความเอาใจใส่ที่น่าประทับใจ ภาพความทุลักทุเลและยากลำบากในการพาย่าละเมียดไปหาหมอ ก็ควรทำให้ผู้ชมตระหนักถึงโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่ขัดสนสำหรับคนในประเทศนี้เหลือเกิน

ภาพยนตร์ใช้เวลานานมากกับการถ่ายภาพปู่สมบูรณ์และย่าละเมียดที่พาตัวเองขึ้นรถสามล้อไปและกลับจากโรงพยาบาลด้วยความทุลักทุเล  ผู้ชมที่ช่างคิดคงถูกยุให้คิดต่อไปว่าทำไมการรับส่งผู้ป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้จึงไม่มีอยู่ในประเทศนี้ เราเป็นสังคมที่ยากจนจนจัดสรรงบประมาณเพื่อเรื่องแบบนี้ไม่ได้ หรือเราเป็นสังคมซึ่งงบประมาณจำนวนมากถูกจัดสรรเพื่อเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน?

อนึ่ง น่าสังเกตว่าภาพยนตร์ให้เวลาน้อยมากกับการบอกว่าปู่และย่าหาเงินจ่ายค่าหมอค่ายาอย่างไร  คำตอบที่เป็นไปได้มีสองแบบ แบบแรกคือเรื่องนี้ไม่น่าสนใจสำหรับผู้กำกับ ส่วนแบบที่สองคือปู่และย่ามีฐานะเป็นพลเมืองของรัฐซึ่งมีสวัสดิการในการรักษาพยาบาลฟรีสำหรับประชาชน

ในตอนท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ชมจะพบว่าย่าละเมียดทรุดหนักจากการติดเชื้อจนตัวบวมและหายใจไม่ออกในบ้านที่อยู่ท่ามกลางมวลน้ำขนาดใหญ่เหมือนคนที่ราบภาคกลางอีกนับล้านเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว  การพาย่าไปโรงพยาบาลในสถานการณ์นี้แทบเป็นไปไม่ได้ด้วยปัญหาเรื่องยานพาหนะหรือแม้แต่จะเอาย่าขึ้นลงเรือขนาดเล็กอย่างไร  และถึงแม้ภาพยนตร์จะไม่ได้บอกว่าเกิดอะไรกับย่าในที่สุด แต่เงื่อนงำนี้ก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าย่าตายเพราะครอบครัวไม่สามารถเอาย่าไปโรงพยาบาล

โปรดอย่าลืมว่าในขณะที่คนตายไปเกือบหนึ่งพันคนจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งที่แล้ว คนอีกเป็นอันมากมีทางเลือกในชีวิตที่จะอพยพไปอยู่บ้านหลังที่สองแถวแม่ริม หัวหิน ปราณบุรี หรือเขาใหญ่  รวมทั้งคอนโดมิเนียมสูงเสียดฟ้าละแวกสีลมและสาธร ความตายและความเดือดร้อนจากอุทกภัยจึงไม่ใช่ผลผลิตของธรรมชาติ  ถึงแม้มวลน้ำขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติก็ตาม เพราะความเป็นไปได้ในการหลบภัยหรืออพยพไปอยู่ที่อื่นนั้นมีด้านที่เป็นเรื่องสถานะทางชนชั้นโดยตรง

ชีวิตของปู่สมบูรณ์และย่าละเมียดเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบอันอุดมต่อการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความฟูมฟายบนจอภาพยนตร์ แต่ผู้กำกับและทีมงานเลือกที่จะไม่แปลงปู่สมบูรณ์ให้เป็นสารคดีประเภทวงเวียนชีวิตหรือปู่เย็น วิธีเล่าเรื่องที่เชยและการซ่อนตัวตนของผู้กำกับ ทำให้ภาพยนตร์เล่าชีวิตปู่สมบูรณ์ด้วยท่าทีแบบนักจดหมายเหตุแสนสมถะ ซึ่งระมัดระวังที่จะไม่เปิดช่องทางให้คนดูบรรลุจุดสุดยอดทางศีลธรรมด้วยการหลั่งความสงสารไปสู่ตาแก่ยายแก่ผู้มีชีวิตด้อยค่าได้เลย

ว่ากันว่าภาพยนตร์สารคดีมีหน้าที่สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ไม่มีใครในสมัยนี้ซื่อพอจะเชื่อว่าทุกอย่างบนกล้องและทุกอย่างบนสื่อคือความจริงทั้งหมด  พลังของสื่อไม่ได้ขึ้นอยู่กับการอวดอ้างว่าตัวเองเป็นมืออาชีพที่ถ่ายทอดความจริงได้เที่ยงตรงและแม่นยำที่สุดอีกต่อไป ความสมเหตุสมผลของมุมมองที่ถ่ายทอดเมื่อประเมินจากผู้ชมคือพระเจ้าผู้ทรงฤทธาที่สุดในยุคสมัยแบบนี้  และในสภาพที่กล่าวมาทั้งหมด ปู่สมบูรณ์เป็นภาพยนตร์สารคดีที่เล่าเรื่องของคนซึ่งสังคมไม่เคยเห็นพร้อมกับชวนให้ผู้ชมคิดถึงคำถามที่หนักหน่วงอย่างแสนถ่อมตัว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: