บทวิเคราะห์: นายกมาจากการเลือกตั้ง

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 21 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2075 ครั้ง

บางทีข้อเสนอเรื่องการมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงอาจจะเป็นแค่ ‘เป้าลวง’ ที่คณะกรรมาธิการในสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอขึ้นมา เพื่อสร้างความโกลาหลให้กับการปฏิรูปและเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณชนไปจากเรื่องที่ต้องการจะเสนอกันจริงๆ

ความกังวลในข้อนี้น่าจะมีมูลความจริงอยู่บ้าง เพราะคนที่เสนอเรื่องนี้เป็นสมาชิกคนสำคัญของขบวนการทางการเมืองที่เคลื่อนไหวต่อต้านการเลือกตั้งมาโดยตลอด ความจริงพวกเขาเคยเสนอให้มีวิธีพิเศษในการสรรหานายกรัฐมนตรีตามที่พวกเขาต้องการด้วยซ้ำไป อยู่ๆ มาเสนอว่าให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตั้งผู้บริหารประเทศโดยตรงจึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง

มีความเป็นไปได้ว่า เขาต้องการเสนอขึ้นมาให้ขัดแย้งกับคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อถ่วงเวลาการร่างรัฐธรรมนูญให้เนิ่นนานออกไป เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติมีอำนาจคว่ำรัฐธรรมนูญที่พวกเขาไม่ต้องการได้และจะเปิดช่องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเลือกนักปฏิรูปชุดใหม่มาทำหน้าที่ ซึ่งก็จะทอดเวลาให้คณะรัฐประหารและรัฐบาลอยู่ในอำนาจต่อไปอีก จนกว่าภารกิจจริงๆ จะบรรลุไปได้

มีคนรุมคัดค้านข้อเสนอเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงนี้มากมาย ทั้งจากคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกของสภาปฏิรูปแห่งชาติเอง ในบรรดาคนที่คัดค้านนั้นก็ค้านกันด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ที่มากหน่อยเห็นจะมีอยู่ 3 ประเด็นคือ

ประการแรก กลุ่มที่เป็นอนุรักษ์นิยมค้านว่า ระบบนี้คล้ายกับระบอบประธานาธิบดีมากเกินไป ไม่เหมาะกับสังคมไทยซึ่งมีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ การที่ประชาชนเลือกผู้บริหารโดยตรงนั้นจะทำให้ฝ่ายบริหารอ้างอิงอำนาจความชอบธรรมทางการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชนมากกว่าจะอ้างอำนาจหรืออาณัติจากกษัตริย์ในการบริหารประเทศ คนที่อ้างเหตุผลนี้ในการคัดค้านมักจะเป็นพวกที่เห็นว่า อำนาจอธิปไตยของไทยนั้นไม่ได้อยู่ที่ประชาชนหาก แต่เป็นของกษัตริย์ กษัตริย์จะเป็นผู้พระราชทานนายกรัฐมนตรีมาปกครองและบริหารประเทศแทนพระองค์ การเลือกตั้งของประชาชนเป็นแต่เพียงพิธีกรรม เพื่อให้ได้ชื่อว่าประเทศนี้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

คนกลุ่มนี้ให้เหตุผลอีกย่างหนึ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้เหตุผลใหญ่เรื่องอำนาจของกษัตริย์คือ พวกเขาเกรงว่านายกรัฐมนตรีและสมาชิกของคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งมาโดยตรงนั้นจะได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนมากจนเกินไป อาจจะถึงขั้นที่มากกว่ากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ด้วยซ้ำไป ในอนาคตหมายความว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งนั้นจะทำให้คนลืมกษัตริย์ไปได้และมักจะกระทำการที่ไม่ยำเกรงต่อพระราชอำนาจ

ประการที่ 2 เรื่องปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงในระบบเลือกตั้ง เหตุผลนี้ดูจะเป็นการท้าทายกันระหว่างฝ่ายเสนอกับฝ่ายคัดค้านมากกว่าจะเป็นการให้เหตุผลถกเถียงกันจริงๆ เพราะมันขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่พิสูจน์ยังไม่ได้ทั้งคู่ กล่าวคือ ฝ่ายเสนอบอกว่า เลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรงดีเพราะคนทั้งประเทศเลือกและกำหนดว่าจะต้องให้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งใหญ่ในระดับประเทศแบบนี้ ไม่น่าจะมีใครมีเงินมากพอจะซื้อเสียงได้ ฝ่ายที่คัดค้านก็บอกว่า นั่นเป็นสมมติฐานที่ประเมินนักการเมืองไทยต่ำเกินไป เพราะการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรทั้งในระบบเขตและระบบสัดส่วนนั้นก็ใช้จ่ายกันจำนวนไม่น้อย นักการเมืองไทยมีเงินและเครือข่ายทางการเมืองมากพอจะครอบคลุมในระดับประเทศได้ทั้งนั้น ทำไมจะซื้อเสียงในการเลือกตั้งฝ่ายบริหารไม่ได้

การกำหนดแหล่งที่มาของฝ่ายบริหาร

ที่ตัดขาดจากการเลือกตั้งของประชาชน

เป็นการดูถูกเพื่อนร่วมชาติอย่างร้ายกาจที่สุด

ความจริงระบบการเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรงก็ไม่ได้ให้ความหมายอะไรแตกต่างไปจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองทั้งหลายต่างก็นำเสนอบัญชีรายชื่อบุคคลที่คาดว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นๆ มาในการรณรงค์การเลือกตั้งอยู่แล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นก็เลือกโดยคำนึงอยู่แล้วว่า ผู้ชนะนั้นจะเข้าไปเป็นฝ่ายบริหาร คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่ออันดับหนึ่งจะต้องเป็นนายกรัฐมนตรี และความจริงก็ปฏิบัติกันแบบนี้มาได้สักระยะหนึ่งแล้วนับแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา บรรดาผู้เลือกตั้งส่วนใหญ่มีจำนวนน้อยมากที่คิดว่าตัวเองเลือกผู้แทนไปทำหน้าที่ออกกฎหมาย ส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเลือกคนไปบริหารประเทศด้วยกันทั้งนั้น

ประการที่ 3 นักเทคนิคกฎหมายมักจะยกประเด็นเรื่องการขัดกันของอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเสมอ ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายมาจากการเลือกตั้งและอ้างอิงความชอบธรรมในอำนาจจากอาณัติของประชาชนผู้เลือกตั้งด้วยกันทั้งคู่ ทั้งสองฝ่ายจะรับผิดชอบต่อกันและคานอำนาจซึ่งกันและกันอย่างไร ในระบบรัฐสภานั้นเลือกตั้งเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติแล้วให้ผู้ชนะการเลือกตั้งแบ่งภาคไปเป็นฝ่ายบริหารและยังจะต้องรับผิดชอบต่อฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ การดำเนินการในการบริหารใดๆ นั้นจะต้องทำเป็นกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ตราขึ้น แม้ว่าฝ่ายบริหารอาจจะตรากฎหมายของตัวเองได้ในเวลาจำเป็น แต่สุดท้ายต้องผ่านรับรองจากฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ดี ฝ่ายบริหารคานอำนาจกับฝ่ายนิติบัญญัติได้ด้วยการยุบสภา ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติคานอำนาจฝ่ายบริหารโดยการลงมติไม่ไว้วางใจได้ และในระยะหลังๆ มีการยืมเครื่องมือในระบอบประธานาธิบดีคือเรื่องการถอดถอนมาเป็นใช้ในการคานกับฝ่ายบริหาร

ถ้าหากปรากฏว่ามีการเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรงแล้ว อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจะต้องตัดขาดออกจากกัน เพราะทั้งสองฝ่ายต้องรับผิดชอบต่อผู้เลือกตั้งตัวเองเป็นสำคัญ ฝ่ายบริหารจะถืออำนาจใดไปยุบสภาและฝ่ายนิติบัญญัติจะถืออำนาจใดในการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือถอดถอนฝ่ายบริหารที่ตัวไม่ได้เป็นคนเลือกเข้าไป และถ้าหากเสนอให้ตัดอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างกันออกไป ก็เกิดปัญหาว่าจะตรวจสอบและถ่วงดุลกันอย่างไร มีข้อเสนอเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมาว่าให้องค์กรอิสระทำหน้าที่นี้แทนก็ดูจะมีปัญหาอีกเพราะองค์กรอิสระนั้นมีที่มาอย่างไร รับอาณัติจากใครมาตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าเป็นเช่นนั้นเห็นทีว่าจะต้องมีการเลือกตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาเป็นอำนาจอธิปไตยที่สี่เสียแล้วกระมัง

ข้อเสนอในการเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรงอาจจะเป็นข้อเสนอที่ได้รับความนิยมน้อย จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าข้อเสนอนี้คงจะต้องตกไปในเร็วนี้ แต่ก็ใช่ว่าปัญหาเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีและฝ่ายบริหารจะหมดไป สิ่งที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญสนใจนั้นอยู่ที่ว่า รัฐสภาทั้งหมดหรือสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจในการเลือกฝ่ายบริหารและประการสำคัญจะมีการกำหนดคุณสมบัติของฝ่ายบริหารหรือพูดให้ตรงกว่านั้น นายกรัฐมนตรีควรจะเป็นบุคคลเช่นไร

ในระยะสั้นนี้ เพิ่งมีรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เท่านั้นที่เขียนระบุคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีเอาไว้ ว่าจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (หมายความว่าได้รับเลือกตั้งมาไม่ว่าในระบบบัญชีรายชื่อหรือเป็นแบบเขตเลือกตั้งก็ตาม)

หากพิจารณาถึงพลังทางการเมืองที่เป็นจริงในปัจจุบันแล้ว ปรากฏว่ามีชนชั้นสูงที่เชื่อว่าตัวเองมีคุณสมบัติดีและรังเกียจการเมืองในระบบเลือกตั้ง รอคอยอยากเข้าไปบริหารบ้านเมืองอยู่ไม่น้อย คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเองส่วนใหญ่แล้วเป็นชนชั้นสูงที่มาจากการยึดอำนาจทางการเมือง อีกทั้งรังเกียจ ไร้ศรัทธา และไม่ไว้วางใจระบบเลือกตั้งมากเท่ากับระบบแต่งตั้งหรือสรรหา มีโอกาสสูงที่พวกเขาจะเปิดโอกาสให้รัฐสภาแสวงหาใครก็ได้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน แต่ไม่อยู่ในระบบเลือกตั้งหรือในระบบพรรคการเมืองเข้าไปเป็นฝ่ายบริหารได้ ประเด็นนี้น่าจะเป็นของจริงที่ชวนติดตามมากกว่า

สิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณาคือ ไม่ว่าจะอย่างไร ประเทศไทยควรจะมีฝ่ายบริหารที่มีที่มาที่สามารถอ้างอิงความชอบธรรมจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ นักเขียนรัฐธรรมนูญและนักปฏิรูปทั้งหลายก็ควรจะต้องมีความไว้วางใจและมีศรัทธาในระบบเลือกตั้งว่า ประชาชนไม่ว่ายากดีมีจนแค่ไหนพวกเขาก็มีวิจารณญาณที่ดีในการเลือกสรรบุคคลหรือคณะบุคคลเข้าไปบริหารประเทศได้ การกำหนดแหล่งที่มาของฝ่ายบริหารที่ตัดขาดจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นการดูถูกเพื่อนร่วมชาติอย่างร้ายกาจที่สุด

ร่วมเป็นแฟนเพจออนไลน์ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: