เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตและสถาบันอ้อผะหญ้า รายงานว่า หลังจากที่ ผศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีและอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ค้นพบปลาค้อสายพันธุ์ใหม่แห่งเดียวในโลกที่ห้วยแม่ตะละต้นน้ำแม่แจ่ม และได้ขอพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งท่านทรงประทานชื่อว่า "ปลาค้อเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์" ดังปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2556
ปลาค้อเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
ต่อมาวันที่ 17 พฤษภาคม 2557 สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตและสถาบันอ้อผะหญ้า ได้สำรวจเก็บข้อมูลพันธุ์สัตว์น้ำที่ลำห้วยแม่เอาะ บ้านแม่เอาะ หมู่ที่ 10 ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในลำห้วยสาขาที่ใหญ่ที่สุดที่จะถูกน้ำท่วมหากมีการสร้างเขื่อนแม่แจ่ม พบปลาค้อสายพันธุ์ใหม่ชนิดเดียวกันกับที่สำรวจพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ.2538
ปลาปล้องทองปรีดี
โดยสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง ได้ตั้งชื่อปลาค้อพันธุ์ใหม่เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสของไทยและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ว่า“ปลาปล้องทองปรีดี” ซึ่งปลาชนิดนี้มีลักษณะสวยงาม ลำตัวเรียวยาว ทรงกระบอก ส่วนหัวเล็ก มีสีเป็นลายดำสลับกับสีเหลืองทอง ส่วนปากและหนวดมีสีดำ ขนาดใหญ่สุดประมาณ 4 เซนติเมตร อาศัยอยู่ในลำธารไหลเชี่ยว สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 600 เมตรขึ้นไป โดยปลาค้อสายพันธุ์นี้พบเฉพาะในพื้นที่ต้นน้ำแม่แจ่มและต้นน้ำแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพียงแห่งเดียวในโลก
นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวจาก ชาวบ้าน ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่อยู่โครงการสร้างเขื่อนของรัฐบาล ด้วยว่า มีการพบจระเข้พันธุ์ไทยในคลองชมภู บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงด้วย โดย นายบุญสืบ เผือกอ่อน ชาวบ้าน ต.ชมพู กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านที่เข้าไปหาของป่าในผืนป่าลุ่มน้ำชมภูได้แจ้งว่าพบจระเข้บริเวณคลองชมภูในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จึงได้ชวนเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองชมภูเข้าไปตรวจสอบในจุดที่พบจระเข้ พบจระเข้ที่คาดว่าเป็นเพศเมียกำลังนอนกกไข่ เป็นจุดที่อยู่ห่างจากริมตลิ่งคลองชมภูประมาณ 100 เมตร ซึ่งเป็นการพบจระเข้ตัวเมียและไข่เป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปี และในบริเวณนี้ชาวบ้านเคยพบจระเข้ขึ้นมานอนอาบแดดบ่อยครั้ง จากการคาดการณ์เชื่อว่าจระเข้ที่พบคือจระเข้สายพันธุ์ไทยแท้ที่ใกล้สูญพันธุ์ และเป็นจระเข้คนละตัวกับที่ชาวบ้านเคยพบที่เป็นเพศผู้ เนื่องจากตัวที่พบล่าสุดมีขนาดเล็กกว่า โดยมีความยาวประมาณ 2 เมตร “สีมันดำเลื่อมทั้งตัว อุ้งเท้ามีพังพืด ฟันมีไม่เยอะ ไม่มีปล้องหางเหมือนกับจระเข้เลี้ยง น่าจะเป็นพันธุ์ไทยแท้ สภาพมันกำลังนอนหมดแรงเฝ้าไข่ไม่ยอมห่าง น่าจะเพิ่งวางไข่เสร็จไม่นาน
จระเข้คลองชมภู
ด้านนายธีรเชษฐ์ โสทอง รองประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภู หนึ่งในผู้ที่เข้าไปพบจระเข้ กล่าวว่า ชาวบ้านมีความกังวลว่าไข่จระเข้ที่พบจะหายไปเช่นเดียวกับกรณีการพบไข่จระเข้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งชาวบ้านได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปเฝ้ารังจระเข้และได้มีการตั้งกล้องวีดีโอบันทึกภาพไว้ แต่ปรากฏว่าไข่จระเข้ได้หายไป เมื่อขอดูภาพวีดีโอที่บันทึกไว้ ทางเจ้าหน้าที่ก็ปฏิเสธไม่ให้ดูทำให้ชาวบ้านไม่พอใจและเคลือบแคลงต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวงอย่างมาก เนื่องจากการพบจระเข้และไข่ในบริเวณลุ่มน้ำคลองชมภู ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงนั้น เป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าลุ่มน้ำคลองชมพูว่า นายธีรเชษฐ์กล่าวว่า ที่นี่อาจเป็นพื้นที่แห่งเดียวของประเทศที่มีศักยภาพในการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติของจระเข้พันธุ์ไทยแท้ โดยขณะนี้ชาวบ้านได้จัดกำลังเฝ้าระวังจระเข้และไข่ที่พบตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเกรงว่าอาจถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และชาวบ้านที่ไม่ทราบเรื่องอาจเข้าไปรบกวนใกล้รังจระเข้ได้ รวมทั้งป้องกันศัตรูตามธรรมชาติของจระเข้ เช่น ตะกวด ตัวแลน ไม่ให้เข้าไปกินไข่จระเข้
นายธีรเชษฐ์กล่าวอีกว่า เนื่องจากลุ่มน้ำคลองชมภูเป็นพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองชมภู และยังมีแนวโน้มว่าจะมีการอนุญาตให้มีโรงโม่หินในบริเวณเทือกเขาผาแดงรังกายซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย ซึ่งเป็นผืนป่าต่อเนื่องกัน การพบจระเข้และไข่ตามธรรมชาติถือเป็นเรื่องสำคัญแต่เจ้าหน้าที่อุทยานทุ่งแสลงหลวงกลับไม่เคยให้ความสำคัญ ทั้งที่จระเข้น้ำจืดอยู่ในอนุสัญญาไซเตส เป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมภูจึงได้ทำหนังสือส่งไปยังกรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อขออนุญาตให้นักวิชาการและเครือข่ายฯ เข้าไปศึกษาระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองชมพู และกำลังรอการตอบกลับ
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ