สธ.ดัน‘เมดิคัล ฮับ’หวังรายได้4แสนล้าน หวั่นแพทย์สมองไหล-แนะต้องผลิตให้พอ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 22 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1806 ครั้ง

นโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพ หรือ เมดิคับ ฮับ (Medical Hub) เป็นหนึ่งนโยบายสำคัญที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะเงียบหายไปหลังการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 แต่ยังคงเดินหน้าต่อแบบเงียบ ๆ จากภาคโรงพยาบาลเอกชนมาจวบจนปัจจุบัน บวกกับการสนับสนุนของกระทรวงสาธารณะสุข ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พ.ศ.2553-2557 ถือเป็นแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 ตามการวางแผนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ด้วยวงเงินสนับสนุน 3,131.795 ล้านบาท

ล่าสุด ก่อนหน้าที่รัฐบาลประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างผลักดันโครงการพัฒนาระบบสาธารณสุขทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นการลงทุนในพื้นฐานในสถานบริการ, แผนบริการสุขภาพ และเมดิคัล ฮับ ที่น่าสนใจคือแผนลงทุนด้านเมดิคัล ฮับ ตั้งงบไว้สูงถึง 4.6 หมื่นล้านบาท หรือเกือบครึ่งหนึ่งของงบทั้งหมด

แผนเมดิคัลฮับ 2 ดันไทยสู่ศูนย์กลางสุขภาพ

แผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มผลผลิตหลักของนโยบายเมดิคัล ฮับ อีกหนึ่งด้านคือ ธุรกิจบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จากเดิม 3 ด้านได้แก่ ธุรกิจด้านการรักษาพยาบาล ธุรกิจบริการส่งเสริมสุขภาพ และธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพร โดยวางยุทธศาสตร์หลักไว้ 3 ยุทธศาสตร์

1.ยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านธุรกิจสุขภาพ เช่น การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาในศาสตร์สุขภาพประเภทต่าง ๆ ตั้งแต่สถาบันการศึกษา หลักสูตร ผู้เรียน แบบครบวงจร การจัดทำคลังข้อมูลงานวิจัยในศาสตร์ต่าง ๆ ที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์และมีประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ด้วยวิธีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาที่มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนา การจัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจร (One Stop Service Center) ของประเทศไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น

2.ยุทธศาสตร์การส่งเสริมพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีคุณภาพ และมาตรฐานในระดับสากล เช่น การพัฒนาสถานบริการสุขภาพ ให้สามารถจัดบริการรักษาพยาบาล และระยะยาว เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของโลก การพัฒนาศักยภาพของชุมชนไทยในต่างประเทศ โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานแบบบูรณาการในลักษณะบ้าน วัด ชุมชน การจัดตั้งโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยหรือโรงพยาบาลการแพทย์ทางเลือก ในภาครัฐและเอกชนระดับ Excellent Center ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค เป็นต้น

3.ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์ เช่น การเข้าร่วมงานประชาสัมพันธ์ในระดับโลก การเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศ การจัดคณะผู้แทนระดับสูงภาครัฐเดินทางไปเจรจาการค้ากับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในต่างประเทศ โดยแบ่งเป็นกลุ่มตลาดหลักและตลาดใหม่ เป็นต้น

หวังสร้างรายได้ 4.4 แสนล้าน

              “ถ้าพูดถึงในภูมิภาคนี้ที่ประกาศตัวเป็นเมดิคัล ฮับ ศักยภาพความพร้อมของไทยมีทั้งข้อดีและด้อย เทียบกับสิงคโปร์ บางจุดเราดีกว่าเขา บางจุดเราสู้ไม่ได้ เช่น การเข้าออกสะดวก การขนส่ง เขาอาจจะดี เพราะเกาะเขาเล็ก แต่เรื่องอุปกรณ์ ทีมงาน ความชำนาญของแพทย์ เราไม่ได้เป็นรองเลย ตรงนี้เรายืนยันได้ การบริการของเราก็ดีกว่า เขาจึงอยากเข้ามาเมืองไทย เพียงแต่มีอุปสรรค ข้อขัดข้อง เขาเข้ามาลำบาก ต้องขอวีซ่า เตรียมเอกสาร เข้าได้ 30 วัน ถ้าเกินต้องขอซ้ำใหม่ บางทีต้องไปแสดงตัวเพื่อต่อวีซ่า แต่ยังต้องนอนอยู่บนเตียงก็ไปไม่ได้ เป็นปัญหาที่เขาขอเรา เราก็เลยแก้ให้ เข้าเลย 90 วัน ถ้ามารักษาจริง ๆ แค่เดินมาที่ด่าน มีใบนัดแพทย์ เข้าได้เลย แล้วต่อได้ง่าย ๆ” น.พ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบนโยบายเมดิคัล ฮับ ในขณะนี้ เคยกล่าวกับศูนย์ข่าว TCIJ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่ง

ยากจะปฏิเสธว่า เมดิคัล ฮับ สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท มีการประมาณการรายได้ที่คาดว่าจะได้รับตั้งแต่ปี 2553-2557 ในส่วนของการรักษาพยาบาลถึง 281,945 ล้านบาท รายได้จากส่วนการส่งเสริมสุขภาพ 78,225 ล้านบาท รายได้จากแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 684 ล้านบาท และรายได้จากผลิตภัณฑ์สมุนไพรและสุขภาพ 78,471 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ลงไปถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังคาดหวังผลทางด้านสังคม ว่าจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงจากการมีสุขภาวะที่ดี สร้างเสริมคุณภาพชีวิตจากการมีงานทำ มีสุขภาวะ และมีความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อสร้างรายได้ ทั้งสนับสนุนวิถีชีวิตร่วมสมัยที่ประชาชนสามารถปรับตัว และประยุกต์ใช้นวัตกรรมด้านบริการสุขภาพคู่ไปกับภูมิปัญญาไทย

แม้นโยบายเมดิคัล ฮับ จะมีประโยชน์ดังที่กระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ แต่หากขาดการบริหารจัดการ การตรวจสอบ ติดตาม และบรรเทาผลกระทบอย่างรอบด้านแล้ว การดำเนินนโยบายเมดิคัล ฮับ อาจฉุดพาคนไทยให้เผชิญภาวะสุ่มเสี่ยงจากการแปร ‘สุขภาพ’ เป็น ‘สินค้า’ เมื่อถึงตอนนั้นก็ไม่มีใครตอบได้ว่า ราคาที่คนไทยต้องจ่ายจะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ได้คืนมาหรือไม่

โมเดลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ หวั่นทำแพทย์สมองไหล

นโยบายเมดิคัล ฮับ ถูกจุดประเด็นข้อถกเถียงในสังคมเป็นระยะ เช่นเมื่อต้นปี 2555 การแถลงข่าวเปิดตัวโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ของ รศ.น.พ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และการประกาศตัวเป็นเมดิคัล ฮับ แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้นโยบายเมดิคัล ฮับ ถูกจุดเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม

น.พ.ประดิษฐ์ กล่าวถึงโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ว่า จะเป็นศูนย์รักษาโรคครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อายุรกรรม ศูนย์มะเร็ง ศูนย์โรคหัวใจ เป็นต้น กล่าวคือจะเป็นศูนย์ที่เน้นรักษาโรคที่ซับซ้อนและรักษายาก และเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา หด้วยความพร้อมเบื้องต้น 30 เปอร์เซ็นต์ และจะสามารถเปิดรักษาเต็มรูปแบบได้ภายใน 3 ปี ใช้งบประมาณ 7,000 ล้านบาท และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท

ในฐานะที่โรงพยาบาลศิริราชถือเป็นโรงพยาบาลอันดับ 1 ของประเทศในความรู้สึกของประชาชน ทั้งในแง่ของบรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยี งานวิจัย และเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ผลิตแพทย์คุณภาพป้อนสู่สังคม การแบ่งแยกแตกตัวส่วนหนึ่งออกมาทำเมดิคัล ฮับ ซึ่งมุ่งเน้นการทำธุรกิจ แม้ น.พ.ประดิษฐ์ จะกล่าวว่า รายได้จากการดำเนินงานจะกลับคืนสู่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แต่ก็ชวนให้คิดว่า เมื่อมีเรื่องธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้วจะมีผลกระทบอะไรตามมา

เหตุการณ์นี้จึงมิใช่เพียงสร้างเสียงฮือฮาในแวดวงธุรกิจโรงพยาบาลเท่านั้น ส่ำเสียงไม่เห็นด้วยจากฟากฝั่งของผู้ที่สนใจและติดตามสถานการณ์สาธารณสุขก็ดังก้องตามมาติดๆ เพราะหลังจากการแถลงข่าวเพียง 2 วัน น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้แสดงความเป็นห่วงว่าจะเกิดภาวะสมองไหลจากชนบทเข้าสู่เมือง ซึ่งยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในต่างจังหวัดให้หนักข้อยิ่งขึ้น

ขยายโมเดลโรงพยาบาลเอกชนในโรงเรียนแพทย์

การเปิดตัวโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จึงเสมือนเป็นหมุดหมายการรุกคืบครั้งสำคัญของนโยบายเมดิคัล ฮับ ที่หลายฝ่ายจับตามอง โดยเฉพาะจากฟากฝั่งแพทย์ตระกูล ส. เอ็นจีโอ และภาคประชาชนที่ติดตามประเด็นสาธารณสุขของไทย

เพราะหากถอยกลับไปก่อนการแถลงข่าวเปิดตัวโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ไม่กี่วัน น.พ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ อดีตรมช.สาธารณสุข เคยกล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูงที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยงบประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการเตรียมจัดตั้งศูนย์ลักษณะนี้แล้วตามภูมิภาคต่าง ๆ โดยในภาคกลางที่มหาวิทยาลัยมหิดล ภาคเหนือ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อย่างไรก็ตาม น.พ.สุรวิทย์กล่าวในขณะนั้นว่า เป็นการอนุมัติในเชิงหลักการเท่านั้น โดยยังไม่มีการอนุมัติงบประมาณแต่อย่างใด อีกทั้งเห็นว่าไม่ควรเรียกว่าเมดิคัล ฮับ เหมือนเอกชน แต่เป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ส่วนใหญ่ยังรักษาคนไทย แต่อาจจะมีแผนกสำหรับคนต่างชาติส่วนหนึ่ง

นโยบายข้างต้นหลายฝ่ายวิตกว่าจะซ้ำรอยโมเดลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ซึ่งกระทบต่อจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ในต่างจังหวัดที่มีน้อยอยู่แล้วจะยิ่งน้อยกว่าเดิม เพราะถูกดึงเข้าสู่เมืองใหญ่ แต่ก็มีมุมมองที่ต่างออกไปว่า การที่โรงเรียนแพทย์เปิดศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะช่วยดึงอาจารย์แพทย์ไม่ให้ไหลเข้าสู่ภาคเอกชน ทั้งยังช่วยรองรับผู้ป่วยโรคเฉพาะทางในแต่ละภาคไม่ต้องไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ

นักวิชาการทีดีอาร์ไอย้ำถ้าบุคลากรไม่พอ บริการส่วนที่ดีจะอยู่ในมือชาวต่างประเทศ

ต้องติดตามดูว่าโมเดลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ที่กำลังขยายตัวสู่โรงเรียนแพทย์แห่งอื่นๆ จะสามารถดึงอาจารย์แพทย์ไว้กับโรงเรียนแพทย์ได้หรือไม่ เพื่อบรรเทาอาการเลือดไหลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปีจากการดึงตัวอาจารย์แพทย์ของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งปัจจัยหนึ่งก็คือนโยบายเมดิคัล ฮับ เพราะถึงปัจจุบันคำตอบของโมเดลนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะได้ผลดังประสงค์ แต่ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ดำรงอยู่คือประเทศไทยขาดแคลนแพทย์และเกิดการกระจุกตัวของแพทย์ในแต่ละพื้นที่เมือง ขณะที่ต่างจังหวัดกลับขาดแคลน

หากรัฐบาลดำเนินนโยบายเมดิคัล ฮับ โดยหลงลืมความจริงข้างต้น ตัวระบบจะนำพาการบริการสาธารณสุขของไทยไปสู่จุดที่ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา กล่าวไว้ว่า

              “ถ้าเราจะหารายได้แบบนี้ เราต้องมีบุคลากรพอ เรื่องนี้สำคัญ ถ้าเราทำแบบไม่พอ ผลที่เกิดขึ้นก็จะเหมือนในระบบทุนนิยมทั่วไป คือในที่สุดสินค้าและบริการส่วนที่ดีจะไปอยู่ที่คนที่มีกำลังซื้อสูงสุด ซึ่งก็คือชาวต่างชาติเป็นหลัก”

ถึงตอนนั้น ความจริงที่ปรากฏอาจเป็นหนังคนละม้วนกับความสำเร็จมากมายที่เขียนไว้ในแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: