‘ปกาเกอะญอ’ย้ำชัดไม่เอา‘เขื่อนแม่ขาน’ จวกรัฐเมิน-ไม่เคยฟังเสียงคนกลุ่มเล็ก

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 22 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 2926 ครั้ง

แม้จะความชัดเจนของโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านของ กบอ.จะยังไม่มีใครออกมาให้คำตอบอย่างเด่นชัดว่าจะหยุด หรือเดินหน้าต่อไป หลังจากรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ ในขณะนี้ แต่ความไม่มั่นใจต่ออนาคตความเป็นอยู่ของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ ยังดูเหมือนจะไม่ได้หยุดชะงักไปด้วย ทำให้การเดินหน้าเพื่อคัดค้านโครงการฯ จึงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดชาวปกาเกอะญอ จากหมู่บ้านสบลาน  ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เตรียมรวมตัวกันเดินเท้ากว่า 27 กิโลเมตร จากหมู่บ้านสบลาน ไปยัง หมู่บ้านแม่ขนิลใต้  ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ขาน ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่  ที่อยู่ภายใต้โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เพื่อร่วมกันแสดงสัญลักษณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งสองแห่ง

ชาวปกาเกอะญอ เชื่อเขื่อนทำลายวิถีชีวิต จิตวิญญาณ

นายพฤ โอโดเชา ชาวบ้านสบลาน เปิดเผยว่า แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลหรือใครยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า หมู่บ้านสบลานและหมู่บ้านอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน จะเจอกับน้ำท่วมหลังสร้างเขื่อนเป็นพื้นที่เท่าใดก็ตาม แต่แค่ข้อมูลจากกรมชลประทานเองก็ระบุชัดเจนแล้วว่า หากสร้างเขื่อนแม่ขานน้ำจะท่วมพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ในพื้นที่ป่า แต่ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดในเรื่องพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและถนนสัญจรสู่เมืองสะเมิง โดยกระทบชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมี 8 หย่อมบ้าน จำนวนกว่า 200 หลังคาเรือน ซึ่งผู้อาศัยล้วนเป็นคนไทยปกาเกอะญอประมาณ 2,000 คน จำนวนนนี้ยังไม่รวมชาวบ้านที่ถูกตัดขาดจากถนนทางออกและผู้ได้รับผลกระทบด้านอื่น

นอกจากนี้ชาวบ้านยังเห็นว่า พื้นที่ออบขานยังไม่ประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเต็มรูปแบบ หลังจากมีการเสนอมานานกว่า 10 ปีแล้ว  โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาชาวบ้านในที่กำลังพยายามเสนอแผนจัดการทรัพยากรไม่เผาป่า ไม่บุกรุกเพิ่มเติม ขอใช้พื้นที่ทำกินที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น และพร้อมจะเรียนรู้วิถีชีวิตไปอย่างช้า ๆ ให้สามารถรักษาป่า รักษาน้ำได้เพราะชาวปกาเกอะญอ มีวิถีชีวิตอยู่กับป่าและทรัพยากรป่าไม้มาตลอด เพราะนอกจากจะใช้ประโยชน์แล้ว ทรัพยากรป่าต้นไม้ยังมีความสำคัญด้านจิตวิญญาณของชาวบ้านด้วย

            “ชาวบ้านเชื่อว่า เราคนเราจะเกิดมาพร้อมต้นไม้ต้นหนึ่ง เมื่อเด็กเกิดมาจะนำสายสะดือของเด็กใส่กระบอกไม้ไผ่แขวนไว้ที่ต้นไม้ที่อยู่รอบ ๆ หมู่บ้าน เพื่อให้ช่วยดูแลขวัญของเด็ก จะทำให้เด็กเติบโตเหมือนต้นไม้และถือว่าต้นไม้ต้นนั้นเป็นขวัญของเด็กด้วย ดังนั้นป่าจึงมีความหมายกับพวกเรามาก แต่จะมีการสร้างเขื่อนต้นไม้จะหายไป วิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอจะหายไปด้วย” นายพฤกล่าว

ขอเดินเท้าย้ำจุดยืน หลังต้องสู้กับโครงการรัฐมาตลอด

ทั้งนี้หากย้อนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการแย่งชิงทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่นี้ พบว่า ในอดีตพื้นที่ป่าไม้ในเขตลุ่มน้ำแม่ขาน มีการอนุญาตให้บริษัทต่างชาติเข้ามาสัมปทานป่าสัก โดยการรับจ้างจากบริษัท บอมเบย์เบอม่า บริษัททำไม้ในอดีตและในช่วงที่สอง เป็นบริษัทของคนไทยที่ได้รับการทำสัมปทานไม้ประดู่ พยอม ตะเคียน จุมปี แดง เต็ง พลวง ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีการต่อสู้และคัดค้าน จนทำให้การสัมปทานถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ.2533 ต่อมาในช่วงปี พ.ศ.2535 กรมป่าไม้มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยเตรียมประกาศเขตป่าอุทยานแห่งชาติออบขาน ซึ่งจากเดิมที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติสะเมิง ขอบเขตพื้นที่อุทยานครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกินและพื้นที่ป่าชุมชน ทำให้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในบ้านสบลาน และคนในชุมชนบริเวณลุ่มน้ำแม่ขาน ทำให้ชาวบ้านรวมตัวกันต่อสู้ และผลักดันให้รัฐบาลยอมรับการดูแลป่าของชุมชน รวมทั้งทำความเข้าใจกับคนภายนอกให้ได้รับรู้ถึงวิถีชีวิต และการดูแลป่าของชุมชน จนมาถึงปัจจุบันที่รัฐบาลพยายามผลักดันแผนการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ในการสร้างเขื่อน รวมทั้งในเขตพื้นที่สบลานจะถูกผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่ขานดังกล่าวด้วย

            “ด้วยเหตุผลทั้งหมดเราจึงต้องต่อสู้คัดค้านเขื่อนมาตลอด และ ในวันที่ 14 มีนาคม 2557 ซึ่งเป็นวันหยุดเขื่อนโลก ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน จะรวมตัวกันเดินธรรมยาตราจากบ้านสบลานถึงบ้านแม่ขนิลใต้ เป็นระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร เพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้านอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างกิจกรรมจะมีการหยุดพักเพื่อประกอบพิธีกรรมเคารพป่าและน้ำเป็นระยะ ๆ โดยชาวบ้านสบลานจะเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย” นายพฤกล่าว

รัฐบาลกีดกันชาวบ้านในพื้นที่แสดงความเห็น

ด้านนายพันธุ์ จันทร์แก้ว ชาวบ้านแม่ขนิลใต้ กล่าวว่า สิ่งที่รู้สึกไม่ดีเลยกับการสร้างเขื่อน คือ เมื่อครั้งรัฐบาลเชิญชาวสะเมิงไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น ต่อแผนแม่บทการจัดการทรัพยากรน้ำ ที่จ.เชียงใหม่ มีคนสะเมิงได้รับคำเชิญอย่างเป็นทางการเพียง 5 คน ที่เหลือเป็นชาวบ้านอ.สันป่าตอง และอำเภออื่น ๆ โดยบางพื้นที่ทำนานมากถึงปีละ 3 ครั้ง โดยใช้น้ำอย่างเต็มที่ แต่กลับมีสิทธิ์เข้าร่วมถึง 800 คน ขณะที่ชาวสะเมิงใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้ตามวิถีที่ชีวิตอย่างพอเพียง มีการขุดเจาะบ่อบาดาลน้ำตื้นใช้ และมีการสร้างเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาอย่างเหมาะสม แต่กำลังจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน มาพัดพาเอาทุกอย่างไปจากชีวิต รัฐบาลกลับปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น

            “หากเขื่อนแม่ขานเกิดขึ้น สิ่งที่จะกระทบมากที่สุดคือ ระบบการท่องเที่ยวที่สะเมิง โดยจากการสำรวจของภาคการท่องเที่ยวพบว่า ช่วงเทศกาลสำคัญ อาทิ ปีใหม่ สงกรานต์ มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง 3-4 วัน แต่ละเทศกาล พบนักท่องเที่ยวเข้ามาสะเมิงนับหมื่นราย หากเขื่อนเกิดขึ้นก็อาจไม่สามารถใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้มากเท่าเดิม กระทบต่อรายได้ของชาวบ้าน ที่ประกอบอาชีพรองรับนักท่องเที่ยวด้วย” นายพันธ์กล่าว

ชี้ชาวบ้านตื่นตัว สร้างความเข้มแข็งเพื่อบ้านเกิด

นายสายัณห์ ข้ามหนึ่ง เจ้าหน้าที่โครงการแม่น้ำเพื่อที่ชีวิต กล่าวในการนำสื่อมวลชนลงพื้นที่ร่วมกับโครงการโครงการสื่อสารสุขภาวะชุมชนชายขอบ ที่บ้านสบลาน ระบุว่า สภาพบ้านสบลาน เป็นหมู่บ้านปกาเกอะยอที่มีแผนการจัดการทรัพยากรอย่างเข้มแข็ง โดยพยายามรักษาป่าไม่บุกรุกเพิ่มเติม ซึ่งชาวบ้านที่นี่มีประเพณีและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมาก โดยเฉพาะทักษะใช้ชีวิตอย่างผูกพันกับธรรมชาติ มีลำห้วยที่สำคัญอย่างห้วยแม่ลาน ที่ไหลบรรจบกับแม่น้ำแม่ขาน ที่ชาวบ้านทำพิธีเคารพทุกปี เพื่อขอพรเจ้าป่าเจ้าเขา ให้ปกป้องทรัพยากรต้นน้ำที่สำคัญต่อทุกชีวิต นับเป็นต้นน้ำที่มีความสมบูรณ์ และเป็นหมู่บ้านเดียวที่อาจจะท่วมทั้งหมู่บ้านหากสร้างเขื่อนแม่ขาน ขณะนี้ชาวบ้านต่างตื่นตัว เพราะมีความรู้มากขึ้น จากการต่อสู้มายาวนาน กับการคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่ขาน พร้อมกับรวมตัวกันเป็นเครือข่ายกับพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเช่นกัน ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงใหม่  หรือภาคเหนือ แต่เป็นการร่วมมือกันกับทุกพื้นที่

            “ชาวปกาเกอะญอ หลายคนแม้จะไม่ได้เรียนหนังสือสูง แต่พวกเขามีโอกาสได้เดินทางไปร่วมแลกเปลี่ยนกับผู้คนในพื้นที่อื่น ๆ ที่เดือดร้อนเช่นกัน ทำให้มีองค์ความรู้มากขึ้น มีความเข้มแข็ง และรับรู้ข้อมูลอย่างกว้างขึ้น เพื่อหวังจะใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อบ้านของตัวเอง แต่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการตอนนี้คือ เรื่องของการเผยแพร่ข้อมูล ให้คนภายนอกได้รับรู้ เช่น กิจกรรมป่าชุมชน ความสมบูรณ์ของทรัพยากร ทั้งพันธุ์ปลา พืช ของป่า ทั้งในรูปแบบของสื่อรูปภาพ หรือวีดีโอต่าง ๆ ขณะเดียวกันพวกเขาต้องการให้มีกิจกรรมการศึกษาป่า ต้องการให้บุคคลภายนอกได้มาเห็นสภาสมบูรณ์ของป่า ได้เดินป่าร่วมกับชาวบ้าน และที่สำคัญ เขาอยากได้เวทีที่ให้ชาวบ้านออกมาพูดบ้าง ซึ่งเป็นแนวทางที่ชาวบ้านจะใช้ในการต่อสู้กับเขื่อนต่อไป” นายสายัณห์กล่าว

สำหรับโครงการเขื่อนแม่ขาน เป็นโครงการที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ก่อนที่จะถูกบรรจุลงในแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน กรมชลประทานซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ เคยถูกคัดค้านต่อต้านจากชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชาวบ้านจากหมู่บ้านแม่ขนิลใต้ โดยในขณะนั้น หมู่บ้านสบลาน ซึ่งชาวบ้านที่เป็นชาวปกาเกอะญอส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ข้อมูล ทำให้ยังไม่มีการเคลื่อนไหว โดยในปี พ.ศ.2548 กรมชลประทานได้ให้เหตุผลต่อการสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือ เขื่อนแม่ขานว่า เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านใน อ.สันป่าตอง พร้อมรายชื่อชาวบ้านกว่า 5,000 รายชื่อ ให้ก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ดังนั้นกรมชลประทานจึงเริ่มลงมือดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2532 แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านแม่ขนิลใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับปัญหาน้ำท่วม และต้องถูกอพยพออก ก็คัดค้านมาโดยตลอด โดย ตามแผนการก่อสร้าง เขื่อนแม่ขานจะมีสันเขื่อนกว้าง 10 เมตร สูง 65 เมตร และมีความยาว 390 เมตร นับเป็นเขื่อนขนาดกลาง โดยกรมชลประทานจะจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านตามระเบียบราชการ ได้แก่ ค่าทดแทนที่ดิน ค่าต้นไม้ยืนต้น และค่าอพยพขนย้าย แต่จะไม่มีนโยบายจัดหาพื้นที่รองรับใหม่ให้ชาวบ้าน เนื่องจากเป็นเขื่อนขนาดกลาง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ไม่ใช่แค่'แม่วงก์'แต่จ่อผุดทั่วไทย21เขื่อน แฉกรมชลฯยัดไส้หวังใช้งบ3.5แสนล้าน

http://www.tcijthai.com/tcijthai/view.php?ids=3134

อ่านข่าวออนไลน์จากเฟสบุ๊คของ TCIJ ได้ทุกวัน

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: