อาหารไทยเผชิญผูกขาดครบวงจร ตั้งแต่เมล็ดพันธ์ุถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต

ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ 22 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 4012 ครั้ง

ปัญหาความมั่นคงทางอาหารยังคงเป็นสิ่งที่น่าห่วงของคนทั่วโลก โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับความสมดุลระหว่างธุรกิจที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับชีวิต กับคุณค่าที่แท้จริงในอาหารที่มนุษย์ควรได้รับ

ในการประชุมสมัชชาความมั่นคงทางอาหารปี 2557 ประเด็นการจับตาบทบาทบรรษัทในการผูกขาดและควบคุมระบบอาหารในภูมิภาคอาเซียน เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงข้อน่ากังวลใจเหล่านี้ รวมทั้งมีการเปิดข้อมูลหลายอย่างที่ทำให้หลายคนอาจจะต้องกลับมาคิดว่า ความสะดวกสบายจากการเข้าถึงอาหารแบบง่ายๆ จากร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาเก็ตใกล้บ้านนั้น แท้จริงแล้วเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกันแน่

ข้อมูลชี้แบรนด์ซุปเปอร์มาเก็ตดัง 30 แห่งควบคุมอาหารโลก

Ms.Kartini Samon นักวิจัยจาก GRAIN Asia เปิดประเด็นด้วยการให้ข้อมูลภาพรวมของการดำเนินธุรกิจด้านอาหารโดยกลุ่มบรรษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกว่า จากข้อมูลการเติบโตในอุตสาหกรรมค้าปลีกด้านอาหารพบว่า ปัจจุบันมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วและน่าสนใจ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี โดยร้อยละ 50 เป็นการเติบโตในธุรกิจอาหารที่ขายผ่านซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งหากมองในกลุ่มประเทศเอเชียพบว่า รูปแบบของการค้าด้านอาหารได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในโลกเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นกลุ่มภูมิภาคที่มีจำนวนคนมากและเป็นธุรกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ จึงสร้างแรงจูงใจและความสนใจให้กับผู้บริโภคมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากลุ่มธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร พบว่า มีแบรนด์ซุปเปอร์มาเก็ตชื่อดังเพียง 30 แห่งเท่านั้นที่สามารถเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ คิดเป็นอัตราการควบคุมตลาดถึงร้อยละ 33 และหากพิจารณาลงไปอีกก็จะพบว่า มีบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเพียง 5 แห่งเท่านั้นที่สามารถครอบครองตลาดอาหารของโลก

           “ปรากฎการณ์นี้ส่งนัยสำคัญให้เห็นว่า การควบคุมตลาดของบรรษัทขนาดใหญ่เหล่านี้กำลังทำลายความมั่นคงของเกษตรกรและอธิปไตยทางอาหาร ซึ่งกระบวนการกระจายอาหารถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างเครือข่ายซุปเปอร์มาร์เก็ตกับเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มยักษ์ใหญ่อย่างเจริญโภคภัณฑ์  ไทสันฟู้ด และเป๊บซี่โค มีการทำฟาร์มขนาดใหญ่ของตัวเอง หรือทำเกษตรพันธสัญญาเพื่อสร้างหลักประกันว่าจะสามารถส่งผลผลิตเข้าสู่ระบบได้อย่างสม่ำเสมอ และการจัดซื้อผลผลิตข้ามชาตินี้ยังทำให้เกิดการผูกขาดผลผลิตในพื้นที่เฉพาะ กดราคาผลผลิตท้องถิ่น จนต้องกลายเป็นการพึ่งพาการนำเข้าอาหารมากขึ้น” Ms.Kartini กล่าว

เกษตรกรญี่ปุ่นยังถูกกีดกันไม่ให้ขายผลผลิตเอง

ข้อมูลของ Ms.Kartini  ยังระบุด้วยว่า ปัญหาการผูกขาดผลผลิตทางเกษตรกรรมจากบรรษัทขนาดใหญ่ ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แม้แต่ในระบบซุปเปอร์มาร์เก็ตของประเทศญี่ปุ่นเอง เกษตรกรก็มักประสบปัญหาที่ไม่สามารถจะกระจายผลผลิตได้ด้วยตัวเองเช่นกัน โดยพบว่าเกษตรกรรุ่นใหม่ไม่สามารถที่จะขายผลผลิตของตัวเองได้โดยตรง แม้กระทั่งความพยายามที่จะสร้างตลาดขึ้นด้วยตัวเองเพื่อเชื่อมต่อกับผู้ซื้อ แต่ก็กลับพบว่าถูกกฎระเบียบเชิงนโยบายสกัดกั้น ด้วยการไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่สาธารณะในการขายสินค้าหรือผลผลิตการเกษตรได้โดยตรงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้จากข้อมูลทางการตลาดล่าสุดพบว่า ในประเทศญี่ปุ่นมีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพียง 5 กลุ่มเท่านั้นที่ครองตลาดด้านอาหารสูงถึงร้อยละ 65 เช่นเดียวกับที่ประเทศอินโดนีเซียที่มีกลุ่มธุรกิจใหญ่เพียง 5 กลุ่มที่ครองตลาดด้านอาหารจนส่งผลกระทบต่อผู้ค้าในตลาดสดราว 12.5 ล้านคน ขณะที่ในประเทศอินเดีย ผู้ค้าราว 40 ล้านคนได้รับผลกระทบจากการเข้าครองตลาดของกลุ่มค้าปลีกของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เหล่านี้

ตลาดอาหารไทยถูกผูกขาดแบบครบวงจร

สำหรับสถานการณ์ของการครอบครองตลาดค้าปลีกจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย ดูจะไม่แตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลกเช่นกัน โดย น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ระบุว่า ปัจจุบัน ตลาดการค้าอาหารในซุปเปอร์มาเก็ตของไทยมีมูลค่าสูงประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ถือเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ครองตลาดเป็นอันดับ 1 มีมูลค่าราว 1.9 แสนล้านบาท มีร้านค้าสะดวกซื้อแบรนด์เซเว่น อีเลฟเว่น จำนวนมากถึง 7,651 สาขา ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีสาขามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่นที่มีอยู่ 15,504 ร้าน และอเมริกาที่มีอยู่ 8,144 สาขา  ซึ่งร้านเซ่เว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทยมีสินค้าราว 1,500 รายการ โดยร้อยละ 80 ของรายการสินค้าเป็นสินค้าประเภทกินได้ทั้งสิ้น

           “สินค้าในร้านสะดวกซื้อเหล่านี้ทั้งหมดเป็นการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร ที่มาจากกลุ่มธุรกิจใหญ่ประมาณ 5 กลุ่มเช่นเดียวกัน ที่มีแนวโน้มว่ามูลค่าการซื้อขายอาหารผ่านตลาดสมัยใหม่นี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นกว่าการค้าขายอาหารจากร้านค้าในแบบเดิมๆ”

อาหารในห้างสร้างโรคอ้วน–เบาหวาน

ปัญหาการผูกขาดของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ยังไม่ได้เป็นปัญหาแค่เรื่องความไม่มั่นคงทางการตลาดของกลุ่มเกษตรกรพื้นที่เท่านั้น การกระจายอาหารในลักษณะของอาหารแช่งแข็ง อาหารสำเร็จรูปที่เป็นแบบเดียวกัน ยังส่งผลด้านสุขภาพของผู้บริโภคอาหารเหล่านี้ เนื่องจากพบว่าการค้าในระบบสมัยใหม่เป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมจากการบริโภคอาหารสดมาเป็นอาหารที่ถูกผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ผัก น้ำมันพืชจนทำให้กลายเป็นสาเหตุของโรคสำคัญ ได้แก่ โรคอ้วน และโรคเบาหวาน เพราะปัจจุบันอาหารที่ทำสดใหม่กลายเป็นอาหารที่มีราคาแพง ทำให้กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงอาหารที่มีคุณค่า หรืออาหารอินทรีย์ที่ถูกวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต คนรายได้น้อยโดยเฉพาะคนในเมืองแทบไม่มีทางเลือกใดในการกินอาหารนอกจากอาหารราคาถูกที่ไม่ต้องคำนึงถึงสุขภาพใดๆ ปัจจุบันมีข้อมูลการสำรวจทางวิชาการพบว่า ประเทศจีน ปากีสถาน และอินโดนีเซีย กลายเป็นประเทศที่ติดอันดับของประเทศที่มีคนที่เป็นโรคอ้วนตามกลุ่มประเทศตะวันตกไปเรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่ในประเทศไทย อ้างอิงจากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลก ระบุว่า ประชากรอายุมากกว่า 20 ปีของไทยมีน้ำหนักเกินมาตรฐานอยู่ที่ร้อยละ 31 ถือเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคโดยมีประเทศมาเลเซียครองแชมป์อยู่ที่ร้อยละ 44.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป จากการบริโภคอาหารจากคลังอาหารธรรมชาติไปเป็นการพึ่งพาอาหารจากซุปเปอร์มาเก็ตสมัยใหม่แทน

ชี้บรรษัทขนาดใหญ่แทรกแซงนโยบายด้านอาหารของรัฐเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ

ด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในประเด็นเกี่ยวกับอาหารว่า ที่ผ่านมาปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่กลายเป็นหนึ่งประเด็นปัญหาที่สภาผู้บริโภคอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรด้านการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคจากประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนรวมตัวกันทำงานให้ความสนใจ และพยายามที่จะหาแนวทางในการหาความสมดุลระหว่างธุรกิจกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยการมองผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยเองยังไม่ประสบความสำเร็จ องค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐก็ยังไม่สามารถตอบสนองการเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคได้ หรือแม้กระทั่งการแจ้งข้อมูลเพื่อขอรับความช่วยเหลือก็ยังเป็นเรื่องยาก ปัญหานี้ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถที่จะร้องเรียนหรือขอรับความช่วยเหลือจากการถูกเอาเปรียบจากกลุ่มผู้ผลิตหรือผู้ประกอบธุรกิจอาหารได้ จนกลายเป็นสภาวะจำยอมจนกลายเป็นเรื่องปกติไป

ดร.จิราพร กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่สภาผู้บริโภคอาเซียนมองเห็นและพยายามหาแนวทางแก้ไข พบว่า มีหลักใหญ่อยู่ 2 ประเด็น ได้แก่

1.ประเด็นเรื่องการผูกขาดและการควบคุมตลาดของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งกระบวนการทางธุรกิจเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างชัดเจน ตั้งแต่การส่งผลผลิตออกสู่ตลาดโลกที่มีเพียงไม่กี่แห่ง การผลิตสินค้าผลผลิตด้านการเกษตรที่เป็นชนิดเดียว ส่งผลต่อการเกิดโรค ความหลากหลายทางชีวภาพ จนต้องตามมาด้วยการผูกขาดจากการทำเกษตรพันธสัญญา การทำตลาดแบบครบวงจร และการทุ่มตลาดจนธุรกิจรายย่อยไม่สามารถแข่งขันได้ จนส่งต่อเกษตรกรพื้นที่

2.การล็อบบี้ในระดับนโยบายและการออกกฎระเบียบของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละประเทศ ซึ่งจะพบว่า ธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้พยายามที่จะเข้าไปแอบแฝง โดยการเป็นกรรมการหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการออกกฎระเบียบในการหวังผลที่จะให้มีการออกระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจผูกขาดเหล่านี้

           “การแทรกแซงเหล่านี้เราพบว่า มีการแทรกแซงและพยายามที่จะนำข้อมูลงานวิจัยที่เอียงกระเท่เร่ เข้ามาเพื่อให้มีการกำหนดนโยบายเอื้อต่อธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สภาผู้บริโภคอาเซียนพยายามเรียกร้องและหาทางแก้ไขปัญหาในประเทศต่างๆ  โดยพบว่าปัญหาเรื่องของอาหารเป็นปัญหาสำคัญที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้น ทั้งประเด็นเรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ การผูกขาดเทคโนโลยี วัตถุดิบต่างๆ รวมถึงความพยายามที่จะดูแลเรื่องความปลอดภัยระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลังการเป็นเขตเศรษฐกิจอาเซียน เช่น กรณีที่ประเทศหนึ่งห้ามใช้สารเคมีบางชนิดในผลิตภัณฑ์อาหาร ประเทศอื่นๆ ก็จะต้องดำเนินการเช่นกันด้วย เพราะที่ผ่านมาเรามักถูกบอกให้เชื่อว่าอาหารที่อยู่ในซุปเปอร์มาเก็ต ซึ่งมีแพคเกจสวยและราคาแพงจะปลอดภัย แต่แท้จริงจากการสำรวจก็พบว่ามีสารพิษตกค้างมากมาย จึงถือเป็นภาพลวงตาที่จะต้องได้รับการแก้ไขทัศนคติเหล่านี้” ศ.ดร.จิราพร กล่าว

เสนอ 4 ประเด็นควบคุมการผูกขาด

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมสมัชชาความมั่นคงทางอาหารดังกล่าว ได้มีข้อเสนอต่อประชาชนเพื่อการควบคุมการผูกขาดของบรรษัทเกษตรอุตสาหกรรม ดังนี้

1.นโยบายเกษตรกรรมและอาหารเป็นเรื่องชีวิตของประชาชนทุกคน ต้องกำหนดโดยกระบวนการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน

2.ต้องมีการการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มงวด ทั้ง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า, พ.ร.บ.ค้าปลีก, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น

3.ต้องมีกลไกคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระ ไม่ใช่มีองค์ประกอบมาจากรัฐและผู้ประกอบการ

4.ผู้บริโภคต้องตื่นตัว ติดตามข้อมูลข่าวสาร เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดระบบเกษตรกรรมและอาหารของตนเอง

อ่านข้อมูลใน 'จับตา: ประเทศไทยมีร้านค้าปลีกมากแค่ไหน' ที่

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4617

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: