ตลาดทุนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์

22 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 9507 ครั้ง


ภาพยนตร์ไทยก็มีชื่อเสียงในตลาดสากลมากขึ้น เช่น ต้มยํากุ้ง (ติดอันดับภาพยนตร์ทําเงินสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ในสัปดาห์แรกที่เข้าฉาย) พี่มาก..พระโขนง (ทํารายได้ในไทยกว่า 568 ล้านบาทและติดอันดับหนังทําเงินของอินโดนีเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์) หรือแอนิเมชั่นก้านกล้วย ได้ถูกนําไปฉายในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย

รายงาน Super-Cycle ปี 2010 คาดการณ์ว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตลาดจะเชื่อมโยงในระดับโลกมากยิ่งขึ้น ตลาดเกิดใหม่จะเติบโตอย่างรวดเร็วและมีบทบาทมากขึ้น รวมทั้ง สื่อรูปแบบใหม่จะมีส่วนช่วยให้ตลาดเกิดใหม่ได้เข้าถึงและเป็นที่รู้จักของตลาดระดับโลกมากขึ้น

บทความนี้จึงขอนําสรุปภาพรวม ปัญหา และเครื่องมือของตลาดทุนในการเป็นแหล่งเงินทุนให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เพื่อพิจารณาโอกาสที่ตลาดทุนจะมีส่วนสนับสนุนด้านเงินทุนเพิ่มเติมให้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์

1. รู้จักกับอุตสาหกรรมภาพยนตร

·         ภาพยนตร์เป็นรูปแบบหนึ่งของทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้รับการยอมรับว่าเป็นงานศิลปะที่สําคัญ

·         อุตสาหกรรมภาพยนตร์ใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง โดยต้นทุนหลักในการผลิตภาพยนตร์ ได้แก่ ต้นทุนการสร้าง (ภาพยนตร์ไทยอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 20-30 ล้านบาท) และต้นทุนการทําตลาดหรือโปรโมท (ภาพยนตร์ไทยอยู่ที่ประมาณ 12-15 ล้านบาท)

·         การลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีความเสี่ยงสูงและอาจให้ผลตอบแทนสูง เช่น หนัง Sahara (ปี 2005) ใช้ต้นทุนสร้างและการตลาด USD 282 ล้าน สร้างรายได้จากการฉายเพียง USD 122 ล้าน ขณะที่หนัง Blair Witch Project (ปี 1999) ใช้ทุนสร้างและการตลาด USD25.06 ล้าน สร้างรายได้จากการฉายมากกว่า USD 240 ล้าน

·         แหล่งรายได้ของภาพยนตร์ มาจากรายได้จากการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ (เช่น ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยมีรายได้ส่วนแบ่งร้อยละ 50 จากตั๋วภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ และมีรายได้การขายสิทธิ์ให้กับสายหนังในต่างจังหวัด) และรายได้ค่าลิขสิทธิ์จากการนําออกแสดงหรือจัดจําหน่ายให้แก่ผู้บริโภค ได้แก่ค่าลิขสิทธิ์จากการฉายภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ค่าลิขสิทธิ์จากผู้ประกอบการ Home Video เพื่อนําไปผลิตและจําหน่ายดีวีดีค่าลิขสิทธิ์จากOnline Video Distributor (เช่น Netflix) เพื่อนําไปจําหน่ายผ่านสื่อออนไลน์หรือสื่อรูปแบบใหม่ให้แก่ผู้บริโภค (เช่น ดาวน์โหลดทางอินเทอร์เน็ตหรือ Application บนมือถือ) รวมทั้ง รายได้จากการขายลิขสิทธิ์ให้บริษัทในต่างประเทศ และขายสปอนเซอร์จากสินค้า ทั้งนี้รูปแบบของรายได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี

·         กระบวนการสร้างภาพยนตร์
(1) ขั้นตอนก่อนการผลิต: วางแผนผลิต การได้มาซึ่งสิทธิในเรื่องจากหนังสือ (จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์) ขั้นตอนเขียนบทภาพยนตร์จัดหาทีมงาน นักแสดงและจัดอุปกรณ์ประกอบฉาก
(2) ขั้นตอนการผลิต: ถ่ายทําภาพยนตร์และบันทึกเสียง จัดทําแอนนิเมชั่น กิจกรรมกองถ่าย เป็นต้น (จ่ายค่าตัวให้กับนักแสดงผู้กํากับ ค่าสถานที่และอุปกรณ์ฯลฯ)
(3) ขั้นตอนหลังการผลิตสื่อ: การตัดต่อ ทํา visual/special effects ทําเพลงและบรรยายประกอบ เป็นต้น

หลังจากที่สร้างภาพยนตร์แล้ว จะนําผลงานไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์และจัดการเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากลิขสิทธิ์ จากนั้นจะมีกระบวนการเผยแพร่ เช่น ทําสําเนาของสื่อบันทึกเพื่อนําไปจัดแสดงหรือจัดจําหน่ายให้แก่ผู้บริโภค

ระยะเวลาการผลิตภาพยนตร์ ภาพยนตร์ไทยจะใช้เวลา 8 เดือนถึง 1.5 ปีตั้งแต่การเขียนบทจนถึงภาพยนตร์เข้าฉาย

·         ภาพยนตร์แอนิเมชั่น (Animation) มีหลายรูปแบบ เช่น สําหรับฉายในโรงภาพยนตร์ (Fully Animated Movies เช่น เรื่อง “ก้านกล้วย”สร้างโดย บจก. กันตนาแอนนิเมชั่น) สําหรับออกอากาศทางโทรทัศน์ (เช่น เรื่อง “ปังปอนด์” สร้างโดย บจก. วิธิตา แอนิเมชั่น ฉายในโรงภาพยนตร์ IMAX และช่อง 3) และแอนิเมชั่นในรูปของ DVD จะมีห่วงโซ่อุปทานสําคัญได้แก่
(1) ขั้นตอนก่อนการผลิต: เริ่มจากพัฒนาคาแรกเตอร์ของตัวการ์ตูน แล้วนํามาเขียนให้อยู่ในรูปของบทละคร และผลิตตัวอย่างของภาพยนตร์ เพื่อนําไปเสนอขายให้กับผู้แทนจําหน่าย เพื่อหาผู้ร่วมทุนในการสร้าง
(2) ขั้นตอนการผลิต: สร้างให้ตัวการ์ตูนมีการขยับร่างกายและแสดงท่าทางที่สอดคล้องกับเสียง
(3) ขั้นตอนหลังการผลิต: ใส่เสียง เพลง แก้ไข และจัดวางองค์ประกอบในขั้นสุดท้าย เมื่อแล้วเสร็จจะนําผลงานไปจดลิขสิทธิ์และเข้าสู่กระบวนการจัดจําหน่าย

·         แอนิเมชั่นที่เป็นงาน Visual Effects หรือ Special Effects สําหรับภาพยนตร์มีขั้นตอนดังนี้
(1) ขั้นตอนก่อนการผลิต: ขั้นตอนสร้าง storyboard และ effect และจัดทําภาพร่าง
(2) ขั้นตอนการผลิต: ทํา modeling, animation lighting matchmaking จัดวางองค์ประกอบและเตรียมภาพพื้นหลัง
(3) ขั้นตอนหลังการผลิต: จะ mix เสียงและภาพ แก้ไข และจัดวางองค์ประกอบต่างๆ

2. อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย

(1) ธุรกิจผู้สร้างภาพยนตร์ไทย

·         ƒผู้สร้างภาพยนตร์ไทยมีภาวะตลาดที่มีการผูกขาด (TDRI, 2010) โดยมีผู้ประกอบการที่สําคัญและสร้างผลงานภาพยนตร์ออกมาต่อเนื่อง ได้แก่ สหมงคลฟิล์ม (มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด) GTH เอ็ม 39 พระนครฟิล์ม ไฟว์สตาร์

·         ƒภาพยนตร์ไทยที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในแต่ละปีมีจํานวนประมาณ 40-70 เรื่อง และทํารายได้ประมาณ 1,000 ลบ.

(2) ธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ของไทยทั้งระบบที่รวมการผลิต หรือรับจ้างผลิตให้กับภาพยนตร์ของไทยและต่างประเทศ

·         ƒโครงสร้างตลาดมีลักษณะค่อนข้างกระจายตัวและมีการแข่งขันสูง มีผู้ประกอบการประมาณ 633 ราย โดยมีผู้ประกอบการสําคัญคือ บจก. เทคนิคคัลเลอร์ (ไทยแลนด์)

(3) ธุรกิจผลิตแอนิเมชั่น

·         ƒมีผู้ประกอบการน้อยราย โดยเป็นผู้ประกอบการที่สร้างตัวละครของตัวเองไม่เกิน 10 รายและผู้ประกอบการที่รับจ้างผลิต 30-40 ราย มีผู้ประกอบการสําคัญคือ บจก. กันตนา แอนิเมชั่น บจก. วิธิตาแอนิเมชั่น และ บจก. อิเมจิแมกซ์

(4)ธุรกิจการจําหน่ายภาพยนตร์และวิดีทัศน์

·         ตลาดของธุรกิจจําหน่ายภาพยนตร์มีการกระจุกตัว แต่มีการแข่งขันพอสมควร มีผู้ประกอบการหลัก 2 กลุ่ม
1) บริษัทในเครือสหมงคลฟิล์ม เป็นผู้สร้าง ผู้จัดจําหน่าย และเจ้าของสายหนังทั่วประเทศ และได้สิทธิ์จําหน่ายภาพยนตร์ต่างประเทศรายใหญ่
2) บมจ. เอ็ม พิคเจอร์ส (บมจ. เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์กรุ้ป ถือหุ้น 67.8%) มีส่วนแบ่งรายได้สูงสุด

·         ธุรกิจจัดจําหน่ายภาพยนตร์ในรูปแบบสื่อวิดีทัศน์(ดีวีดีบลูเรย์)โครงสร้างตลาดมีการแข่งขันกันสูง ทั้งด้านการคัดเลือกภาพยนตร์และทําการตลาด เพื่อให้ลูกค้าสะสมภาพยนตร์มากขึ้น (MAJOR, 2012) แต่มีผู้ประกอบการหลักเพียง 9 ราย

(5) ธุรกิจโรงภาพยนตร์

·         ƒธุรกิจนี้มีผู้ประกอบการหลายราย แต่มีรายใหญ่เพียง 2 ราย คือ บมจ. เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์กรุ้ป (ปี 2012 มี 56 สาขา 413 โรงภาพยนตร์ ) และ บจก. เอส เอฟ ซีนีม่า ซิตี้ (ปี 2555 มี 30 สาขา 218 โรงภาพยนตร์) โครงสร้างตลาดจึงเป็นแบบผู้ขายน้อยรายและมีการผูกขาด (TDRI, 2010)

·         จํานวนโรงภาพยนตร์เมื่อนํามาเทียบต่อประชากรไทย อยู่ที่ประมาณ 83,000 คน (สิงคโปร์อยู่ที่ 24,600 คน) (MAJOR, 2012) ผู้ประกอบการฯ ได้ขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่ศูนย์การค้า Modern Trade หรือตั้งสาขาในลักษณะเป็นแหล่งบันเทิงครบวงจร หรือควบรวมกิจการ

·         รายได้ของการฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ มีแหล่งรายได้มาจากการขายตั๋วภาพยนตร์ฝรั่งเป็นหลัก (แผนภาพ 4) โดยมีจํานวนและราคาขายตั๋วภาพยนตร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2008-2011

3. ปัญหาและอุปสรรคสําคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย

·         ƒผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากหรือขาดแคลนเงินทุนเพราะการสร้างภาพยนตร์ใช้ต้นทุนสูงและมีความเสี่ยงสูง ที่ผ่านมาภาพยนตร์ไทยจํานวนมากที่ไม่ประสบความสําเร็จด้านรายได้การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินจึงทําได้ค่อนข้างจํากัด เมื่อเงินทุนจํากัด จึงส่งผลให้ผลงานขาดคุณภาพและมักไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

·         ƒปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์มีการลักลอบวางจําหน่ายวัสดุวีดีทัศน์หรือดาวโหลดภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างแพร่หลาย

·         ƒขาดบุคลากรที่มีองค์ความรู้และทักษะที่จําเป็น ขาดสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรเฉพาะทางสําหรับอุตสาหกรรม รวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลและองค์ความรู้ที่สําคัญต่อการพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

·         ƒผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานยังขาดคุณภาพมาตรฐานและต้องการพัฒนาเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจโรงถ่ายที่ได้มาตรฐานทั้งในและนอกสถานที

4. ตลาดทุน แหล่งเงินทุนสําคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์

·         ƒความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สมบูรณ์เป็นปัจจัยที่สําคัญที่สุดที่ทําให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้เปรียบเหนือคู่แข่งในโลก (Morawetz, 2008)

·         ทศวรรษ 1920 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐฯสามารถมีชัยชนะเหนือบริษัทในยุโรปที่เป็นผู้นําตลาดในขณะนั้นได้เพราะมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอต่อความต้องการจากแหล่ง venture capital funds ประกอบกับหลายบริษัทสร้างภาพยนตร์ (เช่น Warner Brothers, Paramount และ FOX) ได้ประโยชน์ด้านเงินทุนจากออกขายหุ้นต่อประชาชน (ในยุครุ่งโรจน์ของ IPO ของบริษัทสร้างภาพยนตร์ในช่วงทศวรรษ 1910s ซึ่งเป็นช่วงที่เกือบทุกบริษัทที่มีชื่อ ‘Motion Picture’ สามารถขายหุ้น IPO ได้) ในขณะที่บริษัทยุโรปมีทุนจํากัดและเข้าถึงแหล่งเงินทุนภายนอกได้ยาก เพราะผู้ลงทุนกลัวความเสี่ยง (Bakker, 2005)

·         ตลาดทุนได้มีบทบาทสําคัญสร้างความรุ่งโรจน์ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 1910 ถึงปัจจุบัน โดยมีเครื่องมือระดมทุนที่มีความหลากหลาย ทั้งการระดมทุนผ่านการออกขายตราสารทุน ตราสารหนี้ตราสาร Securitization โดยใช้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เป็นสินทรัพย์อ้างอิง หรือการจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในลิขสิทธิ์ภาพยนตร์หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงถ่ายทําภาพยนตร์หรือโรงภาพยนตร์หรือการระดมเงินทุนผ่าน Crowdfunding โดยมีผู้ให้เงินทุนหลายประเภท เช่น Private Equity Funds, Hedge Funds, นักลงทุนร่ำรวย ผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนทั่วไป โดยประเภทของผู้ลงทุนจะแตกต่างไปตามประเภทของเครื่องมือระดมเงินทุน (ตารางแนบท้าย 1)

·         อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย นอกจากจะมีแหล่งเงินทุนสําคัญเป็นเงินกู้ยืมจากธนาคาร ตลาดทุนไทยได้มีบทบาทสําคัญในการเป็นแหล่งระดมเงินทุนให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย มาตั้งแต่ปี 1995 ถึงปัจจุบัน ได้แก่
(1) การออกเสนอขายตราสารทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปของบริษัทที่ทําธุรกิจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จํานวนประมาณ 5 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการสําคัญในอุตสาหกรรมได้แก่ บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ บมจ.เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป บมจ. เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์และ บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ โดยมีมูลค่าตลาดรวม 38,500 ล้านบาท (13 มี.ค. 2557) (ตารางแนบท้าย 2)
(2) การจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ได้แก่
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แบบมีกรรมสิทธิ์ 101 มนตรีสโตเรจ ลงทุนในอาคารให้เช่าเพื่อถ่ายทําละคร (จัดตั้งปี 2009 เงินทุนจดทะเบียน 603 ล้านบาท)
- กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ไลฟ์สไตล์ลงทุนในโครงการเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์รัชโยธิน และเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์รังสิต ซึ่งเป็นศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์ (จัดตั้งปี 2007 มีเงินทุนจดทะเบียน 3,300 ล้านบาท)

การส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยเป็นเครื่องมือระดมทุนให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยได้ดียิ่งขึ้น จะเพิ่มบทบาทของตลาดทุนไทยในการลดอุปสรรคสําคัญด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ตลอดจนเพิ่มทางเลือกในการลงทุนของผู้ลงทุน

BOX : Crowdfunding ช่องทางใหม่หาทุนสร้างหนังให้เป็นจริง

Crowdfunding หรือ การระดมเงินทุนจากมวลชน ซึ่งส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันจะทําผ่านเว็บไซต์เป็นอีกช่องทางที่ผู้สร้างภาพยนตร์ได้มีโอกาสทําฝันให้เป็นจริง ภาพยนตร์เรื่อง Veronica MARS the movie (ปี 2014) เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสําเร็จของภาพยนตร์ที่ระดมทุนจากมวลชน เรื่องนี้เดิมเป็นละครที่ถูกถอดออกจากผังแต่กลับได้ทุนกว่า USD 5.6 ล้าน จากผู้สนับสนุนกว่า 90,000 คน มาสร้างหนังฟอร์มใหญ่ หลังจากเปิดรับบริจาคทุนสร้างไปเพียง 6 ชั่วโมงผ่านเวปไซต์ Kickstarter.com

Crowdfunding ได้ขยายเครือข่ายของ 'ผู้ให้ทุน' จากเดิมเป็นแค่ในกลุ่มคนรู้จัก ไปยังกลุ่มมวลชนหมู่มากในโลกอินเทอร์เน็ต ที่มีเงินทุนและอยากสนับสนุนแนวคิดดีๆให้เกิดขึ้น จึงมีการนํา Crowdfunding ไปใช้กับการขอเงินบริจาคให้กับโครงการขององค์กรการกุศลหรือกิจการเพื่อสังคม (donation-based Crowdfunding) หรือระดมเงินจากผู้ใช้สินค้าที่อยากได้ 'สินค้าในฝัน' เพื่อเป็นทุนให้กับผู้ประกอบการที่มีไอเดีย แต่อาจจะยังไม่มีสินค้ามาขายของล่วงหน้าบนเวปไซต์ให้มวลชนจํานวนมากพอมายื่นซื้อ พอครบเมื่อไหร่ถึงจะได้ของพร้อมกันเสมือนการขายของโดยขอเงินไปก่อน แล้วสร้างเสร็จค่อยส่งสินค้าให้ไม่ต้องไปหาช่องทางการจัดจําหน่ายหรือแผนการตลาดเลย (reward-based Crowdfunding)

จากนั้นก็เริ่มพัฒนาสู่การระดมทุนจากมวลชนในรูปแบบของการให้เงินกู้ยืม (loan-based Crowdfunding) หรือเข้าลงทุนในหุ้นของกิจการ (equity–based Crowdfunding)

เวปไซต์ crowdfunding เพื่อระดมทุนสร้างภาพยนตร์ทางอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2003 เริ่มต้นจาก ArtistShare โดยในปัจจุบันเวปไซต์ KickStarter (ปี 2009 เน้นหนัง-หนังสือ-เพลง-เกมส์-งานศิลปะ) และ IndieGoGo (ปี 2008 เน้นหนัง-เพลง-เกมส์-สินค้าเทคโนโลยี-การกุศล-เดินทาง-อาหาร-ผู้ประกอบการ) เป็นที่นิยม โดยกลไกการทํางานคือ เวปไซต์จะทําหน้าที่เป็นตัวกลาง (Crowdfunding portal) ให้คนที่อยากระดมทุนเข้ามาเสนอ ว่าตัวเองเป็นใคร อยากทําอะไร สิ่งที่จะทํามีอะไรเด่น และที่สําคัญคือต้องการเงินเท่าไหร่ ในการทําความฝันให้เป็นจริง ทั้งนี้เวป KickStarter และ IndieGoGo มองว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นผู้ให้ทุนมีสถานะเป็นเสมือนผู้บริจาคเงินเพื่อเติมความฝันให้เป็นจริง ไม่ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับเจ้าของโครงการ ดังนั้น ผู้ให้ทุนเลือกได้ว่าจะจ่ายเงินตามแพ็กเกจไหน (ตามที่เจ้าของโครงการกําหนด) เพื่อแลกกับสิ่งของตอบแทนอะไรบ้าง (donation- and reward- based Crowdfunding) ภาพยนตร์หลายเรื่องที่ระดมทุนผ่าน Kickstarter ประสบความสําเร็จในหมู่นักวิจารณ์และเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ต่างๆ ทั้ง Oscars และ Sundance film Festival

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง บทวิเคราะห์: ปู่สมบูรณ์ในฐานะชีวประวัติของคนจน

ที่มา

สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต. )

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.vipakradio.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: