บทวิเคราะห์: ประชาชนไม่ใช่ขยะแผ่นดิน

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ 23 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1943 ครั้ง

สำหรับผู้ที่เห็นว่าพฤติกรรมของคุณเนวินและหมอเหรียญทองไม่ได้เป็นความรุนแรง ลองไปคุยกับมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอยดูก็จะรู้ว่าการตั้งกฎเถื่อนแบบเนวินหรือไล่ล่าแบบหมอเหรียญทองเป็นความรุนแรงอย่างไร

อันที่จริง นอกจากทั้งสองข่าวจะแสดงความเป็นสังคมแห่งความรุนแรง (ซึ่งคนไทยจำนวนน้อยอาจไม่คิดว่าเป็นปัญหา) ข่าวทั้งสองยังแสดงความเป็นสังคมที่เข้าใกล้สภาวะปราศจากระเบียบกฎเกณฑ์อีกด้วย เพราะคุณเนวินและหมอเหรียญทองประกาศตั้งกฎของตัวเองและประกาศใช้กำลังบังคับให้ผู้อื่นปฏิบัติตามกฎนั้นอย่างเปิดเผย พฤติกรรมนี้จึงทำลายกติกาพื้นฐานของโลกสมัยใหม่ที่รัฐต้องเป็นฝ่ายผูกขาดการใช้ความรุนแรงในสังคม

ต้องอธิบายว่าการผูกขาดการใช้ความรุนแรงในสังคมไม่ได้หมายถึงสภาวะที่ความรุนแรงหมดไปโดยสมบูรณ์ เพราะในทุกสังคมต้องมีอันธพาล ทหารนอกแถว พ่อแม่ มาเฟีย  อิทธิพลมืด ฯลฯ ที่ใช้ความรุนแรงทางใดทางหนึ่งเสมอ แต่โลกสมัยใหม่ถือว่ารัฐเท่านั้นใช้ความรุนแรงได้โดยชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการใช้ความรุนแรงตามข้อตกลงของคนในสังคมเพื่อจรรโลงความสงบของสังคมทั้งหมด

ด้วยตรรกะแบบนี้ ถ้ารัฐผูกขาดความรุนแรงไม่ได้ ความรุนแรงก็จะกระจายไปทั่วสังคม ผลก็คือสังคมก็ไม่ต่างสภาพสงครามที่ทุกฝ่ายมุ่งใช้ความรุนแรงเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

เมื่อพูดว่ารัฐผูกขาดความรุนแรงตามอาณัติที่เกิดจากข้อตกลงร่วมของสังคม ก็ควรพูดต่อไปด้วยว่าไม่มีสังคมไหนในโลกที่มีการรวมตัวของผู้คนเพื่อประชุมร่วมกันจริงๆ จนได้มาซึ่งข้อตกลงแบบนี้ แท้จริงแล้ว “ข้อตกลง” จึงเป็นเรื่องสมมติทางทฤษฎีเพื่อให้รู้สึกว่าการผูกขาดความรุนแรงโดยรัฐเกิดจากความยินยอมพร้อมใจจนชอบธรรมที่จะยอมรับในที่สุด พูดอีกแบบก็คือโดยเนื้อแท้แล้วการผูกขาดความรุนแรงโดยรัฐเกิดจากการใช้กำลัง

ในแง่ประวัติศาสตร์เอง การใช้กำลังเพื่อให้รัฐผูกขาดความรุนแรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างรัฐสมัยใหม่อย่างมีนัยยะสำคัญ กระบวนการสถาปนารัฐสมัยใหม่ในสังคมไทยจึงเต็มไปด้วยเรื่องการยกกองทัพของกรุงเทพและหัวเมืองไปทำลายกองกำลังของกษัตริย์ปัตตานี ล้านนา  เงี้ยว ฯลฯ รวมทั้งประกาศเลิกทาสเพื่อไม่ให้ขุนนางมีกองกำลังในครอบครอง เพราะการกระจายตัวของกองกำลังทำให้พระราชอำนาจถูกคุกคามได้ตลอดเวลา

เพราะเหตุนี้ การใช้กำลังเพื่อให้รัฐผูกขาดความรุนแรงจึงเป็นกลไกสำคัญในยุคต้นของการสถาปนาพระราชอำนาจแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงขั้นที่กำลังคือพื้นฐานแห่งความเป็นปึกแผ่นของอำนาจโดยตรง

เมื่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล่มสลายเพราะความล้มเหลวแทบทุกมิติในปี 2475 การผูกขาดความรุนแรงโดยรัฐไม่ได้ยุติตามไปด้วย การขจัดความรุนแรงโดยคนกลุ่มอื่นหรือการทำให้ความรุนแรงอยู่ใต้การควบคุมจึงเป็นโครงการของรัฐสมัยใหม่ที่ดำเนินต่อเนื่องจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่รัฐยุคหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสมอ ต่อให้รูปแบบของรัฐจะเปลี่ยนจากรัฐเผด็จการเป็นรัฐเสรีประชาธิปไตยก็ตามที

ในแง่นี้แล้ว การคงอยู่ของความรุนแรงจึงเป็นภาพแสดงความล้มเหลวของรัฐ หรือไม่อย่างนั้นก็คือรัฐจงใจให้ความรุนแรงบางแบบปรากฏขึ้นมา

ปัญหาคือกรณีเนวินและหมอเหรียญทองเป็นความรุนแรงที่คงอยู่ได้เพราะอะไร?

ในกรณีคุณเนวิน การบังคับให้เด็กต่อยกับนักมวยอาชีพนั้นเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจแน่ ต่อให้คุณเนวินเป็นเจ้าของพื้นที่และเด็กผิดจริง กฎหมายก็ไม่ได้มอบหมายให้คุณเนวินมีอำนาจเหนือใครแบบนี้ วิธีลงโทษจึงแสดงความเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมายที่ทำให้กฎหมายสูญเสียความเป็นกฎหมายจนเปิดโอกาสให้เจ้าของพื้นที่อื่นประกาศกฎแบบเดียวกันได้เสมอ  ผลก็คือสังคมจะถอยไปสู่สภาพก่อนสมัยใหม่ที่ทุกคนตั้งกฎเหนือพื้นที่ตามความพอใจ

แน่นอนว่าการละเมิดกฎหมายและความรุนแรงในกรณีคุณเนวินดำรงอยู่ได้เพราะเจ้าหน้าที่รัฐยอมรับสถานะผู้อยู่เหนือกฎหมาย อิทธิพลของคุณเนวินมีส่วนแน่ต่อเรื่องนี้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคนจำนวนหนึ่งยอมรับกฎเถื่อนเพราะเห็นว่ากฎหมายแก้ปัญหาอันธพาลวัยรุ่นไม่ได้ กฎเถื่อนของคุณเนวินจึงเป็นความรุนแรงที่สังคมและรัฐขยิบตาให้มีอยู่เพราะเชื่อว่าคุมได้และเป็นภัยคุกคามความสงบน้อยกว่า “อันธพาล” ป่วนเมือง

คำถามคือมีอะไรเป็นหลักประกันว่าวิธีตั้งกฎแบบนี้จะไม่เป็นภัยต่อสังคมกว่าอันธพาลวัยรุ่นในระยะยาว? รู้ได้อย่างไรว่าผู้ออกกฎเถื่อนจะไม่ใช้อิทธิพลเดียวกันไปออกกฎอื่นที่คุกคามประโยชน์ส่วนรวมในอนาคต? การใช้มาตรการนอกกฎหมายอาจทำให้เด็กเข็ดหลาบ แต่จะเกิดอะไรหากต่อไปเด็กตอบโต้ฝ่ายนอกกฎหมายด้วยอาวุธที่รุนแรงขึ้น? ฝ่ายบ้านเมืองที่ให้ท้ายผู้มีอิทธิพลในการใช้ความรุนแรงจะรักษาบ้านเมืองจากผู้มีอิทธิพลอย่างไร?

ยิ่งไปกว่านั้น  สมควรหรือที่เราจะแก้ปัญหาอันธพาลและความรุนแรงจากเด็กโดยผู้มีอิทธิพลและความรุนแรงที่รุนแรงกว่าเดิม?

ในกรณีหมอเหรียญทอง การประกาศตั้งกองกำลังติดอาวุธไล่ล่าผู้ที่กลุ่มคิดว่าเป็นพวกล้มสถาบันจนเป็น “ขยะแผ่นดิน” 300 คน เป็นการสถาปนากฎเถื่อนเหมือนคุณเนวินโดยไม่ต้องสงสัย แต่ขณะที่คุณเนวินอ้างความวุ่นวายเฉพาะหน้าเป็นเหตุในการสถาปนาอำนาจแบบดิบๆ การจัดตั้งองค์กรกำจัด “ขยะแผ่นดิน” กลับไม่อ้างอิงอะไรเลย นอกจากความรู้สึกไปเองว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นภัยต่อสถาบันจนสมควรที่จะไล่ล่าได้ตามอำเภอใจ

จนกว่าจะถึงวันที่ “ขยะ” บาดเจ็บหรือตายไปหมดด้วยน้ำมือของกองกำลังปกป้องสถาบันจริงๆ ไม่มีใครรู้ว่าหมอเหรียญทองวางแผนนำมวลหมู่สมาชิกไปประทุษร้ายใครหน้าไหนในสังคมบ้าง จึงไม่มีทางที่ใครจะชี้แจงหรือปกป้องตัวเองจากการทำร้ายของกองกำลังนอกกฎหมายกลุ่มนี้ได้เลย ผลก็คือทุกคนเป็นเป้าหมายที่ถูกเพ่งเล็งโดยองค์กรกำจัดขยะเพื่อประเมินว่าสมควรถูกประทุษร้ายหรือไม่และในระดับความรุนแรงใดได้ตลอดเวลา

ภายใต้สภาพที่ปลายหอกแห่งความรุนแรงเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความพอใจของฝ่ายผู้ประทุษร้ายล้วนๆ แบบนี้ องค์กรกำจัดขยะสถาปนาตัวเองเป็นเสมือนยักษ์นนทุกข์ที่ชี้ให้ใครเป็นหรือตายก็ได้  ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าการประทุษร้ายเกิดจากความมุ่งหมายเพื่อส่วนรวมหรือสภาวะวิปริตส่วนบุคคล และยิ่งไปกว่านั้นไม่มีการตั้งคำถามกระทั่งว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่การประทุษร้ายเกิดจากโรคคลั่งความรุนแรงที่อ้างส่วนรวมเป็นเครื่องมือ

แน่นอนว่าไม่มีใครยอมให้ตัวเองอยู่ในข่ายตกเป็นเป้าของการประทุษร้ายถึงแก่ชีวิตโดยไม่พยายามทำอะไรเพื่อปกป้องตัวเอง และด้วยวิธีไล่ล่านอกกฎหมายแบบนี้ ทางเลือกที่ทุกคนในสังคมถูกหมอเหรียญทองบังคับให้เลือกจึงมีแค่สามอย่างระหว่าง ก) รอให้กองกำลังของหมอทำร้าย ข) เตรียมกองกำลังในที่ตั้งเพื่อป้องกันการถูกทำร้ายไว้ให้พร้อมเพรียง หรือ ค) จัดตั้งกองกำลังไปทำร้ายฝ่ายหมอเหรียญทองก่อนเอง

เห็นได้ชัดว่าทางเลือกทั้งสามล้วนล้วนเป็นทางด่วนนำสังคมไทยสู่นรก ยักษ์นนทุกข์ทำให้ทุกคนรู้สึกชอบธรรมที่จะสถาปนาตัวเองเป็นพระนารายณ์เพื่อกำราบภัยพิบัติจากยักษ์ที่ป่วยด้วยโรคนิยมความรุนแรงจนไร้สติ องค์กรกำจัดขยะในฐานะกองกำลังเพื่อการประทุษร้ายที่ดึงสังคมเข้าสู่วงจรแห่งการประชันการประทุษร้ายซึ่งมีศักยภาพจะกลายเป็นสังคมในสภาวะสงครามจนไม่เหลือใครเลย นอกจากผู้ชนะที่ช่ำชองในการใช้ความรุนแรงกว่าทุกคน

ยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror) ที่นำไปสู่การออกแบบกิโยตินเพื่อตัดหัวทุกฝ่ายจากกษัตริย์ถึงฝ่ายปฏิวัติในฝรั่งเศสก็เกิดท่ามกลางสภาวะการณ์แบบนี้เอง

แม้คุณเนวินจะไม่ได้เอานักมวยอาชีพไล่ต่อยอันธพาลวัยรุ่นด้วยเหตุผลทำนองเดียวกับหมอเหรียญทอง แต่วิธีการของคุณเนวิน (ตลอดจนผู้สนับสนุนวิธีการนี้) ก็วางอยู่บนโลกทัศน์ที่มองอันธพาลวัยรุ่นเหมือนขบวนการกำจัดขยะมองฝ่ายตรงข้ามเป็นขยะสังคมอย่างไม่มีผิดเพี้ยน  ผลก็คือจะกวาดขยะไปทำลายล้างด้วยวิธีอย่างไรก็ได้ จะยุ่งยากหน่อยก็ตรงที่ต้องทำให้สังคมเห็นเหมือนที่คุณเนวินและหมอเหรียญทองเห็นว่า คน = ขยะ

ถ้าทำเรื่องนี้ไม่ได้ ในที่สุดสังคมก็อาจเห็นว่าคุณเนวินและหมอเหรียญทองต่างหากที่เป็นขยะซึ่งสมควรที่จะถูก “กำจัด” เพื่อสวัสดิภาพร่วมกันของคนทุกฝ่ายในสังคม

รัฐควรทำอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้?

ได้กล่าวไว้แล้วว่าอุดมคติของรัฐในโลกสมัยใหม่คือการเป็นองค์กรที่ผูกขาดความชอบธรรมของความรุนแรงในสังคม จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องป้องกันไม่ให้อิทธิพลเถื่อนแปลงร่างเป็นยักษ์นนทุกข์ ถ้ารัฐทำเรื่องนี้ไม่ได้ สถานะรัฎฐาธิปัตย์ของรัฐก็จะเป็นอันสูญไป  ไม่ต้องพูดถึงการปกครองโดยกฎหมายซึ่งถูกกัดกร่อนไปก่อนแล้วในวินาทีที่พฤติกรรมวิปริตผุดขึ้นมา

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: