บทวิเคราะห์: การทำให้ทหารถอนตัวจากการเมือง

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 23 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2513 ครั้ง

ข่าวจากตุรกีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 2 ข่าว คงไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะบอกว่า นี่เป็นทางเดียวที่จะนำทหารหาญให้กลับเข้าในกรมกองได้ หลังจากที่ออกมาเพ่นพ่านในวงการเมืองเป็นเวลานาน แต่อย่างน้อยก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และประการสำคัญเรื่องนี้อาจจะยังไม่จบ หมายความว่าทหารตุรกีจะยังคงไม่ถอยห่างไปจากการเมืองไปอย่างถาวรก็เป็นได้

เมื่อวันพุธที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา นายทหารชราของตุรกี 2 นายถูกศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในความผิดฐานก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเมื่อปี 1980 และเถลิงอำนาจต่อจากนั้นนานถึง 9 ปี

คีนานา อีฟเรน วัย 97 ปี อดีตเสนาธิการทหาร ผู้ทำรัฐประหารแล้วขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศจนกระทั่งถึงปี 1989 และ ทาห์ชิน ซาฮินคายา วัย 89 ปี อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ถูกดำเนินคดีในศาลมาตั้งแต่ปี 2012 ทั้งคู่เป็นนักรัฐประหารรายแรกที่โดนดำเนินคดีในประเทศซึ่งทหารเคยครองอำนาจทางการเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษ1960s.

ตุรกีเป็นประเทศที่มีรัฐประหารไม่บ่อยนัก ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้วถือว่าน้อยมาก ตุรกีมีรัฐประหารครั้งแรก (ถ้าไม่นับแต่สมัยออตโตมาน) ในปี 1960 ถัดจากนั้นมีอีกครั้งในปี 1971 และต่อมาคือปี 1980 ของอดีตนายทหารชราทั้งคู่ที่กำลังเป็นคดีในศาล และอีกครั้งหนึ่งในปี 1997 นั่นไม่ใช่การใช้กำลังยึดอำนาจโดยตรง แต่เป็นแบบที่หลายๆ คนอยากให้เกิดในประเทศไทยก่อนหน้านี้ คือ การใช้อำนาจกองทัพบีบให้รัฐบาลพลเรือนออกจากตำแหน่ง ซึ่งเรียกว่า Military Memorandum คือผู้นำเหล่าทัพเรียกประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ แล้วลงมติให้รัฐบาลลาออก แล้วจากนั้นก็ทำการยุบรัฐสภา ยกเลิกรัฐธรรมนูญ การยึดอำนาจครั้งล่าสุดนี้ในวงการเขาเรียกขานกันว่า เป็นการรัฐประหารแบบโพสต์โมเดิร์น รวม ๆ แล้วในรอบกึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ตุรกีมีรัฐประหารเฉลี่ย 12.5 ปีต่อครั้ง ในขณะที่ประเทศไทยในช่วง 80 ปีหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นแบบสมัยใหม่ มีการรัฐประหารทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จเฉลี่ย 4 ปีกว่า ๆ ต่อครั้ง เชื่อว่าค่าเฉลี่ยของการรัฐประหารในประเทศจะลดลงเรื่อย ๆ

ขอบคุณภาพจาก

http://sin.stb.s-msn.com/i/16/7FBAAD962D5FE368710B4812E162_h498_w598_m2.jpg

ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับประเทศที่มีประวัติแบบนี้ที่อยู่ ๆ จะเอาอดีตนายทหารที่เคยก่อรัฐประหารมาขึ้นศาล อีฟเรน นั้นในตอนที่ยึดอำนาจเขาก็ได้รับความนิยมเสมือนหนึ่งวีรบุรุษเหมือนนักรัฐประหารชื่อก้องของโลกอีกหลายคน เนื่องจากอ้างว่าการยึดอำนาจในวันที่ 12 กันยายน 1980 นั้นนัยว่า เข้ามาควบคุมความสงบเรียบร้อยอันเนื่องมากจากการต่อสู้กันทางการเมืองของกลุ่มการเมืองแนวสุดโต่งหลายกลุ่ม แต่ความมาแตกในภายหลังเพราะมีหลักฐานว่า ความวุ่นวายบรรดามีที่เกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหารนั้น มีเหล่านายทหารอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น พอสร้างสถานการณ์แล้วเขาก็อ้างความชอบธรรมในการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติในการยึดอำนาจ ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จในการรัฐประหารไปแล้วว่าจะต้องทำเช่นนั้นและอ้างแบบนั้น

หลังยึดอำนาจอีฟเรนก็ทำเหมือนนักรัฐประหารรายอื่นๆ คือ ยุบรัฐสภา ฉีกรัฐธรรมนูญ จับกุมผู้นำการเมืองฝ่ายพลเรือน ยุบพรรคการเมือง ตัวเองลาออกจากกองทัพแล้วขึ้นสู่ตำแหน่งประมุขสูงสุดของฝ่ายบริหาร ในกรณีของตุรกีคือประธานาธิบดีและอยู่ในอำนาจนานถึง 9 ปี

เพื่อพิสูจน์ว่าทหารตุรกีไม่ใช่ขี้ไก่ รัฐบาลอิฟเรนจับกุมคุมขังคนถึง 650,000 คน ในจำนวนนี้ดำเนินคดีในศาลทหารแต่ไม่ถึงครึ่งคือ 230,000 คน ที่เหลือไม่ทราบชะตากรรม มีจำนวนไม่น้อยสูญหายไปเฉยๆ มีบันทึกว่า 300 คนตายในคุก ในจำนวนนี้ 171 คนตายเพราะถูกทรมาน 49 คนโดนประหารชีวิต และในนั้นมีเด็กอายุแค่ 17 ปีด้วย

เรื่องการนำอดีตนักรัฐประหารมาขึ้นศาลเมื่อเวลาผ่านไป 30 กว่าปี อาจจะเป็นไปได้ยากสำหรับประเทศอย่างตุรกี แต่ก็เป็นไปได้เพราะรัฐบาลเออร์โดกาน (Recep Tayyip Erdogan) ต้องการจะขจัดทหารจากการเมือง เริ่มต้นจากการแก้รัฐธรรมนูญเมื่อ 2 ปีที่แล้วเพื่อขจัดภูมิคุ้มกันทางกฎหมายของพวกนี้ออกไปก่อน เสร็จแล้วก็นำอดีตนายทหารซึ่งบัดนี้ก็ชราภาพมาก ทั้งคู่ไม่ได้มารับฟังคดีด้วยตัวเองด้วยซ้ำ หากแต่นอนฟังผลการพิจารณาคดีบนเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล

ถึงอย่างนั้นก็เถอะ เออร์โดกานก็ยังต้องการดำเนินคดีพวกเขาเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างนายทหารรุ่นหลังๆว่า ไม่ว่าจะอ้างเหตุอะไรก็ตาม การรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ แต่อีฟเรน ให้การในศาลแบบคนไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรผิดพลาดในชีวิตเลย เขาบอกว่ามันจำเป็นเมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขทางการเมืองในเวลานั้น ทหารจำเป็นต้องแทรกแซงทางการเมืองเพราะนักการเมืองในยุคนั้นไร้ความสามารถในการควบคุมสถานการณ์

ขอบคุณภาพจาก

http://www.thairath.co.th/media/NjpUs24nCQKx5e1DHNMDp2FEEgLvErKk5LeTAaO8vd6.jpg

นายกรัฐมนตรีเออร์โดกาน เป็นนักการเมืองแนวอิสลามที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เขาเริ่มกระบวนการในการแยกทหารออกจากการเมืองนับแต่ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2003 หลังจากนั้นเขาชนะการเลือกตั้ง 3 ครั้งรวดและความนิยมยังคงอยู่ เขาวางแผนที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเร็วๆ นี้ ในขณะที่พวกนายพลในกองทัพก็ไม่ได้ชอบเขาเลยเพราะพื้นฐานความเป็นมุสลิมของเขา

เขาใช้ศาลและกระบวนการยุติธรรมในการ “จำกัด” และ “กำจัด” ทหารที่กระด้างกระเดื่องหรือแสดงอาการกระด้างกระเดื่อง เมื่อเดือนกันยายน 2012 มีนายทหารถูกจับกุม 300 คนด้วยข้อกล่าวหาว่าเตรียมการสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย เพื่ออ้างความชอบธรรมในการโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งเพียงไม่กี่เดือนหลังจากเออร์โดกานขึ้นสู่ตำแหน่ง ในแผนการนั้นเขากล่าวหาพวกทหารว่า เตรียมวางระเบิดมัสยิด สร้างสถานการณ์ และสร้างความขัดแย้งกับกรีชเพื่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจ

จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีอดีตนายทหาร 230 คนที่ยังถูกคุมขังอยู่ ได้รับการตัดสินปล่อยตัวทั้งหมดหลังจากขังมาร่วม 2 ปีเพราะเหตุว่าการดำเนินคดีเป็นไปอย่างไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม และพวกเขาไม่ได้รับสิทธิในการแก้ต่างในคดีเท่าที่ควร เออร์โดกานก็เคยเปรย ๆ หลายครั้งว่าเขาอยากจะดำเนินคดีนี้ใหม่เหมือนกันเพื่อความเป็นธรรม แต่นักวิจารณ์การเมืองและฝ่ายค้านบอกว่าเขาแค่อยากยื่นไมตรีให้กับพวกทหารมากกว่า

เรื่องคงยังไม่จบเท่านี้ การเลือกตั้งกำลังจะมาถึง เสียงซุบซิบนินทาจากฝ่ายค้านก็ค่อนข้างออกไปในทางที่ว่า รัฐบาลเออร์โดกานใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อปิดปากคู่แข่งทางการเมืองมากกว่าจะต้องการควบคุมทหารให้อยู่ในกรมกองเพื่อรักษาประชาธิปไตยจริง แต่ถึงสุ้มเสียงจะเป็นเช่นนั้น แต่ความน่าสนใจของเรื่องก็อยู่ที่ว่า กระบวนการยุติธรรม และความนิยมทางการเมืองของนักการเมือง สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมกองทัพให้อยู่ห่างจากการเมืองได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: