สผ.ให้อำนาจท้องถิ่นพิจารณา EIA ตึกสูง กับบทเรียนจากซอยร่วมฤดี

เรื่อง: ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ ภาพ: สุขุม ปรีชาพานิช 23 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 5655 ครั้ง

ต้นเดือนธันวาคม ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ให้รื้อถอนอาคารโรงแรม ดิเอทัส ซอยร่วมฤดี เนื่องมาจากมีประชาชนผู้อาศัยในซอยร่วมฤดีได้ยื่นฟ้องบริษัท ลาภประทานฯ และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ได้ก่อสร้างอาคารสูงใหญ่เกินกว่ากฎหมายกำหนดและมีซอยกว้างไม่เกิน 10 เมตร โดยต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังศาลมีคำตัดสิน (วันที่ 2 ธันวาคม 2557) ถือเป็นการปิดฉากการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบที่ต้องถูกทุบทิ้ง หลังการฟ้องร้องต่อสู้ยาวนานกว่า 6 ปี

ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น ศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างโครงการ ดิ เมโมเรีย-พหลโยธิน 8 อาคารคอนโดมิเนียม พัฒนาโดย บริษัท ดี เวล แกรนด์ แอสเสท จำกัด หลังจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนพร้อมประชาชนในพื้นที่รวม 22 คนยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางโดยระบุว่า ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทำให้ไม่สามารถอยู่อาศัยในบ้านเรือนได้ตามปกติ  โดยยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ผู้อำนวยการเขตพญาไท, เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่พิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการ ดิ เมโมเรีย-พหลโยธิน 8 ฐานละเลยปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด โดยการฟ้องร้องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล

โรงแรม ดิ เอทัส ที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้รื้อถอน

สผ.แถลงก่อนเตรียมปล่อยท้องถิ่นพิจารณาอีไอเอตึกสูงได้เอง

2 เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเพียงกรณีตัวอย่างของปัญหาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมือง ยังไม่นับรวมอาคารคอนโดสูง เมืองพัทยาถูกร้องเรียนกรณีบดบังวิสัยทัศน์เมือง  ปัญหาของการก่อสร้างตึกสูงจึงกำลังบานปลายและมีประเด็นฟ้องร้องมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโครงการก่อสร้างอาคารสูงผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ตามการพัฒนาเส้นทางคมนาคมพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เข้าไปถึงทุกพื้นที่  แม้จะมีกฎหมายหลายฉบับและข้อกำหนดต่างๆ ขึ้นมาควบคุมการก่อสร้างตึกอาคาร แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ทำให้ปัญหาลดลง ในขณะที่กระบวนการตามนโยบายของรัฐกลับถูกมองว่าสวนทางกัน เมื่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาเปิดเผยว่าเตรียมกระจายอำนาจให้กับหน่วยงานในท้องถิ่นบางจังหวัดสามารถพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอเองได้ ตามแนวทางของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีมติเห็นชอบ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาอีไอเอตึกสูงเหล่านี้

เหตุผลที่ทำให้เกิดแนวคิดการกระจายอำนาจการพิจารณาอีไอเอดังกล่าว ถูกระบุว่าเป็นเพราะกิจกรรมการดำเนินโครงการอาคาร ตึกสูง ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีลักษณะของผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกัน ดังนั้น วิธีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงมีลักษณะคล้ายกันและไม่ยุ่งยากซับซ้อน จึงเห็นสมควรกระจายภารกิจให้กับ กทม.และจังหวัดที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการหรือ คชก.พิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (ไออีอี) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้านอาคารการจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชนในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทั้ง 7 จังหวัดดำเนินการได้เอง

โดยในส่วนของ กทม. ซึ่งมีหน่วยงานสังกัดด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความพร้อมในการดำเนินการคือสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. จะให้พิจารณาอีไอเอด้านอาคารฯ ทุกขนาด  ส่วนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจะให้อำนาจเพิ่มเติมในการพิจารณาอีไอเอฯ ด้านอาคารฯ ยกเว้นโครงการที่ไม่ใช่อาคารสูงหรือสูงไม่เกิน 23 เมตรหรือ 8 ชั้น หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษพื้นที่ไม่เกิน 1 หมื่นตารางเมตร และให้จังหวัดที่เหลือได้แก่ จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี  พิจารณาเตรียมความพร้อมสำหรับแต่งตั้ง คชก. ในการพิจารณาอีไอเอด้านอาคารฯ ระดับจังหวัดไว้ล่วงหน้า

ชี้ กทม. พร้อมปล่อยพิจารณาทุกประเภท ทุกโครงการ

เกษมสันต์ จิณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร (สผ.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ในการกระจายอำนาจให้ กทม. สามารถพิจารณาอีไอเอได้เองนั้น มีขั้นตอนคือ คณะกรรมการผู้ชำนาญการของ กทม. เป็นผู้พิจารณาจัดทำรายงานอีไอเอโครงการที่อยู่อาศัยทุกประเภท ทุกความสูง และทุกขนาดในพื้นที่ เช่น คอนโดฯ โรงแรม ฯลฯ ให้พิจารณาโครงการการจัดสรรที่ดินทุกขนาด และบริการชุมชนทุกขนาด เนื่องจาก กทม. เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม มีหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมในสังกัดคือสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. อยู่แล้วเพื่อให้กระบวนการพิจารณาเร็วขึ้น

ชีวิตเคลื่อนไหวในซอยร่วมฤดี

แต่ สผ. ยังคงจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นเบื้องต้น ก่อนส่งไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ของ กทม. ที่ตั้งขึ้นมาเป็นผู้พิจารณาอีไอเอ เมื่อพิจารณาแล้วจะส่งกลับไปยัง สผ. อีกครั้ง ต่างจากของเดิมที่ สผ. เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นเบื้องต้น แล้วส่งความเห็นให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ (คชก.) ในขณะที่ท้องถิ่นใน 7 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม 7 จังหวัด จะให้พิจารณาเฉพาะโครงการที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น (ไม่เกิน 23 เมตร) โดยมีพื้นที่ใช้สอยไม่ถึง 1 หมื่นตารางเมตร ส่วนอาคารขนาดสูงกับอาคารขนาดใหญ่พิเศษยังต้องส่งอีไอเอให้ สผ. พิจารณาเหมือนเดิม

มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม

จึงมีลักษณะคล้ายกันและไม่ยุ่งยากซับซ้อน จึงเห็นสมควรกระจายภารกิจ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ สผ. ระบุว่า ในแต่ละปีมีโครงการประเภทคอนโดมิเนียมและอาคารที่พักอาศัยเสนอรายงานอีไอเอเพื่อพิจารณามายัง สผ. จำนวนกว่า 3,000 โครงการ ทำให้ต้องใช้เวลาในการพิจารณาตามขั้นตอนล่าช้าออกไป ในขณะที่โครงการในพื้นที่คุ้มครองมีจำนวนร้อยละ 20 ของจำนวนโครงการทั้งหมด

เชื่อมั่นในมาตรฐาน คชก. เชี่ยวชาญจริง

ด้านปิยนันท์ โศภนคณาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผยกับ TCIJ ว่า ขณะนี้ สผ. ได้เสนอร่างประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้ง คชก. ให้ประธานบอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติลงนาม และตามขั้นตอนแล้ว คาดว่าในเดือนมีนาคม 2558 จะสามารถกระจายอำนาจส่งโครงการอีไอเอให้แก่ คชก., กทม. และจังหวัดนำร่องพิจารณาได้ทันที ซึ่งจะช่วยให้พิจารณารายงานรวดเร็วขึ้น เนื่องจากปริมาณรายงานที่ส่งมาส่วนกลางน่าจะลดลงร้อยละ 40 ขณะที่กฎหมายกำหนดเวลาให้ คชก. พิจารณารายงาน อีไอเอรอบแรกไม่เกิน 45 วัน และรอบที่ 2 ไม่เกิน 30 วัน แต่ในทางปฏิบัติเนื่องจากมีรายงานจำนวนมาก โดยเฉลี่ยโครงการในกรุงเทพฯ จึงต้องรอคิวพิจารณา 30-40 วัน กว่าจะเข้าสู่ที่ประชุม คชก. แต่ในอนาคตมีแนวโน้มจะลดเหลือ 20-30 วัน

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการกระจายอำนาจการพิจารณาอีไอเอดังกล่าว ก็เปิดให้มีท้องถิ่นพิจารณาไออีอีอยู่แล้ว โดยแต่งตั้ง คชก. ที่ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ดังนั้น เมื่อมีการเปิดให้พิจารณาอีไอเอตึกสูงไม่เกิน 8 ชั้นในพื้นที่นำร่อง จึงมั่นใจได้ในความรู้ความสามารถของผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่จะมีหน่วยงานท้องถิ่นร่วมเป็นกรรมการด้วย โดยตามนโยบายมองว่า เมื่อท้องถิ่นมีศักยภาพก็ควรที่จะให้ท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดมาตรการ วินิจฉัย อนุญาต และกำกับดูแลเอง

หนึ่งในตึกสูงที่กำลังก่อสร้างในกรุงเทพฯ

“โดยปกติแล้ว เรามีหลักเกณฑ์แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ท้องถิ่นอยู่แล้ว โดยจะมีการเสนอชื่อ ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาเห็นชอบและส่งต่อไปยังจังหวัดเพื่อให้ออกคำสั่งแต่งตั้งลงนามในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป”

สังคมไม่มั่นใจ หลังศาลปกครองสั่งรื้อ-ระงับก่อสร้าง 2 คอนโดดัง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สผ. เคยมีเตรียมออกนโยบายกระจายอำนาจการพิจารณาอีไอเออาคารตึกสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเสนอให้นำไปดำเนินการใน 20 จังหวัด  แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาแล้วยังไม่เห็นชอบ โดยให้ สผ. นำกลับมาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ในปี 2551 ได้มีการกระจายอำนาจหน้าที่การพิจารณาดังกล่าวไปให้กับ คชก. ท้องถิ่นของเมืองพัทยา เพื่อพิจารณาการก่อสร้างตึกสูง จนกระทั่งล่าสุดมีประเด็นกรณีชาวพัทยาร้องเรียนอาคารคอนโดวอเตอร์ ฟร้อน สวีท เกิดขึ้น นโยบายจึงถูกดึงกลับมาเพื่อให้ สผ. เป็นผู้ดำเนินการอีกครั้ง ก่อนที่จะพิจารณาลดจำนวนจังหวัดที่จะกระจายอำนาจลง เหลือเพียงกรุงเทพมหานครและ 7 จังหวัดในพื้นที่คุ้มครองนำร่อง ก่อนจะทยอยกระจายอำนาจการพิจารณาให้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

ทว่า หลังจากที่ สผ. ได้ออกมาแถลงต่อสาธารณะต่อนโยบายการกระจายอำนาจการพิจารณาอีไอเอได้ไม่กี่วัน ก็มีข่าวศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างโครงการ ดิ เมโมเรีย-พหลโยธิน 8 ตามด้วยคำพิพากษากรณีรื้อถอนอาคารโรงแรมดิเอทัส ซอยร่วมฤดีออกมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน

หลายฝ่ายจึงเกิดคำถามต่อความเชื่อมั่นในนโยบายการพิจารณาอีไอเอตึกสูงดังกล่าวว่า จะสามารถพิจารณาอีไอเอได้อย่างละเอียดรอบคอบและไม่สร้างผลกระทบจริงหรือไม่  แม้ผู้บริหารของ สผ. จะออกมายืนยันถึงความเชี่ยวชาญและมาตรฐานการแต่งตั้ง คชก. หรือคณะกรรมการผู้ชำนาญการที่จะเป็นผู้พิจารณาอีไอเอแล้วก็ตาม

อ่าน 'จับตา: สถิติก่อสร้างตึกใหม่ทั่วประเทศ' http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=5226

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: