สิทธิพิเศษของเขตปลอดอากร

23 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 5406 ครั้ง


โดยต้องอยู่ในบริเวณที่อธิบดีกรมศุลกากรเห็นว่าเหมาะสมและมีพื้นที่ต่อเนื่องกันและเป็นพื้นที่ที่กรมศุลกากรสามารถควบคุมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรได้ มีขนาดและสถานที่เหมาะสมกับประเภทกิจการ มีเงื่อนไขดังนี้

กรณีสถานที่จัดตั้งเขตปลอดอากรเฉพาะเพื่อประกอบการอุตสาหกรรม

- เป็นผู้ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นผู้ประกอบการเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือ

- เป็นผู้ที่ได้รับอนุมัติจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นเขตชุมชนอุตสาหกรรมประเภทอาคารโรงงานเอกเทศ  หรือ

- เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ใช้พื้นที่ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป หรือ

- เป็นผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการเขตอุตสาหกรรมหรือกิจการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์หรือกิจการเขตอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ

- เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

กรณีการจัดตั้งเขตปลอดอากรเพื่อการพณิชยกรรม ต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า/ส่งออก ได้แก่

- การค้าหรือการบริการหรือการขนส่งระหว่างประเทศ

- การกระจายสินค้า คลังสินค้า การซื้อมาและขายไปหรือศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ

- การแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ การประชุมระหว่างประเทศ

- การซ่อมหรืองานด้านวิศวกรรม การตรวจสอบ วิเคราะห์ และรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือผลผลิตทางเกษตรกรรม

- กิจการอื่นที่อธิบดีเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ เขตปลอดอากรหนึ่งอาจเป็นเขตปลอดอากรเพื่อการประกอบอุตสาหกรรม หรือเพื่อการพาณิชยกรรม หรือเพื่อกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในเขตเดียวกันก็ได้

คุณสมบัติหลักของผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากร นอกจากต้องไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร ย้อนหลัง 3 ปี นับแต่วันยื่นคำขอ และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ขอแล้ว ยังต้องเป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 หรือบริษัท จำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เฉพาะกรณีที่เป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประสงค์ที่จะขอจัดตั้งเขตปลอดอากรในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร  และฉะเชิงเทรา  จะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ในเขตพื้นที่อื่นจะต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรือมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในจำนวนที่อธิบดีกรมศุลกากรเห็นว่าเหมาะสมกับประเภทของกิจการและเป็นกิจการที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง

ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรมีสิทธิประโยชน์มากมาย ดังนี้

1. ยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับของที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อนำเข้าในเขตปลอดอากรในกรณี ดังต่อไปนี้

                1.1 ของที่เป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือและเครื่องใช้ รวมทั้งส่วนประกอบของของดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ  ตามที่อธิบดีอนุมัติ

                1.2 ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตปลอดอากร  สำหรับใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ

                1.3 ของที่ปล่อยออกมาจากเขตปลอดอากรอื่น

2. ยกเว้นอากรขาออก สำหรับของที่ปล่อยไปจากเขตปลอดอากร เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร

3. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการนำสินค้าจากต่างประเทศเข้าไปในเขตปลอดอากร

4. ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากรเฉพาะสินค้าที่ต้องเสียอากรขาออกหรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

5.  ยกเว้นภาษีสรรพสามิต สำหรับการนำเข้าและการผลิตของที่กระทำในเขตปลอดอากร

6. ยกเว้นภาษีสุรา การปิดแสตมป์และค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยสุรา กฎหมายยาสูบ และกฎหมายว่าด้วยไพ่ สำหรับการนำเข้าและการผลิตที่กระทำในเขตปลอดอากร

7. การนำของเข้ามาในราชอาณาจักรหรือการนำวัตถุดิบภายในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากรเพื่อผลิต ผสม ประกอบบรรจุ หรือดำเนินการอื่นใดกับของนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ของนั้นได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายในบังคับกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานหรือคุณภาพการประทับตราหรือเครื่องหมายใด ๆ แก่ของนั้น

8. ของใดที่มีกฎหมายบัญญัติให้ได้รับยกเว้นหรือคืนเงินอากรเมื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หากนำของนั้นเข้าไปในเขตปลอด อากรให้ได้รับยกเว้นหรือคืนเงินอากรโดยให้ถือว่าของนั้นได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเวลาที่นำของเช่นว่านั้นเข้าไปในเขต ปลอดอากร

9. การนำของออกจากเขตปลอดอากรเพื่อใช้หรือจำหน่ายภายในราชอาณาจักร หรือเพื่อโอนเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บน  หรือจำหน่ายให้แก่ผู้นำของเข้าตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2482 หรือผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรหรือกฎหมายอื่น  ให้ถือว่าเป็นการนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนำเข้าสำเร็จในเวลาที่นำของเช่นว่านั้นออกจากเขตปลอดอากร

10. การนำของในเขตปลอดอากรไปใช้เพื่อการบริโภคหรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเขตปลอดอากร ให้ถือว่าเป็นการนำของออกจากเขตปลอดอากรเพื่อใช้หรือจำหน่ายภายในราชอาณาจักรดังกล่าวในข้อ

9. เว้นแต่จะเป็นการกำจัดหรือทำลายเศษวัสดุ ของที่เสียหาย ของที่ใช้ไม่ได้หรือของที่ไม่ได้ใช้  ซึ่งอยู่ภายในเขตปลอดอากรโดยได้รับอนุญาตจากอธิบดี

11. ของที่ปล่อยจากเขตปลอดอากรเพื่อนำเข้ามาในราชอาณาจักร ให้คำนวณค่าภาษีตามสภาพของ ราคาของ และพิกัดอัตราศุลกากร ที่เป็นอยู่ในเวลาซึ่งได้ปล่อยของเช่นว่านั้นออกไปจากเขตปลอดอากรแต่ในกรณีที่ได้นำของที่มีอยู่ในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากร โดยของที่นำเข้าไปนั้นไม่มีสิทธิได้รับคืนหรือยกเว้นอากร  ไม่ต้องนำราคาของดังกล่าวมาคำนวณค่าภาษี

จึงไม่น่าแปลกใจหากบรรดานิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จะแห่ขอจัดตั้งเขตปลอดอากร รวมไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ด้วย

จากการสำรวจรายชื่อเขตปลอดอากรและผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรของกรมศุลกากร เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2557http://www.customs.go.th/wps/wcm/connect/Library+cus501th/InternetTH/6/6_3/C00A03A7892FA92BBA1D1BCCE70ECB05 มีทั้งสิ้น 78 เขตปลอดอากร บางเขตมีผู้ประกอบเพียงรายเดียว เช่น เขตปลอดอากร BMW มีชื่อบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัดเพียงบริษัทเดียว ขณะที่เงื่อนไขการจัดตั้งเขตปลอดอากรกำหนดว่าจะต้องไม่เป็นการจัดตั้งเพื่อผลประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรเพียงรายเดียวหรือรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เมื่อตรวจสอบต่อไปพบว่ารายชื่อเขตปลอดอากรและผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรของกรมศุลกากรนั้นยังไม่สมบูรณ์ เพราะเพียงเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็มิได้ระบุชื่อผู้ประกอบการในเขตนี้ครบถ้วนตรงตามเว็บไซต์ของสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ http://www.customs-ccs.com/index.php?option=com_content&view=article&id=25&Itemid=31&lang=th

ปี 2540 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ให้บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด (ขณะนั้นเป็นบริษัท เจ เอ็ม ที ดิวตี้ฟรี จำกัด) เป็นผู้ดำเนินการกิจการค้าปลีกปลอดภาษีในท่าอากาศยานดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ตและหาดใหญ่

ต่อมาในปี 2547  บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัมปทานใหม่กับบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด เป็นเวลา 10  ปี ตั้งแต่ 28 กันยายน 2549 - 27กันยายน 2559 ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ขายหุ้นบริษัท แอร์พอร์ต ดิวตี้ฟรี จำกัด ให้แก่บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่มีพบชื่อบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ทั้งในรายชื่อเขตปลอดอากรและผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรของกรมศุลกากรและรายชื่อผู้ประกอบการในเขตของสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนคิง เพาเวอร์ที่ซอยรางน้ำ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานครนั้น ถือเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันกับเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นพื้นที่ที่กรมศุลกากรสามารถควบคุมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรและเป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศจึงไม่ถือว่าผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข

*******************************

ที่มา

กรมศุลกากร

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บริษัท เอเซีย โดลจิสติกส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด

 

ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.kingpower.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: