ครั้งที่ 1
เหตุการณ์วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เหตุสืบเนื่องจากการนำเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ฉบับที่เรียกว่า “สมุดปกเหลือง” ที่ถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นคล้ายกับเค้าโครงเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์ บ้างถึงกับกล่าวว่าถ้านายปรีดีไม่ลอกมาจากสตาลิน สตาลินก็ต้องลอกมาจากนายปรีดี ก่อให้เกิดความเห็นขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในหมู่คณะราษฎรด้วยกันเอง และบรรดาข้าราชการ ซึ่งพระยาทรงสุรเดช 1 ใน 4 ทหารเสือผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้นำพระยาฤทธิอัคเนย์ และ พระประศาสน์พิทยายุทธ ทหารเสืออีก 2 คน สนับสนุนพระยามโนปกรณ์ฯ ซึ่งคัดค้านเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ แต่ในส่วนของบรรดานายทหารคณะราษฎรส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุนนายปรีดีอยู่
ครั้งที่ 2
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 นำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
รัฐประหารครั้งนี้มีขึ้นหลังเกิดความตึงเครียดเมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา หลังจากมีความขัดแย้งกันในหมู่รัฐบาลคณะราษฎร อันสืบเนื่องจากการยื่น “สมุดปกเหลือง” เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นคล้ายกับเค้าโครงเศรษฐกิจของคอมมิวนิสต์ จึงนำไปสู่การปิดหนังสือพิมพ์บางฉบับที่ให้การสนับสนุนคณะราษฎร และมีการบีบบังคับให้นายปรีดีเดินทางออกนอกประเทศ กลับไปยังประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 เมษายน ปีเดียวกัน เวลา 18.00 น. ที่ท่าเรือบีไอ และถึงขั้นวิกฤตเมื่อ 4 ทหารเสือ คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ปีเดียวกัน โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อพักผ่อนหลังจากตรากตรำทำงานราชการจนสุขภาพเสื่อมโทรม
จากนั้น ในเวลาหัวค่ำของคืนวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 คณะทหารบก, ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา โดยให้เหตุผลว่า
“ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนและงดใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลายบท คณะทหารบก, ทหารเรือ และพลเรือน จึงเห็นเหตุจำเป็นเข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ”
ครั้งที่ 3
วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เกิดขึ้นในคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ น.อ.กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ นำกำลังทหารยึดอำนาจจากปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
สาเหตุของการรัฐประหารคือ รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งสืบอำนาจต่อจากรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความขัดแย้งกันในชาติได้ อันมีสาเหตุหลักจากเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 ประกอบกับมีการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการ เช่น การนำเงินไปซื้อจอบเสียมแจกจ่ายให้ราษฎรทำการเกษตร ทว่าความปรากฏภายหลังว่าเป็นจอบเสียมที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเรียกกันว่า “กินจอบกินเสียม” เป็นต้น
ครั้งที่ 4
วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2491 เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2491 เป็นการทำรัฐประหารโดยบุคคลกลุ่มเดียวกันกับที่ทำรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 กล่าวคือเป็นกลุ่มบุคคลที่สนับสนุน จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พ้นตำแหน่งไปภายหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยที่ภายหลังจากกลุ่มนายทหารนำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ได้รัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 แล้วได้แต่งตั้งให้ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
ครั้งที่ 5
วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 เป็นการรัฐประหารครั้งแรกที่เรียกได้ว่า เป็นการรัฐประหารตัวเอง (ยึดอำนาจตัวเอง) เหตุเนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อ้างว่าไม่ได้รับความสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดิน เหตุสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2492 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้น ไม่เอื้อให้เกิดอำนาจ คือให้ผู้ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นข้าราชการประจำไม่ได้
ครั้งที่ 6
วันที่16 กันยายน พ.ศ.2500 เป็นการรัฐประหารที่ถือได้ว่าพลิกโฉมหน้าการเมืองไทยไปอีกรูปแบบหนึ่งเช่นเดียวกับการรัฐประหารในปี พ.ศ.2490 สาเหตุของการรัฐประหารสืบเนื่องจากความแตกแยกกันระหว่างกลุ่มทหาร ที่นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก กับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ที่ค้ำอำนาจของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ครั้งที่ 7
วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เกิดขึ้นหลังจากที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2500 ล้มอำนาจเดิมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วได้มอบหมายให้ นายพจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดการเลือกตั้ง มีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2501 พล.ท.ถนอม กิตติขจร จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา แต่ทว่า การเมืองในรัฐสภาไม่สงบ เนื่องจากบรรดา ส.ส. เรียกร้องเอาผลประโยชน์ และมีการขู่ว่าหากไม่ได้ตามที่ร้องขอจะถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล เป็นต้น
พล.ท.ถนอม กิตติขจร ก็ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ ประกอบกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติก็ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อรักษาโรคประจำตัว เมื่อเดินทางกลับมา ในเช้าวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พล.ท.ถนอม กิตติขจร จึงประกาศลาออกในเวลาเที่ยงของวันเดียวกัน แต่ทว่ายังไม่ได้ประกาศให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกัน
จากนั้นในเวลา 21.00 น. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม โดยมีคำสั่งคณะปฏิวัติให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น ยุบสภา ยกเลิกสถาบันทางการเมือง ได้แก่ พรรคการเมือง เป็นต้น
ครั้งที่ 8
พ.ศ.2514 เป็นการรัฐประหารที่เป็นการ ยึดอำนาจตัวเอง เหมือนรัฐประหาร พ.ศ.2494 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม การรัฐประหารในครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลา 19.00 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 สาเหตุสืบเนื่องจากการที่สมาชิกพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ.2512 นำโดย นายญวง เอี่ยมศิลา ส.ส.จังหวัดอุดรธานี ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ ตามที่จอมพลถนอมได้เคยสัญญาไว้ในช่วงเลือกตั้ง เมื่อไม่ได้รับการตอบแทนดังที่สัญญาไว้ ส.ส.เหล่านี้ได้ต่างพากันเรียกร้องต่าง ๆ นานา บ้างก็ขู่ว่าจะลาออก เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ จอมพลถนอม หัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับฉายาสมัยนั้นว่า “นายกฯคนซื่อ” ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ในสภาฯ ได้ จึงทำการยึดอำนาจตนเองขึ้น โดยไม่มีชื่อเรียกคณะรัฐประหารในครั้งนี้โดยเฉพาะเหมือนการรัฐประหารที่เคยมีมาในอดีต แต่เรียกตัวเองเพียงแค่ว่า คณะปฏิวัติ
ครั้งที่ 9
วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เป็นการรัฐประหารครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 อันเนื่องจากเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่เกิดขึ้นมาตลอดช่วงวันนั้นที่เรียกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา รัฐบาลพลเรือนโดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ คณะนายทหาร 3 เหล่าทัพและอธิบดีกรมตำรวจ นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองไว้ โดยใช้ชื่อว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
โดยคณะนายทหารได้เชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีไปปรึกษาหารือที่กองบัญชาการทหารสูงสุดที่สนามเสือป่า รวมทั้งได้ร่วมรับประทานโต๊ะจีนและพักค้างคืนด้วยกัน จนกระทั่งรุ่งเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม ม.ร.ว.เสนีย์จึงลากลับไป
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้ออกประกาศคณะปฏิรูปออกมาหลายฉบับ โดยมากมีเนื้อหาควบคุมเพื่อสถานการณ์ให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย โดยประกาศฉบับหนึ่งที่ความสำคัญคือ ประกาศฉบับที่ 5 ที่ว่าด้วยการควบคุมสื่อมิให้เผยแพร่ภาพและเนื้อหาที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเวลา 3 วัน คือตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม - 9 ตุลาคม ซึ่งในช่วงเวลา 3 วันนั้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทยจนบัดนี้ที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับถูกห้ามตีพิมพ์และจัดจำหน่าย และประกาศคณะปฏิรูปฉบับนี้ได้ครอบคลุมรวมถึงสื่อทุกสื่อรวมถึงโทรทัศน์ด้วย
ครั้งที่ 10
รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 เป็นการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ที่นำการรัฐประหาร คือ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและหัวหน้า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร
เหตุเนื่องจากการที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ได้ทำรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2519 เนื่องจากในเหตุการณ์ 6 ตุลา และแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลนายธานินทร์มีภารกิจสำคัญที่จะต้องกระทำคือ การปฏิรูปการเมืองภายในระยะเวลา 12 ปี ซึ่งทางคณะปฏิรูปฯเห็นว่าล่าช้าเกินไป ประกอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในประเทศยังไม่สงบดีด้วย ดังนั้นจึงกระทำการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการ รัฐประหารตัวเอง เพื่อกระชับอำนาจก็ว่าได้
ครั้งที่ 11
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 บางครั้งเรียกว่า เหตุการณ์ รสช. เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ในเวลาบ่าย โดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. (National Peace Keeping Council - NPKC) มีพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นประธานรสช. ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต่อมามีการตั้งรัฐบาลโดยให้พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งมีการชุมนุมประท้วงขับไล่ ลุกลามมาเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
ครั้งที่ 12
เกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 นำโดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินเป็นหัวหน้าคณะ โดยโค่นล้มรักษาการนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนับเป็นการก่อรัฐประหารเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี รัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนต่อมา หลังจากที่การเลือกตั้งเดือนเมษายนถูกตัดสินให้เป็นโมฆะ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2548 คณะรัฐประหารได้ยกเลิกการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและเซ็นเซอร์สื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้แถลงเมื่อวันที่ 21 กันยายน ถึงสาเหตุในการยึดอำนาจและให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยภายในหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประกาศว่า หลังจากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว คณะปฏิรูปการปกครองจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งยังไม่มีการอธิบายถึงบทบาทที่มีต่อการเมืองไทยในอนาคต
ครั้งที่ 13
พ.ศ. 2557 เป็นเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทยที่มีผลทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. (อังกฤษ: National Peace and Order Maintaining Council) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย
สองวันก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในนามของกองทัพบก ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ตั้งแต่เวลา 03.00 น.ด้วยการอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ต่อมากองทัพบกได้ออกประกาศยุติการดำเนินการของศูนย์อำนายการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) และจัดตั้ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ขึ้นแทนโดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) และออกประกาศคำสั่ง และขอความร่วมมือในหลายเรื่องอย่างต่อเนื่องในวันที่ 20-23พฤษภาคม พ.ศ.2557
หมายเหตุ : บางตำราระบุว่า การปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 เป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย และมิได้แยกเหตุการณ์วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นรัฐประหารอีกครั้ง
ที่มาข้อมูล : วิกิพีเดีย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ