เว็บไซด์คนชายข่าวคนชายขอบ(www.transbordernews.in.th) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่กรมทหารพรานที่ 36 ค่ายเทพสิงห์ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายสุรพล พนัสอำพล ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เป็นประธานในพิธีแสดงพลังมวลชนเชิงสัญลักษณ์ “แม่ฮ่องสอนอาสา พิทักษ์ผืนป่าสาละวิน” โดยมีหัวหน้าหน่วยงานราชการ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ชาวบ้านประมาณ 300 คนเข้าร่วม
ทั้งนี้ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อำเภอแม่สะเรียง ได้เป็นตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำสาละวินยื่นหนังสือต่อนายสุรพล โดยในหนังสือระบุว่า จากสถานการณ์การลักลอบตัดไม้สักในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติสาละวิน ในเขตตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 นำมาสู่การเข้าตรวจ และจับกุมไม้สัก ของหน่วยงานที่รับผิดชอบของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้ไม้สักทั้งที่แปรรูปแล้วและที่ยังคงถูกตัดเป็นท่อนเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามยังคงปรากฎไม้สักอีกเป็นจำนวนมากในป่าสาละวิน ที่ยังไม่ได้มีการตรวจยึด นับเป็นสถานการณ์การลักลอบทำไม้เถื่อนในป่าสาละวินที่มีความน่าเป็นห่วงมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง และถือเป็นการดำเนินการที่ท้าทายกฎหมายและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างรุนแรง และมีการข่มขู่คุกคามชาวบ้านและผู้นำชุมชน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่อยู่ยังกังวล มีความเป็นห่วงถึงความปลดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าขบวนการลักลอบทำไม้เถื่อนในป่าสาละวิน เป็นขบวนการที่ทรงอิทธิพลมากในระดับหนึ่ง ไม่ใช่เป็นการดำเนินการโดยชาวบ้านเพียงลำพังเท่านั้น
ขณะที่เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว จึง ร่วมกับเครือข่ายชุมชน และเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น อาทิ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายป่าไม้ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมกันจัดทำโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในระดับหมู่บ้านและตำบล เพื่อให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆในพื้นที่ เช่น ป่าไม้, ที่ดิน เกิดความยั่งยืน สมดุล และสอดคล้องกับหลักการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ได้แก่ โครงการสำรวจแนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินระดับชุมชน, โครงการจัดการป่าชุมชน, โครงการอนุรักษ์สัตว์น้ำและแหล่งน้ำ เป็นต้น
เครือข่ายองค์กรชุมชนจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชน, ตัวแทนชุมชนจากตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย, ตำบลแม่ยวม ตำบลแม่คง ตำบลบ้านกาศ ตำบลป่าปง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ประชุมเพื่อหารือต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีข้อคิดเห็นต่อการดำเนินการจับกุมไม้เถื่อน และการจัดการปัญหานี้ทั้งในระยะเฉพาะหน้าและระยะยาวดังนี้
1. เครือข่ายฯ สนับสนุนการปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการตรวจยึดไม้ของกลางในป่าสาละวินทั้งหมด และดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา การบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐทุกฝ่าย จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชนในระดับพื้นที่ ในการสนับสนุนการปฎิบัติต่างๆในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่ การตั้งจุดสกัดร่วมในพื้นที่ล่อแหลม ที่ สบห้วยแม่ปัว และบ้านสบเมย, การตั้งชุดลาดตระเวนป่าร่วมกัน เป็นต้น
2. ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ควรจัดตั้งคณะกรรมการร่วมในระดับจังหวัด เพื่อให้เป็นกลไกกลางในการบูรณาการทุกหน่วยงาน ในการจัดการดูแลรักษาป่าสาละวินอย่างเป็นระบบ และการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ โดยกรรมการมีองค์กระกอบจากฝ่ายปกครอง, สำนักป้องกันและรักษาป่า, อุทยานแห่งชาติ, ฝ่ายทหาร, ตำรวจ, คณะกรรมการหมู่บ้าน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้กรรมการยังต้องมีบทบาทในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศตามแนวชายแดนไทย-พม่า กับทางการพม่าและKNU, การประชุมร่วมประเมินการทำงานทุกสองเดือน และการตรวจสอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไม้เถื่อนอย่างจริงจัง
3. การปฎิบัติการเพื่อจับกุมผู้กระทำผิด และยึดไม้เถื่อนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น เครือข่ายฯใคร่ขอให้มีการการแยกแยะผู้ที่กระทำผิดจริง และชาวบ้านทั่วไปให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นปฎิบัติการจับกุมแบบเหวี่ยงแห ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังชาวบ้านทั่วไป ที่ยังคงต้องอาศัยทรัพยากรป่าไม้ในการดำรงชีพ (ที่เป็นไปตามข้อตกลงการจัดการร่วมระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานภาครัฐ)
4. เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ต่อการจัดการไม้ของกลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแสดงบัญชีไม้ของกลาง และสถานที่จัดเก็บในพื้นที่อำเภอสบเมยหรืออำเภอแม่สะเรียงที่สามารถตรวจสอบได้ การเคลื่อนย้ายไม้ของกลางต้องมีการประสานงานและได้รับความยินยอมจากเครือข่ายฯ นอกจากนี้การใช้ประโยชน์จากไม้สักของกลางในอนาคต (เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว) ต้องเป็นการจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผืนป่าสาละวินในท้องถิ่นเป็นสำคัญ
5. ควรให้มีหน่วยงานกลาง เข้ามาร่วมทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ข้อเสนอแนะแนวทางการทำงานและการแก้ไขปัญหา ต่อหน่วยงานในระดับจังหวัดและท้องถิ่น เช่น คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ DSI เป็นต้น
6. ในระยะยาว ต้องมีการปรับปรุงนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนมีสิทธิในการร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเองได้อย่างสมบูรณ์
7. การส่งเสริมอาชีพเสริมให้กับชุมชน เพื่อสร้างรายได้ ลดความเสี่ยงของชุชนในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการไม้
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
http://www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ