เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ที่ศาลปกครอง กรุงเทพฯ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนประมาณ 50 คน ได้เดินทางมาฟังคำตัดสินคดีความที่ภาคประชาชนฟ้องกรณี “ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามในสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้า (PPA) จากบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศลาว ซึ่งได้ดำเนินการยื่นฟ้องตั้งแต่ปี 2555 โดยตัวแทนชาวบ้านที่เดินทางมาร่วมรับฟังคดีได้ใช้เวลาช่วงเช้ารวมตัวกันถือป้ายคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนในลุ่มน้ำโขงอื่นๆ และสวดมนต์เรียกขวัญชาวบ้านก่อนรับฟังคำตัดสิน
ต่อมาทั้งหมดได้เข้าฟังคำตัดสิน โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ในคดีคำร้องที่ คส.11/2556 คำสั่งที่ คส.8/2557 จากการที่นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว แกนนำเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง กับพวกรวม 37 คน ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้ง 37 คน ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ ส.493/2555 หมายเลขแดงที่ ส.59/2556 ของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ภายหลังประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขง ทั้งในด้านระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนอย่างร้ายแรง
จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง ดังนี้
1.ให้พิพากษาว่าโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีของกฟผ.เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้มีคำสั่งยกเลิกโครงการดังกล่าว
2.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับอันตรายข้ามพรมแดนก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าโครงการเขื่อนไซยะบุรี
3.ให้ยกเลิกมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีในการอนุมัติให้กฟผ. ดำเนินโครงการสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี
ซึ่งผลปรากฏว่าศาลปกครองชั้นต้นไม่รับฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ อย่างไรก็ตาม ภายหลังชาวบ้านทั้ง 37 คนได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
ท้ายที่สุด ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์เเล้ว จึงมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องของชาวบ้านทั้ง 37 คน ในส่วนให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ไว้พิจารณา นอกเหนือจากนี้ให้แก้เป็นไปตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น
นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า หัวหน้าทีมทนายความฟ้องร้องคดีฯ กล่าวภายหลังศาลอ่านคำตัดสินคดีความว่า ผลการตัดสินครั้งนี้ถือว่าเป็นผลที่น่าพึงพอใจ หลังจากประชาชนเฝ้ารอมาประมาณ 2 ปี โดยกรณีการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีนั้นแม้ขณะนี้ทางการลาวจะดำเนินการไปบ้างแล้วก็ตาม แต่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนก็ยังไม่หยุดนิ่ง โดยที่ผ่านมาการทำงานด้านการคัดค้านนั้นถือเป็นการทำงานที่ลำบาก เพราะการก่อสร้างเกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ใช่ในประเทศไทย แต่กรณีเขื่อนไซยะบุรี ก็ถือว่าการต่อสู้เป็นผลที่น่าพึงพอใจ
นางสาว ส.รัตนมณี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้นชาวบ้านได้ยื่นฟ้อง 3 ข้อหาซึ่งศาลรับฟ้องแค่ข้อหาเดียว ประกอบด้วย ข้อหาที่ศาลไม่รับฟ้อง คือ 1 ฟ้องให้ศาลเพิกถอนคณะกรรมการนโยบายด้านพลังงาน เพราะการดำเนินการด้านพลังงานต่อการสร้างเขื่อนไซยะบุรีนั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่ได้ทำตามข้อตกลงของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ อย่างทั่วถึง และ 2 ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ดำเนินการโดย กฟผ.หน่วยงานของประเทศไทย ซึ่งศาลระบุว่าผู้ฟ้องไม่ได้เป็นคู่สัญญาซื้อขายไฟโดยตรงไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง จึงไม่รับฟ้องข้อหานี้ ขณะที่ข้อหาที่ศาลรับฟ้อง คือ ข้อหาที่ 3 กรณีที่การดำเนินโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีอันก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนลุ่มน้ำโขงและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกรอบกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ โดยการยื่นฟ้องของผู้ฟ้องนั้นถือว่าได้ทำหน้าที่พลเมืองและปกป้องสิทธิและทรัพยากรที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นการทำภายใต้ความคิดและคำนึงถึงชุมชน จึงรับไว้พิจารณา
“ทั้งนี้แม้คำตัดสินของศาลจะไม่รับฟ้องครอบคลุมทุกข้อและระงับหรือยกเลิกโครงการไม่ได้ในทันที แต่ว่าการรับฟ้องในข้อหาที่ 3 ซึ่งมีความสำคัญสูงสุดในการใช้สิทธิภาคประชาชนเพื่อทำงานเคลื่อนไหวปกป้องชุมชนต่อไป โดยในส่วนของโครงการเขื่อนไซยะบุรีนี้แม้จะมีการริเริ่มก่อสร้างแล้วก็ตาม ยังมีอีกทางเลือกคือ การขอคำสั่งศาลคุ้มครองและชะลอการก่อสร้างเพื่อศึกษาผลกระทบต่อไป อาจจะต้องใช้เวลาหารือร่วมภาคประชาชนอีกครั้ง” นางสาว ส.รัตนมณี กล่าว
ด้านนายโชค ศักดิ์อุดมกุล ชาวอำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ศาลได้รับคำฟ้องแม้จะเป็นแค่ข้อหาเดียวแต่ประชาชนยังมีหวัง เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่มีเขื่อนกั้นน้ำโขง ชาวบ้านริมน้ำก็เดือดร้อนหนัก โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา พื้นที่ไร่ริมน้ำโขง ของตนถูกน้ำท่วมทั้ง 2 ไร่ ทั้งที่ปลูกพืชได้แค่ 3 วัน เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น ครั้นพอฤดูแล้งน้ำโขงก็ลดลงอย่างมาก จนแทบจะไม่มีน้ำเหลือไว้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเลย
“น้ำโขง มันเป็นปากท้องของเรา อยากขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่เข้าใจว่านโยบายเขื่อนไม่ช่วยอะไรเราเลยแค่ปีที่ผ่านมาเจอน้ำท่วม น้ำแล้งชาวบ้านก็เสียผลผลิตนาไร่ไปเยอะแล้ว วันนี้ศาลยังเห็นใจเราที่ได้ปกป้องชุมชนแล้วข้าราชการข้างบนที่เกี่ยวข้องโดยตรงไม่เห็นใจเราบ้างเลยเหรอ สู้มาจนป่านนี้แล้วหากยังสร้างอีก เราก็ตาย เกษตรกรของเรามีแต่เสีย ปลาก็มี กุ้งก็เยอะ เรามีอาหารพอแล้วเลี้ยงคนรอดแล้วนะ เอาเขื่อนมาทำไม” นายโชค กล่าว
ทั้งนี้ในวันที่ 26 มิถุนายน 2557 นี้ ที่โรงแรมเชอราตัน จะมีการประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง โดยไทยเป็นเจ้าภาพ และมีวาระสำคัญ คือ กรณีเขื่อนดอนสะโฮง ที่เวียดนามและกัมพูชา เรียกร้องให้ชะลอการก่อสร้าง เนื่องจากการก่อสร้างทั้งนี้ข้อมูลจากองค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ระบุว่า เขื่อนในลุ่มน้ำโขงนั้นจะส่งผลกระทบต่อประชาชนลุ่มน้ำโขงทั้งไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งการก่อสร้างเขื่อนดอนสะโฮงนั้นจะนำไปสู่ทิศทางที่อันตราย เช่นเดียวกับกรณีเขื่อนไซยะบุรี นั่นคือมีการก่อสร้างโดยยังไม่มีการปรึกษาหารือประเทศเพื่อนบ้าน การศึกษาผลกระทบยังไม่แล้วเสร็จ และยังไม่ได้ทำความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงผลกระทบข้ามพรมแดนของโครงการ เป็นการทำผิดซ้ำซากซึ่งไม่น่ายินดีสำหรับทั้งชุมชนและรัฐบาลในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากลาวตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียวที่จะเดินหน้าโครงการซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งภูมิภาค ความเสี่ยงนั้นจะเกิดขึ้นนอกเหนือพรมแดนประเทศลาว เขื่อนดอนสะโฮงจะส่งผลกระทบที่ไม่สามารถแก้ไขได้ต่อวิถีชีวิต และความมั่นคงทางอาหารทั่วภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แต่ลาวกลับไม่ใส่ใจที่จะเคารพข้อเรียกร้องของประเทศเพื่อนบ้านให้ยุติการก่อสร้าง เพื่อให้มีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนและมีการปรึกษาหารือเพิ่มเติม
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
http://www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ