จากการที่เครือข่ายชาติพันธุ์ชาวเล 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล และระนอง เครือข่ายแก้ปัญหาคนไทย สมาพันธ์ชาวกะเหรี่ยงแห่งสยามและองค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร้องเรียนกรณีการแก้ไขปัญหา อาทิ ปัญหาเรื่องการข่มขู่ขับไล่ชาวเลออกจากพื้นที่ที่ถูกอ้างกรรมสิทธิ์จากภาคเอกชนและภาครัฐ ปัญหาเรื่องการคุกคามวิถีชีวิตทางการประมงของชาวเลในพื้นที่ต่างๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย การเร่งประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษของชาติพันธุ์พื้นเมืองทั่วประเทศไทย พร้อมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ทีผ่านมา โดยภายหลังการประชุม พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเล ได้ขอให้สำนักนายกฯ ดำเนินการแก้ปัญหา เช่น ออกคำสั่งหรือแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่เพื่อสานต่อการทำงานและให้สำนักนายกรัฐมนตรีออกคำสั่ง เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถตรวจสอบ เนื่องจากขณะนี้มีชาวเลได้รับผลกระทบหลายด้าน ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยถูกไล่รื้อ เจอปัญหาคุกคามพื้นที่วัฒนธรรม และถูกกีดกันจากการทำอาชีพประมงในทะเล เพราะกระแสการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 นางแสงโสม หาญทะเล ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ได้ออกมาเปิดเผยว่า ภายหลังการร้องเรียนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินของเครือข่ายชาวเล และทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกคสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเลแล้ว พบว่า สถานการณ์บนเกาะหลีเป๊ะในด้านความรุนแรงต่อชีวิตชาวเลเริ่มดีขึ้น แต่ยังมีข้อน่ากังวลเพิ่มขึ้นมาอีกประเด็น เนื่องจากมีชาวเกาะหลีเป๊ะรายหนึ่งตัดสินใจรื้อถอนบ้าน โดยทราบภายหลังว่าเจ้าของบ้านซึ่งเป็นหญิงชาวเลวัยประมาณ 60 ปี ให้เหตุผลการรื้อถอนว่ามีความประสงค์จะย้ายไปอยู่กับบุตรหลาน ซึ่งอยู่อีกซีกหนึ่งของเกาะหลีเป๊ะ
นางแสงโสม กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากการสืบข้อมูลของชาวบ้านเอง พบว่า แท้จริงแล้วที่ดินของหญิงรายนี้เป็นที่ดินติดกับธุรกิจแพปลา ซึ่งเจ้าของแพปลาบนเกาะหลีเป๊ะได้ทำสัญญาเช่าต่อจากนายทุนไว้หลายปี แต่ต่อมานายทุนเจ้าของที่นั้นมีความประสงค์จะขายที่ดิน จึงได้ไปเจรจากับผู้เช่าให้ย้ายออกและจะชำระค่าชดเชยให้ เนื่องจากผู้เช่าไม่สามารถเช่าได้ครบกำหนดที่ตกลงกันไว้ โดยราคาค่าชดเชยตกลงกันไว้ที่ 1,500,000 บาท แต่นายทุนจ่ายเงินเบื้องต้นแค่ 500,000 บาท แล้วเสนอเงื่อนไขว่าจะจ่ายส่วนที่เหลือต่อ เมื่อผู้เช่าไปกดดันให้ชาวเลในพื้นที่ดังกล่าวย้ายออก เพราะคนที่มาซื้อที่ดินต่อต้องการดำเนินธุรกิจในละแวกชุมชนทั้งหมด ทั้งนี้เจ้าของที่เสนอเงื่อนไขด้วยว่า หากใครรื้อถอนจะยินดีจ่ายเงินค่าชดเชยให้ตามความเหมาะสม ขณะที่บุตรสาวของชาวเลรายนี้เห็นว่าแม่แก่แล้ว จึงเสนอให้แม่ย้ายไปอยู่ด้วยและได้รับเงินค่ารื้อถอนเสร็จสิ้นแล้ว โดยที่ไม่ได้ปรึกษาเพื่อนบ้าน
“ชุมชนของป้าคนนี้ มีทั้งหมด 7 หลังคาเรือน แต่บ้านของป้าติดถนนในหมู่บ้าน มีรถก่อสร้าง รถบรรทุก และรถราวิ่งเข้าไปในชุมชนหลายครั้ง ป้าอ้างว่า มันน่ารำคาญ เสียงดังรบกวน บางครั้งเครียด แต่จริงๆ แล้ว ลูกสาวแกไปรับเงินนายทุนมาแล้ว เขาใช้วิธีเดิม คือกดดันให้ชาวเลทยอยรื้อถอน วันนี้ได้ข่าวว่ามีอีกรายอยากย้ายออกเพราะอยากได้เงิน แต่ตกลงราคากันยังไม่ได้ วันนี้จากชุมชน 7 หลังคาเรือนเหลือ 6 หลังคาเรือนแล้ว หากย้ายออกอีกครอบครัวก็จะเหลือแค่ 5 หลัง การยึดที่ของนายทุนก็ง่ายขึ้น เครือข่ายต่อสู้เรื่องที่ดินในหลีเป๊ะลดน้อยลง เป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างชาวเลกับชาวเลด้วยกันจะร้องเรียนยาก” นางแสงโสมกล่าว
นางแสงโสมกล่าวว่า กรณีนี้ชาวบ้านที่คัดค้านบอกว่าหากมีอีกหลังยอมรื้อถอนคงต้องแจ้งความ ซึ่งไม่รู้ว่า ตำรวจจะรับแจ้งหรือไม่ เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้าน ไม่ใช่นายทุนกับชาวบ้าน แม้เบื้องหลังจะเป็นนายทุนก็ตาม แต่โอกาสชนะคดียาก ได้แต่หวังว่าคณะกรรมการแก้ปัญหาชาวเลจะลงมาดูพื้นที่ได้เร็วๆ นี้
โดยก่อนหน้านี้ ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี เลขที่ 116 /2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ตามข้อเสนอของเครือข่ายชาวเล โดยมีอำนาจหน้าที่ คือ
1.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและปัญหาในเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมและประเพณีชาวเล
2.อำนวยการและติดตามผลการดำเนินการของส่วนราชการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยงข้อง
3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
4.เชิญผู้แทนส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐและบุคคลเข้าร่วมประชุมชี้แจง ข้อเท็จจริง ให้ข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไข
5.ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
พลเอกสุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ แล้วนั้น ตนและกรรมการจะเรียกประชุมครั้งแรกภายใน 3 วัน โดยจะวางแผนแก้ปัญหาเร่งด่วนกรณีชุมชนชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต โดยอาจมุ่งแก้ปัญหาเรื่องสิทธิทำกินในทะเลอันดามัน เพื่อให้ชาวประมงได้ประกอบอาชีพอย่างไม่เดือดร้อน และเร่งติดตามกรณีดีเอสไอตรวจกระดูกโบราณ ซึ่งน่าจะใช้ประกอบการสู้คดีของชาวเลที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว โดยชุมชนเร่งด่วนคือชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล คาดว่าจะเร่งรัดเรื่องการประสานงานให้มีการชะลอการฟ้องไล่รื้อและคุ้มครองคุณภาพชีวิตชุมชน ตลอดจนชะลอเรื่องการบุกรุกพื้นที่วัฒนธรรม รวมทั้งเร่งรัดในการตรวจสอบเอกสารสิทธิของเอกชน โดยจะเร่งขอความร่วมมือให้ผู้ครอบครองมาชี้แจงข้อมูลที่ถือครองที่ดินและเร่งรัดเรื่องการคุ้มครองชาวเลจากการถูกข่มขู่และคุกคามจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล ซึ่งอาจจะลงพื้นที่เพื่อประสานงานร่วมกับชุมชนภายใน 1 -2 เดือนนี้
“หลีเป๊ะแก้ยากเพราะชาวบ้านขัดแย้งกันเองด้วย ชาวเลบางรายก็พยายามจะโกงที่ดินของเพื่อนบ้าน ขณะที่เอกชนเองก็พยายามจะใช้พวกเขาเป็นเครื่องมือ อีกทั้งอุทยานแห่งชาติฯ ก็ถือว่ามีความขัดแย้งกับชาวเลไม่น้อย เพราะเมื่อวานนี้ (22 กรกฎาคม) ในที่ประชุม อุทยานฯ เองก็ระบุว่า จะเอาจริงเรื่องการบุกรุกที่อุทยานฯ ซึ่งมีการเผยข้อมูลว่าชาวเลบางรายก็บุกรุกเพราะรับจ้างนายทุน ส่วนนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่สามรถพิสูจน์ได้ แต่หากใครทำผิดก็ว่าไปตามผิด ใครเดือดร้อนจริง ก็คงต้องช่วยเขา เพราะความรุนแรงเกิดกับชาวเลเกาะหลีเป๊ะนั้น ถือว่าอิทธิพลมืดมีมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยเหลือยาก” พลเอกสุรินทร์ กล่าว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
http://www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ