เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือวัฒนธรรมไทย ตลอดจนกุศโลบายทางความคิดของของคนโบราณที่ถ่ายทอดออกมาเป็นกรอบความคิดดั้งเดิมแบบไทยกำลังถูกท้าทายด้วยคำถามที่ว่า “ความเหมาะสม ความสมเหตุสมผล และความสอดคล้องกับสังคมไทยในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร”
โดยมากผู้ตั้งคำถามเหล่านี้ก็คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีกรอบความคิดแบบใหม่หรือบางครั้งเป็นการคิดนอกกรอบ มีการยึดฐานความคิดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของคนในสังคมเป็นแกนในการแสดงออกถึงความคิดเห็นผ่านการตั้งคำถามต่าง ๆ
เครื่องแบบนักศึกษาก็เป็นสิ่งหนึ่งที่กำลังสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในหลายมิติ มีการตั้งคำถามเป็นหัวข้อสนทนาในวงกว้างว่า ชุดนักศึกษายังมีความจำเป็นหรือไม่? ชุดนักศึกษากำลังลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเยาวชนในสังคม? ความเกี่ยวข้องของชุดนักศึกษากับประสิทธิภาพของการศึกษา? หรือแม้กระทั่ง ชุดนักศึกษากำลังบั่นทอนอัตลักษณ์ความเป็นไทย?
ขอบคุณภาพจาก http://farm4.static.flickr.com/
ปัจจุบันเครื่องแบบนักศึกษาถือเป็นเอกลักษณ์ที่เติบโตขึ้นมาควบคู่กับสังคมไทย มีการยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่น เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงกฎระเบียบที่พึงต้องปฏิบัติร่วมกัน เป็นบรรทัดฐาน (Norm) ของมหาวิทยาลัย และที่สำคัญตัวแบ่งถึงฐานะทางสังคม (Social Status) รูปแบบหนึ่งนั่นก็คือ แบ่งแยกสภาพภาพว่ามีสถานะผู้เรียนเป็นนิสิตนักศึกษาอยู่ ยังเป็นเด็กที่ต้องปฏิบัติตามกฎที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น
จุดเริ่มต้นของชุดนักเรียน ชุดนักศึกษา
ชุดนักเรียนและชุดนักศึกษา มีจุดเริ่มต้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2511 – พ.ศ. 2453) เนื่องจากเป็นสมัยที่มีการวางรากฐานของการศึกษาไทยอย่างเป็นระบบ และเพื่อยกระดับการศึกษาไทยมีความเป็นสากลทัดเทียมกับนานาประเทศมากยิ่งขึ้น
จากเดิมที่วัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษา เปลี่ยนแปลงไปสู่การจัดตั้งโรงเรียน (มีการริเริ่มชุดนักเรียนขึ้น) และได้พัฒนาไปสู่การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกขึ้นในสยามประเทศ นั่นก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมามีการรับนิสิตนักศึกษาหญิงรุ่นแรกเข้าเรียนในคณะแพทย์ศาสตร์ จึงมีการบังคับการแต่งกายในเครื่องแบบนักศึกษาอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดให้มีการสวมใส่เสื้อเป็นผ้าสีขาวไม่มีลวดลาย ใช้หัวเข็มขัดโลหะและเข็มกลัดติดเสื้อที่มีตราสถาบัน กลายเป็นตัวบ่งบอกถึงสถานะของความเป็นนิสิตนักศึกษา นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (แต่ไม่แน่ใจว่าจะถึงอนาคตหรือไม่)
อย่างไรก็ดี ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา สรรพสิ่งในโลกล้วนไม่จีรังยั่งยืน มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ชุดนักศึกษาเองก็เช่นกัน มีการเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบของของชุดตามกาลสมัย มีการแต่งแต้มสีสันในการแต่งกายเข้ามา อาทิ จากเดิมที่เป็นผ้าสีขาวไม่มีลวดลาย การตัดเย็บแบบพื้น ๆ ไม่เน้นองค์ประกอบ ไม้เน้นการโชว์สัดส่วนของผู้สวมใส่ เปลี่ยนแปลงไปสู่การใส่รายละเอียดของการตัดเย็บและความสวยงาม ตัวอย่างเช่น การเย็บตะเข็บคู่ ชายเสื้อทรงโค้งมน ขนาดปกเสื้อใหญ่-กลาง-เล็ก เน้นความโดดเด่นของเม็ดกระดุมให้มีความทันสมัยด้วยสาบเสื้อ การถักลาย จีบเสื้อ รวมถึงขนาดของเสื้อให้เข้ารูปมากยิ่งขึ้น
ตลอดจนการตัดเย็บกระโปรงให้มีหลายขนาดสั้นยาวตามแต่ความชอบของแต่ละบุคคล กางเกงก็มีการตัดเย็บทรงขากระบอกใหญ่ ขากระดิ่ง ขากระบอกเข้ารูป หรือทรงที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ แบบแนบเนื้อเข้ารูป (Skinny) เพื่อโชว์สัดส่วนของร่างกายมาก เหล่านี้เป็นวิวัฒนาการชุดนักศึกษาตามแฟชั่นนิยม
ย้อนเวลากลับไปราว 15 ปี สมัยที่ผู้เขียนยังเป็นนิสิตนักศึกษาและใช้ชีวิต 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยอยู่นั้น เครื่องแบบนักศึกษามีให้เลือกไม่มากนัก เสื้อผู้ชายก็มีทรงเดียว คือ ทรงพอดีตัวไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป กางเกงที่เป็นที่นิยมก็มีอยู่ 2 ทรง คือ ขากระบอกใหญ่ และขากระบอกเล็ก (มีขนาดเล็กแต่ไม่เท่าขนาดในปัจจุบันที่เป็นทรง Skinny) รายละเอียดอื่น ๆ เช่น คอเสื้อก็มีอยู่แบบเดียวคือปกใหญ่ ๆ คอแหลม ๆ มีให้เลือกอยู่แค่นั้นตอนนั้น และตลาดเสื้อผ้านักศึกษาใหญ่ ๆ ที่เป็นที่รู้จักขณะนั้น ก็มีตลาดอยู่ไม่กี่แหล่ง เช่น สยามสแควร์ ท่าน้ำสี่พระยา ตลาดวังหลัง
ความคิดดั้งเดิมของผู้เขียนในอดีต ผู้เขียนคิดว่า ชุดนักศึกษาเป็นสินค้าที่เข้าข่ายสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่ไม่ว่าจะซื้อสินค้าจากที่ไหนก็จะได้สินค้าที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เทียบเคียงได้เท่ากับ น้ำมัน ทอง และข้าวสาร แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้เขียนต้องเปลี่ยนมโนภาพที่มีอยู่ในใจ (Mindset) ทั้งหมด เนื่องจากปัจจุบันชุดนักศึกษาก็มีพัฒนาการในรูปแบบของแฟชั่นมากยิ่งขึ้น ตลาดแต่แหล่งกลายเป็นตลาดที่มีความหลากหลาย (Diversity) ตัวสินค้ามีความแตกต่าง มีพัฒนาการที่เป็นเอกลักษณ์ (Uniqueness) บ่งชี้ถึงความหลากหลายในสังคมหลากสีสัน
ความเปลี่ยนแปลงในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ผลตอบรับที่ดี นำไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานของชุดนักศึกษาในปัจจุบัน ชัดเจนว่านิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่จะนิยมสวมใส่ชุดนักศึกษาที่ออกแนวแฟชั่นทันสมัย คือ เสื้อผ้าที่ตัดเย็บเข้ารูปทั้งชายหญิง ปกเสื้อผู้ชายที่เป็นปกขนาดเล็กลง ผู้หญิงก็จะนิยมสวมใส่กระโปรงสั้นมากกว่ากระโปรงยาว และทั้งชายหญิงมักชอบเอาชายเสื้อออกมาอยู่ข้างนอก เหล่านี้เป็นปรากฎการณ์ของการเปลี่ยนแปลง ที่ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย ในขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงนี้ก็แทรกซึม (Penetrate) เข้ามาในสารบบความคิดของคนยุคปัจจุบันว่า นี่แหละชุดนักศึกษา จะแบบไหนลักษณะใดก็ตามก็ยังอยู่ในบริบทของคำว่า “ชุดนักศึกษา” อยู่ดี
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตสามารถอนุมานได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เล็กน้อย (Minor Change) และยังจำกัดอยู่ในกรอบของ “ชุดนักศึกษา” คือ มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดของชุดว่าควรมีองค์ประกอบอย่างไร ไม่ได้หมายความถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ (Major Change) หรือนำไปสู่การสิ้นสุดของชุดนักศึกษาดังเช่นปัจจุบันที่มีการตั้งคำถามว่า “ถึงเวลาหรือยังที่จะยกเลิกการบังคับการแต่งกายในชุดนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา” และจากจุดนี้เองอาจนำไปสู่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ คือ จาก “ความมีชุดนักศึกษา” ไปสู่ “ความไม่มีชุดนักศึกษา”
ข้อถกเถียงในปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่องนี้
1.มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงเรื่องสิทธิเสรีภาพและเรื่องการบังคับการแต่งกายในชุดนักศึกษาเข้าด้วยกัน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจำเป็นต้องมีการเปิดกว้างทางความคิด มีอิสระ และเสริมสร้างความมีสิทธิเสรีภาพของผู้เรียน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิเสรีภาพในเรื่องของการแต่งกาย ที่ไม่ควรจะต้องมีการบังคับแต่ควรปล่อยให้เป็นไปตามความชอบของแต่ละบุคคล ดังนั้น การจำกัดสิทธิของนักศึกษาโดยการบังคับให้มีการสวมใส่ชุดนักศึกษาควรเป็นสิ่งที่ควรพิจารณายกเลิก
2.มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นไทย ประสิทธิภาพของการศึกษาและเรื่องการบังคับการแต่งกายในชุดนักศึกษาเข้าด้วยกัน โดยให้เหตุผลว่า ชุดนักศึกษานี้บ่งชี้ถึงความเป็นไทยในแง่มุมใดบ้างเพราะว่าที่แต่งหรือที่เป็นอยู่ในปัจจุบันี้ไม่ได้สะท้อนความเป็นไทยเลยแม้แต่น้อย และหากจะมองถึงประสิทธิภาพของการศึกษาก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
ดูได้จากประเทศที่พัฒนาแล้วต่าง ๆ ในโลก ประเทศเหล่านี้ไม่มีการบังคับให้สวมใส่ชุดนักศึกษาเข้าเรียนแต่คุณภาพการศึกษาและวิชาการกลับเป็นเลิศ แตกต่างกับประเทศไทยที่แม้มีการบังคับการใส่ชุดนักศึกษาแต่กลับมีประสิทธิภาพของการศึกษากลับถอยหลัง นำไปสู่ข้อถกเถียงที่ว่า อัตลักษณ์ความเป็นไทยในมิติของชุดนักศึกษา
ขอบคุณภาพจาก minster.notts.sch.uk
3.มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงเรื่องความเสมอภาค ความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันของนิสิตนักศึกษา ความประหยัด และเรื่องการบังคับการแต่งกายในชุดนักศึกษาเข้าด้วยกัน โดยให้เหตุผลว่า ทุกคนจะมีสถานะทางสังคมเท่าเทียมกันหมดในชุดเครื่องแบบสีขาว ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างกัน และช่วยในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องของชุดนักศึกษา
ในมุมมองนี้อาจจะมองได้หลายแง่เช่น ชุดนักศึกษาเป็นเพียงเครื่องประดับหนึ่งของเครื่องประดับต่าง ๆ ตามร่างกาย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเครื่องประดับที่บ่งบอกหรือแยกระดับสังคมของคนมีหลายตัว เช่น นาฬิกา สร้อยคอ โทรศัพท์มือถือ ยานพาหนะ ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันชุดนักศึกษาก็ถือเป็นการบอกว่า ไม่ว่าจะยากดีมีจนเมื่ออยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยทุกคนเท่ากันหมดด้วยชุดเครื่องแบบสีขาว
ส่วนในเรื่องของความสมัครสมานกลมเกลียวก็ไม่แน่เสมอไป เพราะที่เห็นบ่อยครั้งก็คือนักศึกษาในสถาบันเดียวกันก็ยังมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งระหว่างกัน และบางเรื่องก็มีการโพสขยายความในสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง YouTube ด้วยซ้ำ ดังนั้น จึงอาจจะพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ได้ยากว่า ชุดนักศึกษามีส่วนในการเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีอย่างไร
ในเรื่องการช่วยให้ประหยัดขึ้นนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่จริงเสมอไปเนื่องจากราคาเสื้อผ้าแฟชั่นตามแหล่งหรือย่านช็อปปิ้งต่าง ๆ ก็มีราคาอยู่ที่หลักร้อยต้น ๆ ถึงกลาง ๆ ซึ่งมีราคาพอ ๆ กับชุดนักศึกษา หากเทียบกันแล้วในภาพรวมแล้วถือว่าไม่มีความแตกต่างกันมาก ยิ่งไปกว่านั้น หากซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นแล้วอาจมีอรรถประโยชน์ที่มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะสามารถที่จะใช้แต่งตัวไปไหนมาไหนก็ได้ มากกว่าการสวมใส่ชุดนักศึกษาเพื่อมาเรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น
เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 สวนดุสิตโพลได้รายงานผลการสำรวจความคิดเห็น เกี่ยวกับเรื่องนี้ในหัวข้อ “ชุดนักศึกษา ยังจำเป็นอยู่หรือไม่?” เพื่อเป็นการสะท้อนของนักศึกษาต่อการแต่งกายในชุดนักศึกษา โดยได้ทำการสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษาชั้นปีต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,293 คน ระหว่างวันที่ 14-17 กันยายน 2556 โดยมีผลสรุปของการสำรวจที่น่าสนใจ ดังนี้
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สอบถามความคิดเห็นของนักศึกษาชั้นปีต่างๆ ในกรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,293 คน ระหว่างวันที่ 14-17 กันยายน 2556 สรุปผลดังนี้ (ข้อมูลจากฐานเศรษฐกิจออนไลน์)
เมื่อถามถึง “ข้อดี” ของการแต่งกายชุดนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
อันดับ 1 มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย 42.13 %
อันดับ 2 เป็นการให้เกียรติสถาบัน แสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 23.60 %
อันดับ 3 บ่งบอกถึงความเป็นนักศึกษาและระดับการศึกษาที่เรียน 15.73 %
อันดับ 4 นักศึกษาทุกคนมีความเสมอภาค เท่าเทียมกันหมด ไม่แบ่งชนชั้น 10.14 %
อันดับ 5 ทำให้ประหยัด ไม่สิ้นเปลืองค่าเสื้อผ้าในการแต่งตัวไปเรียน 8.40 %
เมื่อถามถนึง “ข้อเสีย” ของการแต่งกายชุดนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
อันดับ 1 เป็นชุดนักศึกษาที่เน้นแฟชั่นมากเกินไป ดูไม่เหมาะสม เป็นชุดนักศึกษาที่ผิดระเบียบ 35.28 %
อันดับ 2 นักศึกษาผู้หญิงไม่สะดวกในการทำกิจกรรมต่างๆเพราะต้องใส่กระโปรง 26.52 %
อันดับ 3 การดูแลรักษาความสะอาดยาก ต้องซักรีด 15.91 %
อันดับ 4 หากนักศึกษาประพฤติตัวหรือมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็จะทำให้สถาบันเสียชื่อเสียงไปด้วย 12.73 %
อันดับ 5 อาจทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างสถาบัน 9.56 %
เมื่อถามว่า นักศึกษาคิดว่า “ชุดนักศึกษา” ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ?
1 จำเป็น 94.44 % เพราะ ชุดนักศึกษาทำให้เกิดความเป็นระเบียบ เป็นเอกลักษณ์ที่มีมานาน เป็นสิ่งเตือนใจว่ายังอยู่ในวัยเรียน ฯลฯ
2 ไม่จำเป็น 5.56 % เพราะ นักศึกษาปัจจุบันแต่งกายผิดระเบียบกันมาก ความขยัน ตั้งใจเรียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแต่งกาย ฯลฯ
สำหรับนักศึกษาที่เห็นว่าจำเป็นต้องแต่งกายชุดนักศึกษาอยู่ นักศึกษาคิดว่าควรใส่แบบใด?
อันดับ 1 น่าจะใส่ทุกวันที่เรียน 70.96 %
อันดับ 2 น่าจะใส่บางวันที่เรียน 15.15 %
อันดับ 3 น่าจะใส่เฉพาะช่วงพิธีการเท่านั้น 6.06 %
อันดับ 4 น่าจะใส่เฉพาะช่วงเข้าสอบเท่านั้น 2.27 %
ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะมีการต่อต้านของคนบางกลุ่ม ทว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ (อ้างอิงเฉพาะกลุ่มที่สวนดุสิตโพลทำการสำรวจ 1,293 คน ในระหว่างวันที่ 14-17 กันยายน 2556 เท่านั้น ไม่สามารถสรุปรวบยอดเป็นความคิดของนักศึกษาทั้งหมดได้) ยังมีความต้องการจะใส่ชุดนักศึกษาอยู่ถึง 94.44 % แต่อย่างไรก็ดี คนส่วนน้อย 5.56 % ไม่ได้หมายความว่าจะถูกละเลย ดังนั้น ทางออกร่วมของทุกฝ่ายในเรื่องนี้จึงควรเป็นทางออกที่ยืดหยุ่น
ขอบคุณภาพจาก tarad.com
ทางออกควรเป็นอย่างไร?
ผู้เขียนเห็นว่า อย่างไรเสียสังคมไทยไม่มีทางจะสุดโต่งไปในทางใดทางหนึ่ง นั่นก็คือ การบังคับหรือการยกเลิก แต่สังคมไทยน่าจะเหมาะกับทางออกแบบยืดหยุ่น (Flexible) มากกว่า
ดังนั้น หากจะพิจารณาว่า การบังคับหรือไม่นี้ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของแต่ละมหาวิทยาลัยก็น่าที่จะเป็นทางออกที่ละมุนละม่อมมากที่สุด ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยควรมีกฎเฉพาะตัวในเรื่องของเครื่องแบบนักศึกษาและมีผลบังคับใช้จำกัดเพียงในมหาวิทยาลัยของตนเท่านั้น โดยประกาศออกมาเป็นนโนบายที่ชัดเจนไปเลยว่า มหาลัยมีนโนบายบังคับการสวมใส่ชุดนักศึกษาหรือไม่
ซึ่งหากทำแบบนี้ก็จะมีความชัดเจนขึ้นว่า นักศึกษาที่ประสงค์เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนี้ควรจะต้องปฏิบัติตามกฎที่มหาวิทยาลัยวางไว้และมีอะไรบ้าง หรือถ้าไม่พอใจกฎต่าง ๆ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดอยู่ก่อน ก็ควรเลือกศึกษาที่มหาวิทยาลัยอื่น และการดำเนินการแบบนี้จะทำให้ประเด็นความขัดแย้งในข้อที่ 1-3 ลดลงได้ เนื่องจากจะทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้กำหนดนโยบายมีสิทธิเท่าเทียมกันและข้ออ้างและสิทธิเสรีภาพก็จะหมดไปเพราะทุกคนล้วนมีสิทธิที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้
เรื่องของอัตลักษณ์ความเป็นไทยก็เป็นสิ่งที่ผู้เรียนมีสิทธิที่จะเลือกในแบบที่ตัวเองเชื่อและเหมาะสมกับตัวเอง บางคนเชื่อว่าเป็นการดำรงคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นไทยก็ใส่ชุดนักศึกษามาเรียน หรือถ้าไม่เชื่อก็ไม่ต้องสวมใส่ อนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องของสมัครสมานสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มหาวิทยาลัยอาจจะกำหนดว่า หากนักศึกษาไม่ใส่ชุดนักศึกษาจะไม่สามารถเข้าร่วมในกิจกรรมบางอย่างได้ (ไม่รวมถึงการสอบ) เช่น การไหว้ครู การหล่อเทียนพรรษา ค่ายอาสาหรือกิจกรรมของบางชมรม แบบนี้ก็น่าจะเป็นทางออกที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย (หรือไม่?)
ขอได้โปรดพิจารณา
ขอบคุณบทความจาก http://www.siamintelligence.com/
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ