บทวิเคราะห์ : เมื่อการเลือกตั้งเป็นโมฆะ การเมืองก็ล้มเหลว

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 24 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2381 ครั้ง

จนกระทั่งทำให้เกิดความกังขาว่าแท้จริงแล้วศาลรัฐธรรมนูญได้อาศัยหลักกฎหมายหรือเป้าประสงค์ทางการเมืองของตัวเองกันแน่ในการวินิจฉัยคดีความ

ก่อนอื่นเลย การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดูเหมือนจะใช้ตรรกะทางกฎหมายผิดพลาดอย่างชัดเจนและดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญไทยพอใจที่จะทำเช่นนั้นตลอดมา ศาลไม่พิเคราะห์ขอบเขตอำนาจของตัวเองและไม่เคยให้คำอธิบายที่น่าพอใจเลยเกี่ยวกับปัญหานี้ ศาลรัฐธรรมนูญมักจะก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายอื่น ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารอยู่บ่อย ๆ

ประการต่อมา ตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนี้มักตีความกฎหมายเกินเลยกว่าตัวบท และปรับบทกฎหมายแบบตีขลุมเอาค่อนข้างมาก เช่นการวินิจฉัยว่า การเสียบบัตรแทนกันของผู้แทนราษฎรบางคนว่าเท่ากับกระบวนการในการออกกฎหมายทั้งหมดนั้นไม่ชอบ และทำให้เสียไปทั้งกระบวนการนั้น ดูเป็นการวินิจฉัยที่เกินเลยไปมาก การเสียบบัตรแทนกันโดยทั่วไปแล้วอาจจะพิจารณาได้แต่เพียงว่า คะแนนที่ได้จากการออกเสียงแทนกันนั้นย่อมไม่ชอบและเสียไป แต่ไม่อาจจะถือได้ว่าทำให้กระบวนการทั้งหมดเสียไปด้วย

กล่าวแต่เฉพาะการวินิจฉัยเรื่องการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ก็เช่นกัน ศาลให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยว่า “การที่พระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ. 2556 กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นั้น เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไปแล้ว ปรากฏว่ายังไม่มีการจัดการเลือกตั้งสำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการสมัครรับเลือกตั้งมาก่อนเลยจึงถือได้ว่าในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มิได้มีการเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักร”

ประเด็นปัญหา 28 เขตนั้นศาลละเลยข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่งไปคือ การสมัครรับเลือกตั้งในประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ มี 2 ส่วน คือ แบบบัญชีรายชื่อ และ ผู้สมัครแบบแบ่งเขต แบบบัญชีรายชื่อนั้นใช้เหมือนกันทั่วประเทศ หมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ คะแนนที่นำมาคิดสัดส่วนก็นำมาจากทั่วประเทศ ดังนั้นต่อให้ใน 28 เขตนั้นไม่มีผู้สมัครเลย ก็เป็นแต่เพียงผู้สมัครในระบบแบ่งเขตเท่านั้น ในวันเลือกตั้งหากปรากฎว่าสามารถเปิดทำการลงคะแนนได้ ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงย่อมจะต้องลงคะแนนในระบบบัญชีรายชื่ออยู่ดี หากภายหลังจะมีการเปิดลงคะแนนใน 28 เขตนั้นก็ชอบที่จะมีการลงคะแนนให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองต่างๆที่ได้สมัครรับเลือกตั้งไปก่อนหน้านี้เท่านั้น

ในเมื่อไม่มีข้อเท็จจริงปรากฎว่าได้มีการเปิดรับสมัครใหม่ นอกเหนือไปจากที่พรรคการเมืองที่สมัครกันเอาไว้แต่เดิม จึงไม่อาจจะถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งคราวใหม่ที่ไม่พร้อมกันทั่วราชอาณาจักรในวันเดียวกัน

ภายใต้พระราชกฤษฎีกาเดิม คณะกรรมการเลือกตั้งจะทำได้ก็แต่เพียงเปิดให้พรรคการเมืองที่ได้รับหลายเลขแล้วแต่เดิมส่งผู้สมัครไปลงรับเลือกตั้งในส่วนที่ยังไม่ได้มีการลงคะแนนเท่านั้น เช่นนั้นก็ยังถือว่าเป็นการเลือกตั้งในคราวเดียวกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์อยู่เช่นเดิม

ปัญหา 28 เขตที่เกิดขึ้นนั้นจะพิจารณาได้แต่เพียงว่าเป็นการลงคะแนนเสียงไม่พร้อมกัน ซึ่งก็จะไม่ต่างอะไรกับการลงคะแนนล่วงหน้าแต่ไม่ใช่การเลือกตั้งครั้งใหม่เพราะผลการเลือกตั้งของวันที่ 2 ยังไม่ได้มีการนับ

อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายนั้นส่วนหนึ่งอาจจะมาจากอำนาจรัฐก็จริง แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากความยอมรับนับถือและความเชื่อถือของสาธารณชนทั่วไปด้วย ซึ่งหากปราศจากความน่าเชื่อถือเสียแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลย่อมจะหมดไปและจะนำไปสู่การดื้อแพ่งต่อกฎหมายในที่สุด เพราะประชาชนจะตั้งคำถามกับความยุติธรรมที่พวกเขาจะได้รับจากการวินิจฉัยของศาล ดูเหมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญของไทยจะใช้ความน่าเชื่อถือและต้นทุนของตัวเองให้หมดเปลืองไปอย่างเปล่าประโยชน์มากขึ้นทุกที

บางทีศาลหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ทันได้คิดหรือไม่เห็นว่าเป็นภาระอะไรของตัวที่จะต้องคิดก็ได้ว่า ผลแห่งการวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโฆฆะนั้นไม่เพียงทำให้หลักการทางกฎหมายบางอย่างเสียไปเท่านั้น ผลแห่งคำพิพากษายังเป็นการลบล้างและละเมิดสิทธิของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั้งมวลและสร้างความชอบธรรมให้แก่การขัดขวางการเลือกตั้งอย่างล้นเหลือ ทั้งๆที่การขัดขวางการเลือกตั้งไม่ว่าจะอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยังไม่นับว่ามันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นที่ต้องการลงคะแนนเลือกตั้งและเป็นการทำลายหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยโดยแท้

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ รัฐบาลรักษาการจะต้องรักษาการไปอีกนานเท่าใด รัฐบาลรักษาการนั้นไม่สามารถดำเนินการบริหารประเทศได้ ออกนโยบายไม่ได้ ทำงบประมาณไม่ได้ หมายความว่าการพัฒนาประเทศจะต้องหยุดชะงักอยู่ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด การคาดการณ์เอาว่าอาจจะทำได้ในเวลา 6 เดือนหรือกว่านั้นเล็กน้อย ก็เป็นการคาดการณ์แบบเลื่อนลอยเต็มทน เพราะไม่มีใครรู้เลยว่า นับต่อจากนี้ไปจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

หลังวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งเป็นโมฆะในครั้งก่อนเมื่อปี 2549 เกิดรัฐประหารขึ้น ไม่มีการเลือกตั้งอีกจนกระทั่งในอีก 1 ปีเศษ ๆ ต่อมา ครั้งนี้ก็ไม่มีอะไรประกันได้ว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อใด ตราบเท่าที่ความขัดแย้งทางการเมืองดำรงอยู่ ถ้ามีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ ก็อาจจะยังมีพรรคการเมืองบอยคอตการเลือกตั้งอยู่เช่นเดิม อาจจะมีผู้ขัดขวางอยู่ได้เช่นเดิม เพราะพวกเขาตระหนักดีแล้วว่า มันเป็นสิ่งที่ทำได้โดยชอบธรรม และมันสามารถทำให้การเลือกตั้งทั้งระบบเสียไปได้ง่าย ๆ อาศัยแนวทางแห่งคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ พวกเขาอาจจะไม่จำเป็นต้องไปขัดขวางมากถึง 28 เขตก็ได้ เอาแต่เพียงไม่กี่เขตพอให้การลงคะแนนเสียงไม่เกิดขึ้นในวันเดียวก็เพียงพอจะทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะได้อีก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก อาจจะไม่มีศรัทธากับการเลือกตั้งหรือรังเกียจนักการเมืองอย่างเข้ากระดูกดำ แม้ว่าบางท่านอาจจะมีพฤติกรรมส่วนตัวไม่ค่อยต่างหรือแย่กว่านักการเมืองก็ตาม แต่การคาดหวังว่า การทำให้การเลือกตั้งครั้งก่อนเป็นโมฆะ เพื่อเปิดทางให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการคัดเลือกผู้สมัครและทำให้ได้นักการเมืองดีเข้ามาบริหารชาติบ้านเมือง ในการเลือกตั้งคราวต่อไปนั้น เป็นความคิดที่เหลวไหลสิ้นดี เพราะหากไม่มีการเลือกตั้ง ไม่มีฝ่ายนิติบัญญัติที่ได้ฉันทานุมัติและอำนาจเต็มจากประชาชน ใครจะเป็นผู้มีความชอบธรรมในการสร้างกฎหมายเพื่อใช้เป็นกฎเกณฑ์ของประเทศกันเล่า การสร้างกฎหมายนอกระบบรัฐสภาก็มีแต่อำนาจจากการรัฐประหารเท่านั้นถึงทำได้ แต่หากคิดจะทำรัฐประหารกันแล้วจะมาอ้างรัฐธรรมนูญนั่งพิพากษาคดีทำไมให้เปลืองแรง

แน่นอนทีเดียว ลำพังการเลือกตั้งอย่างเดียวคงไม่ได้ทำให้ประชาธิปไตยไทยสมบูรณ์นักหรอก แต่การเลือกตั้งก็เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างเดียวที่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศได้อย่างชอบธรรมที่สุด เพราะมันอนุญาตให้คนในประเทศนี้มีส่วนร่วมได้เสมอหน้ากัน ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือจน มาจากชั้นสูงหรือชั้นต่ำของสังคมก็ได้สิทธินั้นเท่ากัน

การเลือกตั้งอาจจะไม่ทำให้ได้คนดีเพียบพร้อมมาเป็นผู้บริหารและมาออกกฎหมาย กฎเกณฑ์ของประเทศ แต่การเลือกตั้งที่เข้มแข็งและชอบธรรมอาจจะพอช่วยให้การคัดสรรผู้มีคุณสมบัติเพียบพร้อมเข้ามาได้ แต่การเลือกตั้งจะเข้มแข็งและชอบธรรมได้ก็ต่อเมื่อคนทั้งประเทศมีศรัทธากับมันและชนชั้นสูงยินดีจะปกป้องมัน ถ้าหากการเลือกตั้งถูกทำลายได้ง่ายๆอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ การที่จะมานั่งคาดหวังว่าถ้าได้ปฏิรูปเสียก่อนแล้วมีการเลือกตั้งจะทำให้ได้คนดีเพียบพร้อมมาบริหารประเทศนั้นคงเป็นความคิดที่เพ้อเจ้อสิ้นดี เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่า การเลือกตั้งใหม่หลังสิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปนั้นจะชอบธรรมพอหรือทำให้ได้คนที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมขึ้นมาได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: