เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “ผลกระทบด้านจิตใจจากความวุ่นวายทางการเมือง” จำนวน 3 ตอน ระบุว่า
ตอนที่ 1
ความวุ่นวายทางการเมือง นอกจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และ การดำเนินชีวิตในสังคมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจได้อย่างมากด้วย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยที่ผ่านมา ในช่วงหลายปีมานี้ และในช่วงปีนี้ที่มีเหตุการณ์หลายอย่าง
ทำให้สภาพจิตใจของคนไทยหลาย ๆ คน ได้รับผลกระทบกันไปต่าง ๆ กัน มากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่สิ่งที่ตนเองได้รับผล และความใส่ใจกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
เรามาดูผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นได้ จากเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง
1.ความวิตกกังวล
สาเหตุ
เหตุการณ์ที่หาความแน่นอนไม่ได้ ไม่รู้จะไปทิศทางใด ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงขึ้นในใจ กระตุ้นมโนด้านลบไปได้มาก สร้างความรู้สึกวิตกกังวลได้อย่างมาก หรือ ถ้าในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ถ้าคนใกล้ตัวเป็นคนละฝ่ายกับเรา ส่งผลให้เรารู้สึกวิตกกังวลกับความสัมพันธ์ได้ ถ้าเราเห็นไม่เหมือนเค้า เกรงการทะเลาะเบาะแว้ง หรือ อาจเกรงเขาจะไม่โอเคกับเรา ถ้าเห็นต่างกัน
2.ความรู้สึกซึมเศร้า
สาเหตุ
เหตุการณ์ที่ยืดเยื้อหาทางออกไม่ได้ กระตุ้นความรู้สึกสิ้นหวังได้มากค่ะ ทำให้รู้สึกท้อแท้ หดหู่ได้ ยิ่งถ้าใครมีผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น อาชีพการงาน การทำธุรกิจที่ถูกผลกระทบเข้าไปอย่างจัง อาจยิ่งเพิ่มดีกรีความรู้สึกเศร้าและหดหู่ได้มากค่ะ เพราะมีผลความอยู่รอดด้วย
3.ความโกรธ
สาเหตุ
จากความเกลียดชัง หรือ ความหงุดหงิดรำคาญ ที่มีต่ออีกฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วยกับแนวคิดหรือ จากความผิดหวัง ที่มีต่อคนที่เราคาดหวังไว้มาก แล้วเขาไม่เป็นอย่างหวัง เหล่านี้กระตุ้นอารมณ์โกรธ จนเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ทั้งคำพูด การแสดงออก ท่าทางสีหน้า หรือ เข้าไปทำร้ายกันจนบาดเจ็บ
4.ความกลัว
สาเหตุ
จากความที่เหตุกาณ์ที่ไม่มีความแน่นอน มีความรุนแรงเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ควบคุมได้ยาก และ หาที่พึ่งพิงไมได้ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยของการใช้ชีวิต กระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นได้
5.ความรู้สึกผิด
สาเหตุ
ด้วยสถานการณ์ที่เร้า และเต็มไปด้วยความคาดหวังถึงชัยชนะ ต้องการทุกเสียงแสดงพลังประชาชน ในการสนับสนุนพวกตน และ ต่อต้านฝั่งตรงข้าม ทำให้บางคนอาจรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำตามสิ่งที่ฝ่ายตนเรียกร้องให้ออกมา เช่น การชุมนุมเดินขบวน ส่งผลให้รู้สึกเหมือนตนเองทำผิด ต่อเพื่อน ต่อคนรัก ต่อคนในครอบครัว กระทั่งต่อชาติ ที่ตนไม่ได้ทำอย่างที่ฝ่ายตนคาดหวัง หรือบางคนรู้สึกผิดที่พาคนอื่นไปร่วมชุมนุมแล้วเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น ทำให้คนที่ตนพาไปบาดเจ็บหรือเดือดร้อน เกิดความรู้สึกผิดได้
6.ความรู้สึกแปลกแยก
สาเหตุ
ความเห็นต่าง ทำให้หลายคนรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยว ไม่เป็นที่ยอมรับ ของเพื่อน ของคนรัก ของครองครัว และ ของสังคมที่ตนอยู่
7.ความรู้สึกผิดหวัง เจ็บปวด
สาเหตุ
จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่เป็นไปอย่างที่ตนวาดหวังไว้ หรือ เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าที่ตนคิดไว้
8.ความรู้สึกเก็บกด
สาเหตุ
สถานการณ์ที่ต่างฝ่าย ต่างยึดถือความคิดตนเอง อย่างรุนแรง และ แทบไม่ฟังความคิดความเห็นของอีกฝั่ง ทำให้บางคนไม่กล้าแสดงความคิด ความเห็น ความรู้สึกใดๆ ออกมาเกรงจะไม่เข้าพวก เกรงจะไม่เป็นที่รักและยอมรับของคนใกล้ตัว คนในสังคมที่ตนอยู่ เลยต้องเก็บกดความรู้สึก ความคิดเห็นและความปรารถนาของตนเองลงไป
9.เกิดความรู้สึกเป็นฮีโร่
สาเหตุ
เกิดจากสถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่ กระตุ้นความรู้สึกว่าเราต้องเขากู้สถานการณ์ เพื่อผดุงความถูกต้อง ความยุติธรรมเพื่อให้ทุกอย่างออกมาตามอุดมคติ เพราะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันแย่ และต้องการคนเข้ามากู้วิกฤติ
10.เกิดความรู้สึกฮึกเหิม
สาเหตุ
สถานการณ์ที่กระตุ้นความรู้สึกรักชาติ หรีอ กระตุ้นความรู้สึก “พวกเราร่วมกัน ต่อต้านพวกมัน” ทำให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิมได้มาก การเจอคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน รักสิ่งเดียวกัน เกลียดสิ่งเดียว เป็นความรู้สึกหลอมรวม รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน รู้สึกถึงการยอมรับที่มีต่อกันและกัน ทำให้เกิดความรู้สึกเติมเต็มและอิ่มอกอิ่มใจได้อย่างมาก
จากผลกระทบด้านจิตใจดังที่ได้กล่าวมา มีทั้งความรู้สึกด้านลบ และ ความรู้สึกด้านบวก แต่ผลทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจ คือ ทำให้จิตใจขาดความสงบสุข เกิดความปั่นป่วนภายในใจได้ตลอดเวลา ทั้งตัวเราเองและคนรอบข้าง
ตอนที่ 2
ในตอนนี้ จะกล่าวถึง ว่าเมื่อเกิดความปั่นป่วนใจ เราจะมีวิธีดูแลจิตใจตนเอง และ คนรอบข้างได้อย่างไร
การดูแลตนเอง
1.การรับข่าวสาร
ควรรับฟังข่าวสารอย่างมีสติ ฟังหู ไว้หู เพราะกระแส social media เช่น facebook หรือ line หรือ twitter เรื่องทุกอย่างส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว การกลั่นกรองก่อนส่งแทบไม่มี ดังนั้นเป็นวิจารณญาณของผู้รับสาร ที่จะต้องรับสารอย่างมีสติ และ กลั่นกรอง ก่อนเชื่อ ก่อนอินไปกับข้อมูลข่าวสาร
ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างท่วมท้น และ ไม่มีการกลั่นกรองข้อเท็จจริงใด ๆ การอินข้อมูลโดยขนาดสติ ขาดการกลั่นกรอง ยิ่งทำให้เกิดอารมณ์ต่าง ๆ ได้มาก
2.ระวัง “อคติ”
ในทางพุทธกล่าวถึง อคติ ไว้ 4 อย่าง คือ อคติเพราะความรัก อคติเพราะความชัง อคติเพราะกลัว และ อคติเพราะความไม่รู้ เนื่องจากโลกยุคข่าวสารหลั่งไหล มีข้อมูลหลายอย่างที่กระตุ้นอารมณ์มาก (ทั้งความรัก และ ความเกลียดชัง) แต่ขาดข้อเท็จจริง ดังนั้นเมื่อเสพข้อมูลข่าวสาร ควรระวัง อคติ 4 อย่างนี้ในใจเสมอ เพราะสงครามกลางเมืองในหลายประเทศ เกิดจากความอคติเหล่านี้ ทั้งความรัก (พวกตน) และ ความชัง (พวกตรงข้าม) เกิดจากอคติจากความหลง ความไม่รู้ ว่าตนเสพข่าวสารเท็จที่แต่งให้ดราม่า น่าสะเทือนใจ เพิ่มดีกรีความรัก ความชัง เสี้ยมกันไม่หยุดหย่อน จนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมที่แสนสะเทือนใจในหลายประเทศ เช่น ที่รวันดา (ค.ศ.1994) เกิดสงครามกลางเมือง ในเวลาไม่ถึง 1 เดือน คนรวันดาฆ่ากันเองตายไปเป็น ล้านศพ จากการได้ยินข่าวสารทางสื่อวิทยุคอยปลุกปั่นให้เกลียดชังกัน
หรือ แม้กระทั่งที่ประเทศไทย เหตุการณ์ 6 ตุลา ที่คนไทยลุกขึ้นมาเกลียดชังกันและฆ่ากันเอง จากข้อมูลเท็จที่ใส่ความกัน เป็นต้น
สิ่งที่ต้องระวังคือ คนที่รู้สึกว่าตนเป็นกลาง แต่จริง ๆ แล้วมีอคติอยู่แต่ไม่รู้ตัว จึงยิ่งน่ากลัว เพราะ ในปุถุชน มีรัก โลภ โกรธ หลง ประจำใจ ไม่มีทางที่จะเป็นกลางได้อย่างแท้จริง เพราะความรัก ความชัง ล้วนมีอยู่แล้วในตัวปุถุชนที่ยังมีกิเลสทุกคน สำคัญคือการรู้ทันความรัก รู้ทันความชัง ที่เกิดขึ้นในใจ ฝึกรู้ทันบ่อย ๆ จะช่วยลด อคติ ที่เกิดขึ้นได้ เมื่ออคติลดลง การกระทำที่ถูกต้อง (จากการมีสติ) ถึงจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
3.ลดการตัดสินคนอื่น
การตัดสินทำให้เรารู้สึกแย่ และ ทำให้คนอื่นที่ถูกตัดสินก็รู้สึกแย่ด้วย ส่งผลกับความสัมพันธ์ เพราะคนที่ถูกตัดสินเขาย่อมรู้สึกไม่ดี และ บางทีเราก็ตัดสินผิดด้วย เพราะ เข้าใจเขาผิดไป
4.ลดการเสพข่าวสาร
ยิ่งเสพข่าวสารมากยิ่งกระตุ้น อารมณ์ต่าง ๆ ที่อย่างกล่าวข้างต้นได้มาก หรือถ้าช่วงนั้นเครียดไม่ไหวจริงๆ งดการเสพข่าวสารชั่วขณะเพราะเรื่องใหญ่ ๆ อย่างไรเราต้องรู้อยู่แล้ว ส่วนเรื่องเล็กๆ ก็ช่างมันไปก่อนเพราะถึงรู้กับไม่รู้ผลในการดำเนินชีวิตอาจไม่ต่างกัน
5.หาเวลาพักผ่อนในแบบอื่น ๆ
นอกจากการเล่น social media เพื่อลดการเสพข่าวสารที่กระตุ้นอารมณ์ การพักผ่อนในแบบอื่น ๆ ทำให้จิตใจได้เบิกบานผ่อนคลาย มีผลดีกับสุขภาพกายและใจมากกว่า เช่น การออกกำลังกาย การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ การอ่านหนังสือเล่มโปรด การดูหนัง ฟังเพลง การพบปะสังสรรค์ กับเพื่อนๆ การหากิจกรรม งานอดิเรก กับเพื่อน กับคนในครอบครัว ได้พักผ่อนจริง ๆ ทั้งกายและใจ และ ได้สร้างความสัมพันธ์ดี ๆ ด้วย
6.ระวังความคิด ความมโน ของตนเอง
บางเรื่องยังไม่ได้มีอะไรมาก แต่ความคิด ความมโนของเราเอง ทำให้ทุกข์ไปมากค่ะ ฝึกการรู้ทัน ความคิด ความมโนของตนเอง หางานอดิเรกทำ อย่าปล่อยเวลาให้ว่างๆ เพราะเวลาว่างหลายคนจะยิ่งคิดมาก เวลาว่างทำให้ยิ่งฟุ้งซ่านง่ายขึ้น ตอนแรกหลายคนบอกว่าไม่ได้ทุกข์ใจอะไร แต่พอมีเวลาว่างนั่งคิดนู่นนี่ไปเรื่อย ๆ จู่ ๆ ก็ทุกข์ขึ้นมา จากความคิดที่ฟุ้ง ๆ ไปของตนเอง
7.ลดความคาดหวังที่สูงเกินไป
เจตนาที่ดีที่อยากเห็นประเทศดี มีการพัฒนาเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าคาดหวังไว้มากในขณะที่ปัจจัยแวดล้อมยังไม่เอื้อ จะทำให้ผิดหวัง ท้อแท้ เสียใจ และ โกรธเคืองทุกสิ่งได้มาก ความต้องการดูแลบ้านเมือง เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ามากไปจะเป็นทุกข์ได้ ดังนั้นการหันกลับมาดูแลตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะคนที่จะอยู่กับเราจริง ๆ คือ ตัวเราเอง และถ้าเราแต่ละคนสภาพจิตใจแย่กันไป บ้านเมืองก็คงจะลำบากเหมือนกัน บ้านเมืองจะดีหรือไม่ ขึ้นกับคุณภาพกาย คุณภาพใจของคนในประเทศ
ตอนที่ 3
การดูแลคนรอบข้าง กรมสุขภาพจิตได้แนะนำไว้ 4 ข้อ
1.รับฟัง
เป็นขั้นตอนแรก ที่สำคัญมาก เพราะ ทุกวันนี้ที่ขัดแย้งกัน ทะเลาะกัน หมางใจกัน ส่วนหนึ่งเพราะขาดการรับฟังกัน เพราะ เราบางครั้ง ใจเราก็เผลอมีอคติ (รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ต้วบ้าง) ยึดถือแต่ความคิดตนเองบ้าง เราจึงไม่ค่อยฟ้งกันเท่าไหร่ การรับฟัง และ รับฟังอย่างเข้าใจ เคารพความคิดของกันและกัน ฟังโดยวางการตัดสิน ฟังโดยวางอคติที่เกิดขึ้น ขณะที่ฟัง จึงเป็นต้นทางของการเยียวยาใจกันกับคนรอบข้าง กับคนในสังคม
2.ชื่นชม
แม้อีกฝ่ายความคิดเห็นอาจไม่ตรงกับเรา หรือแม้อยู่ฝ่ายเดียวกัน แต่ในรายละเอียดอาจเห็นต่างจากเรา เราฟังแล้วอาจเผลอหงุดหงิดใจ การฝึกเปิดใจกว้าง ๆ รับฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย บางทีสิ่งที่เขาคิด ก็มีด้านดีๆ อยู่ ที่เราอาจมองไม่เห็นในตอนต้น เพราะเชื่อและปักใจกับความคิดของตนเองอย่างมาก จนมีอคติและการตัดสินบังตาอยู่
การเปิดใจ ทำให้เราเองได้ความรู้ใหม่ ๆ เข้าใจอะไรกว้างขึ้น เป็นกำไรหนึ่งของการใช้ชีวิต เพราะการติดอยู่กับกรอบเดิม ๆ มากเกินไป อาจทำให้เราอยู่ในโลกที่แคบลง เมื่อเราเปิดใจมากขึ้น มองเห็นด้านดี ๆ ของความคิดที่แตกต่าง การชื่นชม จะด้วยความรู้สึก คำพูด สีหน้า แววตาท่าทาง ช่วยทำให้เกิดบรรยากาศทีดี ๆ เกิดความวางใจ และ เกิดความรู้สึกยอมรับในกันและกัน
3.ห่วงใย ให้กำลังใจ
เพราะช่วงเวลาที่จิตตก ความห่วงใยและกำลังใจ เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะอย่างที่่กล่าวในตอนที่ 1 ผลจากเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง มีผลกระทบกับจิตใจได้มาก บางคนอาจบอกเราออกมา ขณะที่บางคนอาจไม่พูดอะไร แต่จริง ๆ ข้างในรู้สึก การให้ความห่วงใย ใส่ใจกันและกัน ให้กำลังใจกันและกัน เหมือนเป็นยาวิเศษที่ชโลมใจ ในยามที่รู้สึกจิตใจรู้สึกแห้งผาก อ่อนระโหยโรยแรง จากความเรื้อรั้งของเหตุการณ์วุ่นวาย จนทำให้ใจอ่อนล่า อ่อนเพลียได้อย่างมาก การแสดงความห่วงใย ใส่ใจ ถามไถ่ ส่งกำลังใจให้กัน ด้วยคำพูด ด้วยแววตา สีหน้าท่าทาง ที่ออกมาจากใจจะช่วยให้จิตใจที่กำลังห่อเหี่ยวกลับมามีเรี่ยวแรง มีชีวิตชีวา อีกครั้งได้
4.คำแนะนำ
ในเวลาที่สภาพจิตใจย่ำแย่ หลายคร้้งจะหาทางออกไม่ได้ เพราะ มองไม่เห็นทางออก มองเห็นแต่ทางตัน การให้คำแนะนำ จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นการช่วยชี้ทางสว่าง ให้เห็นทางออกได้ แต่ควรทำเป็นลำดับสุดท้ายค่ะ ทำเมื่อเข้าใจปัญหาเขาแล้ว เพราะถ้าทำตั้งแต่ต้น จะทำให้คนที่กำลังเครียด รู้สึกว่าเราไม่เข้าใจเขา และ ไม่อยากรับฟังเขาได้ เพราะ หลายครั้งเราอาจแนะนำไปไม่ตรงกับปัญหาของเขาก็มี เพราะ เรายังไม่ทันเข้าใจปัญหาของเขาดีพอ การรีบให้คำแนะนำ อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกแย่ มากกว่า ความรู้สึกดี แต่ในบางครั้ง บางคนอาจไม่ต้องการคำแนะนำ ต้องการเพียงคนรับฟัง รับฟังอย่างเข้าใจ แค่นั้นก็รู้สึกดีมาก ๆ แล้ว
ณ จุดนั้น คำแนะนำอาจไม่จำเป็น การดูแลกันและกัน เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจาก มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
เราไม่สามารถอยู่กับตัวเองได้ตลอด (แม้บางคนอาจจะชอบอยู่คนเดียว แต่สุข ทุกข์ ของคนรอบข้าง ล้วนมีผลกับใจเราได้อยู่ดี) การดูแลกันและกัน นอกจากทำให้คนรอบข้างมีความสุขมากขึ้น ตัวเราก็มีความสุขมากขึ้นไปด้วย เพราะบรรยากาศรอบตัวดีขึ้น และยิ่งเป็นคนที่เรารัก ถ้าเราทำให้เขามีความสุข เราเองก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้น
ความรู้สึกของคนไทยทุกคนไม่ว่าฝ่ายไหน ต่างก็ได้รับผลกระทบทางจิตใจได้เหมือนๆ กัน ทุกคนล้วน เจตนาดี ต้องการสิ่งดี ๆ ให้กับประเทศ ให้กับชีวิตของตน ให้กับครอบครัว และ สังคม การเข้าใจในกันและกัน เห็นใจกัน ช่วยกันดูแลกันและกัน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะขณะนี้คนไทยทุกคนตกอยู่ในเรือลำเดียวกัน ลำที่ไม่รู้ว่าประเทศจะไปทิศไหนเหมือนกัน การเมตตาต่อกันจะช่วยให้เรือลำนี้รอดมากขึ้น ขณะที่เหตุการณ์ทางการเมืองยังวุ่นวาย แต่เราสามารถช่วยกันดูแลจิตใจของตนเอง จิตใจของคนอื่น และ จิตใจของคนในสังคม ไม่ให้วุ่นวาย สับสนตามการเมืองได้
ขอบคุณภาพประกอบข่าวทุกภาพจาก ศูนย์ข่าว INN
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ