กทม.ค้างผู้รับเหมา410ล. ปรับสนาม‘บางกอกอารีน่า’

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 24 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2019 ครั้ง

ย้อนไปเมื่อเดือนพฤจิกายน 2555 ประเทศไทยเปิดหน้ารับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตซอลโลก 2012 สนามบางกอกอารีน่า ซึ่งขณะนั้นใช้ชื่อ ‘บางกอก ฟุตชอล อารีน่า’ ถูกหมายมั่นให้เป็นสนามเปิดการแข่งขันระดับโลก ทว่าการก่อสร้างที่ล่าช้าและความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้ฟีฟ่าประกาศยกเลิกการใช้สนาม มีการร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ให้เข้ามาตรวจสอบโครงการดังกล่าว และเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2557 ดีเอสไอออกมาเปิดเผยว่า ไม่ปรากฏพยานหลักฐานเพียงพอว่าการก่อสร้างสนามฟุตซอลสมัย ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ขณะที่ผุ้รับเหมาแจงเหตุล้าช้าเพราะถูกสั่งรื้องานใหม่ทั้งหมด

กทม.แจงล่าช้าเพราะน้ำท่วม –รบ.ไม่อนุมัติงบ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬาสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ว่า จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 มีมติให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กรุงเทพมหานคร จำนวน 1,239 ล้านบาท ระหว่างปีงบประมาณ 2554-2556 อย่างไรก็ตามรัฐบาลมิได้มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 แต่อย่างใด ซึ่งทราบว่าติดขัดเรื่องการอนุมัติงบประมาณงวดสุดท้ายที่กรมบัญชีกลาง ในช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยทำให้มีผลกระทบต่อระยะเวลาการก่อสร้าง เนื่องจากโรงงานผลิตวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างล้วนอยู่ในเขตพื้นที่น้ำท่วม จึงต้องรอให้มหาอุทกภัยสิ้นสุดก่อน จึงได้ทำสัญญาก่อสร้างในช่วงเดือนมกราคม 2555 ทำให้เหลือเวลาในการก่อสร้างไม่ถึง 300 วันก่อนการแข่งขัน

ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงบประมาณระบุว่า โครงการก่อสร้างสนามบางกอก ฟุตซอล อารีน่าใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 100 เปอร์เซนต์ ในวงเงินงบประมาณ 1,239 ล้านบาท โดยก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2554-2556 ซึ่งตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2555 ได้ตั้งงบประมาณไว้เพียง 1 ล้านบาท เนื่องจากเป็นเงินค้างจ่ายที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามปีงบประมาณ จากนั้นได้อนุมัติงบประมาณให้กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 ครั้งที่ 2 วันที่ 24 มิถุนายน 2555 ครั้งที่ 3 วันที่ 30 กรกฎาคม 2555 และครั้งที่ 4 วันที่ 28 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นไปตามงบประมาณ และกรอบเวลาที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

พบระบบเตือนภัย-โครงสร้าง ไม่ปลอดภัย

ขณะที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) จัดแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ฟีฟ่า นครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ชี้แจงถึงสาเหตุการยกเลิกใช้สนามว่า นอกจากการก่อสร้างที่ไม่แล้วเสร็จตามกำหนด จนไม่สามารถเปิดใช้สนามได้ ยังพบว่ามีการเร่งก่อสร้างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ใช้เหล็กแทนสายเคเบิลเพื่อรับแรงดึง ใช้คอนกรีตซึ่งหล่อสำเร็จรูปมาแล้ว แทนการหล่อคอนกรีตขึ้นภายในสถานที่ก่อสร้าง ตลอดจนปฏิบัติงานหลายอย่างในบริเวณเดียวกันไปพร้อมกัน เพื่อเร่งรัดให้การก่อสร้างดำเนินไปอย่างรวดเร็วที่สุด เป็นผลให้การก่อสร้างสนามไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ฟีฟ่ากำหนด

สอดคล้องกับรายงานการตรวจสอบจาก สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2555 ที่เข้าไปตรวจสอบตามคำร้องขอของกรุงเทพมหานคร ผลการตรวจพบข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัย พบข้อบกพร่อง ประกอบไปด้วยรายการต่าง ๆ เช่น ราวจับและแผงกันตก ป้ายและไฟบอกทาง ระบบดับเพลิง แนะนำให้ทำการตรวจระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอัคคีภัยใหม่ทั้งหมด รวมถึงราวกันตกและช่องเปิดต่าง ๆ และยังแนะนำเพิ่มเติมว่า ก่อนเปิดการใช้งานอาคารให้ทำการทดสอบระบบโดยผู้ที่เกี่ยวข้องตามหลักวิศวกรรม ควรจัดทำแผนอพยพและแผนดับเพลิงที่เคร่งครัดและสามารถทำได้จริง

ระบุรื้อปรับใหม่ทำให้งบเกิน กทม.ยังค้างจ่าย 410 ล้าน

ล่าสุด ข้อมูลจากงบการเงินปี 2556 ของ บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมาโครงการสนามบางกอก ฟุตซอล อารีน่า ระบุในหมายเหตุประกอบงบการเงินถึงสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าว่า เจ้าของโครงการ คือ กรุงเทพมหานคร ได้เร่งรัดให้บริษัทดำเนินการก่อสร้าง เพื่อเร่งให้เปิดใช้สนามในการแข่งฟุตซอลโลกในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ทำให้บริษัทต้องระดมคนงานจำนวนมากกว่า 3,000 คน เข้ามาทำงานในโครงการนี้เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน

หลังจากนั้น ในปี 2556 เจ้าของโครงการ ได้ให้บริษัทรื้อถอนการก่อสร้าง ทั้งงานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานครุภัณฑ์ และงานภูมิทัศน์ เพื่อก่อสร้างและติดตั้งใหม่ทั้งหมดให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้ในสัญญาโดยละเอียด ทำให้บริษัทมีภาระต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น ทั้งค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าเช่าเครื่องจักรอุปกรณ์ และค่าจ้างแรงงาน ซึ่งไม่ได้อยู่ในงบประมาณต้นทุนก่อสร้างมาก่อน บริษัทจึงยื่นเรื่องขอให้เจ้าของโครงการพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อชดเชยภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นดังกล่าวจำนวน 410 ล้านบาท โดยยื่นเรื่องในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 1 และ 3 ของปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ผู้ว่าจ้างไม่มีการอนุมัติเพิ่มให้แก่บริษัท

นอกจากนี้การที่บริษัทต้องเสียเวลาไปในการรื้อถอนและทำงานซ้ำใหม่และแก้ไขแบบ ส่งผลให้งานก่อสร้างเกิดปัญหาล่าช้า ต้องขอขยายระยะเวลาก่อสร้างจากเดือนเมษายน 2556 เป็นเดือนกุมภันพันธ์ 2557 ถึงเดือนเมษายน 2557 การขยายระยะเวลาดังกล่าวทำให้บริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้นทุกเดือนจนกว่าจะส่งมอบงานแล้วเสร็จ โดยเฉพาะค่าเช่าอุปกรณ์เครื่องจักร และค่าจ้างแรงงาน โดยบริษัทได้ตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนจากงานระหว่างก่อสร้างโครงการนี้จำนวน 436.6 ล้านบาท

ขอบคุณภาพจาก: http://sport.truelife.com

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: