ภายหลังที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ออกมา หลายฝ่ายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. ครอบคลุมทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์แก่สื่อถึงมาตรานี้ว่า ที่ต้องให้อำนาจพิเศษแก่ คสช. ก็เพื่อใช้แก้ปัญหาในบางสถานการณ์ ส่วน คสช. จะใช้อำนาจนี้อย่างไร เชื่อว่าทุกฝ่ายในสังคมจะจับตาดูอยู่
ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้เผยแพร่เอกสารต่อสื่อมวลชนกล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ประเด็นที่น่าสนใจติดตามสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีอยู่ 3-4 ประเด็นคือ 1.การจัดความสัมพันธ์ระหว่างคสช.กับครม.ใหม่และองค์กรอื่นๆ 2.ความเป็นไปได้ในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ 3.การสร้างความปรองดอง และ 4.การสร้างกฎกติกาทางการเมืองที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตความขัดแย้งและการรัฐประหารอีกในอนาคต ขอขยายความดังนี้
1.การจัดความสัมพันธ์ระหว่าง คสช. กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่และองค์กรอื่นๆ เข้าใจว่า คสช. คงศึกษาบทเรียนจากการรัฐประหารครั้งที่แล้วและบทเรียนเมื่อหลายสิบปีก่อนด้วย ทำให้ คสช. ตัดสินใจที่ยังคงอำนาจไว้มาก โดยเฉพาะการมีมาตรา 44 ที่ให้ คสช. สามารถใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามได้อย่างเบ็ดเสร็จและเป็นที่สุด แม้จะไม่ครบทุกเรื่องก็ตาม คสช. อาจสรุปบทเรียนมาว่ามีความจำเป็น แต่ขณะเดียวกันก็จะเกิดความลักลั่นกับองค์กรอธิปไตยทั้งสามได้ และยังมีปัญหาความขัดแย้งกันเองของรัฐธรรมนูญและการขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจด้วย หวังว่า คสช. คงไม่ใช้อำนาจตามมาตรานี้เกินความจำเป็นและเหมาะสม
2.ความเป็นไปได้ในการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ คสช. คงจะรวบรวมความเห็นมาจากหลายฝ่ายที่ต้องการให้มีการปฏิรูป แต่การปฏิรูปเรื่องจำนวนมากในเวลาสั้นๆ และในสภาพที่สังคมยังมีความเห็นต่างกันมาก ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย การเปิดโอกาสให้หลายๆ ฝ่ายได้เข้าร่วมจึงเป็นสิ่งจำเป็น ควรจะพิจารณาคัดเลือกเรื่องที่จำเป็นก่อนหลังให้ชัดเจนมากขึ้นด้วย นอกจากนั้น ยังควรพิจารณาด้วยว่าต้องการให้การปฏิรูปนั้นมีผลถาวรแค่ไหน เมื่อมีรัฐบาลจาการเลือกตั้งแล้วจะแก้ไขได้อีกหรือไม่ เพียงใด
3.การสร้างความปรองดอง กระบวนการปรองดองที่กำลังทำอยู่ควรจะต้องเพิ่มการพูดจาหารือกันในเนื้อหาสำคัญๆ โดยเฉพาะการมีความเห็นที่แตกต่างกันมานาน การเปิดโอกาสให้ผู้คนที่หลากหลายเข้าร่วมในองค์กรต่างๆ และกระบวนการปฏิรูปก็ดี การปรองดองก็ดี รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญย่อมเป็นประโยชน์มากกว่าการที่จะปิดกั้นบุคคลบางกลุ่ม บางประเภท ออกจากกระบวนการเหล่านี้ การปิดกั้นหรือกีดกันคนบางกลุ่มออกจากวงจรตั้งแต่ต้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อการปรองดอง นอกจากนั้น เมื่อมีรัฐบาลและสภาฯ ขึ้นแล้ว หากจะให้เกิดความสมานฉันท์ได้ดีขึ้นควรลดการใช้มาตรการเข้มข้นในทางความมั่นคงเป็นการทั่วไป โดยเฉพาะไม่ควรเน้นการเข้มงวดกับบางพวกบางฝ่ายที่พิเศษหรือแตกต่างจากฝ่ายอื่น ทั้งนี้เพื่อลดความรู้สึกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคม
4.การสร้างกฎกติกาทางการเมืองที่จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ไม่ต้องเผชิญกับวิกฤตความขัดแย้งและการรัฐประหารอีกในอนาคต โดยในส่วนของการร่างรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ มีลักษณะพิเศษกว่าธรรมนูญการปกครองหรือรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลายฉบับในอดีต ตรงที่ได้กำหนดสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญที่จะร่างกันขึ้นไว้หลายประการดังที่ปรากฏในมาตรา 35 แม้ว่าสาระเหล่านั้นจะมาจากความเห็นในสังคมในหลายเดือนหรือหลายปีมานี้ก็ตาม แต่ความเห็นเหล่านั้นก็มักมาจากบางกลุ่มบางฝ่ายในสังคมเท่านั้น ไม่ใช่ความเห็นที่สอดคล้องตรงกันในหมู่คนส่วนใหญ่ ดังนั้น เมื่อการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินต่อไปก็อาจพบว่า ที่บัญญัติไว้เป็นแนวนั้นอาจไม่สอดคล้องกับปัญหา หรือไม่สามารถใช้แก้ปัญหาก็ได้ ถึงตอนนั้นก็อาจยุ่งยากที่จะต้องย้อนมาแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเสียก่อน
นายจาตุรนต์ยังแสดงความห่วงใยต่อบทบัญญัติไว้ในมาตรา 35 (9) ที่ว่า ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมิให้มีการทำลายหลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้ เพราะเห็นว่าการบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ อาจมีผลเท่ากับว่าเมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ห้ามไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีกเลย ซึ่งวิกฤตของสังคมที่มาถึงทางตันในหลายเดือนที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อยู่ในสภาพที่ไม่มีใครแก้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ทั้งฉบับหรือเป็นรายมาตรา นายจาตุรนต์เห็นว่า การสร้างโรดแมพที่ดีจึงไม่ควรเริ่มจากการกำหนดให้กระบวนการแก้ปัญหาต้องเดินไปสู่ทางตันอีกครั้งหนึ่ง
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรา 44 ในเฟซบุ๊คว่า อาจถูกมองว่าผิดปกติ เพราะเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้า คสช. และ คสช. ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษ โดยเป็นการเขียนในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า การตราธรรมนูญการปกครองก็ดีหรือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยปกติเป็นการส่งมอบอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จที่คณะรัฐประหารใช้ กลับเข้าสู่การใช้อำนาจอธิปไตย โดยพระมหากษัตริย์ ผ่านสภานิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรี และศาล การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารจะมีการคงไว้อยู่บ้างในลักษณะของการบริหารเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องหรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง เมื่อปี 2549 ประธาน คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) อาจขอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง คมช. กับ ครม. ได้ในปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ
ในปี 2534 ประธาน รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) โดยความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมระหว่างสภา รสช. กับนายกรัฐมนตรี อาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ เพื่อป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงได้
ในปี 2502 ซึ่งสังคมไทยจะกล่าวถึงเสมอคือ มาตรา 17 ที่ถือว่าเบ็ดเสร็จที่สุด ก็จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการสั่งการหรือกระทำการเพื่อระงับหรือปราบปรามการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคง ความแตกต่างในครั้งนี้คือ ในมาตรา 44 อำนาจพิเศษนั้น เป็นของหัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. โดยไม่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรี และมาตรา 44 ยังบัญญัติโดยชัดแจ้งว่า การใช้อำนาจนี้อาจมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติและทางตุลาการได้ โดยไม่มีกระบวนการที่จะโต้แย้งหรือตรวจสอบ นั่นหมายถึงความสามารถที่จะออกกฎหมายและ/หรือการกลับคำพิพากษาได้ ขอบเขตของการใช้มาตรา 44 นี้ ยังมิได้จำกัดอยู่เฉพาะการป้องกันระงับหรือปราบปรามการกระทำที่เกี่ยวกับความมั่นคง แต่สามารถใช้เหตุผลว่าเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปหรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ของคนในชาติได้ด้วย บทบัญญัติในมาตรานี้ทั้งหมดจึงอาจถูกมองได้ว่า ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ มาตรา 3
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เชื่อว่าสังคมยอมรับสภาพการคงอำนาจพิเศษในกรณีที่จะเกิดปัญหาความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้น แต่ยังไม่ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของการขยายอำนาจพิเศษให้ครอบคลุมอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจตุลาการก็ดี หรือการอ้างอิงเหตุผลในการใช้อำนาจเพื่อผลักดันการปฏิรูปหรือการส่งเสริมความสมานฉันท์ก็ดี มีความจำเป็นอย่างไร เพราะโดยโครงสร้างสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปก็มีที่มาจาก คสช. อยู่แล้ว และการระงับการกระทำที่เป็นปัญหาต่อความมั่นคงก็จะเป็นการใช้มาตรการทางบริหารเป็นหลัก จึงหวังว่าหัวหน้า คสช. จะช่วยอธิบายถึงความจำเป็นและสิ่งที่ท่านคิดอยู่ในใจว่าจะใช้อำนาจในมาตรา 44 นี้ในกรณีไหนอย่างไรโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งหรือ ความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ขณะที่ความเห็นของนายอภิสิทธิ์ในมาตรา 35 ที่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ค่อนข้างแตกต่างจากนายจาตุรนต์ โดยนายอภิสิทธิ์เห็นว่า มาตรา 35 ได้บัญญัติประเด็นของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จะแก้ปัญหาระบบการเมืองไว้ค่อนข้างจะตรงประเด็น ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับการทุจริตคอร์รัปชัน การที่นักการเมืองถูกครอบงำ หรือปัญหาของการที่หลักนิติธรรมนิติรัฐถูกทำลายในอดีต
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ