ประมงเล็กจวกกรมประมงหนุนเรือเถื่อน จ่อยัดไส้จดทะเบียน-ชี้ทะเลไทยพินาศแน่

วันชัย พุทธทอง ศูนย์ข่าว TCIJ 24 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 4710 ครั้ง

หลังจากสื่อมวลชนนานาชาติ อาทิ CNN BBC Global Post Environmental Justice Foundation (EJF) รวมถึงสื่อบน Social media อาทิ The Guardian มีการกล่าวถึงประเด็นแรงงานในอุตสาหกรรมประมงของไทยว่ามีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานทาส มีการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมาย มีการทารุณกรรมแรงงาน สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัย นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาได้จัดอันดับประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Person หรือ TIP report) โดย จัดอันดับประเทศไทยอยู่ใน Tier 2 watch list ใน TIP report ประจำปี 2556 นับเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน (ต้ังแต่ปี 2553-2556) และล่าสุดประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ใน Tier 3 ใน TIP report ประจำปี 2557 ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศและการค้าสินค้าประมงเป็นอย่างมาก

ในรายงาน Findings on the Worst Forms of Child Labour เผยแพร่โดยกระทรวงแรงงาน สหรัฐฯ ระบุว่า ไทยมีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ในภาคการผลิตต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรม กุ้ง และสินค้าทะเลแปรรูป นอกจากนั้นรายการสินค้าที่ผลิตจากแรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ (TVPRA List) โดยในปี 2555 สินค้ากุ้งและปลาของไทยถูกจัดอยู่ในรายการดังกล่าวด้วย

ในส่วนของรายการสินค้าที่ผลิตจากแรงงานบังคับ (Executive Order 13126 List) โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุให้บริษัทต่างชาติที่เป็น Federal Contractors ของสหรัฐฯ ที่จัดส่งสินค้าให้กับหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องรับรองว่าสินค้าว่า ไม่ได้มาจากแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ซึ่งกุ้งเป็นสินค้าของไทยที่ถูกจัดให้อยู่ในรายการนี้

จากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบต่อสินค้าประมงไทย ในสายตาของต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อผู้นำเข้าที่สำคัญ และอาจนำไปสู่การเกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยในที่สุด เนื่องจากสินค้าประมงไทยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดโลก มีมูลค่า ปีละ 270,000 ล้านบาท มีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลี และประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ด้านสินค้ากุ้ง และอาหารทะเลของไทย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมงจึงได้จัดทำแผนแม่บทการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมง โดยอ้างว่าจะดำเนินการเพื่อการจัดระเบียบเรือประมงในน่านน้ำ

ดังนั้นกรมประมงจะออกประกาศเร่งรัดให้ผู้ประกอบการเรือประมง ทั้งที่มีอาชญาบัตรถูกต้องและไม่ถูกต้อง (อวนลาก อวนรุน อวนล้อมปลากะตักกลางวัน/กลางคืน) สามารถมายื่นคำขออาชญาบัตร การทำประมงได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ/จังหวัด ภายในระยะเวลา 60 วัน โดยกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้เครื่องมือไม่ตรงกับอาชญาบัตร สามารถแจ้งความจำนงขออาชญาบัตรให้ตรงตามเครื่องมือที่ประสงค์ใช้ได้

โดยกรมประมงจะเชิญผู้ประกอบการเรือประมงที่มีอาชญาบัตรไม่ถูกต้องมาหารือร่วมกัน เพื่อยื่นข้อเสนอให้ปรับเปลี่ยนเครื่องมือทำการประมงให้เหมาะสม และได้รับอาชญาบัตรที่ถูกต้องออกนอกระบบ โดยภาครัฐอาจพิจารณาซื้อเรือประมงคืน ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้มีการทำประมงอย่างถูกต้องตาม กฎหมาย (Non IUU) และเป็นการป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันผิดกฎหมายต่อแรงงานบนเรือประมงเช่นกัน

สำหรับการจดทะเบียนครั้งนี้ กรมประมงจะจดทะเบียนชาวประมง ผู้ประกอบการเรือประมง ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 60,000 ราย กรมประมงเสนอกรมเจ้าท่าเพื่อออกกฎระเบียบ ให้เรือขนาด 50 ตันกรอสขึ้นไป หรือมีความยาวตัวเรือมากกว่า 18 เมตร ทำการติดตั้งระบบติดตามเรือประมง (VMS) กำหนดให้เรือประมงพาณิชย์ต้องแจ้งเข้า-ออก จากท่าของเรือในน่านน้ำไทย จัดตั้งศูนย์ควบคุมการทำการประมงของเรือประมงทั้งในและนอกน่านน้ำไทย ประกอบด้วย ศูนย์ประสานงานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นศูนย์หลักของประเทศ ซึ่งกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดสรรเจ้าหน้าที่ไปประจำการ ศูนย์ควบคุมกลางของกรมประมง ศูนย์ควบคุมในระดับพื้นที่ 15 ศูนย์ กำหนดให้เรือประมงพาณิชย์ในน่านน้ำขนาด 50 ตันกรอส หรือมีความยาวตัวเรือ มากกว่า 18 เมตร ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) ปรากฏว่า หลังจากแผนแม่บทการดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมง ของกรมประมงถูกเปิดเผยออกมา มีเสียงทักท้วงจากหลายฝ่าย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน จับตา: จำนวนเรืออวนลากและเรืออวนรุน

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4628

นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายฯและเครือข่าย สมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมประมงจัดทำแผนขอผ่อนผันจดทะเบียนอวนลากอวนรุน หรือเรียกว่ากรมประมงกำลังดำเนินการทำสิ่งที่เรียกว่า “ผู้ซึ่งกระทำสิ่งผิด-ให้เป็นถูก” จากประเด็นดังกล่าวขอแลกเปลี่ยนและตั้งคำถามสำคัญประการแรก ทะเลไทยและประเทศไทยเรานั้นสามารถผลิตสัตว์น้ำทั้งบริโภคและส่งออกได้ปริมาณมหาศาล จนติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ทะเลไทยตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างขั้วโลกที่แสนหนาวเย็นทำให้ สัตว์น้ำในภูมิภาคนี้มีความโดดเด่น มีความหลากหลายของชนิดพันธ์ หากจะบอกว่าทะเลไทยเราเป็น “หม้อข้าวหม้อแกงทางทะเลแห่งซีกโลกตะวันออก” ก็ไม่ผิดนัก

ประการที่สอง ปัจจุบันมีผลการศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์ ชี้ว่า แหล่งทำการประมงและแหล่งอาหารสัตว์น้ำที่มีคุณค่าอย่างยิ่งของไทย กำลังเสื่อมโทรมลงในอัตราที่น่าตกใจ ตัวอย่างที่มักมีการยกขึ้นมาถกเถียงกันในแวดวงวิชาการทางทะเลคือ ผลการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมืออวนลากพบว่า อัตราการจับสัตว์น้ำของอวนลาก 1 ชั่วโมงการลงแรงประมง (Catch per Unit Effort: CPUE) ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ ผลงานวิจัยชิ้นนั้นได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า การจับสัตว์น้ำของเรือประมงอวนลากต่อ 1 ชั่วโมงการลงแรง ลดลงจาก 298 กิโลกรัม/ ชั่วโมง ในปี พ.ศ. 2504 เหลือ 49 กิโลกรัม/ ชั่วโมง ในปี พ.ศ.2525 เหลือประมาณ 23 กิโลกรัม/ ชั่วโมง ในปี พ.ศ. 2534 และเหลือประมาณ 14 กิโลกรัมเท่านั้น (ในบริเวณอ่าวไทยตอนบน) ในปี พ.ศ. 2549

หากเราจะประหลาดใจกับ “อัตราการจับต่อชั่วโมงอวนลากลดลง แบบยิ่งกว่าทวีคูณในทางคณิตศาสตร์” แล้วยังประหลาดใจหนักขึ้นไปเมื่องานวิจัยชี้ว่า สัดส่วนของสัตว์น้ำที่อวนลากจับได้ 33 เปอร์เซนต์เป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องการ ที่เหลือประมาณ 67 เปอร์เซนต์เป็นปลาเป็ด และมีประมาณ 30 เปอร์เซนต์ ของปลาเป็ดนั้น เป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจวัยอ่อน

ประการที่สาม ประเทศไทยได้เห็นว่า การประมงอวนลากได้ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็กมากเกินไป และเป็นเครื่องมือที่ทำลายระบบนิเวศ ในปี พ.ศ.2515 รัฐบาลไทยในขณะนั้น ต้องตัดสินใจประกาศใช้นโยบาย “ควบคุมเครื่องมือประมงประเภทอวนลาก” โดยห้ามไม่ให้เครื่องมือชนิดนี้เข้ามาทำการประมงในระยะ 3,000 เมตรจากชายฝั่ง และในปี พ.ศ.2523 รัฐบาลต้องประกาศนโยบายควบคุมแบบเข้มงวด ไม่ให้มีจำนวนเครื่องมือประมงอวนลากเพิ่มจำนวนขึ้นอีก แต่ในทางปฏิบัติยังมีกลุ่มทุนลักลอบทำอวนลากอย่างผิดกฎหมายจนควบคุมไม่ได้จริงในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามเรื่องอาหารทะเลโลกเสื่อมโทรมลง ผลักดันให้ประชาคมโลกต้องหันมาสนใจ มีข้อตกลงที่ไทยร่วมกับนานาประเทศ ประกาศใช้ “Code of Conduct” หรือที่เรียกกันว่า การทำประมงแบบมีจรรณยาบรรณและรับผิดชอบ” ทางฝั่งสหภาพยุโรป (EU) ก็ได้ออกมาตรการ IUU (Illegal, unreported and unregulated Fishing) เพื่อส่งเสริมให้ประเทศที่ส่งสินค้าเข้าสหภาพยุโรป ปรับปรุงระบบการจัดการประมงของประเทศตนให้เกิดการทำประมงอย่างรับผิดชอบ เพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้วยมาตรการไม่รับซื้อสัตว์น้ำที่ได้จากการประมงผิดกฎหมาย จุดนี้เองจึงกลายเป็นที่มาแห่งความขัดแย้งในครั้งนี้ เมื่อสมาคมประมงผู้แทนของกลุ่มที่ทำประมงอวนลากผิดกฎหมายได้ร้องขอให้กรมประมงและรัฐบาล “ยกเลิกกฎเหล็ก” ด้วยการอนุญาตให้พวกเขาทำประมงอวนลากได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อ้างว่าเกรงมาตรการกีดกันทางการค้า

ทราบว่ามีความพยายามเสนอเรื่องนี้เข้ากรมประมงมา ตั้งแต่อธิบดีกรมประมงคนก่อนหน้านี้ และไม่ทราบเหตุผลประการใด เมื่ออธิบดีกรมประมงคนใหม่เข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน ก็ได้ผ่านความเห็นชอบเสนอเรื่องการผ่อนผันการประมงอวนลากต่อฝ่ายนโยบายระดับสูงให้ “ยกเลิกกฎเหล็ก”

ปลาที่ติดอวนเรือลากอวนรุนขึ้นมา 33 % เท่านั้นมีสมบูรณ์เต็มวัย ที่เหลือจะเป็นปลาเป็ดและวัยอ่อน

สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มั่นใจการตัดสินใจใด ๆ ออกมาจากรัฐบาล แต่ทางฝ่ายปกป้องทะเลเท่าที่ทราบล่าสุดมีการจับมือกันของทางฝ่ายนักวิชาการ สมาคมชาวประมง องค์กรพัฒนาเอกชน ค่อนข้างพร้อมเพรียง เนื่องจากประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและผู้คนที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง ดังนั้นไม่ควรละเลยเและไม่ควรนำข้ออ้าง “การกีดกันทางการค้า” ของชาติมหาอำนาจมาบดบังความจริง การกีดกันทางการค้า เกิดจากการทำผิดกฏหมายจริง แต่หากปล่อยให้การทำผิดกฏหมายกระทำต่อไป ประเทศเราก็จะไม่มีปลาดี ๆ ให้กินอีกต่อไป หากปล่อยให้เรือประมงที่ผิดกฏหมายได้ทำประมงโดยถูกฏหมายในทะเลไทย

ด้านนายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่มีการนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน เป็นการบิดเบือนเจตนารมย์ของมาตรการ IUU Fishing ของสหภาพยุโรป ในการสนับสนุนให้เกิดการทำประมงอย่างรับผิดชอบ และการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน สหภาพยุโรป ได้ออกมาตรการ IUU (Illegal, unreported and unregulated) Fishing เพื่อส่งเสริมให้ประเทศที่ส่งสินค้าเข้าสหภาพยุโรป ปรับปรุงระบบการจัดการประมงของประเทศตนให้เกิดการทำประมงอย่างรับผิดชอบ เพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การจดทะเบียนและ/หรือออกอาชญาบัตรการทำประมงให้กับเรือประมงที่ยังไม่เคยมีอาชญาบัตรและ/หรือจดทะเบียนมาก่อน ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เรือประมงเหล่านี้เข้าสู่ระบบการจัดการ ควบคุมดูแลของกรมประมงได้ เช่นการจดทะเบียนเรือให้กับเรือประมงขนาดเล็กชายฝั่ง ที่ส่วนใหญ่ยังไม่มีทะเบียนเรือ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สินค้าสัตว์น้ำที่จับได้โดยเรือประมงเหล่านี้จะสามารถส่งขายให้กับประเทศในเครือสหภาพยุโรปได้ การดำเนินการเช่นนี้ถือว่าเป็นการนำเรือประมงที่ยังไม่อยู่ในระบบการบริหารจัดการ (Unregulated) มาเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการของกรมประมง

ประมงพื้นบ้านจะใช้อุปกรณ์ที่จับเฉพาะปลาที่นำมาขายเท่านั้น ส่วนปลาเล็กสามารถเจริญเติบโตต่อไป

แต่กรณีที่กรมประมงจะดำเนินการออกอาชญาบัตรอวนลากให้กับเรือประมงอวนลากเถื่อนที่ไม่มีอาชญาบัตรการทำประมง หรือสวมอาชญาบัตรการทำประมง ด้วยเครื่องมือชนิดอื่นอยู่นั้น เป็นคนละกรณีกับแนวทางการส่งเสริมการใช้มาตรการ IUU Fishing ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เนื่องจากข้อมูลวิชาการได้สรุปไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าอวนลากเป็นเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพการทำลายล้างสูง ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของทรัพยากรสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นปะการัง หญ้าทะเล ระบบนิเวศพื้นท้องทะเล เป็นต้น

นอกจากนี้ยังทำลายเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านที่ทั้งไว้ในทะเลเพื่อดักจับปลาให้เสียหายอยู่เสมอ ซึ่งกรมประมงก็ตระหนักในปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี โดยได้ออกมาตรการควบคุมจำนวนเรือประมงอวนลากในท้องทะเลไทย ด้วยการไม่ออกอาชญาบัตรให้กับเรือประมงอวนลากที่เกิดขึ้นใหม่ หลังการประกาศใช้มาตรการนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 เป็นต้นมา เพื่อให้เรืออวนลากค่อย ๆ ลดจำนวนลง และหมดไปจากท้องทะเลไทยในที่สุด แต่การขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฏหมายของกรมประมง ทำให้เกิดเรืออวนลากเถื่อนที่ไม่มีอาชญาบัตรจำนวนมากมาย ซึ่งมีมากกว่าจำนวนเรือประมงอวนลากที่ถูกกฏหมาย ดำเนินการลากอวนอยู่ในท้องทะเลไทย ทำให้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งของประเทศไทย ทั้งยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงให้กับชาวประมงขนาดเล็ก ที่ดำรงชีพด้วยการทำประมงในพื้นที่ชายฝั่งมาอย่างต่อเนื่อง

นายสะมะแอกล่าวต่อว่า แต่ด้วยการมาตรการ IUU Fishing ของสหภาพยุโรป ทำให้ผลผลิตของอวนลากเถื่อนเหล่านี้ไม่สามารถส่งไปขายให้ตลาดในสหภาพยุโรปได้ เพราะเป็นเรือประมงที่ผิดกฏหมาย (illegal) ดังนั้นการที่กรมประมงจะดำเนินการนิรโทษกรรม ให้เรืออวนลากเถื่อนที่ถือว่าเป็นเรือประมงที่ทำผิดกฏหมาย (illegal) มาเป็นเรือประมงที่ถูกกฏหมายด้วยการออกอาชญาบัตรการทำประมงอวนลากให้ จึงเป็นคนละเรื่องกัน และเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของสหภาพยุโรป ในการส่งเสริมให้เกิดการทำประมงอย่างรับผิดชอบ และการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน

ผลงานวิจัยที่ยืนยันประเด็นนี้อย่างชัดเจนคือ อัตราการจับสัตว์น้ำของเรือประมงอวนลากต่อ 1 ชั่วโมงการลงแรงที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง (น่าจะอยู่ในจุดที่ไม่คุ้มทุน ถ้าไม่มีงบประมาณสนับสนุนน้ำมันจากกรมประมง) โดยลดลงจาก 298 กิโลกรัม/ ชั่วโมง ในปีพ.ศ.2504 เหลือ 49 กิโลกรัม/ ชั่วโมง ในปีพ.ศ.2525 เหลือประมาณ 23 กิโลกรัม/ ชั่วโมง ในปี พ.ศ.2534 และประมาณ 14 กิโลกรัม (ในบริเวณอ่าวไทยตอนบน) ในปีพ.ศ.2549 และสัดส่วนของสัตว์น้ำที่จับได้ 33 เปอร์เซนต์ เป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องการ ที่เหลือประมาณ 67 เปอร์เซนต์ เป็นปลาเป็ด ซึ่งประมาณ 30 เปอร์เซนต์ ของปลาเป็ดนั้น เป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจวัยอ่อน

การนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน เป็นการดำเนินการที่ขัดแย้งกับผลงานวิจัยเรื่อง การจัดการกำลังผลิตของการทำประมงทะเลในประเทศไทยของ FAO และกรมประมง ในปี พ.ศ.2547หน่วยงาน FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) ร่วมกับกรมประมง ศึกษาเรื่องการจัดการกำลังผลิตของการทำประมงทะเลในน่านน้ำไทยในปีพ.ศ.2547 และเสนอผลการศึกษาไว้ว่า เพื่อคงไว้ซึ่งศักยภาพการผลิตสูงสุดของสัตว์หน้าดิน การทำประมงสัตว์หน้าดินในอ่าวไทยซึ่งส่วนใหญ่จับโดยอวนลากต้องลดลงอีก 40 เปอร์เซนต์ แต่ถ้าต้องการให้เกิดผลทางเศรษฐกิจสูงสุดต้องลดลงอีก 50 เปอร์เซนต์ ของการลงแรงประมงที่มีอยู่ (คิดจากเรือที่จดทะเบียนไม่รวมเรืออวนลากเถื่อน) ดังนั้นการที่กรมประมงอ้างการศึกษาที่ว่า จำนวนเรืออวนลากที่เหมาะสมในน่านน้ำไทยควรมีไม่เกิน 5,726 ลำนั้น เป็นการอ้างโดยลอย ๆ ไม่ได้บ่งชี้ว่า มาจากงานวิจัยชิ้นใด ซึ่งตัวเลขที่กล่าวอ้างนี้ขัดแย้งอย่างมากกับงานวิจัย ของ FAO และกรมประมงที่นำเสนอในปี พ.ศ.2547 และงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ เช่น การศึกษาอัตราการจับสัตว์น้ำของอวนลาก 1 ชั่วโมงการลงแรงประมง (Catch per Unit Effort: CPUE) ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจนยากที่จะคุ้มทุนในการทำประมงอวนลาก

ชาวประมงพื้นบ้านจะจับเฉพาะสัตว์น้ำที่โตเต็มวัยและขายได้เท่านั้น

แต่การนิรโทษกรรมเรืออวนลากผิดกฏหมาย (การออกอาชญาบัตรการทำประมงให้กับเรือประมงอวนลาก) เป็นคนละเรื่องกับสิ่่งที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะจากข้อมูลทางวิชาการอวนลากเป็นการทำประมงที่มีศักยภาพการทำลายล้างสูง ซึ่งกรมประมงได้กำหนดมาตรการจำกัดจำนวนเรือประมงอวนลากด้วยการห้ามจดทะเบียนเรือและออกอาชญาบัตรการทำประมงอวนลากใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 แต่การขาดประสิทธิภาพการบังคับใช้กฏหมายของกรมประมง ทำให้เกิดอวนลากเถื่อนเต็มท้องทะเลไทยจนถึงทุกวันนี้ และการแต่งตั้งคณะคณะทำงานพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขออาชญาบัตรทำการประมง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงชาวประมงพื้นบ้าน หรือชาวประมงขนาดเล็กชายฝั่ง

ชาวประมงพื้นบ้านหรือชาวประมงขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในชุมชนชายฝั่งทั่วประเทศ เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงที่รุนแรงและต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี จากการทำประมงอวนลาก ได้รวมตัวกันภายในชุมชน จากชุมชนเป็นเครือข่ายเพื่อปกป้องทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศชายฝั่งจากการรุกล้ำของเรือประมงอวนลากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การดำเนินการของพวกเขามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากและเป็นที่รับรู้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้อง การนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากครั้งนี้จะส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตและทำลายความเพียรของพวกเขาในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งมาอย่างยาวนานและจะดึงให้สถานการณ์การบริหารจัดการประมงให้ถอยหลังกลับไปสู่จุดวิกฤติดังที่ได้เคยเป็นมาในอดีต

การแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการขออาชญาบัตรทำการประมงครั้งนี้ขาดการมีส่วนร่วมขององค์กรชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ถึงแม้จะมีสมาคมการประมงเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน แต่เป็นที่รับทราบกันทั่วไปว่า สมาคมการประมงดังกล่าวเป็นตัวแทนของเรือประมงขนาดใหญ่โดยเฉพาะเรืออวนลาก ซึ่งไม่ใช่ตัวแทนของชาวประมงพื้นบ้านหรือชาวประมงขนาดเล็ก

นอกจากนี้แล้วคณะทำงาน ฯ ยังมอบหมายให้สมาคมการประมงทำสำรวจจำนวนเรือประมงที่ไม่มีทะเบียน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกหลักปฏิบัติว่า ให้ผู้ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากผลของการดำเนินการครั้งนี้ เป็นคณะทำงานด้วย การสำรวจจำนวนเรือประมงที่ไม่มีทะเบียนควรเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมประมง ที่โดยภาระหน้าที่รับผิดชอบควรจะเป็นผู้รับรู้ความเคลื่อนไหวของตัวเลขจำนวนเรืออวนลากเป็นอย่างดี ดังนั้นการดำเนินการของกรมประมงเพื่อนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนนั้น เป็นกระบวนการที่ไม่โปร่งใสขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียหลัก คือชาวประมงพื้นบ้านหรือชาวประมงขนาดเล็ก แต่กลับเอื้อประโยชน์ต่อเรือประมงอวนลากเถื่อนที่มีสมาคมประมง ฯ เป็นตัวแทน การเสนอกรอบเงื่อนไข ที่จะต้องดำเนินการเป็นการทั่วไป และดำเนินการเฉพาะกับเรือที่ออกอาชญาบัตรใหม่ สามารถดำเนินการได้เลย โดยไม่ต้องมีการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน

อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้เสนอกรอบเงื่อนไขที่จะดำเนินการประกอบกับการนิรโทษกรรมอวนลาก เป็นมาตรการสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องรอให้มีการนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน อันได้แก่ การกำหนดช่องตาอวนให้เหมาะสม ด้วยลักษณะวิธีการลากถุงอวนลากในการทำประมง จะทำให้ช่องว่าระหว่างตาอวนถูกดึงเบียดกันเป็นลักษณะเส้นตรงหรือมีขนาดเล็กลง ดังนั้นการเพิ่มขนาดตาอวนจึงไม่มีผลต่อการลดลงของอัตราการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กของอวนลาก แต่ถ้ากรมประมงจะดำเนินการมาตรการนี้ก็สามารถดำเนินการกับเรืออวนลากที่จดทะเบียนอยู่แล้วได้ โดยไม่จำเป็นต้องนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน

การกำหนดขนาดอวนให้สัมพันธ์กับขนาดเรือไม่ให้ใช้อวนลากยักษ์ อวนลากชนิดต่าง ๆ ในน่านน้ำไทยไม่ว่าจะเป็นอวนลากเดี่ยว อวนลากคู่ หรืออวนลากแคระ ขนาดปกติที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างที่ส่งผลกระทบได้อย่างมหาศาลไม่จำเป็นต้องเป็นอวนลากขนาดยักษ์ แม้ว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมอวนลากเถื่อน มาตรการการห้ามเรืออวนลากขนาดใหญ่ หรืออวนลากยักษ์ก็ควรจะมีอยู่

นอกจากนี้การปิดอ่าวเป็นอีกมาตรการหนึ่งในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล การปิดอ่าวไทยตอนบนซึ่งเป็นพื้นที่ชายฝั่งของจังหวัด สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ที่เป็นแหล่งกำเนิด เรือประมงอวนลากมากที่สุดของประเทศ ไม่ได้หมายถึงว่า เรือประมงอวนลากของทั้ง 3 จังหวัดนี้จะหยุดทำการประมง ในทางกลับกันเรือพวกนี้จะอพยพไปทำประมงในพื้นที่ชายฝั่งของจัดหวัดอื่น ๆ ซึ่งจะไปเพิ่มการลงแรงประมงและทำความเดือดร้อนให้กับชุมชนประมงชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดอื่นมากขึ้น มาตรการปิดอ่าวไทยตอนบนสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดการนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน

การผลักดันให้มีการขยายเขตห้ามทำการประมงอวนลาก จาก 3,000 เมตร เป็น 5,400 เมตร การขยายเขตน่านน้ำห้ามทำการประมง ด้วยเครื่องมือประมงที่มีศักยภาพการทำลายล้างสูงจาก 3,000 เมตร เป็น 5,400 เมตร จากชายฝั่ง เป็นมาตรการที่ควรส่งเสริม และกรมประมงสามารถดำเนินการได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน เพราะด้วยปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรประมงในประเทศไทยที่ชาวประมงทุกคนประสบอยู่ในวันนี้ ต้องการให้กรมประมงออกมาตรการที่เน้นการฟื้นฟู และปกป้องระบบนิเวศชายฝั่ง เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดต่าง ๆ ที่จะเจริญเติบโตและสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลไทย

มาตรการเฉพาะกลุ่มเรือประมงที่จะเข้ามาจดทะเบียน อวนลาก 2,107 ลำ โดยมีการกำหนดว่า ต้องเป็นเจ้าของเรือประมง สังกัดสมาคมการประมง ต้องติดตั้งเครื่องมือติดตามเรือ (VMS) ฯลฯ มาตรการเหล่านี้ควรนำมาใช้กับเรือประมงพาณิชย์ทุกลำ ไม่จำเป็นต้องมีการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน เพื่อให้เรือประมงพานิชย์ทุกลำที่ทำการประมงอยู่ในท้องทะเลไทย จะเข้าอยู่ในระบบการจัดการของกรมประมง เพื่อง่ายต่อการติดตาม ตรวจสอบ และบังคับใช้กฏหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

นายสะมะแอกล่าวด้วยว่า การนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อนครั้งนี้ เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของมาตรการ IUU Fishing ที่ออกโดยสหภาพยุโรป เพื่อส่งเสริมให้การทำประมงอย่างรับผิดชอบและการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอย่างยั่งยืน เพราะเป็นการดำเนินการแก้ไขกฏระเบียบข้อบังคับประมงที่มีอยู่ให้อำนวยการให้การทำประมงผิดกฏหมาย (illegal) กลายเป็นการทำประมงถูกกฏหมาย (legal) ไม่ใช่เป็นการส่งเสริมให้เรือที่ยังไม่ได้อยู่ในสารระบบการจัดการของกรมประมง (unregulated) เข้ามาอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมประมง (regulated) การนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อนครั้งนี้ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานงานวิชาการ ขณะเดียวกันยังขัดกับงานวิชาการชิ้นสำคัญหลาย ๆ ชิ้น ที่กล่าวถึงผลกระทบและแนวทางการบริหารจัดการอวนลาก เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

การนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อนครั้งนี้ เป็นกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักคือชาวประมงพื้นบ้านหรือชาวประมงขนาดเล็ก ที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากต่อการกระทำของกรมประมง นอกจากนี้แล้วมาตรการอื่น ๆ ที่กรมประมงจะกำหนดใช้หลังการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนนั้น คิดว่า เป็นมาตรการที่สมควรให้เกิดขึ้น โดยไม่ต้องมีการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: