เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือน จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ระหว่างวันที่ 14-20 กรกฎาคม 2557 ว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 74.8 ระบุว่ามีหนี้ โดยร้อยละ 36.7 เป็นหนี้ตั้งแต่ปี 2555-2556 และเป็นหนี้ใหม่ในปี 2557 ร้อยละ 18.5 ขณะที่ร้อยละ 25.2 ระบุว่าไม่มีหนี้
ผลการสำรวจยังพบอีกว่า หนี้สินต่อครัวเรือนอยู่ที่ 219,158 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1เมื่อเทียบกับปีก่อนที่หนี้สินต่อครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 188,774 บาท ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจเมื่อปี 2549 โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ในระบบร้อยละ 50.9 หนี้นอกระบบร้อยละ 49.1 ขณะที่มีการผ่อนชำระเดือนละ 13,358 บาท เหตุที่หนี้ในระบบและนอกระบบมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ขอสินเชื่อจากธนาคารเต็มวงเงินแล้ว ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประชาชนจึงต้องพึ่งสินเชื่อจากแหล่งอื่น โดยแหล่งเงินกู้ที่ประชาชนใช้เพิ่มมากขึ้นคือ นายทุน ร้อยละ 45, ธนาคารของรัฐ ร้อยละ 32, โรงรับจำนำ ร้อยละ 31, ธนาคารประชาชน ร้อยละ 28.6 และกองทุนหมู่บ้าน 24.1
สำหรับวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 40 ระบุว่าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน, ร้อยละ 17.1 ระบุว่านำไปชำระเงินกู้นอกระบบ แม้จะมีสัดส่วนลดลงจากปีก่อนที่อยู่ร้อยละ 19.7 แต่ถือว่ายังมีอัตราสูง, ร้อยละ 10.9 ระบุว่าเพื่อซื้อยานพาหนะ เป็นต้น นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุถึงสาเหตุที่หนี้สินเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยร้อยละ 14.3 ระบุว่าเพราะค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น, ร้อยละ 14 ระบุว่าเป็นค่าเล่าเรียนบุตรหลาน, ร้อยละ 12.5 ระบุว่าเป็นเพราะผ่อนสินค้ามากเกินไป, ร้อยละ 12.1 ระบุว่าหนี้ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และร้อยละ 10 ระบุว่ามีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก
ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ ร้อยละ 83 ระบุว่าเคยมีปัญหาการชำระหนี้ อันเนื่องจากราคาสินค้าสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งคนกลุ่มนี้จะแก้ปัญหาโดยการกู้ยืมนอกระบบ ร้อยละ 41, กู้ยืมผ่านสถาบันการเงิน ร้อยละ 21 และขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง ร้อยละ 19.8 ขณะที่กลุ่มที่ระบุว่าไม่เคยมีปัญหาการชำระหนี้มีอยู่ร้อยละ 17
เมื่อเปรียบเทียบหนี้สินกับรายได้ พบว่า ร้อยละ 40.3 ระบุว่ามีหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น, ร้อยละ 30.2 ระบุว่ามีหนี้เพิ่มเท่ากับรายได้ที่เพิ่มขึ้น และร้อยละ 29.5 มีหนี้เพิ่มน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น
ในด้านการออม พบว่า ร้อยละ 48.9 ระบุว่ามีการออมเงิน และร้อยละ 51.1 ไม่มีการออมเงิน ซึ่งถือว่าผู้ที่มีการออมเงินและผู้ไม่มีการออมเงินมีสัดส่วนสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาคือร้อยละ 32.8 และร้อยละ 48.9 ตามลำดับ และโดยสัดส่วนแล้ว ผู้ที่มีการออมน้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อรายได้ มีถึงร้อยละ 27.9 ซึ่งสัดส่วนการออมของประชาชนถือว่าลดลดอย่างต่อเนื่องจากปี 2552 ที่มีการออมสูงถึงร้อยละ 91.2
ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างได้เสนอต่อภาครัฐในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนคือ ลดค่าครองชีพให้เหมาะสมกับรายได้ของคนส่วนใหญ่ ดำเนินนโยบายแก้ปัญหาหนี้อย่างจริงจัง และแก้ปัญหาการว่างงาน เป็นต้น
“หนี้ครัวเรือนถือว่าแย่ที่สุดตั้งแต่มีการสำรวจมา โดยมีถึงร้อยละ 83 ที่บอกว่ามีปัญหาในการชำระหนี้และมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น เนื่องจากคนเข้าถึงแหล่งเงินยากจากการที่แบงก์เข้มงวดการปล่อยกู้ ทำให้ต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบมาใช้หนี้ ขณะที่คนที่มีบัตรเครดิตก็จะรูดจนเต็มวงเงิน ส่วนชาวนาที่ได้เงินค่าจำนำข้าวไป 9 หมื่นล้านบาท ก็นำไปใช้หนี้และเหลือใช้บางส่วน ทำให้กำลังซื้อฟื้นตัวช้า” นายธนวรรธน์ กล่าว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์
http://www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ