แฉครม.คสช.ไฟเขียวร่างพรบ.แร่พ.ศ... ทั้งที่รมต.บางคนยังไม่เคยเห็นเอกสาร หวั่น19แหล่งแร่ใหญ่กระทบชุมชนรุนแรง

ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ 24 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 4353 ครั้ง

ยังเป็นปัญหาที่หาทางออกไม่ได้ สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ระหว่างการประกอบการอุตสาหกรรมกับประชาชนในพื้นที่  หลังเกิดกรณีพิพาทขึ้นในหลายพื้นที่ แต่หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ารัฐประหาร ทำให้การเคลื่อนไหวของชุมชนต่างๆ จำเป็นต้องยุติลง

เช่นเดียวกับกรณีของความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ กับผู้ประกอบการเหมืองแร่ ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานและยังหาข้อสรุปไม่ได้มาเป็นเวลานาน แม้จะมีความพยายามสร้างกระบวนการต่างๆ เพื่อเดินหน้าหาข้อตกลงระหว่างสองฝ่าย แต่เมื่อต้องอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกในขณะนี้กระบวนการต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องหยุดไปตามกฎหมายปัจจุบัน

ล่าสุด วันที่ 21 ตุลาคม ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ…. เนื่องจาก พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2509 เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ไม่เหมาะสมกับภาวะในปัจจุบัน อีกทั้งมีกระบวนการขั้นตอนการอนุญาตที่มากเกินจำเป็น การจัดสรรผลประโยชน์ การเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบไม่มีความชัดเจน การจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ “สาระสำคัญคือ การนำกฎหมายว่าด้วยแร่ และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่มาบัญญัติไว้ในฉบับเดียวกันและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาวะการณ์ในปัจจุบัน”

ทั้งนี้ จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตและการควบคุม กำกับดูแลการทำเหมือง และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำเหมืองที่เหมาะสมกับขนาดของเหมือง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ และการแก้ไขผู้มีอำนาจออกประทานบัตรเหมืองแร่ในแต่ละประเภท โดยกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิบดี และปลัดกระทรวงแล้วแต่กรณี เป็นผู้ได้รับอนุญาตแทนรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี

พร้อมกับกำหนดให้จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสภาพพื้นที่ทำเหมือง เพื่อเยียวยาสิ่งแวดล้อมและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลแร่ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือการส่งออกแร่ไปนอกราชอาณาจักร กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่รัฐ โดยคำนึงถึงหลักการที่ต้องทดแทนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกำหนดกลไกของกฎหมายให้รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขคุณสมบัติของบุคคลในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนที่จะเข้ามาประกอบกิจการลงทุนหรือรับจ้างทำงานเกี่ยวกับแร่ในไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ....ดังกล่าว ของคณะรัฐมนตรีรัฐบาลคสช. มีรัฐมนตรีหลายคนที่ยังไม่มีโอกาสอ่านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ก่อนการพิจารณา ทำให้การพิจารณาผ่านไปได้โดยง่ายดาย ซึ่งภาคประชาสังคมเกิดความกังวลใจว่า หากร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ....ฉบับดังกล่าว ผ่านออกมาบังคับใช้ เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อชุมชน และประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศ และจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นด้วย

ภาคประชาชนจี้รัฐบาลคสช.ยกเลิกกฎอัยการศึก

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน นำโดย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ศูนย์ข้อมูลชุมชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW), ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.) กลุ่มนิเวศวัฒนธรมศึกษา และกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน) เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อเปิดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนขณะเดียวกัน ขอให้ชะลอการพิจารณากฎหมายแร่และกฎหมายที่เกี่ยวกับการปกป้องทรัพยากรธรมชาติ สิทธิเสรีภาพของประชาชนในสภานิติบัญญัติ เพื่อนำไปพิจารณาในรัฐสภาหลังจากมีการเลือกตั้งในอนาคตต่อไป

น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนในพื้นที่การทำเหมืองแร่ กับผู้ประกอบการเหมืองแร่ในพื้นที่ต่าง ๆ ยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยความขัดแย้งในบางพื้นที่บานปลายจนกลายเป็นความรุนแรง เช่น กรณีเหมืองแร่ทองคำ ใน อ.วังสะพุง จ.เลย หรือ โครงการทำเหมืองแร่โปแตซ  ในจ.อุดรธานี  ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนและชุมชนใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการต่อรองอำนาจรัฐ เพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ข้อเท็จจริง เรียกร้องจากฝ่ายรัฐ ข้าราชการ และผู้ประกอบการ โดยมีการตั้งคณะกรรมการทั้งระดับจังหวัด และระดับประเทศเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เมื่อมีกฎอัยการศึกก็กลายเป็นล้มกระบวนตั้งแต่ต้น และเดินหน้าการอนุมัติอนุญาตโดยไม่คำนึงถึงข้อตกลง กระบวนการต่าง ๆ ที่ผ่าน รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนแต่อย่างใด

หลังการประกาศกฎอัยการศึกพบว่า เกิดปัญหาขึ้นในหลายพื้นที่ มีการใช้กองกำลังทหารในการคุกคามชาวบ้าน กรณีเหมืองทองคำจ.เลย และการเรียกตัวแทนผู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ไปรายงานตัวเพื่อปรับทัศนคติและให้ยุติการเคลี่อนไหว ปิดกั้นการรณรงค์ให้ความรู้ ไม่ให้มีการให้ประชุมปรึกษาหารือในชุมนุม รวมถึงการปิดวิทยุชุมชนคนฮักถิ่นของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแผร่ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนและประชาชนในการแสดงออกและนำไปสู่การให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาศในการเข้าไปจัดกิจกรรม ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายผู้ประกอบการ แต่ในทางกลับกันกลไกของชาวบ้านในการแสดงออกซึ่งการมีส่วนร่วมกลับให้ไปยื่นต่อศาลดำรงธรรม กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งมิใช่กลไกในการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ โดยไม่คำนึงถึงหลักการสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

จี้ชะลอนำกฎหมายแร่เข้าสภานิติบัญญัติ

รวมถึงในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีความพยายามเสนอกฎหมายหลายฉบับรวมถึงกฎหมายแร่ และพระราชบัญญัติการชุมชนสาธารณะโดยหน่วยงานรัฐ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญติ โดยไม่ผ่ากระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียของกฎหมาย ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสบกับปัญหาได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ดังนั้นการพิจารณาออกกฎหมายอันรวบรัดนี้จะนำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ในอนาคตต่อชุมชนและประชาชน ซึ่งการพิจารณาออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมถึงที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควรที่จะมีการดำเนินการในช่วงที่มีรัฐธรรมนูญและระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

        “ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่หลักการสิทธิชุมชนก็ยังคงได้รับการรับรองตามมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบัน ซึ่งมีผลให้รัฐบาลคสช.และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม เครือข่ายฯ จึงเสนอให้รัฐบาล ยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อเปิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยรัฐบาล คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องรับรองสิทธิชุมชนตามมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และต้องชะลอการพิจารณากฎหมายแร่และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิเสรีภาพของประชาชนในสภานิติบัญญัติเพื่อนำไปพิจารณาในรัฐสภาหลังจากมีการเลือกตั้งในอนาคตต่อไป”

ขณะที่ตัวแทนประชาชนในพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่ ทั้งกรณีของเหมืองแร่ท่อง จ.เลย และ เหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ต่างแสดงความคิดเห็นโดยระบุถึงความยากลำบากในการเคลื่อนไหวต่อสู้หลังการประกาศกฎอัยการศึก โดยระบุว่า สิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงคือเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกคุกคาม ข่มขู่ ที่เชื่อว่าเกิดจากฝ่ายผู้ประกอบการที่ขณะนี้มีความพยายามที่จะเดินหน้าการทำเหมืองต่อไป โดยที่ชาวบ้านไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านได้เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนในการต่อสู้เพื่อปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติของตัวเอง

น.ส.สุภาภรณ์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีประสบการณ์ความสูญเสียที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ มาแล้วมากมายในการให้ประทานบัตรทำเหมืองแร่ต่าง ๆ ในหลายพื้นที่ เมื่อเกิดการปนเปื้อนของสารพิษที่เป็นผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ซึ่งเป็นที่ยืนยันแล้วว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นสร้างความสูญเสีย ความเดือดร้อนไม่เพียงแต่คนในพื้นที่ แต่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างร้ายแรง ดังนั้นความพยายามในการต่อสู้ของประชาชนเพื่อรักษาพื้นที่อยู่อาศัยและทรัพยากรของตัวเอง จึงควรที่จะได้รับดูแลและเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิด มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

ข้อมูลชี้ 19 แหล่งแร่เมืองไทย สร้างผลกระทบกับชุมชน

จากข้อมูลคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ระบุในเอกสารประกอบการสัมมนา เวทีเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย เมื่อวันที่ 3–5 กันยายน 2553 ณ โรงแรมเทพนคร อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้สรุปแผนที่แหล่งแร่ พร้อมสถานการณ์การทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

1.พื้นที่สำรวจแร่พลวง อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน พบศักยภาพแหล่งแร่พลวง แหล่งแร่ดินขาว แหล่งแร่แมงกานีส แหล่งแร่หินอุตสาหกรรม และศักยภาพแหล่งแร่ทาวเวอร์ทีนรวมทั้งพบ แร่ตะกั่ว แร่สังกะสี แร่ทองคำ แร่เหล็ก แร่แบไรต์ แร่ฟลูออไรต์ แร่ทองแดง มีการขอประทานบัตรของ บริษัทบลูดอท เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ในการทำเหมืองแร่พลวง ในเนื้อที่ 216 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา ในพื้นที่หมู่ 8 ต.แม่เงา อ.ขุนยวม  ชาวบ้านคัดค้าน เนื่องจากไม่มีการชี้แจงข้อมูลจากทั้งเอกชนหรือรัฐบาลให้ชาวบ้านรับรู้ ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ และยังไม่มีการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

2.ลำเลียงถ่านหินจากพม่า กรณี บริษัท สระบุรีถ่านหิน จำกัด ในเครือ บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จะมีโครงการขนส่งถ่านหินจากเมืองก๊ก รัฐฉาน ประเทศพม่า ผ่านพื้นที่สี่ตำบลใน อ.แม่ฟ้าหลวง โดยจะเข้ามาทางหมู่บ้านม้งเก้าหลัง ผ่าน ต.เทอดไท ต.แม่สะลองใน และพักกองถ่านหินไว้ที่ ต.ป่าซาง จากนั้นขนส่งต่อมายัง อ.แม่จัน เข้าสู่ถนนพหลโยธิน ก่อนขนส่งไปยังจังหวัดสระบุรี ซึ่งจะมีการขนส่งถ่านหินวันละ 5,000 ตัน โดยรถบรรทุก 200 เที่ยวประเด็นผลกระทบในพื้นที่ ต.ป่าซาง อาจทำให้เกิดสารพิษไหลซึมลงสู่แหล่งน้ำ และจะเกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นถ่านหิน

3.พื้นที่สำรวจและทำเหมืองแร่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ กรมทรัพยากรธรณีศึกษาพบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม หรือแอ่งแม่แจ่ม เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางแร่ หินอุตสาหกรรม และทรัพยากรพลังงาน กระจายตัวอยู่ทั่วไป พบแร่เหล็กพบมากที่สุด  ถ่านหิน แมงกานีส เฟลด์สปาร์ ฟลูออไรด์ และดีบุก มีการ ยื่นขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ อาชญาบัตรพิเศษและขอประทานบัตร เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), หจก.เชียงใหม่ทวีทรัพย์เอ็นจิเนียริ่ง, บริษัท เทพประทานการแร่ จำกัด ฯลฯ อยู่ระหว่างกระบวนการ ทั้งนี้พื้นที่อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ และพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษดังกล่าวมานี้ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ลุ่ม น้ำคุณภาพชั้น 1 เอ, 1 บี และลุ่มน้ำคุณภาพชั้น 2 ในขณะที่ลุ่มน้ำแม่แจ่มเป็นลุ่มน้ำสาขาสายสำคัญของลุ่มน้ำปิง การทำเหมืองจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคมของคนเมืองแม่แจ่มอย่าง เลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่บ้านที่ตั้ง อยู่ใกล้พื้นที่ทำเหมืองแร่ หมู่บ้านที่เป็นเส้นทางผ่านของรถขนแร่ และหมู่บ้านที่ใช้น้ำแม่แจ่มในการอุปโภคบริโภค

4.พื้นที่สำรวจและทำเหมืองแร่ลิกไนต์ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) อนุมัติให้กฟผ.เข้าไปใช้พื้นที่แหล่งถ่านหินเวียงแหง โดยไม่ต้องมีการประมูล มีเงื่อนไขกำหนดให้กฟผ. จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พื้นที่ตั้งของโครงการเหมืองถ่านหินเวียงแหง ห่างจากตัวอ.เวียงแหงเพียง 7 กิโลเมตร และมีชุมชน 8 หมู่บ้านอาศัยอยู่ล้อมรอบ ในเขตพื้นที่ 3 ตำบล พื้นที่โครงการบางส่วนยังอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติ และป่าลุ่มน้ำฝาง ส่วนเส้นทางขนส่งหน้าดินและถ่านหินลิกไนต์บางช่วงอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์

5.พื้นที่สำรวจและทำเหมืองแร่ลุ่มน้ำแม่สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ กรมทรัพยากรธรณี เคยสำรวจไว้เมื่อหลายปีก่อน ระบุว่า ต.สรอย ต.ป่าสัก อ.วังชิ้น จ.แพร่ เขตติดต่อกับลำปาง-สุโขทัย นับเป็นแหล่งสายแร่ทองคำสำคัญอีกแห่งของไทย บริษัท ณ ภัทรไมนิ่ง จำกัด ได้ขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ ในพื้นที่ต.สรอย อ.วังชิ้น พื้นที่ 1,220 ไร่ และได้รับการออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่เดือนกรกฎาคม 2551ถึง กรกฎาคม 2552 จำนวน 2 แปลง โดยอ้างว่าเป็นเพียงการสำรวจแร่เหล็กเท่านั้น ชาวบ้านในลุ่มน้ำที่ไม่เห็นชอบกับการสำรวจแร่เหล็ก เพื่อทำเหมืองแร่ ได้คัดค้านการยื่นขออนุญาตอาชญาบัตรผูกขาดการสำรวจแร่เหล็ก ที่จะมีการยื่นคำขอในปีต่อไป ของบริษัท ณ ภัทรไมนิ่ง หรือบริษัทเอกชนอื่น ๆ ที่จะเข้ามาดำเนินการ เพราะกังวลว่า การสำรวจและทำเหมืองแร่เหล็กจะมีวัตถุประสงค์ที่ใหญ่กว่านั้น คือ การขุดแร่ทองคำด้วย

6.พื้นที่สำรวจและทำเหมืองแร่ถ่านหินแอ่งงาว อ.งาว จ.ลำปาง ปี 2548-2550 กรมป่าไม้ออกเอกสารสิทธิ์ สทก. ให้ชาวบ้านแหงเหนือ อ.งาว ที่มีที่ดินทำกินกันมาดั้งเดิมซึ่งถูกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ประกาศทับซ้อน ต่อมาปี 2551 บริษัท เขียวเหลือง จำกัด เข้ามากว้านซื้อดินจากชาวบ้าน โดยกว้านซื้อบริเวณโดยรอบก่อน จนที่เหลือข้างในกลายเป็นที่ดินตาบอด บีบชาวบ้านขายให้ในราคาถูก จนรวมได้พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ อ้างเพื่อปลูกต้นกระดาษดับเบิ้ลเอ ก่อนจะยื่นขอประทานบัตรทำกิจการเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในเวลาต่อมา

7.พื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แม่เมาะ ตั้งอยู่ที่ อ.แม่เมาะ มีพื้นที่เต็มโครงการประมาณ 150 ตารางกิโลเมตร และผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินลิกไนต์ในเขตอ.แม่เมาะเป็นเชื้อเพลิงใน การผลิต และขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหมืองแม่เมาะ ในเขต ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ อยู่ห่างจากจ.ลำปาง ประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นเหมืองลิกไนต์แหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวบ้านรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากฝุ่นหิน และสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก ที่ทำให้ชาวบ้านหลายร้อยครอบครัว เจ็บป่วยยาวนานนับ 10 ปี และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

8.พื้นที่ทำเหมืองแร่สังกะสี อ.แม่สอด จ.ตาก เหมืองผาแดง เป็นแหล่งแร่สังกะสีที่สำรวจพบโดยกรมทรัพยากรธรณีมากว่า 40 ปี และได้ให้สัมปทานการทำเหมืองแก่ บริษัท ไทยซิง จำกัด ในปี 2515-2518 ก่อนที่ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) จะเข้าสำรวจและได้ประทานบัตรช่วงต่อ ตั้งแต่ปี 2525  และเริ่มเปิดทำเหมืองผลิตแร่สังกะสี บริเวณดอยผาแดง ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่ มีแร่สังกะสีซิลิเกตปริมาณมาก โดยแร่ที่ได้จะส่งให้โรงถลุงที่จังหวัดตาก จนสิ้นสุดอายุประทานบัตรเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2550 (ในปี 2536 บริษัท ตากไมนิ่ง จำกัด ได้รับสัมปทานให้เข้ามาทำเหมืองอีกแห่งในพื้นที่ไม่ไกลกันนัก) ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2551 บริษัทฯ ได้ประทานบัตรใหม่ในพื้นที่กิจกรรมเหมืองเดิมจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีอายุประทานบัตร 15 ปี (ปี 2551–2566) แร่ที่ผลิตเป็นแร่สังกะสีออกไซด์มีกำลังผลิตปีละ 170,000 ตัน ได้แก่ แร่ซิลิเกต แร่คาร์บอเนต

แต่ระหว่างปี พ.ศ. 2541–2546 มีการตรวจวัดระดับสารแคดเมียมในดินและข้าว บริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก พบว่า มีการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในดิน ผลิตผลการเกษตร และจะกระทบต่อสุขภาพของประชากรกว่า 6,000 คน ส่วนการสำรวจพื้นที่ 5,000 ไร่ ในปี 2552 ข้าวมีสารแคดเมียมเกิน 0.4มิลลิกรัม/กิโลกรัม อยู่กว่า 1,000 ไร่ นักวิชาการระบุว่า การทำเหมืองหรือการเปิดหน้าดินให้โล่ง ไม่มีพืชปกคลุม คือสาเหตุที่ทำให้เกิดการกัดเซาะหน้าดินอย่างรวดเร็ว และเป็นเหตุให้แคดเมียมกระจายตัวปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจนถึงขั้น วิกฤต

9.พื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำใน 3 จ”พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ในปี 2543 โครงการเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และได้รับอนุญาตทำเหมืองแร่ทองคำ-เงิน  ผลจากการสำรวจ และทำเหมืองแร่ทองคำ-เงิน ของ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด, บริษัท ริชภูมิไมนิ่ง จำกัด, บริษัท ไทยโกลบอลเวนเจอร์ส จำกัด ได้ทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติเหือดแห้ง ขาดน้ำใช้ทำเกษตร ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้ ที่สำคัญก่อมลพิษทางฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหินปนเปื้อนสารพิษไซยาไนด์และสารหนูลงสู่ดินและ แหล่งน้ำซึ่งทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วย

10.พื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้ามาประกอบการทำเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่บ้านกกสะทอน บ้านนาหนองบง บ้านแก่งหิน บ้านโนผาพุงพัฒนา บ้านภูทับฟ้าพัฒนา บ้านห้วยผุก ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย มาตั้งแต่ปี 2548 หลังจากนั้นมีการสำรวจคุณภาพน้ำของกองวิเคราะห์น้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาลดาล พบสารหนู แคดเมียม และแมงกานิส มากผิดปกติในลำห้วยฮวย ลำน้ำสาขาของแม่น้ำเลย โดยในปีแรกที่ทำการศึกษามีค่าแมงกานีสสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานทุกสถานี และมีไซยาไนด์เกินกว่าค่ามาตรฐานอยู่ 3 สถานี โดยเฉพาะปี 2549 ที่มีค่าสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานอย่างน่ากังวล

11.พื้นที่สำรวจแร่เหล็ก อ.เชียงคาน จ.เลย หลายปีมานี้ที่ อ.เชียงคาน มีกลุ่มนายทุนทั้งในจังหวัดเลยและต่างจังหวัด รวมถึงนายทุนต่างชาติ ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินทั้งที่อยู่ในการครอบครองของชาวบ้าน และพื้นที่สาธารณะตามไหล่เขาบริเวณป่าภูเขาแก้ว โดยพื้นที่ฟากหนึ่งอยู่ในท้องที่ต.เขาแก้ว อ.เชียงคาน จ.เลย และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในท้องที่ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย โดยกลุ่มนายทุนได้บุกรุกป่าสงวนเข้าไปตัดถนน ตัดต้นไม้ นำเครื่องจักรเข้าไปขุดแร่เหล็ก โดยที่ยังไม่ได้รับประทานบัตร และขนแร่ออกจากแหล่งขุดโดยใช้รถบรรทุกผ่านถนนในหมู่บ้านทั้งกลางวันและกลางคืน วันละไม่ต่ำกว่า 100 เที่ยว

เมื่อชาวบ้านตำบลเขาแก้วได้ตรวจสอบผู้ประกอบการเหมืองแร่เหล็กในพื้นที่ พบว่าเดิมทีมีผู้ประกอบการ 3 ราย แต่ได้รับประทานบัตรถูกต้องตามกฎหมายเพียงรายเดียว ที่เหลือไม่ได้รับอนุญาตชาวบ้านได้ยื่นข้อร้องเรียนให้อบต.ธาตุ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสั่งปิดเหมือง คัดค้านการอนุมัติประทานบัตรทำเหมืองแร่บนพื้นที่สาธารณประโยชน์ป่าภูเหล็ก และเขตสัมปทานทับทำกินชาวบ้านกว่า 160 ไร่ อีกทั้งบริเวณที่ขุดแร่เหล็ก ยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำห้วยเสี้ยวที่ชาวบ้านใช้น้ำทำการเกษตรมาช้านาน ปัจจุบันตื้นเขิน ดินตะกอนไหลลงมาทับถมที่นาจนไม่สามารถปลูกข้าวได้

12.พื้นที่สำรวจแร่ทองแดง อ.เมือง จ.เลย ปี 2553 กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ภูหินเหล็กไฟ และชาวบ้านห้วยม่วง หมู่ 4, 10, 13 ต.นาดินดำ อ.เมือง ออกมาต่อต้านการทำเหมืองแร่ทุกชนิดในบริเวณใกล้หมู่บ้าน โดยเรียกร้องให้หน่วยงานราชการหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทบทวนการต่ออายุ อาชญาบัตรสำรวจแร่ทองแดงให้นายทุนบริเวณภูหินเหล็กไฟ และภูเดิ่น

13.พื้นที่ขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี สำรวจแล้วเสร็จไปแล้ว โดย บริษัท เอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด และได้ขอสัมปทานทำเหมืองใต้ดินแหล่งอุดรใต้ 22,437 ไร่ ใน ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง, ต.ห้วยสามพาด, ต.นาม่วง กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม และแหล่งอุดรเหนือกว่า 52,000 ไร่, ในเขตเทศบาลนครอุดร อ.เมือง อ.หนองหาน และกิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม รวม 74,437 ไร่ ปัจจุบันบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาซื้อกิจการดำเนินโครงการ และพยายามเร่งรัดขั้นตอนการรังวัดปักหมุดเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรและโรงงาน แต่งเรื่อยมาจนปัจจุบัน แม้จะมีการคัดค้านอย่างหนักจากชาวบ้านในพื้นที่อย่างต่อเนื่องก็ตาม

14.พื้นที่สำรวจแร่โปแตช จ.มหาสารคาม 17 กรกฎาคม 2548 บริษัท ไทยสารคาม อะโกร โปแตช จำกัด ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตช ในพื้นที่ ต.หนองเม็ก และ ต.บ่อพาน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม 2 แปลง จำนวน 20,000 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในขั้นกำลังดำเนินการขอต่ออาชญาบัตรพิเศษอีกครั้ง เนื่องจากเอกสารดังกล่าวได้หมดอายุไปตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 33 หลังจากที่มีการสำรวจมาได้ 5 ปีแล้ว

15.พื้นที่สำรวจแร่โปแตช จ.ขอนแก่น 5 กรกฎาคม 2548 บริษัท กรุงเทพโยธาอุตสาหการ จำกัด ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตช 10 แปลง เนื้อที่ 100,000 ไร่ ในพื้นที่ ต.บ้านทุ่ม ต.บ้านหว้า อ.เมือง และ ต.บ้านฝาง ต.บ้านเหล่า อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น

16.พื้นที่สูบน้ำเกลือใต้ดิน จ.นครราชสีมา ปี 2548 บริษัท เหมืองไทยสินทรัพย์ จำกัด ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่ อ.คง อ.บัวใหญ่ อ.บ้านเหลื่อม อ.ขามสะแกแสง จ. นครราชสีมา 28 แปลง เนื้อที่ 280,000 ไร่ ในปีเดียวกันบริษัท ธนสุนทร (1997) จำกัด ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่ ต.ด่านช้าง อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา 3 แปลง เนื้อที่ 30,000 ไร่ บริษัทฯ เริ่มทำนาเกลือ โดยใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงในการต้มเกลือ ทำให้มีฝุ่นฟุ้งกระจาย ควันฟุ้งทั่วบริเวณปี 2538 มีคณะวิจัยเข้ามาทำการศึกษาวิจัย เนื่องจากบริเวณ ต.บ้านวัง มีหลุมยุบกินพื้นที่กว่า 1 กิโลเมตร กระทั่งมีการประกาศให้บริษัทฯ หยุดการทำนาเกลือทั้ง 2 โรงงาน ผลกระทบ ทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม-ทรุด จากสูบน้ำบาดาลทำนาเกลือ กองเกลือ และกากหางแร่จะถูกขนขึ้นมากองเป็นภูเขากลางลานโล่งที่ไม่มีหลังคาปกคลุม หากฝนตกหนัก-น้ำท่วม เกลือหลายล้านตันจะถูกชะไหลลงนาข้าว แหล่งน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านต้องดื่ม ต้องใช้ จะปนเปื้อนไปด้วยเกลือ และสารเคมี

17.พื้นที่ขออนุญาตดูดทรายแม่น้ำตะกั่วป่า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นความร่วมมือระหว่างจ.พังงา กับ บริษัท เค แซน แอนด์ รีซอสเซส คอร์เปอเรชั่น จำกัด พื้นที่ตั้งแต่บริเวณแยกสองแพรกบ้านท่าจูด ลงไปตามลำน้ำแพรกเหนือ ผ่านเกาะเสม็ด อ่าวเวะ และปากอ่าวเวะ ส่วนทางแพรกตะวันตกผ่านเกาะล้าน ควนพระเหนือ ไปออกทะเลที่ช่องปากเกาะ (บ้านน้ำเค็ม) รวมทั้งคลองปากเกาะที่เชื่อมอ่าวเวะ กับช่องปากเกาะทางด้านตะวันออกของเกาะคอเขา พื้นที่ขุดลอกมีเนื้อที่ประมาณ 43 ตารางกิโลเมตร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม

​http://enlawfoundation.org/newweb/wp-content/uploads/Draft-Mining-Law_21Oct2014.pdf

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: