เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศช่วงเช้าที่ศาลอาญา รัชดา ผู้สื่อข่าว ทั้งสื่อไทย และสื่อต่างชาติ จำนวนมาก เฝ้าติดตามสถานการณ์ การควบคุมตัว พลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อม พลตำรวจตรีโกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวม 8 ราย มาฝากขังผัดแรก ในช่วงเช้าวันนี้
หลังศาลอาญาอนุมัติหมายจับ พลตำรวจโทพงพัฒน์ กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพลเรือน รวม 10 ราย ตามคำขอของ พลตำรวจโทศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ในความผิด 5 ข้อหา คือ หมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 / เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับและจูงใจให้ผู้อื่นมอบผลประโยชน์ฯ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และความผิดตาม พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ
ทั้งนี้มีรายงานว่าพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำผู้ต้องหาทั้งหมด โดยแยกควบคุมตัวไว้ตามสถานีตำรวจใกล้ศาลอาญา รัชดาฯ สำหรับ พลตำรวจโทพงศ์พัฒน์ มีรานงานว่าถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.เตาปูน ขณะที่ พลตำรวจตรีโกวิทย์ ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน.พหลโยธิน
ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำศาลอาญา พร้อมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้นำแผงเหล็กมาวางกั้นบริเวณทางเข้าห้องควบคุมผู้ต้องหา ใต้ถุนศาลอาญา พร้อมดูแลความควาทเรียบร้อยโดยรอบพื้นที่ศาลอาญา
โดยสำหรับขั้นตอนการฝากขัง จากคดีที่กล่าวหา พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก.ช่วยราชการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ศปก.ตร.) และตำรวจอีก 6 นาย พร้อมด้วยพลเรือน 3 ราย รวมทั้งหมด 10 ราย นั้น ทั้งหมดจะถูกนำตัวไปฝากขังครั้งแรกต่อศาลอาญา จากนั้นตามกฎหมาย หากพนักงานสอบสวนยังดำเนินการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ภายในเวลาการควบคุมตัวตามกฎหมาย 48 ชั่วโมง ก็ต้องนำตัวบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา มาขออำนาจศาลฝากขัง ซึ่งในคดีอาญา ที่มีอัตราโทษ เกิน 10 ปี สามารถฝากขังสูงสุดได้ 7 ครั้งๆละ 12 วัน รวมระยะเวลาทั้งสิ้น84 วัน โดยการยื่นคำร้องฝากขังดังกล่าว พนักงานสอบสวน ก็สามารถขอคัดค้านการปล่อยชั่วคราว ( การให้ประกันตัว) ต่อศาลได้ด้วย เช่น การอ้างเหตุคดีมีอัตราโทษสูง เกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิง ( ทำลายหรือทำให้เสียหาย ) กับพยานหลักฐาน
ขณะที่ผู้ต้องหาเอง ก็มีสิทธิตามกฎหมาย ในการยื่นคัดค้านการฝากขังได้ หากเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิ ในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ( ประกันตัว) ต่อศาลได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาลในการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ประกันหรือไม่ ด้วยหลักทรัพย์มูลค่าเท่าใด และจะมีการกำหนดเงื่อนไขใดๆในการปล่อยชั่วคราว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
http://www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ