ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแร่ใยหิน

24 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2982 ครั้ง


และเริ่มมีการพบในที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก นำมาสู่มาตรการการยกเลิกการใช้แร่ใยหินที่มีการดำเนินการในประเทศต่างๆ อย่างเป็นสากล แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ที่ยังมีการอนุญาตให้ใช้อยู่ในประเทศไทย เมื่อกระจายเป็นอนุภาคเข้าสู่ปอดจะเป็นสาเหตุของโรค

มะเร็งเยื่อหุ้มปอด โรคปอดอักเสบจากแร่ใยหิน และโรคมะเร็งปอด เป็นโรคร้ายแรง รักษาไม่หายและเกิดตอนอายุมาก เพราะการเกิดโรคหลังได้รับแร่ใยหินประมาณ 20-30 ปี ซึ่งจะทำให้ชีวิตสูงวัยพบความทุกข์ทรมานสาหัสก่อนตาย

ในประเทศไทย เริ่มมีการพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและโรคปอดอักเสบจากแร่ใยหินเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจำนวนมากถึงกว่าพันรายต่อปีในอนาคตอันใกล้ หากจำนวนการใช้แร่ใยหินมีปริมาณมากอย่างปัจจุบัน

มีการโต้แย้งว่าแอสเบสตอสเป็นสารที่เกิดจากธรรมชาติจึงไม่มีอันตราย        

การพิจารณาว่าสารใดจะมีความเป็นพิษ (Toxicity) หรือไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะสมบัติของสารนั้น ส่วนการทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์นั้นจะมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบเป็นเครื่องบ่งชี้ สารที่เกิดจากธรรมชาติจึงอาจเป็นสารที่มีความเป็นพิษหรืออาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้ ตัวอย่างที่ยอมรับกันอย่างชัดเจน เช่น สารหนู ก็เป็นสารธรรมชาติที่มีความเป็นพิษร้ายแรง

สำหรับกรณีของแร่ใยหินหรือแอสเบสตอสที่ผลิตในเชิงการค้าแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือเซอร์เพนไทน์และแอมฟิโบล์ ทั้ง 2 กลุ่มได้รับการยอมรับในวงการวิชาการระดับสากลว่าเป็นสารก่อมะเร็งที่เนื้อปอดและเยื่อหุ้มปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแอมฟิโบล์เป็นสารที่พบว่าผู้ที่ได้รับสัมผัสจะมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง รวมทั้งโรคแอสเบสโตสิสด้วย ดังจะเห็นได้ว่า องค์การสากลต่อไปนี้ล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้มีการยกเลิกการใช้แร่ใยหินโดยเฉพาะชนิดเซอร์เพนไทน์ (ไครโซไทล์) ที่ในปัจจุบันยังมีอยู่หลายประเทศที่ยังอนุญาตให้ใช้อยู่ ได้แก่ WHO (World Health Organization), ILO (International Labor Organization), IARC (International Agency for Research on Cancer), ATSDR (Agency for Toxic Substances and Disease Registry), NTP (National Toxicology Program) และ EPA (Environmental Protection Agency) ข้อมูลล่าสุด 28 มกราคม 2010 พบว่า ประเทศที่มีการ BAN แล้วมีทั้งสิ้น 52 ประเทศ

มีการโต้แย้งว่า ไครโซไทล์ไม่มีอันตรายเหมือนแอสเบสตอสประเภทอื่น

ไครโซไทล์สามารถทำลายเนื้อปอด ทำให้เกิดภาวะเนื้อปอดอักเสบเรื้อรังเป็นพังผืด และที่สำคัญคือเป็นสารก่อมะเร็งปอด โดยหลักฐานงานวิจัยที่รวบรวมในปัจจุบันบ่งชี้ว่าไครโซไทล์เป็นสาเหตุของภาวะเนื้อปอดอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นพังผืดนำไปสู่ภาวะเนื้อปอดหดรัด (restrictive lung) และมะเร็งเนื้อปอด อันตรายของไครโซไทล์มีน้อยกว่าเนื่องจากลักษณะของเส้นใย คือ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กมาก โดยธรรมชาติมักอยู่รวมกันเป็นมัด (Bundle) เมื่อตกลงสู่ถุงลมจะแยกออกจากกันได้ง่ายและถูกย่อยสลายได้เร็วกว่ากลุ่มแอมฟิโบล์ ส่วนกรณีมะเร็งเยื่อหุ้มปอดยังเป็นที่ถกเถียงระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากหลักฐานเท่าที่มีในปัจจุบันมีทั้งที่มีความเห็นต่างเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไครโซไทล์และมะเร็งเยื่อหุ้มปอด อย่างไรก็ตามจากหลักฐานเท่าที่ปรากฏ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ทุกกลุ่มต่างเห็นตรงกันว่าไครโซไทล์เป็นสาเหตุของมะเร็งปอดแน่นอน และมีหลักฐานใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่าไครโซไทล์น่าจะเป็นสาเหตุของมะเร็งเยื่อหุ้มปอดได้เช่นกัน

มีข้อสงสัยว่า หากการใช้แอสเบสตอสมีอันตรายจริงเหตุใดจึงยังไม่มีผู้ป่วยในประเทศไทยและผู้ป่วยที่พบมักเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น บุหรี่

ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจากแร่ใยหินมีอาการแสดงและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่แตกต่างจากผู้ป่วยมะเร็งปอดจากสาเหตุอื่นๆ สิ่งสำคัญที่ช่วยวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดจากแร่ใยหินที่แพทย์ใช้คือ การซักประวัติเคยสัมผัสกับแร่ใยหิน ลักษณะการสัมผัสของคนงาน และระยะเวลาสัมผัสในอดีต (สารก่อมะเร็งปอดจากการประกอบอาชีพที่พบบ่อยของประเทศไทย ได้แก่ แร่ใยหิน ฝุ่นหินซิลิกา) ส่วนมะเร็งเยื่อหุ้มปอดนั้นเป็นมะเร็งที่ยอมรับว่ามีความจำเพาะกับแร่ใยหินมากกว่าแพทย์สามารถยืนยันการวินิจฉัยด้วยการซักประวัติ ตรวจชิ้นเนื้อร่วมกับเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยตัดชิ้นเนื้อในคนที่ยังมีชีวิตอยู่จะได้ชิ้นเนื้อขนาดเล็กและมีโอกาสพบแร่ใยหินน้อยมาก

การตรวจพบแร่ใยหินในชิ้นเนื้อในงานวิจัยมักเป็นการผ่าศพผู้ป่วย แล้วนำปอดและเยื่อหุ้มปอดมาตัดตรวจอย่างละเอียดซึ่งไม่สามารถกระทำได้ในคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ในกรณีที่แพทย์ไม่ชำนาญมีโอกาสวินิจฉัยผิดพลาด นอกจากนั้นการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อแยกมะเร็งปอดและมะเร็งเยื่อหุ้มปอดต้องใช้เทคนิคพิเศษซึ่งยังไม่แพร่หลายในประเทศไทย ดังนั้นแม้แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยอาจสงสัยแต่ก็ยากต่อการตรวจยืนยัน ดังจะเห็นในรายงานการพบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหินรายแรกในประเทศไทยในปี 2551 ที่ครั้งแรกผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยผิดว่าเป็นมะเร็งปอดเช่นกัน

เมื่อพิจารณาเกณฑ์วินิจฉัยโรคของประเทศไทยที่กำหนดโดยสมาคมวิชาชีพแพทย์อุรเวชช์พบว่าใช้เกณฑ์ 2 ข้อคือต้องมีประวัติการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสกับสารก่อมะเร็งอย่างชัดเจน สม่ำเสมอ และต่อเนื่องในอดีต ก่อนจะเกิดอาการไม่น้อยกว่า 20 ปี ร่วมกับมีผลการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาของเนื้อปอดที่ยืนยันว่าเป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ซึ่งอาจจะดูเหมือนสามารถวินิจฉัยได้ง่ายแต่ในทางปฏิบัติเกณฑ์วินิจฉัยดังกล่าวยังเป็นปัญหาสำคัญของทุกประเทศที่ไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนส่งสัมผัสในงานสำหรับคนงานเหมือนกับประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชียตะวันออกที่สามารถดูประวัติสัมผัสแร่ใยหินย้อนหลังจากทะเบียนสิ่งสัมผัสเพื่อยืนยันการวินิจฉัยได้

สำหรับประเทศไทย ระบบการเฝ้าระวังสุขภาพคนงานเพิ่งจะออกเป็นกฎหมายเมื่อปี 2549 นี้เอง (กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ.2547) ดังนั้นระบบการบันทึกข้อมูลประวัติการเจ็บป่วยของคนงานจึงเพิ่งจะเริ่มต้นและกว่าจะมีการปฏิบัติตามกฎหมายได้ครอบคลุมสมบูรณ์ก็อาจต้องใช้เวลา ในประเทศไทยผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดและเยื่อหุ้มปอดมักไม่ทราบว่าตนเองเคยสัมผัสสารอะไรบ้างในงานทำให้การนึกตอบของผู้ป่วยจึงไม่ได้มีการเชื่อมโยงไปกับการซักประวัติการทำงาน แพทย์เองก็อาจจะไม่ได้ถามนำในเรื่องประวัติอาชีพย้อนหลังที่อาจเชื่อมโยงกับแร่ใยหินหรือบ่อยครั้งที่แพทย์ไม่สามารถเชื่อมโยงอาชีพกับแร่ใยหินได้ กรณีที่คนงานเคยทำงานกับแร่ใยหินจริงเมื่อเรียกร้องค่าชดเชยก็ยังขาดหลักฐานพยานสิ่งแวดล้อมว่า มีการสัมผัสจริงในงาน เนื่องจากประเทศไทยไม่มีการจัดทำฐานข้อมูลประวัติอาชีพและสถานประกอบการที่คนงานเคยทำงาน หรือฐานข้อมูลสิ่งสัมผัสในงานดังกล่าวแล้ว ประกอบกับระยะฟักตัวของโรคมะเร็งส่วนใหญ่ใช้เวลานานอย่างน้อย 20 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจะใช้เวลานานมากกว่าคือประมาณ 30 ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนานมากจนคนงานไม่อาจเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสแร่ใยหินกับการเกิดมะเร็งของตนเอง

จากปัจจัยหลายประการดังกล่าวทำให้ยากต่อการระบุว่า ผู้ป่วยกลุ่มโรคปอดเหล่านี้เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินหรือไม่จึงมีการรายงานโรคมะเร็งปอดและเยื่อหุ้มปอดจากแร่ใยหินน้อยในประเทศไทย

การที่ไม่มีข้อมูลผู้ป่วยไม่ได้แปลว่าไม่มีการป่วย

เหตุผลเพราะ

1. ประเทศไทยยังไม่มีระบบรายงานการเฝ้าระวังสุขภาพที่สมบูรณ์ ภาคอุตสาหกรรมเพิ่งจะมีกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพลูกจ้างและส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ.2547 จึงทำให้ไม่มีการเก็บประวัติการทำงาน ประวัติการรับสัมผัสและข้อมูลพื้นฐานของภาวะสุขภาพไว้

2. อัตราการย้ายงานสูงมีการเปลี่ยนที่ทำงานบ่อย เจ้าของประวัติเองยังจำไม่ได้ว่าเคยทำงานอะไรมาบ้าง นานแค่ไหน เมื่อถูกซักประวัติอาจไม่ได้ตอบทำให้ขาดข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงการวิเคราะห์การเจ็บป่วย

3. ขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีความลำบากในการวินิจฉัยโรค

4. ระยะเวลาของการเกิดโรคใช้เวลานาน

5. ขาดการเชื่อมโยงข้อมูลทางระบาดวิทยา

มีการโต้แย้งว่าโรงงานมีวิธีป้องกันอันตรายหรือมีมาตรการควบคุม

การทำให้มาตรการควบคุมมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากในทางปฏิบัติ เพราะว่าการควบคุมการรับสัมผัสเฉพาะที่วัตถุดิบสามารถควบคุมทางด้านวิศวกรรมโดยการควบคุมที่แหล่งกำเนิด ตัวอย่างเช่น การใช้ระบบปิด การใช้ระบบอัตโนมัติที่ไม่เกี่ยวข้องกับแรงงานคน เป็นต้น แต่ก็ใช้งบประมาณลงทุนดูแลค่อนข้างสูงรวมทั้งต้องตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของระบบควบคุมอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง แต่ว่าความเสี่ยงต่อการรับสัมผัสแร่ใยหินไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่วัตถุดิบเท่านั้น ขั้นตอนในการผลิตยังมีการควบคุมคุณภาพอื่นๆ เช่น การตัด ขัด เจียรให้ได้ขนาดที่ต้องการ กระบวนการทำงานเหล่านี้ทำให้ฝุ่นแร่ใยหินที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ฟุ้งกระจายได้ด้วย

จากการประเมินความเสี่ยงต่อการรับสัมผัสฝุ่นในกิจกรรมดังกล่าวในงานวิจัยหลายชิ้น พบว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยด้วยโรคปอดอักเสบจากการทำงาน นอกจากนี้ยังต้องมีมาตรการอื่นๆ เช่น การจัดให้มีการสวมอุปกรณ์ปกป้องระบบหายใจที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยและเหมาะสมกับปริมาณฝุ่นที่ฟุ้งกระจาย ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในการใช้งานตามสภาพร่างกายผู้สวมใส่อีกด้วย รวมทั้งขนาดของอุปกรณ์ก็เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารขณะทำงาน ขาดการยอมรับการใช้จากผู้สวมใส่เพราะทำให้ร้อน อึดอัด ต้านทานการหายใจฯลฯ ต้องสวมใส่ชุดปกปิดร่างกายทั้งหมด ต้องมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดทำงานเป็นพิเศษ ต้องจัดขั้นตอนของงานให้เหมาะสมกับการลดการปนเปื้อน

มีการโต้แย้งว่าการใช้สารทดแทนทำให้สินค้ามีคุณภาพที่ไม่ดีและมีราคาสูงกว่า

บางบริษัทเปลี่ยนมาใช้ Polyvinyl alcohol (PVA) แต่ก็ยังสามารถขายในราคาเดิมได้ มีสารทดแทนอย่างอื่นที่ทนทานต่อแรงกระแทกสูงกว่าการใช้แอสเบสตอสสารทดแทนที่เหมาะสม นอกจากจะไม่ได้ทำให้สินค้าด้อยคุณภาพแล้ว ยังเพิ่มจุดเด่นเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มอีกด้วย เช่น กระเบื้องแผ่นเรียบใยหินจะไม่มีคุณสมบัติดัดโค้งได้รูปแบบที่ต้องการเหมือนกระเบื้องแผ่นเรียบไร้ใยหินที่ใช้เส้นใยทดแทนชนิดอื่น

สำหรับในเรื่องคุณภาพสินค้า สินค้าประเภทเดียวกันชนิดที่มีใยหินกับชนิดที่ไม่มีใยหิน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะกำหนดคุณลักษณะที่แตกต่างกัน แต่มิได้ด้อยคุณภาพในการใช้งานจนนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้หรือไม่คุ้มค่า โดยมีคณะอนุกรรมการวิชาการกำหนดมาตรฐานการผลิตให้เหมาะสมและมีความปลอดภัยในการใช้งาน

มีการโต้แย้งว่า สารทดแทนแอสเบสตอสทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน

ข้อมูลเท่าที่มีในปัจจุบันพบว่า สารทดแทนใยหินมีอันตรายน้อยกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นใช้ประโยชน์จะสามารถควบคุมการผลิตให้ได้ตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน การควบคุมคุณสมบัติของสารทดแทนจึงอยู่ภายใต้การควบคุมที่สามารถจะกระทำได้

สารใดๆ ก็อาจก่อโรคได้ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง รุนแรงหรือร้ายแรงต่างกัน โดยอาจมีปริมาณที่ได้รับเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง สารที่ถูกนำมาใช้แทนสารที่ก่อมะเร็งหรือสารที่มีความเป็นพิษสูงทั้งหลาย ต้องไม่ใช่สารก่อมะเร็งและต้องมีความเป็นพิษน้อยกว่า

มีข้อสงสัยว่า ทำไมจึงไม่มีการยกเลิกสินค้าที่มีอันตรายอื่นๆ ด้วย

สินค้าที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบในการผลิต ถ้าอยู่ในรูปที่ Enclosed ในสภาพการใช้งานปกติไม่มีโอกาสหรือมีโอกาสน้อยมากที่จะทำให้เส้นใยของแร่ใยหินฟุ้งกระจายได้ สินค้าชนิดนั้นๆ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องควบคุม การที่มีการเลือกสินค้าเพื่อการควบคุมตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการฉลากก็เพราะเป็นสินค้าที่ในสภาพการใช้งานปกติมีความเสี่ยงต่อการทำให้เส้นใยฟุ้งกระจายได้ ไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนของการติดตั้งหรือการเสื่อมสภาพจากการใช้งาน ก็ตาม หากยังไม่สามารถหาสารทดแทนที่ปลอดภัยกว่า ก็อาจจะต้องใช้สารที่ก่อมะเร็งดังกล่าวในการผลิตสินค้าที่จำเป็นนั้น

มีการโต้แย้งว่า แม้ว่าจะต้องการเปลี่ยนเป็นสินค้าที่ไม่มีแอสเบสตอส แต่ก็ไม่มีเทคโนโลยีที่จะใช้ในการปรับเปลี่ยน

ในด้านการส่งเสริมวัสดุทดแทน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการส่งเสริมการค้นคว้าและการใช้วัสดุทดแทนแร่ใยหินในภาคธุรกิจ เช่น สวทช.ให้ความร่วมมือในการพัฒนาการผลิตผ้าเบรค โดยร่วมมือกับบริษัทเอเชียคอมแพค นอกจากนี้มีการส่งเสริมการใช้กระเบื้องซีเมนต์เส้นใยเพื่อการทดแทนและเสนอผลทดสอบที่ชี้ให้เห็นว่ากระเบื้องซีเมนต์เส้นใยไม่ได้ด้อยกว่ากระเบื้องแร่ใยหิน ทั้งการต้านทานการรั่วซึม การทนแรงกระแทก การทนร้อนทนฝน แต่กระเบื้องแร่ใยหินจะทนทานกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้เทคโนโลยีการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนแร่ใยหินในปัจจุบันรุดหน้าไปมากแล้ว ซึ่งสามารถศึกษาได้จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

อนุสัญญารอตเตอร์ดัมเป็นอุปสรรคในการยกเลิกการใช้แอสเบสตอสหน่วยงานบางแห่งให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ไม่ยกเลิกเพราะอนุสัญญารอตเตอร์ดัม (อนุสัญญาทางการค้า) ยังยอมให้ใช้เพราะไม่ได้กำหนดอยู่ในบัญชีรายชื่อให้เป็นสารอันตราย หากประเทศไทยอ้างสารบางตัวที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงระหว่างประเทศอาจถูกฟ้องร้องว่าเป็นการกีดกันทางการค้าได้ กรณีนี้ประเทศไทยอาจยกเลิกโดยใช้แผนนโยบายด้านความปลอดภัยได้ส่วนหนึ่งเป็นอุปสรรคแต่สารเคมีที่ถูกห้ามใช้ทุกชนิดไม่ใช่ต้องอยู่ในรายชื่อสารเคมีที่ถูกควบคุมตามอนุสัญญานี้ สารเคมีใดในภาคอุตสาหกรรมที่ถูกห้ามใช้ จะอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายเป็นหลักอนุสัญญารอตเตอร์ดัมว่าด้วยการยินยอมเมื่อได้รับแจ้งล่วงหน้า มีวัตถุประสงค์คือการส่งเสริมความร่วมมือและความรับผิดชอบระหว่างประเทศในเรื่องการค้าสารเคมีอันตรายต้องห้าม หรือจํากัดการใช้อย่างเข้มงวดโดยให้อํานาจประเทศนําเข้าปฏิเสธการรับสารเคมีอันตรายที่ส่งมาได้ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2544 ให้ประเทศไทยให้ภาคยานุวัติสารในอนุสัญญารอตเตอร์ดัม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้มีอํานาจของรัฐ (Designated National Authority: DNA) ด้านสารเคมีอุตสาหกรรม นอกนั้นจะมีกรมวิชาการเกษตร เป็น DNA ด้านสารเคมีทางการเกษตร และกรมควบคุมมลพิษเป็น DNA ด้านสารเคมีอื่นๆ

ดังนั้นการตัดสินใจในเรื่องของแร่ใยหินจึงอยู่ในอำนาจของกรมโรงงานอุตสาหกรรม UNEP และ FAO ได้กําหนดรายชื่อสารเคมีที่ถูกควบคุมภายใต้อนุสัญญารอตเตอร์ดัมไว้จนถึงพฤษภาคม 2548 มี 41 ชนิด จําแนกเป็นสารเคมีป้องกันกําจัดศัตรูพืชและสัตว์ (pesticides) 24 ชนิด สูตรผสมของสารเคมีป้องกันกําจัดศัตรูพืชและสัตว์ (pesticide formulations) ที่เป็นอันตรายอย่างร้ายแรง 6 ชนิด และสารเคมีอุตสาหกรรม (industrial chemicals) 11 ชนิด และแร่ใยหินทั้ง 5 ชนิด เป็นสารเคมีที่ปรากฏอยู่ในบัญชีรายชื่ออนุสัญญานี้ จึงเป็นเหตุผลที่อ้างได้ว่า ไครโซไทล์ ยังคงเป็นสารเคมีที่ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นสารเคมีต้องห้ามหรือจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด นอกจากนั้น คณะกรรมการวัตถุอันตรายยังจัดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 คือการผลิต การนำเข้า การส่งออกการครอบครองต้องได้รับอนุญาต ทำให้มีการกล่าวอ้างได้ว่าไครโซไทล์ไม่ได้เป็นสารเคมีอันตรายร้ายแรงอย่างที่เข้าใจ ซึ่งความจริงแล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงเฉพาะในด้านการค้าเท่านั้น

ที่มา

แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอบคุณรูปภาพจาก http://thaipublica.org

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: