'สื่อ'ในสายตาคนสอนสื่อ : ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล

เพ็ญนภา หงษ์ทอง มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ 25 ก.พ. 2557


เจ้าของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก Journalism and the Path to Peace in The South of Thailand มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย และผู้แปล การสื่อข่าวที่ไหวรู้ต่อความขัดแย้ง (Conflict Sensitive Journalism : A Handbook) ถึงมุมมองต่อการทำงานของสื่อในปัจจุบัน และโอกาสที่สื่อมวลชนไทยจะพัฒนาสู่การเป็น Peace Journalism

MIO : สถานการณ์การเมืองทำให้มีสื่อที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เช่น Blue Sky หรือ Asia Update ที่วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งชัดเจนเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง มองตรงนี้อย่างไร คิดว่าสื่อประเภทนี้คือสื่อมวลชนที่ควรต้องเคารพจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อหรือไม่อย่างไร

วลักษณ์กมล : ในความเป็นจริงการที่สื่อเป็นเจ้าของโดยกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผลกระโยชน์ทางการเมืองนั้น ไม่ได้เพิ่งมีขึ้นไม่ว่าจะเป็นสังคมไทยหรือสังคมโลก กรณีในอดีตของสังคมไทยสื่อบางองค์กรก็เป็นเจ้าของโดยและก่อตั้งโดยนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์สยามรัฐในอดีต ที่มีเจ้าของและผู้ก่อตั้งคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม หรือหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นเจ้าของ อย่างไรก็ตาม คงเพราะสถานการณ์การเมืองช่วงก่อนหน้านี้ไม่ได้มีความขัดแย้งแบ่งฝักฝ่ายกันอย่างชัดเจนเช่นปัจจุบัน การโน้มเอียงของเนื้อหาในการนำเสนอของสื่อเหล่านั้นจึงยังไม่เห็นชัดเจน แต่หากพิจารณากันจริง ๆ สื่อเหล่านี้ก็มีการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของ และไม่นำเสนอประเด็นที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์หรืออยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับกลุ่มการเมืองที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอยู่แล้ว

ประเด็นเรื่องของการก่อตั้งสื่อเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง กับสื่อที่มีกลุ่มการเมืองเป็นเจ้าของ ก็อาจจะมีความเหลื่อม ๆ กันและเจตนาอาจไม่เหมือนกันทีเดียว อย่างไรก็ตามหากจะประกาศสถานะว่าคือสื่อมวลชน ซึ่งหมายถึงสื่อที่เป็นสื่อกลางของข้อมูลข่าวสารเผยแพร่ต่อสาธารณชน ก็มีต้องมีเกณฑ์มาตรฐานจริยธรรมที่คุณต้องยึดถืออยู่ โดยเฉพาะเรื่องการไม่เสนอข้อมูลเท็จ หรือข้อมูลกล่าวร้ายผู้อื่น เป็นต้น แม้ว่าการเปิดเผยอย่างชัดแจ้งว่าคุณเป็นสื่อของฝ่ายไหนจะทำให้ผู้รับสารใช้วิจารณญาณในการที่จะเลือกเชื่อหรือเลือกรับข้อมูลได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณมีสิทธิที่จะใช้มันในฐานะสื่อเพื่อทำลายล้างขั้วตรงข้าม

MIO : สื่อมวลชนกระแสหลักที่จุดกำเนิดไม่ได้เกี่ยวพันกับองค์กรทางการเมืองใด ๆ แต่ในสถานการณ์การแตกแยกทางความคิดทางการเมือง มีการนำเสนอข่าวที่แสดงให้เห็นถึงจุดยืนทางการเมืองของตนเองอย่างชัดเจน โดยแสดงออกทั้งทางสารที่นำเสนอในสื่อ และการออกไปมีบทบาทในกิจกรรมการเมืองของฝ่ายที่ตนเองสนับสนุน คิดว่าสิ่งเหล่านี้เกินขอบเขตของเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อหรือไม่

วลักษณ์กมล : ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชนจะใช้สถานภาพความเป็นสื่อมวลชนของตนเองไปแสดงออกทางการเมือง แน่นอนว่าทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออกทางเมือง แต่เมื่อเลือกที่จะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ต้องพยายามที่จะไม่ให้มันปะปนกับการทำงานความเป็นสื่อ เพื่อที่จะต้องเปิดโอกาสให้กับทุกฝ่ายความขัดแย้งมีพื้นที่ยืน หรือมีช่องทางในการสื่อได้อย่างเป็นธรรม กรณีแบบนี้จะไม่เป็นปัญหากับสื่อประเภทที่ผู้รับสารไม่รู้จักหน้าค่าตา เช่น ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักผ่านหน้าจอ คุณค่อนข้างจะได้เปรียบในการออกไปเคลื่อนไหวสนับสนุนคนที่คุณเชื่อมั่นในแนวทางของเขา เพียงแต่ต้องระมัดระวังไม่ชี้นำความคิดเห็นของสาธารณะโดยผ่านสื่อที่คุณมีในมือ ไม่ว่าจะเป็นสื่อเครือข่ายสังคมต่าง ๆ หรือในเวบไซต์ส่วนตัวที่แสดงชื่อหรือสถานะความเป็นสื่อ ในกรณีของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อที่เป็นที่รู้จักผ่านจอหรือผ่านสื่ออื่นๆ นั้น คุณก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะต้องไม่ให้การแสดงออกของคุณกลายเป็นการชี้นำให้คนอื่นคิดหรือเห็นคล้อยตาม ขอยืนยันว่าเมื่อคุณเลือกที่จะประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน คุณก็ต้องยอมรับสถานะของการถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองบางอย่าง ที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือได้ของความเป็นสื่อ

MIO : หากย้อนไปเทียบกับสื่อประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา ที่จะมีการประกาศชัดถึงจุดยืนทางการเมืองของตน ในช่วงเลือกตั้งอย่างชัดเจนว่า สนับสนุนพรรคการเมืองใด เพื่อประกอบการใช้วิจารณญาณของประชาชนในการเสพข่าวของกองบรรณาธิการ คิดว่าการเลือกข้างของสื่อไทยกับสื่อตะวันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

วลักษณ์กมล : การ endorsement หรือว่าการประกาศการสนับสนุนพรรคการเมืองของสื่อในต่างประเทศแตกต่างจากการเป็นสื่อเลือกข้างอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้อย่างชัดเจน การ endorsement เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งที่สื่อพิจารณาเห็นว่าว่านโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมในภาพรวม ซึ่งการประกาศดังกล่าวมีพื้นที่ชัดเจนในการประกาศจุดยืนเป็นความเห็นที่นำเสนอในนามขององค์กร คล้าย ๆ กับความเห็นในบทบรรณาธิการ ในขณะเดียวกันหน้าที่ในการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง สมดุล และเที่ยงธรรม ต่อผู้สมัครหรือต่อพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งยังคงเป็นไปตามปกติ ตามมาตรฐานทางวิชาชีพขององค์กรสื่อมวลชนนั้น ๆ ซึ่งนี่ไม่ใช่ภาพที่เราเห็นในปรากฏการณ์สื่อเลือกข้างของเหตุการณ์ในสังคมไทย

MIO : ครั้งหนึ่งนักวิชาการด้านสื่อมองว่าสื่อไม่ควรเป็นแค่กระจกสะท้อนสังคม แต่ควรเป็นตะเกียงส่องนำทางให้สังคมด้วย สถานการณ์ปัจจุบัน ประโยคนี้ยังใช้ได้ไหม หากใช้ได้ ตะเกียงนั้นควรมีคุณสมบัติเช่นไร การเลือกข้างของสื่อกระแสหลักปัจจุบัน ใช่การทำหน้าที่ตะเกียงหรือไม่

วลักษณ์กมล : ข้อนี้ขอไม่ตอบ เพราะไม่ว่าจะใช้คำว่ากระจกหรือตะเกียง เวลาเอามาพูดหรือวิจารณ์กันก็นิยามและเปรียบเทียบกระจกหรือตะเกียงเอาตามที่ตัวเองอยากให้เป็นหรือให้เข้ากับแนวโน้มความเชื่อของตัวเอง ซึ่งไม่มีมาตรฐานเดียวกัน

MIO : นิยามว่าสื่อต้องเป็นกลางยังสามารถใช้ได้กับบริบทสังคมยุคปัจจุบันหรือไม่

วลักษณ์กมล : ขึ้นอยู่กับว่านิยามความเป็นกลางว่าอะไร การใช้คำว่าความเป็นกลางในภาษาไทยอาจสร้างความสับสนว่าพวกเป็นกลางคือไม่สนว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว จะขออยู่ตรงกลาง ๆ เทา ๆ ไม่ตัดสินใจ แต่ในความเป็นจริงที่มาของจริยธรรมสื่อมวลชนในข้อนี้ มาจากตำราของฝรั่งที่ใช้คำว่า objectivity หรือคำว่า impartiality ซึ่งหมายถึงการยึดข้อเท็จจริงภายนอก โดยไม่ใส่ความเป็นตัวตนของเราเข้าไปในการทำงานวิชาชีพสื่อ ความเป็นตัวตนหรืออัตตาของเรา เป็นอคติ เป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นความรู้สึกชาตินิยม หรืออุดมการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ที่เราถูกปลูกฝังมา นี่คือความเป็นกลางในความหมายที่ตนเองคิดว่าสื่อมวลชนต้องยึดมั่น และที่จะต้องประกอบไปด้วยกับ objectivity ก็คือ ความเป็นธรรม หรือ fairness ซึ่งเป็นภาวะที่เราไม่มีความลำเอียงและเปิดกว้างต่อความคิดเห็นที่แตกต่างกัน รวมทั้งสิ่งที่เราเรียกว่าความสมดุล หรือ balance ซึ่งเป็นการถ่วงดุลของข้อมูลที่แตกต่างหลากหลายให้มีพื้นที่การนำเสนออย่างกว้างขวาง ก็ยังเป็นองค์ประกอบอีกประการที่ต้องควบคู่กันเสมอในการทำงานของสื่อมวลชน

MIO : ฐานะนักวิชาการด้านสื่อ คิดว่าบริบทสังคมและการทำงานของสื่อในปัจจุบัน มีผลต่อการผลิตนักข่าวรุ่นใหม่หรือไม่ อย่างไร จุดที่คิดว่าเป็นปัญหาที่สุดในการทำหน้าที่ของสื่อในปัจจุบัน

วลักษณ์กมล : แน่นอนว่าในการผลิตนักข่าวหรือคนที่จะไปเป็นสื่อมวลชนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่เพียงแต่ปัจจุบัน แต่มันก็เป็นมาตั้งแต่ไหนแต่ไรที่จำเป็นต้องประยุกต์ใช้สถานการณ์ปัจจุบันในการอธิบายควบคู่ไปกับทฤษฎีหรือแนวคิดที่มีมาแต่ดั้งเดิม จากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น เราจะเห็นว่าทฤษฎีวารสารศาสตร์แบบดั้งเดิมนั้นเริ่มที่จะอธิบายปรากฏการณ์ไม่ได้อย่างครอบคลุมอีกต่อไป เช่น ทฤษฎีบรรทัดฐานของสื่อมวลชน ที่แบ่งประเภทของสื่อมวลชนตามระบอบการปกครอง แต่ในปัจจุบันการทำหน้าที่ของสื่อในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจนอาจไม่สามารถใช้กรอบของระบอบการปกครองมาอธิบายได้อีกต่อไป เหตุเพราะการตีความรูปแบบของการปกครองก็แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การเมืองในแต่ประเทศ รวมทั้งทฤษฎีบทบาทหน้าที่ของสื่อมวลชน ทฤษฎีผู้เฝ้าประตูข่าวสาร ที่มุ่งหวังการทำหน้าที่หลักด้านข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนนั้น ก็ถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่าบทบาทหน้าที่แบบดั้งเดิมนั้น ที่เป็นการให้ข้อมูลข่าวสาร นำเสนอความคิดเห็นเห็น และวิเคราะห์ตีความเหตุการณ์นั้นเพียงพอหรือไม่กับสังคมปัจจุบัน นอกจากนี้ หลักการประเมินคุณค่าข่าวที่ใช้องค์ประกอบของเหตุการณ์ในลักษณะต่าง ๆ มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าจะเลือกเหตุการณ์ใดมาเป็นข่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์ประกอบในเชิงลบนั้น ก็กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ควรจะได้รับการทบทวนการทำหน้าที่ของสื่อหรือไม่

ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องปฏิรูปและเน้นย้ำกันมากขึ้นกับการเรียนการสอนด้านสื่อในปัจจุบัน คงไม่เพียงแต่เรื่องของการหลอมรวมของเครื่องมือ สื่อ และช่องทางการสื่อสาร แต่เป็นเรื่องของแนวคิดทฤษฎีที่จะเป็นกรอบในการทำงานของสื่อในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองของสื่อมวลชน ที่ในอดีตเป็นเพียงแค่ทฤษฎีเสริมสำหรับการศึกษาการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน แต่ในปัจจุบันนี้เป็นกรอบที่สำคัญในการวิเคราะห์และสามารถนำไปสู่การออกแบบการทำงานของสื่อในยุคใหม่ ที่มีปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวพันกันจนแยกไม่ออก แม้ว่าแนวคิดนี้จะเป็นเพียงกรอบในการวิเคราะห์ โดยไม่มีแนวปฏิบัติในการทำงานของสื่อ แต่มันต้องมีการถ่ายทอดและฝึกฝนให้นักศึกษาใช้แนวคิดนี้ร่วมกับแนวคิดเชิงปฏิบัติสมัยใหม่อื่น ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานในการทำงานด้านข่าวที่สอดรับกับสภาพการณ์ปัจจุบันมากขึ้น ดังเช่น กรณีของแนวคิดพื้นที่สาธารณะ ซึ่งต้องนำมาใช้เป็นองค์ความรู้ในการพัฒนานักศึกษาและคนทำงานด้านนี้ให้มากขึ้น เป็นบทบาทของสื่อที่ผู้ประกอบวิชาชีพในปัจจุบันยังไม่ค่อยตระหนักและให้ความสำคัญกันมากนัก รวมไปถึงแนวคิด peace and conflict resolution journalism ก็ควรจะถูกนำมาขยายความสำคัญและพัฒนาไปสู่การปฏิรูปแนวคิดการประเมินคุณค่าข่าวในปัจจุบันของสื่อ

ปัญหาที่สำคัญของสื่อในปัจจุบันก็คือ มันมีสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า และจะทวีความรุนแรง รวมทั้งเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่องค์ความรู้ของคนทำงานข่าวยังอยู่ที่เดิม ความอลหม่านก็เกิดขึ้น เพราะแนวคิดหรือทฤษฎีใด ๆ ที่เคยใช้เป็นกรอบในการทำงานมันเริ่มไม่ fit กับการทำหน้าที่มากขึ้นเรื่อย ๆ

MIO : ความเป็นไปได้ที่จะเกิด peace journalism ที่แท้จริงในประเทศไทย ท่ามกลางบริบททางการเมืองปัจจุบัน

วลักษณ์กมล : ในฐานะนักวิชาการคงตอบไม่ได้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะปัจจัยภายในที่สำคัญที่จะทำให้มันเกิดได้หรือไม่นั้น อยู่ที่องค์กรสื่อ ผู้บริหารสื่อ และตัวผู้ประกอบวิชาชีพเอง เพียงแต่เราบอกว่า นี่คือแนวทางหนึ่งที่จะช่วยปฏิรูปการทำงานของสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งให้สร้างสรรค์มากขึ้น การเกิดขึ้นไม่จำเป็นว่าองค์กรสื่อจะต้องเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ เปลี่ยนแปลงแบบเทกระจาด คือละทิ้งของเก่าทั้งหมด มาใช้ของใหม่ เป็นเพียงการเปิดใจกว้างรับแนวคิดนี้เข้ามาพัฒนาแนวทางการทำงานสื่อข่าวให้มันรอบด้านและสร้างสรรค์มากขึ้น

และในความเป็นจริงแนวคิด peace journalism มันเป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงจากส่วนย่อยที่สุดในกระบวนการเส้นทางเดินของข่าว นั่นคือ ตัวผู้สื่อข่าวเอง เป็นความพยายามเสนอที่จะให้มีการเพิ่มพูนความรู้ การติดอาวุธทางความรู้ให้กับผู้สื่อข่าวมากขึ้น โดยเฉพาะความรู้ที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ความขัดแย้ง และทฤษฎีสันติภาพต่าง ๆ แล้วค่อย ๆ ขยับเป็นคลื่นกระทบฝั่งขึ้นไปถึงโครงสร้างการทำงานขององค์กร แนวคิดการบริหารสื่อ ซึ่งโครงสร้างส่วนบนเหล่านี้ดูจะเปลี่ยนไปได้ช้าและยากที่สุด แต่ระหว่างที่เรารอการปรับปฏิรูปตรงนั้น ในส่วนปัจเจกก็เปลี่ยนไปได้ก่อน และมันจะกระทบไปสู้ถึงฐานบนในที่สุด นี่โดยหลักการ แต่จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของคนทำสื่อในเมืองไทยว่าเขาเห็นความสำคัญของแนวคิดแบบที่ว่านี้หรือไม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: