แก้เฒ่าไร้สัญชาติอืด ปธ.กมธ.วอนผ่อนปรน ให้เห็นแก่มนุษยธรรม

25 ก.พ. 2557


เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา ที่โรงเรียนบ้านห้วยเอียน ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประชาชนกว่า 500 คนจาก 9 กลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ ม้ง เย้า ขมุ เมี้ยน ไทยลื้อ ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอเสียงแสน เทิง เชียงของ เวียงแก่น แม่ฟ้าหลวง และแม่จัน จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรรัฐ ได้จัดกิจกรรม “วันผู้เฒ่าไร้สัญชาติ แห่งลุ่มน้ำโขง” ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) เครือข่ายอนุครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา โดยมีนายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเวียงแก่น นายชาติชาย สงวนพงษ์ ปลัดจังหวัดเชียงราย ร่วมกล่าวเปิดงาน

นายอริยะ เพ็ชร์สาคร ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พชภ. กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง“การนำเสนอข้อมูลสภาพปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติด้านสถานะทางกฎหมายและสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการสังคม ข้อเสนอเชิงนโยบายและภาคปฏิบัติ ตอบคำถามโดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง”ว่า ปัญหาเรื่องสถานะบุคคลของประเทศไทย มีมานานและยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะการมุ่งไปในเรื่องขอสิทธิมนุษยชน ที่กลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวยังคง ถูกสังคมละเลย  ขาดความมั่นคงของชีวิต ทำให้ต้องอยู่อาศัยอย่างหวาดระแวง เกรงกลัว  แนวทางในการแก้ไขปัญหาจะต้องมีการเร่งดำเนินการเรื่องของระบบการทะเบียนราษฎร ดำเนินการเรื่องหลักฐานข้อมูลเพื่อพิสูจน์หาส่วนเกี่ยวข้องว่าอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐใด

ทั้งนี้สิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนต่อไปเรื่องบุคคลไร้สถานะในภาพรวม คือ 1.ควรที่จะให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสถานะบุคคลได้เข้ามาช่วยเหลือกลั่นกรองข้อเท็จจริงของผู้เฒ่าที่ประสบปัญหา ให้ชัดเจนอันเป็นการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐในการพิจารราตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต คอร์รัปชั่น 2.รัฐไทยโดยกระทรวงมหาดไทย ควรเร่งรัดในการออกแนวนโยบายในการพัฒนาสถานะของกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เพื่อให้เป็นแนวทางจัดการประชากรของผู้เฒ่ากลุ่มนี้ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ (พม.) ควรเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติโดยไม่จำเป็นต้องสร้างขั้นตอนอันเป็นภาระต่อการเข้าถึงสิทธิในความมั่นคงในชีวิตของผู้เฒ่ากลุ่มนี้ต่อไป

               “สำหรับประเด็นสุขภาพ นั้นกระทรวงสาธารณสุข ควรเร่งแก้ไขปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติในส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล ของกลุ่มผู้เฒ่าที่ถือบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (บัตรเลขศูนย์) เพื่อให้ผู้เฒ่าเหล่านั้นได้รับความรักษาดูแลในยามเจ็บป่วยอันไม่ส่งผลเป็นภาระต่อลูกหลานของผู้เฒ่าเหล่านั้นมากจนเกินไป

ด้านนายสุพจน์ เลียดประถม สมาชิกสภาวุฒิสภาฯ (ส.ว.) จังหวัดตราด และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภากล่าวว่า ปัญหาสถานะบุคคลเป็นปัญหาระดับนโยบาย การเดินหน้าของกระทรวง ทบวง กรมต้องทำตามกฎหมาย และกฎระเบียบสังคมที่ทำได้ยาก แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้ หากจะมองแค่ในระดับหลักสิทธิมนุษยชนนั้น คนกลุ่มนี้มีอุปสรรคเรื่องภาษาที่ไม่สามารถสื่อสารกับหน่วยงานของรัฐได้ กลุ่มพี่น้องประชาชนเองต้องลุกขึ้นมาขับเคลื่อนให้เป็นพลังส่วนหนึ่ง ส่วนภาครัฐก็ต้องผ่อนปรน อย่างเกณฑ์เรื่องอาชีพและรายได้เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องลดหย่อนบ้าง เพราะชาติพันธุนั้นส่วนมากยากจนไม่มีทรัพย์สิน

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวรายงานว่า สังคมปัจจุบันเรื่องความตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของคนไร้สัญชาติ ไร้สถานะทางบุคคล ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวต่อไป ทุกคน ทุกชาติพันธุ์ สมควรได้รับการเคารพด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้เฒ่าไร้สัญชาติ สังคมไทยควรมีนโยบายที่ผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของผู้เฒ่าตามสิทธิทางกฎหมายที่แต่ละคนควรได้รับ

นายนิวัฒน์กล่าวว่า อีกทั้งเรื่องของการส่งเสริมสิทธิในฐานะประชากรประเทศให้เข้าถึงสุขภาวะ สิทธิทางสุขภาพของผู้สูงอายุ รวมทั้งสวัสดิการสังคมตาม พรบ.ส่งเสริมสวัสดิการสังคม และ พรบ.ผู้สูงอายุแห่งชาติ พ.ศ.2546 ซึ่งจำนวนบุคคลที่มีปัญหาทางสถานะฯ จากการสำรวจข้อมูลของคณะผู้ปฏิบัติงานโครงการ พบว่าสามารถจำแนกได้เป็น 5 กลุ่มประเภทดังนี้ 1. กลุ่มผู้เฒ่าต่างด้าวอพยพเข้ามาอาศัยอยู่นานแล้ว: ขอสถานะเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมาย 2. กลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีพยานเอกสารระบุว่าเกิดในรัฐไทย 3. กลุ่มผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ (กลุ่มบุคคลตกหล่นจากทะเบียนราษฎร) 4. กลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่ถือบัตร แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ 5. กลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติ กรณีผู้เฒ่ามีสถานะต่างด้าวชอบด้วยกฎหมายรอแปลงสัญชาติเป็นไทย ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการจัดงานวันนี้จึงเป็นไปการติดตามสภาพปัญหา แนวทางแก้ไข ของบุคคลกลุ่มดังกล่าวโดยประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการทำหน้าร่วมกัน เพื่อพัฒนาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและลดอคติต่อชาติพันธุ์ต่างๆ

นางแทน ปั้นเยือง ชาติพันธุ์ขมุ อายุ 34 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า เดิมทีพ่อแม่ของตนเป็นชาติพันธุ์ขมุ อยู่ที่ลาว แต่พอพ่อมาค้าแรงงานที่ประเทศไทย ตนก็ตามมาด้วยพร้อมญาติ และรับจ้างทำไร่ ทำนา ต่อมาแต่งงานกับสามีชาวไทย อยู่บ้านห้วยเอียนนานกว่า 10 ปี มีลูก 2 คน แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถขอเลขประจำตัว 13 หลักได้ เพราะไม่กล้าไปดำเนินการที่อำเภอ แต่เมื่อทราบว่ามีการจัดบริการความรู้เรื่องกฎหมาย จึงเข้าร่วม โดยตั้งใจไว้ว่าจะขอเลข 13 หลักให้ได้ เพื่อจะได้เป็นภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีสิทธิรักษาพยาบาลในราคาถูกลง เพราะที่ผ่านมาการรักษาเริ่มที่ 1,000 บาทเสมอ

             “ถ้าไม่ได้เป็นคนไทยก็ขอเป็นแม่ของลูกที่มีสัญชาติไทย และมีสิทธิเดินทางไปทั่วไทยกับลูกบ้าง ถ้าเขาไปเรียนเราจะไปเยี่ยม แต่นี่ไม่กล้าไป เพราะมีแค่กระดาษใบขอเลขประจำตัวเท่านั้น ขอมา 1 ปีแล้วยังไม่ได้เลย แต่ครั้งนี้ว่าจะไปขอดูอีกที เพราะเราอยู่ไทยมานานตั้งแต่เด็ก ไม่เคยออกไปไหน แต่งงานก็อยู่แต่บ้านห้วยเอียน พอป่วยจึงได้ออกไปข้างนอก จึงอยากมิสิทธิเดินทางไปทุกที่บ้าง” นางแทน กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในภาคบ่ายภายในงานมีการจัดบริการคลินิกสุขภาพ และคลินิกกฎหมายเพื่อให้คนไร้สถานะ ฯ ได้ใช้สิทธิสามารถรักษาสุขภาพฟรี พร้อมทั้งสอบถามขั้นตอนการขอสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยทาง พชภ.และเครือข่ายได้จัดนักกฎหมายมือาชีพ พร้อมที่ปรึกษาด้านอื่น บริการตลอดวัน ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: