เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่อนุสรณ์สถานสึนามิบ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ได้มีการจัดงานรำลึก 10 ปีสึนามิ “บทเรียนภัยพิบัติ สู่การปฎิรูปนโยบาย” โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการ และการพบปะระหว่างเพื่อนอาสาสมัครไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีสะท้อนในแง่มุมต่างๆ
เวลา 14.00 น.ได้มีเวที “เรื่องเล่า เล่าเรื่อง สึนามิ” โดยผู้ร่วมเวทีประกอบด้วยผู้ประสบภัยสึนามิและอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยนางสุวดี สุขเกษม ชาวบ้านน้ำเค็ม กล่าวว่า ตนสูญเสียลูกชายไปกับสึนามิเพราะคว้าไว้ไม่ทัน และตัวเองก็ถูกคลื่นยักษ์ซัดไปจากฝั่งถึง 7 กิโลเมตร ต้องลอยคออยู่ถึง 6-7 ชั่วโมงจนกระทั่งมีเรือประมงที่อยู่นอกฝั่งไปพบ โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยลืมเหตุการณ์วันนั้นได้เลย แต่ชาวบ้านที่ประสบภัยก็พยายามช่วยกันเอง นั่งปรับทุกข์กันเองเพื่อให้มีชีวิตอยู่กันต่อไปได้ ทุกวันนี้ที่อยู่มาได้เพราะความสามัคคีของชุมชนบ้านน้ำเค็ม แม้ไม่มีเงินก็ยังมีข้าวกิน
“ถามว่ากลัวมั้ย มาถึงวันนี้คงไม่กลัวอะไรแล้ว เพราะเคยตายไปแล้วครั้งหนึ่ง เราเคยท้อแต่ไม่ถอยเพราะมีคนข้างหลังที่ยังต้องคอยดูแล แม้สภาพจิตใจของเรายัง50:50 แต่ครอบครัวเป็นพื้นฐานที่ดี พวกเราที่เคยโดนสึนามิมาแล้ว ไม่มีใครใจเต็มร้อยหรอก และยาก็รักษาไม่ได้ เราต้องรักษาตัวเองด้วยการสู้”นางสุวดี กล่าว
นายเตี๋ยน หาญทะเล ชาวมอแกลนชุมชนทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า กล่าวว่า หลังจากสึนามิมาและตนต้องสูญเสียแม่ไปนั้น ตนได้เดินหาศพจนท้อ แต่ยังต้องมีชีวิตเพื่อให้กำลังใจสำหรับคนที่ยังอยู่ ซึ่งต่อมาได้มีทหารมาช่วยปรับพื้นที่เพื่อสร้างบ้านที่ถูกคลื่นยักษ์พัดหายไปทั้งหลัง แต่ปรากฏว่ามีนายทุนมาอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน และไม่ยอมให้ทหารทำงานต่อ
“ตอนไม่เกิดสึนามิไม่เห็นมีใครมาอ้างกรรมสิทธิ์เลย แต่พอสึนามิมากลับอ้างความเป็นเจ้าของ ผมอยู่บนที่ดินผืนนี้มา 20 ปี สุดท้ายอีก 6 ปีต่อมาเราถึงได้บ้านเป็นของตัวเองเพราะแบ่งที่ดินกับนายทุนได้” นายเตี๋ยนกล่าว
ขณะที่นายแอนดี้ อาสาสมัครชาวอังกฤษ กล่าวว่า ตอนเกิดสึนามิตนนอนอยู่ในบ้านพักแห่งหนึ่ง โดยคลื่นยักษ์ทำให้ภรรยาเสียชีวิตและตนได้รับบาดเจ็บซึ่งภายหลังจากการกลับไปรักษาตัวที่อังกฤษอยู่ 7 เดือนได้ตัดสินใจกลับมาอีกครั้ง เพราะตอนโดนสึนามิตนได้รับน้ำใจและความช่วยเหลือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี
“การตัดสินใจกลับมาอีกครั้ง ซึ่งถือว่าถูกต้องมากเพราะทำให้ผมได้เห็นถึงความเข้มแข็งของชาวบ้าน ซึ่งมันทำให้ผมเข้มแข็งไปด้วย”นายแอนดี้กล่าว และว่าส่วนข้อเสนอแนะนั้น อยากให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมตัวและการซ้อมแผนหนีภัยอยู่เสมอ ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลเท่านั้น แต่ตัวชาวบ้านเองต้องเตรียมพร้อม
นายจำนงค์ จิตรนิรัตน์ อาสาสมัครจากมูลนิธิชุมชนไทกล่าวว่า เดินทางเข้าพื้นที่หลังจาก 4 วันที่สึนามิถล่มอันดามัน ซึ่งตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรก่อนดี แต่มีข้อเสนอจากเด็กหนุ่มที่ประสบภัยให้สร้างส้วมก่อน จากนั้นสร้างเต้นท์เพื่อให้ผู้ประสบภัยมารวมกัน สิ่งสำคัญคือให้ผู้ประสบภัยได้จัดระบบและดูแลกันเอง โดยในช่วง 1 เดือนแรกชาวบ้านน้ำเค็มสามารถตั้งหลักได้ด้วยการมีเพื่อนทั้งเรื่องการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการตามหาศพญาติพี่น้อง รวมถึงการประสานกับคนที่อยู่ห่างไกล
“เรื่องที่หนักสำหรับสึนามิที่เป็นปัญหามากกว่าที่อื่นคือเรื่องที่ดิน สึนามิเหมือนมาเปิดปัญหาที่หมักหมมมานาน เช่นเดียวกับชาวเลที่เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จักสักเท่าไหร่ แต่พอเกิดสึนามิ ทำให้รู้จักชาวเล โดยชาวบ้านพยายามเข้าไปอยู่ในพื้นที่แบบเดิม”นายจำนงค์กล่าว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ