สื่อละเมิด-ปกป้องสิทธิเด็ก 'ยูนิเซฟ'ระบุเมินเสียงเด็ก

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 25 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 4531 ครั้ง

ประไพพิศ มุทิตาเจริญ อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ เมื่อพ.ศ.2535 ส่งผลให้ต้องปฏิบัติตามเพื่อดูแลสิทธิเด็กให้เป็นจริง โดยเฉพาะสื่อมวลชนในฐานะ สะพานเชื่อมรัฐกับสังคม ขณะที่งานวิจัยยูนิเซฟระบุ สื่อเมินเสียงเด็ก ไม่อยากถูกใช้เป็นเครื่องหย่อนอารมณ์

ทำไม “สื่อ” ต้องแคร์เด็ก

ประไพพิศกล่าวถึงเหตุผลที่สื่อต้องให้ความสำคัญกับเด็ก เพราะสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะก่อให้เกิดบรรยากาศที่ต่อเอื้อต่อการ “คืนสิทธิให้เด็ก” ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง อีกทั้งสื่อมวลชนเป็นตัวกลางที่สามารถโน้มน้าวให้คนในสังคมสนใจเรื่องการละเมิดสิทธิ ที่เด็กพึงมีพึงได้ ตลอดจนสามารถกระตุ้นให้รัฐบาลและหน่วยงานอื่น ๆ ดำเนินนโยบายให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จนสามารถปรับปรุงชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นได้

สื่อไทย ส่งเสริม ป้องกัน หรือละเมิด สิทธิเด็ก

ประไพพิศเล่าย้อนถึงผลการศึกษาการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กผ่านสื่อมวลชน ปี พ.ศ.2552 พบว่าร้อยละ 36 ของข่าว ซึ่งรวมถึงเนื้อหาและภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ และร้อยละ 34 ของข่าวในโทรทัศน์ละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งงานศึกษาดังกล่าวได้จากการเก็บตัวอย่างการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็กจำนวน 1,485 ชิ้น จากหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยชั้นนำ จำนวน 3 ฉบับ เป็นเวลา 183 วัน และจากสถานีโทรทัศน์ 3 ช่องเป็นเวลา 30 วัน

ลักษณะการละเมิดสิทธิเด็กส่วนใหญ่ที่พบในสื่อ ที่นำมาศึกษามักมีลักษณะละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก โดยเปิดเผยเอกลักษณ์ตัวตนของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง หรือตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม อาทิ การเปิดเผยชื่อเด็ก หรือชื่อที่อยู่ของผู้ปกครอง อีกทั้งยังพบรูปแบบการละเมิดอื่น ๆ เช่น การใช้ภาษาหรือข้อความที่เร้าอารมณ์ สะเทือนใจแก่ผู้อ่าน

งานวิจัยยุโรปชี้สื่อเมินเสียงเด็ก

งานวิจัยของซาร่าห์ แม็คครัม และ พอล เบอร์นัล จากรายงานขององค์การยูนิเซฟ เรื่องสื่อกับเด็ก โดยศึกษากับเด็กจากทวีปยุโรป ตอนหนึ่งระบุเสียงสะท้อนของเด็กว่า ผู้ใหญ่มักจะชอบคิดว่าเด็กไม่รู้เรื่องอะไรเลย เช่น เรื่องการเมือง เมื่อเด็กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะถูกเตือนว่าให้อยู่นิ่งเสีย เพราะไม่รู้ว่ากำลังพูดถึงสิ่งใด ในขณะที่เด็กกลับคิดว่าผู้ใหญ่ไม่รู้ว่าเด็ก ๆ กำลังพูดถึงอะไร อีกทั้งยังประหลาดใจว่าเหตุ ใดผู้ใหญ่ที่เป็น”สื่อ” ไม่เคยสัมภาษณ์เด็ก

สะท้อนเสียงเด็ก ไม่อยากถูกใช้เป็นเครื่องหย่อนอารมณ์

แม้จะเป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันของสื่อว่า การรายงานข่าวประเด็นเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทว่าในทางกลับกัน มีสูตรสำเร็จบางประการที่สื่อมวลชนนิยมใช้เวลาทำงาน โดยหารู้ไม่ว่าเด็ก ๆ ไม่พอชอบเลยคือ การใช้ความเก็นของเด็กเป็นเครื่องหย่อนอารมณ์ การนำเด็กน่ารักมาใช้ในสื่อเพื่อดึงดูดความสนใจ หรือแม้กระทั่งใช้ภาพหรือคำบรรยายที่แสดงให้เห็นเด็ก ๆ ในสถานการณ์น่าเศร้าเพื่อเรียกน้ำตา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างความรู้สึกเคารพตัวเองแก่เด็กหรือความเคารพตัวเองที่ผู้ใหญ่ควรมีกับเด็กแม้แต่น้อย

กรณีของไทย ประไพพิศยกตัวอย่างข่าวเด็กชายโต๊ดและวลีสร้างชื่อ “เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่” โดยตั้งคำถามว่า การนำเสนอข่าวนี้เป็นการนำเด็กขึ้นมาหยอกล้อ เสียดสี ประชดประชันหรือไม่ ให้อะไรกับสังคม และได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีกรณีการนำเสนอภาพเด็กในม็อบ ซึ่งพบว่าสื่อเลือกฉายภาพให้เห็นว่าเด็กในม็อบแดงมีสถานภาพทางสังคม ครอบครัว และเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าเด็กในม็อบเหลือง เพื่อสื่อสารข้อมูลบางอย่างแต่อาจไม่ได้สะท้อนความจริงทั้งหมด

แนะสื่อฟังเสียงเด็ก

ทั้งนี้ข้อสรุปจากงานวิจัยระบุว่า สิ่งที่สื่อควรตระหนักเมื่อต้องรายงานประเด็นเกี่ยวกับเด็ก คือให้พึงระลึกว่าเด็กมีมุมมองที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ หลายเรื่องมีผลกระทบต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เช่น การศึกษา การถูกทารุณกรรม ซึ่งเด็กมักจะชอบฟังความคิดและและรับรู้ความรู้สึกของเด็กด้วยกันมากกว่า และจำต้องคิดเสมอว่าเด็กมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นและเข้าถึงสื่อ

อาจต้องกลับมาตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่สื่อ ในฐานะมนุษย์ตัวโตที่เป็นผู้ใหญ่ จะถือเป็นหน้าที่หนึ่งในการทำให้เสียงและความคิดของมนุษย์ตัวเล็กที่เป็นเด็ก สะท้อนออกไปสู่สังคม โดยไม่ถูกจำกัดพื้นที่หรือคุณค่าผ่านการทำงานของสื่อ เพราะนั่นหมายถึงการรักษาสิทธิของมนุษย์ตัวน้อยด้วยเช่นกัน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: