บนท้องถนนหรือในเมืองที่มีผู้คนมากมาย คนกลุ่มหนึ่งที่เรามักพบเห็นได้เป็นประจำ และคนส่วนใหญ่ตีตราว่าเป็น “คนบ้า” ด้วยเครื่องแต่งกายเนื้อตัวสกปรกมอมแมม หอบหิ้วข้าวของรุงรัง นั่งนอนไม่เป็นที่เป็นทาง รื้อคุ้ยหาอาหารตามถังขยะ ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมของคนเหล่านี้มีความแตกต่างกันไป บางคนเสมือนครุ่นคิด บางคนร้องเพลง บางคนนั่งตัดกระดาษ หวีผม บางคนนอนนิ่ง ๆ ตลอดเวลา เรามักสงสัยว่าคนเหล่านี้มาจากไหน เพราะอะไรจึงเป็นแบบนี้ ญาติพี่น้องหายไปไหน แล้วทำไมจึงไม่นำไปรักษาทั้งที่มีสภาพเหมือนคนป่วย และทำไมหน่วยงานของรัฐจึงไม่เข้ามาดูแลคนเหล่านี้บ้าง ทั้งหมดคือคำถาม
ทำไมจึงต้องเรียกว่า “ผู้ป่วยข้างถนน”
นายสิทธิพล ชูประชง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า แรกทีเดียวต้องนิยามให้ชัดเจนว่า ใครคือผู้ป่วย โดยทั่วไปจำแนกเป็นผู้ป่วยทางกายกับผู้ป่วยทางจิต และในบางรายถือทั้งสองสถานะ ซึ่งแนวโน้มส่วนใหญ่เป็นเช่นนั้น กรณีที่เป็นผู้ป่วยทางกาย เราสามารถเห็นได้ชัดเจน ผู้ป่วยมีลักษณะทางกายภาพ แสดงออกอย่างชัดเจน เช่น อาการบาดเจ็บตามร่างกายหรือทุพลภาพ ในขณะที่ผู้ป่วยทางจิต หากเขาไม่แสดงอาการทางจิตอย่างชัดเจน ผ่านการแต่งกาย หรือความผิดปกติอื่น ๆ อาทิ เหม่อลอย ยืนร้องเพลงกลางสี่แยกไฟแดง จะไม่สามารถทราบได้หากไม่เข้าไปพูดคุยและจับความผิดปกติจากบทสนทนา
นอกจากนี้นายสิทธิพลยังพบว่า ผู้ป่วยข้างถนนส่วนใหญ่ที่รับแจ้งต้นทางมักเป็นผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอยู่ก่อน และหายออกจากบ้านกลายมาเป็นผู้ป่วยข้างถนน
ด้าน นายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ให้นิยามผู้ป่วยข้างถนน (Mental patient in public) ผ่านคู่มือการทำงานกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หมายถึง ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่พลัดหลงออกจากบ้านมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จนกลายสภาพเป็น “คนเร่ร่อน” และรวมถึงคนเร่ร่อนไร้บ้านที่มีอาการผิดปกติทางสมองหรือทางจิต
จากการสำรวจของมูลนิธิอิสรชนในปี พ.ศ.2556 พบว่า มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจำนวน 3,140 คน แยกเป็นชาย 1,944 คน และหญิง 1,196 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยข้างถนน 683 คน คิดเป็น 22 เปอร์เซนต์ จากจำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะลดลงจากปีพ.ศ.2555 จำนวน 7 ราย
อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา
นายนทีกล่าวว่า สังคมไม่ได้มองการช่วยเหลือผู้ป่วยทางจิตว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะเกรงว่าผู้ป่วยทางจิตเหล่านั้น จะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนบริเวณใกล้เคียง ในทางกลับกันหากมองว่าคนที่สังคมบอกว่าบ้าเป็นผู้ป่วยคนหนึ่ง ชุมชนจะให้การดูแลไม่ใช่ส่งไปยังสถานสงเคราะห์ ซึ่งสังคมสอนเราตั้งแต่เด็กว่าอย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา ไม่แปลกที่เรามักมองผ่านพร้อมติดตราประทับ ‘คนบ้า’ โดยลืมไปว่าพวกเขาคือผู้ป่วยคนหนึ่ง
เครื่องมือที่ติดหล่ม
พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำหน้าที่วินิจฉัยลงความเห็นว่าบุคคลใดคือผู้ป่วย ตำรวจและเจ้าพนักงานปกครอง หากพบผู้ป่วยทางจิตต้องนำส่งแพทย์ และหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วย จึงจะได้รับการรักษาและถูกส่งต่อไปยังสถานสงเคราะห์ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นเช่นนั้น
นายนทีกล่าวว่า โดยส่วนมากเวลาพบผู้ป่วยข้างถนน มักแจ้งไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งสามารถปฏิเสธการร้องขอได้อย่างชอบธรรม เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ หากจะกระทำได้ต้องนำตำรวจหรือเจ้าพนักงานปกครองอื่นไปด้วย ในขณะที่บันทึกความเข้าใจ (MOU) กลับมอบหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยทางจิตให้กับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยข้างถนนไม่สามารถปฎิบัติงานโดยลำพัง หากปราศจากตำรวจและเจ้าพนักงานปกครอง
ทั้งนี้การที่ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 กำหนดว่า “ความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา” หมายความว่า สภาวะของผู้ป่วยซึ่งขาดความสามารถในการตัดสินใจ ให้ความยินยอมรับการบำบัดรักษาและต้องได้รับการบำบัดรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันหรือบรรเทามิให้ความผิดปกติทางจิตทวีความรุนแรง หรือเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือบุคคลอื่น ซึ่งต้องอาศัยแพทย์เท่านั้น ในการวินิฉัยว่าเป็นอันตรายหรือไม่ และหากได้รับการตอบกลับจากแพทย์ว่า ผู้ป่วยมีอาการปกติ ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและคนรอบข้าง ผู้ป่วยก็ต้องถูกนำมาไว้บนถนนดังเดิม
ด้าน ด.ต.เสถียร ทองสาย ผบ.หมู่งานป. พนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปเจ้าพนักงานจะไม่มีอำนาจในการจับกุมผู้ป่วยข้างถนน หากไม่สร้างความเดือดร้อนจนมีผู้ร้องเรียนให้นำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อรับแจ้งตนและเจ้าหน้าที่จะไปยังจุดเกิดเหตุ โดยประสานกับเจ้าหน้าที่กู้ภัย เพื่อเตรียมรถรอรับ จากนั้นจะนำตัวผู้ป่วยส่งต่อให้กับโรงพยาบาล
หลุดจากระบบสวัสดิการ
ขณะที่นายสิทธิพลกล่าวว่า ระบบสวัสดิการของไทยที่มีอยู่ขณะนี้ ครอบคลุมเฉพาะคนที่มีบัตรประกันตนรักษาสุขภาพ อาทิ บัตรทอง บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค แต่สิทธิในการรักษาอื่น ๆ จึงไม่เกิดผล เนื่องจากระบบสวัสดิการต่าง ๆ ในประเทศไทย ยังต้องอาศัยหลักฐานที่เป็นทางการจำนวนมาก โดยเฉพาะบัตรประชาชน ซึ่งผู้ป่วยข้างถนนเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ไร้สิทธิดังกล่าว
ชีวิตที่ถูก “นำส่ง”
นอกจากข้อจำกัดในทางกฎหมายที่ค่อนไปในทางยุ่งยากสลับซับซ้อน ผลดังกล่าวส่งถึงการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่ การทิ้งผู้ป่วยจึงมักเกิดขึ้นให้เห็นจนเป็นเรื่องปกติ
“แทบจะเป็นเรื่องปกติที่ผู้ป่วยข้างถนนถูกนำไปทิ้งห่างจากจุดรับแจ้ง ทันทีที่คุณทำตัวเป็นพลเมืองดีแจ้งตำรวจว่าพบคนบ้าแล้วได้รับการตอบรับว่าตรวจสอบแล้วไม่มีปัญหาหรือจัดการให้แล้วเรียบร้อยให้คิดเผื่อไว้เลยว่าถ้าไม่ถูกมองผ่านก็หมายความว่าคนบ้าถูกนำไปทิ้ง” นายนทีกล่าว
ขณะที่นายสิทธิพลระบุว่า ในช่วง 2 ปี นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของโครงการผู้ป่วยข้างถนน พบจำนวนผู้ป่วยถูกทิ้งแล้วกว่า 4 ราย เป็นการทิ้งในลักษณะของการรับแจ้งจากประชาชน แล้วนำผู้ป่วยย้ายจากจุดที่ได้รับแจ้งไปทิ้งในจุดที่ห่างจากจุดเดิม ปัจจัยหนึ่งคือโรงพยาบาลปฏิเสธที่จะรับการรักษา ด้วยเหตุผลผู้ป่วยข้างถนนไม่ใช่ผู้ป่วยที่ต้องนำส่งโรงพยาบาล
การติดตามที่ไร้ระบบ
ในกรณีที่ได้รับการตอบรับจากโรงพยาบาลที่นำส่ง โรงพยาบาลนั้น ๆ จะประสานเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทาง เช่น โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เมื่อรักษาจนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น สามารถบอกชื่อและรายละเอียดทางบ้านได้ โรงพยาบาลจะนำส่งตามที่อยู่ที่ผู้ป่วยแจ้ง กรณีที่เป็นผู้ป่วยไร้ญาติจะถูกนำส่งต่อที่สถานสงเคราหะห์ อาทิ สถานสงเคราะห์คนไข้โรคจิตทุเลา
“หลายครั้งก่อนปล่อยตัว โรงพยาบาลไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วยก่อนคืนสู่สังคม เช่น ไม่ตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่า สถานที่ที่รับแจ้งว่าเป็นบ้านผู้ป่วยนั้นมีอยู่จริงหรือรองรับผู้ป่วยได้หรือไม่ รายหนึ่งที่กลายเป็นกรณีศึกษาหลังส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญา หลังการรักษาโรงพยาบาลปล่อยตัวโดยให้เงินค่ารถกลับบ้าน ปรากฎว่าบ้านที่ผู้ป่วยไปอยู่กลายเป็นบ้านร้าง สุดท้ายก็กลับมาเป็นผู้ป่วยข้างถนนเหมือนเดิม” นายสิทธิพลกล่าว
ปลายที่ไม่ได้เลือกของทางผู้ป่วยข้างถนน
ไม่ใช่ผู้ป่วยทางจิตทุกรายไม่สามารถใช้ชีวิตเพียงลำพังได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลายทางของพวกเขาเมื่อถูกนำออกจากถนนมักจบลงที่สถานสงเคราะห์ ซึ่งนายนทีกล่าวว่า ไม่ใช่การจัดการที่ถูกต้อง ซ้ำยังเป็นการบั่นทอนความมีชีวิตชีวาของผู้ป่วยลง ด้วยข้อจำกัดของบุคลากร 1 คน ดูแลผู้ป่วย 40 คน จึงทำได้อย่างมากเพียงดูแลด้านปัจจัยพื้นฐาน จึงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดโรคซึมเศร้าตามมา สิ่งสำคัญคือชุมชนต้องทำความเข้าใจ มองผู้ป่วยเป็นคนที่ต้องร่วมกันดูและไม่ใช่คนบ้าที่เป็นปัญหาอีกต่อไป
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ