บทวิเคราะห์ : กำจัดระบอบทักษิณ (จริงหรือ)

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 25 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1588 ครั้ง

กองทัพและสื่อมวลชนกระแสหลักที่นิยมชมชอบระบอบเผด็จการทหารเป็นชีวิตจิตใจพยายามอธิบายว่าการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นการเข้ายุติความขัดแย้งระหว่างกลุ่มการเมืองสองฝ่ายที่ฝ่ายหนึ่งนำโดย พรรคประชาธิปัตย์และมวลชนของพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้ที่นำโดย คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของสุเทพ เทือกสุบรรณ และรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่มีคนสวมเสื้อแดงเป็นผู้สนับสนุนหลักอีกฝ่ายหนึ่ง แต่คำอธิบายแบบนี้ไม่น่าเชื่อถือและบิดเบือนความจริงอย่างมาก เพราะเห็นได้ชัดว่า การเมืองไทยนั้นไม่ได้จำกัดความขัดแย้งอยู่เฉพาะคนสองกลุ่มหลักนี้เท่านั้น และประการสำคัญกองทัพไม่ได้เป็นกลาง และไม่เคยเป็นกลางทางการเมืองเลยชั่วระยะเวลาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สิ่งที่กองทัพตัดสินใจดำเนินการเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม คือสิ่งที่บรรดาสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลเรียกร้อง คาดหวัง และรอคอยมาตั้งแต่พากันก่อหวอดต่อต้านรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โน่นแล้ว ซึ่งนั่นทำให้กองทัพกลายเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองแทนที่จะเป็นตัวกลางทางการเมืองที่ซื่อสัตย์เหมือนดังที่เฝ้าบอกใครต่อใคร (ทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอกว่าวาทกรรมนี้หลอกใครก็ไม่ได้ อย่างมากก็หลอกตัวเองแต่ก็ยังฝืนใจพูดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน)

สิ่งที่กองทัพทำคือการช่วยพรรคประชาปัตย์กำจัดศัตรู่คู่อาฆาตทางการเมืองของเขาแค่นั้น เป็นการสานต่อภารกิจแห่งความล้มเหลวที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน และสนธิ ลิ้มทองกุล ทำเอาไว้เมื่อปี 2549 นักโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองหลายคนออกโพนทะนาว่า รัฐประหารคราวนี้เยี่ยมยอดกว่าคราวก่อนร้อยเท่าพันประการ เพราะปิดช่องว่างแห่งความบกพร่องทั้งปวงเอาไว้หมดแล้ว และประการสำคัญดูเหมือนนักโฆษณาทางการเมืองเหล่านี้จะชื่นชมเป็นพิเศษคือ ผู้นำการรัฐประหารคนนี้จะมีความเด็ดขาดและเหี้ยมโหดกว่าคนก่อน หลายคนแสดงการดีใจอย่างออกนอกหน้าเมื่อกองทัพมีคำสั่งปิดกั้นสื่อสารมวลชนทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่สำนักงานที่พวกเขาทำอยู่ก็ตาม ราวกับมันเป็นเรื่องที่น่ายินดีเสียเหลือเกินที่นับต่อแต่นี้ไปพวกเขาจะได้ยุติบทบาทของสื่อสารมวลชนที่น่าเบื่อไปเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อสมใจอยากเสียที

แต่คำถามที่ปัญญาชนที่ทำตัวเป็นที่ปรึกษาและนักสื่อสารมวลชนที่ทำตัวเป็นกระบอกเสียงให้คณะรัฐประหารตอบไม่ได้คือ กองทัพจะทำตัวเป็นเผด็จการสุดขั้วเสมือนอยู่ในยุคทศวรรษ 1960-1970 ได้หรือ ในสภาพแวดล้อมการเมืองของโลกสมัยใหม่ ซึ่งระบบการเมืองและเศรษฐกิจสลับซับซ้อนกว่าเมื่อศตวรรษที่แล้วหลายเท่าตัวนัก

ประการแรกที่สุดเลย ชุมชนนานาชาติมีความเห็นอย่างเป็นเอกภาพว่า การรัฐประหารในประเทศไทยเป็นสิ่งที่รับไม่ได้แล้วในโลกยุคปัจจุบัน สหรัฐและสหภาพยุโรปนั้นมีกฎหมายบังคับเลยทีเดียวว่าจะต้องทบทวนความสัมพันธ์ใด ๆ ที่มีอยู่กับประเทศที่กองทัพใช้กำลังเข้ายึดอำนาจ รัฐบาลสหรัฐไม่ลังเลเลยที่จะประกาศยุติความช่วยเหลือทางทหาร 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐในทันที พร้อมทั้งยกเลิกกิจกรรมทางด้านความมั่นคงทั้งหมด ที่เจอก่อนเพื่อนเลยคือการซ้อมเตรียมความพร้อมของกองทัพเรือและนาวิกโยธิน (Cooperation Afloat Readiness and Training - CARAT) ที่กำหนดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ นอกจากนี้การฝึกอบรมทางด้านความมั่นคงอื่น ๆ แม้แต่ของตำรวจซึ่งไม่ได้เต็มใจเข้ารวมการรัฐประหารอะไรด้วยเลยก็ต้องได้รับผลกระทบด้วย

ปัญญาชนและนักสื่อสารมวลชนนิยมทหารส่วนหนึ่งออกแก้ต่างและปลอบใจว่า ความช่วยเหลือทางทหารที่สหรัฐมีให้ไทยนั้นเล็กน้อยมากคือประมาณ 1 ใน 3 ของความช่วยเหลือทั้งหมดที่สหรัฐมีให้กับไทย แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะรู้เรื่องความสัมพันธ์ต่างประเทศยุคใหม่น้อยเสียเหลือเกิน ประเทศไทยไม่ได้พึ่งพิงความช่วยเหลือของสหรัฐก็จริงอยู่ แต่เศรษฐกิจไทยนั้นยังผูกกับสหรัฐอยู่ไม่น้อย สหรัฐมีเครื่องมือทางกฎหมายมากมายที่จะลงโทษประเทศที่มีปัญหาทางด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ที่ชัดเจนที่สุดและกำลังเป็นประเด็นหนักอกระหว่างที่นักต่อต้านประชาธิปไตยไทยกำลังสนุกสนานกับการไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์คือ การพิจารณารายงานว่าด้วยการค้ามนุษย์ ซึ่งฐานะของประเทศนั้นง่อนแง่นมาก และที่สำคัญคือ กองทัพเรือทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ด้วย ถ้าฐานะของประเทศไทยในรายงานฉบับดังกล่าวตกลงจากขั้นสองเป็นขั้นสาม หมายความว่าประเทศไทยจะถูกลงโทษทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งนั่นจะช่วยซ้ำเติมเศรษฐกิจที่กำลังแสดงท่าทีว่าจะปักหัวลงแล้ว

ข้อโต้แย้งแบบศรีธนญชัยแบบว่า ทีอิยิปต์ทำไมสหรัฐสนับสนุนได้ ทีไทยทำไมไม่สนับสนุน สองมาตรฐานหรือเปล่า คำตอบคือใช่ ว่าอย่าว่าแต่สองมาตรฐานเลยสหรัฐมีหลายมาตรฐานกว่าที่คิดเสียอีก แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาเชิงศีลธรรมหรือมาตรฐานในการดำเนินนโยบายต่างประเทศสหรัฐแต่อย่างใด เพราะกรณีของไทยนั้นสหรัฐแสดงท่าทีมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า เหตุผลในการยึดอำนาจของทหารไทยนั้นไม่ชอบธรรม ปัญหาทางการเมืองไทยต่างจากอียิปต์และมีทางเลือกอื่น ๆ ให้เลือกใช้กันได้อยู่ ทำไมมาเลือกทางนี้ พูดให้ชัดคือสำหรับสหรัฐแล้ว “การเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่พวกท่านกลับทำให้มันเสีย”

ท่าทีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญต่อความพยายามเอาตัวอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรมาลงโทษด้วย การรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบนี้ทำให้คดีทั้งหมดของทักษิณและพวกกลายเป็นคดีทางการเมืองทั้งหมด และผู้ต้องหาคดีทางการเมืองล้วนแล้วแต่ได้รับความคุ้มครองจากประเทศที่นิยมประชาธิปไตยและไม่นิยมชมชอบต่อระบอบทหาร หมายความว่าจะไม่มีประเทศใดจับทักษิณส่งตัวมาให้คณะทหารในประเทศไทยลงโทษเด็ดขาด คำพูดทำนองว่าปล่อยให้ทักษิณตายในต่างประเทศไปเลยก็ได้นั้น เป็นคำพูดประชดโลกแบบคนสิ้นคิดที่มุ่งแต่ปลอบใจตัวเองไปวัน ๆ เท่านั้น เพราะ 7-8 ปีที่ผ่านมาน่าจะได้รู้กันแล้วว่า ทักษิณแผลงฤทธิ์ได้ขนาดไหน ประเทศไทยจะต้องลงทุนลงแรงอีกมากขนาดไหนเพื่อที่จะเอาคนอย่างทักษิณมาลงโทษได้ และที่สำคัญการรัฐประหารทำให้คนอย่างทักษิณซึ่งก็ไม่ได้มีชื่อเสียงที่ดีเท่าไหร่นักกลายเป็นนักประชาธิปไตยชั้นแนวหน้าของโลกไปเลยทีเดียว

ประการที่สอง ปัญหาโครงสร้างการเมืองภายในที่เปลี่ยนแปลงไปมากในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้กองทัพไม่สามารถทำตัวเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบอย่างยาวนาน ในแบบที่ปัญญาชนและนักสื่อสารมวลชนแนวฟาสซิสม์ทั้งหลายอยากให้เป็นได้ แม้มวลมหาประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะสบประมาทว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เชื่อมั่นว่ากองทัพไม่สามารถใช้กำลังปราบปรามให้พวกเขาหมดไปได้แน่ ๆ ต่อให้กองทัพไทยมีกำลังพลมากพอจะควบคุมประชากรแบบหนึ่งต่อหนึ่งได้ ก็ไม่มีทางกำราบพวกเขาให้อยู่หมัดได้ ครั้นจะใช้ปฎิบัติการจิตวิทยาเพื่อให้พวกเขาเหล่านี้หันมารักและชื่นชมกองทัพ ก็คงจะทำได้ยาก บาดแผลจากการปราบปรามคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ที่กองทัพร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ทำกันเอาไว้ ยังไม่ได้รับการเยียวยาเลย ยังไม่มีใครลืมเหตุการณ์ครั้งนั้นเลย มวลชนเสื้อแดงไม่ว่าจะนิยมหรือไม่นิยมทักษิณ มีความเห็นตรงกันอย่างหนึ่งคือ พวกเขาไม่นิยมทหารแน่นอน ทันทีที่มีการรัฐประหาร ประกาศเคอร์ฟิว ลิดรอนเสรีภาพ ก็มีคนทะยอยกันออกมาต่อต้านเกือบจะทันทีทันควัน สถานการณ์แบบนี้ต่อให้คสช.ไทยแปลงกลายเป็น สลอร์คพม่า ก็คงจะกำจัดคนต่อต้านไม่ได้หมด และถ้าต้องทำถึงขนาดนั้นใคร ๆ ในประเทศไทยก็คงต้องหันมาเป็นคนเสื้อแดงกันถ้วนหน้า

อำนาจเผด็จการทหารอาจจะทำลายกลไกของพรรคการเมืองได้ แต่ดูเหมือนจะทำลายโครงสร้างของสายสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับมวลชนพื้นฐานไม่ได้ในระยะยาว ขบวนการแม่ไก่ลูกไก่อย่างที่คณะรัฐประหารชุดก่อนสร้างเอาไว้ด้วยความหวังว่าจะทำให้มวลชนพื้นฐานของพรรคไทยรักไทย ซึ่งต่อมาเป็นพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยในที่สุดมาอยู่ข้างตัวนั้น ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะไม่สามารถอำนวยประโยชน์อะไรให้พวกเขาได้ในชีวิตจริง กองทัพตอบปัญหาเรื่องการขาดแคลนเงินทุน ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และความใฝ่ฝันที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นทัดเทียมกับคนในเมืองหลวงให้กับพวกเขาไม่ได้เลย

มาวันนี้กองทัพอาจจะมีอำนาจสั่งการให้กระทรวงการคลังเอาเงินไปจ่ายหนี้โครงการจำนำข้าวให้หมด ๆ ไปได้ แต่คำถามใหญ่คือ ทำอย่างไรกับฤดูกาลถัดไป ทำอย่างไรให้ข้าว ยางพาราและพืชผลเกษตรอื่น ๆทั้งหลายให้มีราคาที่ดีพอต่อความต้องการของเกษตรกรได้ มันเป็นปัญหาโลกแตกที่ใคร ๆ ก็ทำไม่ได้ ไม่เช่นนั้นนักวิชาการของทีดีอาร์ไอคงได้รางวัลโนเบลกันไปหลายคนแล้ว และยิ่งอำนาจดิบ ๆ แบบทหารก็ยิ่งทำไม่ได้

นี่ยังไม่นับว่าระหว่างการประท้วง 6-7 เดือน ของมวลมหาประชาชนได้เปิดให้โลกเห็นความคิดพื้นฐานของชนชั้นสูงว่า พวกเขานิยมชมชอบความเหลื่อมล้ำในสังคมเพียงใด พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่กองทัพต้องเอาอกเอาใจเป็นพิเศษในช่วงนี้เพื่อให้เขาช่วยโฆษณา ค้ำจุนและสร้างความชอบธรรมให้กองทัพด้วย ดังนั้นอยู่ๆกองทัพจะผันทรัพยากรจากเมืองหลวงไปแจกเกษตรกร ซึ่งเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงเห็นทีจะยาก แต่หากทำไม่ได้ ก็มีแต่จะทำให้คนคิดถึงระบอบทักษิณกันทุกลมหายใจ เมื่อถึงคราวเลือกตั้ง ซึ่งมันคงจะต้องมีขึ้นแน่ ๆ ในเวลาไม่นานนี้ พวกเขาก็จะเลือกพรรคของทักษิณหรืออย่างมากสุดก็เลือกพรรคในแนวของทักษิณเข้ามาอีก การจะเอาปื้นจี้ให้เขาเลือกพรรคประชาธิปัตย์คงพอทำได้บ้าง แต่เชื่อได้ว่าคงไม่มากพอจะทำให้พรรคที่ขี้เกียจในการสร้างฐานมวลชนและไร้ความคิดสร้างสรรค์ชนะการเลือกตั้งได้เป็นแน่

การเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตลอดก็จริง แต่การเมืองแบบเลือกตั้งก็มีเวลานานพอที่จะพิสูจน์ให้คนทั่วไปเห็นว่า ประชาชนไทยจำนวนมากเริ่มเคยชินกับการเลือกผู้นำเองแล้ว ไม่ว่าผู้นำนั้นจะดีหรือเลว เก่งหรือไม่เก่ง โกงหรือไม่โกง ประชาชนย่อมสามารถรู้ได้และเรียกร้องสิทธิที่จะเลือกเอง ระบบการเมืองแบบคุณพ่อรู้ดี คอยสรรหาผู้บริหารประเทศที่ตัวคิดว่าดีมาให้ตลอดเวลานั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรับได้อีกต่อไปแล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: