แนะเก็บ‘ภาษีจากทุน’เพื่อความเป็นธรรม สองแพร่งพัฒนาตลาดทุน-ลดเหลื่อมล้ำ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 25 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2372 ครั้ง

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือที่เรียกกันแบบคุ้นปากว่า ตลาดหุ้น มีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจไทยสูงขึ้นทุกขณะนับตั้งแต่การถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 ตามหลักการ ตลาดหุ้นคือแหล่งระดมทุนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ ยิ่งการระดมทุนมีต้นทุนที่ต่ำเท่าใดก็ยิ่งถือว่ามีประสิทธิภาพเพียงนั้น ทั้งยังเป็นแหล่งการออม (ในรูปแบบการลงทุน) ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคาร

ทว่า ในทางปฏิบัติ ตลาดหุ้นไม่ใช่เพียงแหล่งระดมทุนหรือแหล่งลงทุน การเก็งกำไรไม่เคยหายจากตลาดหุ้นไม่ว่าที่ใดในโลก นักเก็งกำไรประเภทซื้อสายขายเย็นมีให้เห็นทั่วไป บ้างร่ำรวย แต่ส่วนใหญ่ไม่ผิดแมลงเม่าเข้ากองไฟ ถึงกระนั้น ตลาดหุ้นนับเป็นแหล่งแสวงหาเงินตราและแหล่งสะสมความมั่งคั่งของคนรวยเสมอมา ดังที่ประมาณ 20 ปีก่อนมีคำกล่าวว่า ‘คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น’

ปัจจุบัน ชนชั้นกลางที่ไม่อาจเรียกว่า คนรวย ก็หันเหเข้าแสวงหาความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็พอสันนิษฐานได้ว่า คนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนจนแน่นอน จึงอาจกล่าวได้ว่าตลาดหุ้นเป็นแหล่งขยายช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนสุดและคนรวยสุดให้กว้างขึ้น สิงหาคม 2555 ประเทศไทยมีบัญชีเงินฝากประมาณ 69 ล้านบัญชี บัญชีที่เงินฝากต่ำกว่า 50,000 บาท มีมากถึงร้อยละ 86.6 คิดเป็นเงินประมาณ 3.3 แสนล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 3.4 ของมูลค่าเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ถอยหลังกลับไปปี 2554 เพียง 24 ตระกูลมหาเศรษฐีหุ้นไทย มีหุ้นในมือรวมกันกลับมีมูลค่าถึง 2.66 แสนล้านบาท

การเก็บภาษีผลได้จากทุนหรือภาษีที่เรียกเก็บจากกำไรจากการขายหุ้น คือหนึ่งแนวคิดที่ต้องการใช้กลไกภาษีมาดูดซับความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นกระจายสู่สังคม บทเรียนจากการ พ.ต.ท.ทักษิน ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขายหุ้นชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็กมูลค่า 4.6 หมื่นล้านบาท โดยไม่เสียภาษี ซึ่งแม้จะถูกกฎหมาย แต่ก็นับเป็นตัวอย่างคลาสสิกอันเกิดจากการสะสมความมั่งคั่งในตลาดหุ้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องต้องห้ามของสังคมไทยที่ไม่มีใครอยากเอ่ยถึง และมีข้อโต้แย้งบางประการที่ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยเฉพาะคนในแวดวงตลาดหุ้นเหมือนจะมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าไม่ควรเก็บ ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกันอย่างไม่น่าเชื่อ

การไม่เก็บภาษีจากคนมีเงิน เป็นเรื่องผิดปกติ

การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กำไรที่ได้ไม่ต้องเสียภาษีเป็นกติกาที่มีมานานด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการจูงใจและส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น จุดนี้ถูกใช้เป็นช่องทางต่อยอดความร่ำรวยของเศรษฐีหุ้นไทยและคนมีเงินที่ต้องการแสวงหาผลตอบแทนจากการเก็งกำไรในตลาดหุ้น โดยการนำเงินซึ่งก็คือทรัพยากรอย่างหนึ่งมาแปลงเป็นหุ้น เมื่อมูลค่าของหุ้นที่ถืออยู่เพิ่มขึ้น ความมั่งคั่งก็เพิ่มตาม โดยที่ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าวิธีการนี้ให้ผลประโยชน์โดยรวมต่อสังคมมากกว่าการนำเงินไปลงทุนในด้านอื่น ในแง่หนึ่งการถือครองหุ้นจึงไม่ต่างกับการสะสมที่ดินเพื่อเก็งกำไร

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การศึกษาในต่างประเทศพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นว่าการยกเว้นการเก็บภาษีผลได้จากทุนจะช่วยให้เกิดการออมและการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล ผู้อำนวยการโครงการเศรษฐศาสตร์บัณฑิต ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ทำการศึกษาเรื่อง ‘การสำรวจองค์ความรู้ภาษีผลได้จากทุนในตลาดหุ้น และข้อเสนอสำหรับประเทศไทย’ จึงเห็นว่า ตลาดทุนไทยพัฒนามาถึงจุดหนึ่งแล้ว และถึงเวลาต้องทบทวนกติกาข้างต้น อย่างในกรณีอเมริกา การจัดเก็บภาษีในส่วนนี้แม้จะมีมูลค่าไม่สูงนัก ประมาณ 4-5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ภาษีทั้งหมดของรัฐบาล แต่ประเด็นหลักอยู่ที่การจัดเก็บลักษณะนี้สร้างความเป็นธรรมและยังสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่รัฐบาล

            “เราสังเกตเห็นความไม่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ เราเชื่อว่านักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไม่ใช่คนจน ในหลายประเทศ อเมริกาตั้งตลาดหุ้นมานาน นักลงทุนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลประโยชน์จากตลาดหุ้นก็ไม่ใช่คนจนเหมือนกัน ในแง่ความเป็นธรรม การยกเว้นภาษีที่จัดเก็บจากคนที่ไม่จน เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำและถือว่าผิดปกติ”

ขอบคุณภาพจาก http://board.postjung.com/data/737/737684-img-1389860744-1.jpg

ตลาดหุ้นไทยยังพัฒนาไม่เพียงพอ

ด้าน นายไพบูลย์ นลินทรางกูร คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และอีกหลายตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย กล่าวชัดเจนว่า ประเทศไทยยังไม่ถึงเวลาที่จะเก็บภาษีผลได้จากทุน โดยให้เหตุผลว่า การซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้มีแค่กำไร แต่ยังมีขาดทุน ถามว่าเมื่อกำไรจะเก็บภาษี แล้วตอนขาดทุนจะทำอย่างไร

เหตุผลประการที่ 2 ไพบูลย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นของไทยยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา จึงจำเป็นต้องขยายการลงทุน เพราะเมื่อดูการระดมทุนผ่านตลาดทุนจะเห็นว่ายังมีน้อย ขณะนี้บริษัทส่วนใหญ่ยังใช้การกู้สินเชื่อผ่านธนาคาพาณิชย์เป็นหลัก สอง-สัญญาณอีกประการหนึ่งคือเงินฝากในธนาคารพาณิชย์มีเป็นจำนวนมาก ขณะที่บัญชีซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มีประมาณ 1 ล้านบัญชี ถ้ารวมบัญชีที่เป็นกองทุนรวมอีกประมาณ 3-4 ล้านบัญชี ทั้งหมดมีเพียง 5 ล้านบัญชีเท่านั้น เทียบกับจำนวนประชากร 67 ล้านคน ถือว่าต่ำมาก ตลาดหุ้นจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอีกมาก และแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง เกาหลี ก็ไม่มีการเก็บภาษีผลได้จากทุน การเก็บภาษีผลได้จากทุนจึงยังไม่ใช่สิ่งที่ควรทำในเวลานี้

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของนักลงทุนรายย่อยบางรายอย่างนายระวีวงศ์ พยัคฆชาติ ที่เล่นหุ้นแนวเทคนิค และเจ้าของเพจ ‘มั่วหุ้น: การวิเคราะห์หุ้นมั่วๆ’ นักลงทุนแนวคุณค่า ซึ่งทั้งคู่อยู่ในตลาดหุ้นมากว่าสิบปี ต่างก็เห็นตรงกันว่าไม่ควรมีการเก็บภาษี เพราะหากนักลงทุนถูกเก็บภาษีเฉพาะตอนได้กำไรก็ดูจะไม่เป็นธรรมนัก

ดร.ภาวินกล่าวว่า ข้อกังวลจุดนี้สามารถแก้ไขด้วยการออกแบบภาษี ซึ่งในต่างประเทศที่มีการเก็บภาษีผลได้จากทุนก็ทำ นั่นคือ หากนักลงทุนขาดทุนก็สามารถนำผลขาดทุนไปใช้หักลดหย่อนหรือคืนภาษีได้ โดยให้โบรกเกอร์เป็นผู้จัดเก็บข้อมูลกำไร-ขาดทุน จุดนี้จึงไม่ใช่ปัญหา แต่เจ้าของเพจมั่วหุ้นฯ เห็นแย้งว่า การทำเช่นนี้จะเพิ่มภาระและต้นทุนแก่โบรกเกอร์ ท้ายที่สุดก็จะผลักภาระให้แก่นักลงทุนอยู่ดี

ภาษีผลได้จากทุนเท่ากับเก็บภาษีซ้ำซ้อน?

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งของเจ้าของเพจมั่วหุ้นฯ คือ การเก็บภาษีผลได้จากทุนจะถือเป็นการเป็นภาษีซ้ำซ้อนหรือไม่ เพราะตามกฎหมายบริษัทจะต้องเสียภาษีนิติบุคคลจากกำไรสุทธิอยู่แล้ว และเมื่อบริษัทจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท เงินปันผลก็ยังต้องเสียภาษีอีก หากยังมีการเก็บภาษีจากกำไรจากการขายหุ้นตัวนั้นๆ อีก เท่ากับถูกเก็บภาษีซ้ำซ้อนถึง 3 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล เคยเขียนคอลัมน์อธิบายประเด็นนี้ว่า

‘ภาษีผลได้จากทุนเป็นการ "เก็บภาษีซ้ำซ้อน" นั้น ข้อเท็จจริงคือ ผลได้จากทุนไม่เหมือนกับเงินปันผล เงินปันผลคือส่วนแบ่งกำไรประจำปีที่บริษัทจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของ ดังนั้น การเก็บภาษีเงินปันผลจึงเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนจริงๆ เนื่องจากบริษัทได้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลบนรายได้ไปแล้ว (ก่อนหักค่าใช้จ่ายเหลือเป็นกำไร) แต่ผลได้จากทุนไม่ใช่ส่วนแบ่งโดยตรงจากกำไรประจำปีของบริษัท หากสะท้อน “มูลค่าสะสม” ของทุนที่งอกเงยขึ้นตามกาลเวลา เนื่องจากราคาหลักทรัพย์สะท้อนมุมมองของนักลงทุนต่อ “แนวโน้ม” กำไรของบริษัทในอนาคต ในแง่นี้ผลได้จากทุนจึงมีลักษณะคล้ายกับ “สินทรัพย์” ของผู้ถือหุ้น มากกว่า “รายได้” ฉะนั้น การเก็บภาษีผลได้จากทุนจึงมิได้เป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด เพราะคล้ายกับภาษีทรัพย์สินมากกว่า’

ขอบคุณภาพจาก http://en.aectourismthai.com/images/blog/content1/2014061600205.jpg

ประสิทธิภาพ vs ความเป็นธรรม ข้อถกเถียงไม่สิ้นสุด

ประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการเข้าสู่ตลาดหุ้นที่ลดลงนับเป็นข้อถกเถียงที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง ดร.ภาวิน ก็เห็นว่าการเก็บภาษีผลได้จากทุนการถกเถียงระหว่างประสิทธิภาพกับความเป็นธรรม เป็นประเด็นที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่แน่ชัดได้ และก็เป็นประเด็นที่ไม่เคยมีความเห็นสอดคล้องกัน

อย่างไรก็ตาม ดร.ภาวินเห็นว่า การเก็บภาษีกลับจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะยาว เนื่องจากการเก็บภาษีผลได้จากทุนจะนำระยะเวลาการถือครองหุ้นมาคิด โดยวางอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ผู้ที่ถือหุ้นระยะยาวคือนักลงทุนที่ลงทุนจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้น ๆ ต่างกับนักลงทุนแบบเก็งกำไรที่จะถือหุ้นเพียงช่วงสั้นๆ ดังนั้น ผู้ที่ถือระยะยาวอัตราภาษีจะต่ำกว่านักลงทุนแบบเก็งกำไร ซึ่งจะทำให้สัดส่วนนักเก็งกำไรในตลาดหุ้นลดลง ในระยะยาวระดับราคาและผลตอบแทนจากตลาดหุ้นจะปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น ความผันผวนลดน้อยลง เมื่อถึงตอนนั้น ผู้ที่สนใจการลงทุนระยะยาวมากกว่าเก็งกำไรก็จะเข้ามาทดแทนสภาพคล่องที่หายไปได้

แต่นายไพบูลย์กลับเห็นว่า ข้อสันนิษฐานนี้ไม่เป็นความจริง การเก็บภาษีผลได้จากทุนจะไม่เพียงทำให้นักเก็งกำไรลดน้อยลงอย่างเดียว แต่จำนวนคนที่ลงทุนในตลาดหุ้นจะลดลงทั้งหมดในภาพรวม

การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันมีมูลค่าเฉลี่ยวันละประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อวัน และพบว่า นักลงทุนทั่วไป (กินความทั้งผู้ที่ลงทุนระยะยาวและนักเก็งกำไร) มียอดซื้อ-ขายมากกว่านักลงทุนสถาบัน บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนจากต่างประเทศรวมกัน หากการเก็บภาษีผลได้จากทุนส่งผลให้นักลงทุนทั่วไปลดลงย่อมกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้น ส่งผลให้ต้นทุนการระดมทุนในตลาดหุ้นสูงขึ้น

            “ผมถามว่าทำไมเราจึงควรลดการเก็งกำไรลง ผมนิยามตัวเองเลยว่า เป็นนักเก็งกำไร ขณะที่เพื่อนผมติดหุ้นมาประมาณ 4 ปี ได้กำไร 400 บาท แต่ผมได้กำไรมากกว่า แล้วคุณต้องการสกรีนคนแบบผมออก แต่รักษาคนแบบเพื่อนผมไว้ แล้วบอกว่านี่คือการพัฒนาตลาดทุน ผมว่ามันฟังดูแปลกๆ ทุกคนเข้าตลาดหุ้นเพื่อต้องการผลกำไร บางคนอาจจะมองว่าเป็นการลงทุน แต่จะมีสักกี่คนที่ยอมรับว่าจริงๆ แล้วฉันเป็นแค่คนที่เข้ามาเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์ การห้ามผมเข้าไปเก็งกำไร ตลาดหุ้นก็จะหมดความน่าสนใจ” นายระวีวงศ์ กล่าว

ขอบคุณภาพจาก http://www.thailande-fr.com/wp-content/uploads/2013/03/ThailandStockExchange.jpg

ลดความเหลื่อมล้ำ?

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นประเด็นคลาสสิกที่สุด นักลงทุนแนวเทคนิคอย่างระวีวงศ์และเจ้าของเพจมั่วหุ้นฯ นักลงทุนแนววีไอ กลับเห็นด้วยในหลักการนี้ มากกว่าที่ว่าเพื่อลดการเก็งกำไรในตลาดหุ้นหรือลดความผันผวน ต่างจากไพบูลย์ที่มีทัศนะว่า การเก็บภาษีผลได้จากทุนและการลดความเหลื่อมล้ำไม่เกี่ยวข้องกัน

ด้าน ดร.ภาวินกล่าวว่า แม้การเก็บภาษีผลได้จากทุนจะยังเต็มไปด้วยข้อถกเถียงที่ไม่ลงรอยระหว่างด้านประสิทธิภาพและความเป็นธรรม แต่ ดร.ภาวิน ยืนกรานว่า ควรเก็บและต้องเก็บ

            “มุมมองที่จะผลักดันเรื่องการเก็บภาษีผลได้จากทุนได้ ผมเชื่อว่าต้องเกิดจากมุมมองด้านความเป็นธรรม ต้องให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าการจัดเก็บภาษีขณะนี้ไม่เป็นธรรม”

จุดที่ต้องตั้งข้อสังเกตมีอยู่ว่า การสะสมความมั่งคั่งของตระกูลมหาเศรษฐีหุ้นไทย ส่วนใหญ่เป็นการถือหุ้นบริษัทของตนในสัดส่วนที่สูงและมักไม่มีการขายออก ขณะที่มูลค่าของหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่าภาษีผลได้จากทุนไม่ส่งผลสะเทือนหรือดูดซับความมั่งคั่งจากคนกลุ่มนี้คืนสู่สังคมได้ ซึ่งจำเป็นต้องออกแบบกลไกอื่นทดแทน เช่น ภาษีมรดก เป็นต้น ดร.ภาวิน กล่าวว่า

            “ผมคิดว่าเราสามารถออกแบบให้มีการจัดเก็บภาษีกับกลุ่มนี้ได้เช่นกัน จริง ๆ แล้วอาจมีโครงสร้างอยู่ แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมนัก คือจัดเก็บเมื่อมีการโอนย้ายหุ้นให้กับทายาท ซึ่งสามารถบังคับใช้ได้เลยในปัจจุบัน แต่ว่าบางแห่งขอชะลอการจ่ายภาษีจนกว่าจะขายหุ้นออกไป ซึ่งเราสามารถแก้ระเบียบการบังคับใช้ให้จัดเก็บทันที”

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม10 อันดับเศรษฐีหุ้นไทย 2554-2556

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4449

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: