บทวิเคราะห์: ท่านนายพล ผู้เป็นนายกรัฐมนตรี

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 25 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2768 ครั้ง

จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ทำสิ่งนี้มาก่อนแล้ว ทั้งสามท่านเป็นจอมเผด็จการและพาประเทศชาติเข้าสู่ความยากลำบากทั้งสิ้น สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ทำไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ท่านทำสิ่งที่แตกต่างจากการรัฐประหาร 2 ครั้งก่อนหน้าคือในปี 2534 และ 2549 เพียงเล็กน้อยเท่านั้นคือ ผู้นำการรัฐประหาร 2 ชุดก่อนจะไม่เข้าบริหารประเทศด้วยตนเอง หากแต่ไปเชิญคนอื่นมาทำแทน ผลเป็นอย่างไร เราทราบกันหมดแล้ว

แม้ว่าจะมีความพยายามจากพวกปัญญาชนจำนวนหนึ่งในอันที่จะเขียนภาพของพลเอกประยุทธ์ให้เป็นคนที่มีลักษณะโดดเด่น ทั้งในแง่สติปัญญา ความสามารถ และบุญบารมี พอที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นความหวังในอันที่จะสร้างประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าวัฒนาสถาพร แต่ความพยายามนั้นก็ยังไม่ประสบผล เรียกได้ว่ายังไม่โดน ด้วยว่าประวัติส่วนตัวของนายทหารท่านนี้ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างพิเศษไปกว่า ผู้บัญชาการทหารธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง ความที่ว่าท่านเป็นนายทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวรกลับชาติมาเกิดนั้นก็ดูลิเกมากไปหน่อย วาทกรรมทางการเมืองแบบนี้คงเหมาะกับประเทศไทยก่อนยุคปี พ.ศ.2500 มากกว่า คงจะใช้ไม่ได้ผลในยุคสมัยปัจจุบันแม้ว่าคนไทยจำนวนหนึ่งจะยังเชื่อเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง แต่คนจำนวนมากคงคิดว่านี่เป็นนิทานคืนความสุขให้ประชาชนมากกว่าจะเห็นเป็นเรื่องจริงจัง

ขอบคุณภาพจากมติชน http://www.matichon.co.th/

เอกสารในปางอดีตแผ่นเดียว (ซึ่งก็ยังไม่มีใครตรวจสอบจริงจังว่าจริงหรือเปล่า) คือคอลัมน์เรียนดีในวารสารชัยพฤกษ์ ซึ่งเป็นวารสารสำหรับนักเรียนสมัยโน้นที่ว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยเป็นบุคคลที่มีความสามารถทางการศึกษามากขนาดสอบได้ไม่เคยต่ำว่า 80 เปอร์เซ็นต์เลย แต่ถ้าจะว่าไปแล้วสมมติว่านี่เป็นเรื่องจริงนักเรียนที่สอบได้ไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยมีอยู่ออกเกร่อไป มากกว่านี้ก็พบว่ามีอยู่ไม่น้อย ในรุ่นของท่านมีคนเรียนดีกว่านี้อีกมากแต่ส่วนใหญ่เลือกจะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยมากกว่าจะสอบเข้าโรงเรียนทหาร เด็กชายประยุทธ์เลือกสอบเป็นทหารก็คงไม่ใช่เพราะหวังว่าได้มากอบกู้บ้านเมืองอะไร อาจจะคิดแค่ว่าอยากจะรับใช้ชาติบ้านเมืองเหมือนพ่อที่เป็นทหาร นายทหารหลายคนที่ได้มาเป็นทหารก็เพราะมีพ่อเป็นทหาร ลูกทหารที่สอบเข้าโรงเรียนทหารได้ไม่ค่อยจะเป็นเรื่องพิเศษโดดเด่นอะไร ในสมัยของท่านนั้นคนที่เป็นลูกทหารจะได้คะแนนพิเศษในการสอบเป็นแต้มต่อลูกชาวนาอยู่แล้ว นี่เป็นระบบคัดเลือกบุคคลากรเข้าสู่การเป็นทหารอาชีพแบบไทย ๆ

ประการสำคัญ พลเอกประยุทธ์ไม่เคยแสดงตัวว่าเป็นผู้มีสติปัญญาเปรื่องปราชญ์อะไรเลย ความจริงเรื่องการยกย่องสติปัญญาของนายทหารนั้นก็เป็นเรื่องประจบสอพลอในกันวงการธรรมดาๆ ทั่วไปเท่านั้น เพราะผู้ที่เคยได้ฉายาว่าเป็นขงเบ้งแห่งกองทัพไทย ตอนหลังๆ คนทั่วไปก็เห็นท่านเป็นตัวตลกมากกว่าจะเป็นปราชญ์

แน่นอนในกองทัพไทยคงจะมีนายทหารที่มีสติปัญญาสูงล้ำอยู่ไม่น้อย พลเอกประยุทธ์อาจจะเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นก็ได้ เพียงแต่ตอนนี้ท่านไม่ค่อยแสดงออกว่าท่านอยู่ในกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ แต่ประเด็นสำคัญที่สังคมจะต้องพิจารณาเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยที่มาจากการหล่อหลอมของกองทัพไทยและครอบครัวทหารของท่านเองนั้น มีความสามารถและสติปัญญามากพอจะนำพาและบริหารประเทศไปสู่เป้าหมายและความเจริญรุ่งเรืองและวัฒนาถาวรได้เพียงใด

จอมพลป. พิบูลสงคราม (ขอบคุณภาพจาก http://www.reurnthai.com/)

ความจริงสังคมไทยก็ควรจะได้ข้อยุติในปัญหานี้มานานแล้ว ว่าทหารบริหารประเทศไม่ได้ ทักษะทางการยุทธ์ไม่สามารถประยุกต์ใช้ในการบริหารประเทศโดยเฉพาะกับสังคมเปิดที่หลากหลายและระบบเศรษฐกิจที่มีความสลับซับซ้อน นั่นเป็นเหตุผลด้วยว่าทำไมผู้นำการรัฐประหารที่ยึดอำนาจได้ในยุคหลังๆ จึงไม่กล้าพอจะเข้าบริหารประเทศด้วยตนเอง การรัฐประหารครั้งก่อนนั้นผู้ยึดอำนาจเลือกอดีตผู้บังคับบัญชาของตัวเองซึ่งก็เป็นนายทหารเหมือนกันให้เข้าบริหารประเทศ ผลปรากฏว่าล้มเหลวในทุกด้าน แต่ความล้มเหลวในครั้งนั้นกลับทำให้พลเอกประยุทธ์สรุปบทเรียนผิด ด้วยเข้าใจว่าให้คนอื่นทำแล้วไม่ได้อย่างใจ สู้ทำเองจะดีกว่า สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ไม่ได้พิจารณาเลยก็คือกำลังและความสามารถของคนที่ผ่านการฝึกอบรมทางทหารมาต่างหาก

หัวใจสุดยอดของวิชาทหารที่ฝึกอบรมคนให้ออกมาเป็นทหารอาชีพคือ การจัดการความรุนแรง (management of violence) หลักสูตรโรงเรียนนายทหารของไทยส่วนใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่เน้นไปในทางเทคนิคต่างๆเพื่อประโยชน์ของการจัดการความรุนแรงทั้งนั้น ไม่ใช่เพื่อการบริหารประเทศ การปรับปรุงหลักสูตรในระยะหลังๆ มีการนำวิชาของพลเรือนเข้าไปเรียนมากขึ้น ตัวอย่างของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในสมัยที่พลเอกประยุทธ์เรียนก็มีให้เลือกเรียนในสายวิทยาศาสตร์ เช่นฟิสิกส์ และวิศวกรรมต่างๆ เช่น วิศวกรรมโยธา ไฟฟ้า วิศวกรรมสรรพาวุธ หรือแม้แต่สังคมศาสตร์ แต่ก็เป็นวิชาเลือกที่เน้นเรื่องเทคนิคเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะปัจจุบันจะมีการปรับปรุงให้วิชาการเทคนิคเหล่านั้นให้ได้มาตรฐานเดียวกับที่พลเรือนเรียน เช่น วิศวกรรมก็อยู่ในมาตรฐานที่นายทหารเหล่านั้นสามารถนำไปเป็นหลักฐานขอใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมได้แบบเดียวผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วไป แต่นั่นก็ยังไม่ใช่พื้นฐานความรู้สำหรับการบริหารประเทศอยู่ดี

ภารหน้าที่ของทหารอาชีพคือการป้องกันประเทศและรักษาความมั่นคง แต่เนื่องจากทหารไทยนั้นเกี่ยวข้องและมีโอกาสเข้าสู่การเมืองการปกครองประเทศอยู่เสมอๆ และถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่า ความมั่นคงในความหมายแคบๆแบบทหารนั้นใช้ประยุกต์กับการบริหารประเทศไม่ได้ กองทัพไทยและวิทยาลัยทหารชั้นสูงจึงได้ปรับการศึกษาเรื่องความมั่นคงให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจความมั่นคงทางการเมือง เสถียรภาพทางการเมือง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่วิชาความรู้เหล่านี้สร้างขึ้นเพื่อจะสร้างความชอบธรรมให้กับบทบาทของกองทัพและนายทหารที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของพลเรือนเท่านั้น แต่ไม่ได้ทำให้บุคลากรของกองทัพมีความสามารถในการบริหารกิจการเหล่านั้นของประเทศได้ นายทหารอาจจะมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ แต่ในวงการทหารก็พูดกันเสมอๆ ว่า “ทหารไทยนั้นตักน้ำเปล่าขายมาหาบขายก็ยังขาดทุน” อย่าว่าแต่ไปนั่งบริหารรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีความสลับซับซ้อนและต้องแข่งขันกับธุรกิจต่างประเทศอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เลย

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ขอบคุณภาพจาก http://board.postjung.com/)

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้ยินพลเอกประยุทธ์ ซึ่งบัดนี้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะพูดว่า ชาวสวนยางพาราอย่าเรียกร้องร้องราคายางพาราสูงนักไม่มีใครให้ได้ หรือ อย่าผลิตมากนัก เพราะราคาจะตก เพราะท่านไม่ทราบว่า เกษตรกรไทยกำหนดราคาสินค้าของตัวเองไม่ได้ แรงกดดันด้านราคาจากตลาดโลกมีผลสำคัญต่อราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศ ท่านเรียกร้องให้เกษตรกรเลิกปลูกยางและไปปลูกอย่างอื่นแทน เพราะท่านไม่รู้เลยว่า ยางพารานั้นเป็นไม้ยืนต้น ปลูกนานถึง 7 ปีจึงจะเริ่มให้ผลผลิตได้ เกษตรกรชาวสวนยางนั้นเมื่อลงทุนปลูกยางและรอคอยจนได้ผลผลิตนั้น มักจะเหลือทางเลือกอย่างอื่นน้อยมาก บางรายนั้นสวนยางซึ่งมีอยู่ไม่มากนักคือแหล่งรายได้เพียงแหล่งเดียวของพวกเขา การเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นจึงไม่ง่าย ใช้เวลาและต้องตกอยู่ในความเสี่ยงมากมาย

พลเอกประยุทธ์ชอบพูดว่า เราจะต้องพิจารณาปัญหาโดยองค์รวมและหาทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ แต่เวลาท่านยกประเด็นปัญหาต่างๆมาอธิบายท่านกลับยกขึ้นมาเป็นจุดๆ และกระโดดข้ามไปมาอย่างไม่เป็นระบบ ชาวบ้านทั่วๆไปฟังท่านพูดก็ได้อารมณ์แบบฟังพวกตลกเล่นมุกกัน ปัญญาชนฟังแล้วคงจะสับสนไม่น้อยว่าตกลงแล้ว ปัญหาแต่ละอย่างนั้นมันจะแก้อย่างไร แนวทางเป็นอย่างไร ดูเหมือนท่านจะฝากความหวังไว้กับหน่วยราชการต่างๆ ทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันท่านก็ตำหนิหน่วยราชการต่างๆว่า ทำงานไม่เอาไหน ปล่อยปะละเลยให้เกิดปัญหาหมักหมมมานมนาน

สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้บริหารประเทศไม่ค่อยแสดง (หรือท่านอาจจะไม่มี) คือวิสัยทัศน์ที่จะมองอนาคตของประเทศว่า ประเทศไทยภายใต้การบริหารงานของท่านนับต่อจากนี้ไปจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ท่านพูดว่าจะต้องมีความสงบสุข นั่นเป็นภารกิจของทหารแน่นอนที่จะทำให้ประเทศชาติสงบปลอดภัย แต่ประชาชนคงจะใช้ชีวิตไปวันๆ อย่างสงบ โดยไม่มีความหวังว่า วันข้างหน้าพวกเขาจะเป็นอย่างไร ลูกหลานจะเป็นอย่างไร และประเทศชาติจะเป็นอย่างไร คงไม่ได้

พลเอกประยุทธ์อยู่ในวัย 60 ปีครบเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้ คนในวัยนี้ในทางกายภาพแล้วถือว่าหมดสมรรถภาพ และไม่สามารถเรียนรู้อะไรได้ทันแก่การใช้งานแล้ว สมควรจะต้องพักผ่อน แต่ท่านต้องเข้ารับภาระในฐานะนายกรัฐมนตรี เพื่อวางรากฐานให้กับประชาธิปไตยสมบูรณ์ของไทย (ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าแปลว่าอะไรหน้าตาเป็นอย่างไร) ทำให้จำเป็นจะต้องศึกษาหาความรู้และทดลองสิ่งต่างๆอีกมากมาย แม้หลายคนที่อ้างว่าเคยทำงานใกล้ชิดจะบอกว่า พลเอกประยุทธ์เป็นคนที่เปิดกว้างและพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆเสมอ แต่จากการที่ท่านได้แสดงความคิด ความเห็นในรายการทุกเย็นวันศุกร์มาหลายเวลาแล้ว ดูเหมือนสิ่งที่ท่านแสดงต่อสาธารณจะไม่ค่อยสนับสนุนข้ออ้างเช่นนั้นเท่าใดนัก พลเอกประยุทธ์ผ่านการฝึกอบรมแบบทหารและอยู่ในวินัยทหารมาตลอด นายทหารถูกฝึกมาให้ออกคำสั่งและบังคับบัญชา ไม่ได้ฝึกมารับฟังความเห็นใคร

จอมพลถนอม กิตติขจร (ขอบคุณภาพจาก http://sanamluang2008.blogspot.com/)

ภารหน้าที่ของผู้บัญชาการทหาร กับ นายกรัฐมนตรีนั้นต่างกันมาก ผู้บัญชาการทหารดูแลทหาร สั่งการทหาร เพื่อบรรลุเป้าหมายทางทหารแคบๆสั้นๆว่าทำอย่างไรจะเอาชนะข้าศึกได้ แม่ทัพนั้นไม่จำเป็นแม้แต่จะต้องคิดว่า ประเทศชาติควรเข้าสู่สงครามใดหรือไม่ แต่สิ่งที่แม่ทัพต้องคิดคือ เมื่อมีสงครามแล้ว ทำอย่างไรจะเอาชนะได้และป้องกันความสูญเสียไม่ให้เกิดกับพลเรือนและกำลังพลฝ่ายตน การตัดสินใจอย่างอื่นเป็นเรื่องของฝ่ายนโยบาย

นายกรัฐมนตรีนั้นต้องรู้และทำได้มากกว่าผู้บัญชาการทหาร เพราะต้องรับผิดชอบต่อความเป็นไปของประเทศ โดยเฉพาะในประเทศซึ่งมีคนอยู่หลายหมู่หลายเหล่า มีความต้องการแตกต่างหลากหลายมาก ที่สำคัญประชาชนไม่ใช่ศัตรูของชาติ สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องทั้งหมดจะต้องได้รับการตอบสนองในทางบวกเสมอ หน้าที่นายกรัฐมนตรีคือ ไกล่เกลี่ย เจรจา ประนีประนอม ความต้องการเหล่านั้นของประชาชนบนพื้นฐานความจริงข้อสำคัญที่ว่า ทรัพยากรมีจำกัด

นายกรัฐมนตรีสั่งการได้เฉพาะหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้สังกัดและขอบเขตอำนาจของตัวเองเท่านั้น นายกรัฐมนตรีสั่งให้เกษตรกรเลิกปลูกยางหรือตัดต้นยางตัวเองทิ้งไม่ได้ แต่มีหน้าที่แสวงหาและจัดสรรทรัพยากรมาช่วยเหลือ ค้ำจุน พวกเขาให้สามารถประกอบอาชีพไปได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ

เมื่อนายทหารมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องละทิ้งความเคยชิน ภาระหน้าที่และวิธีการแบบทหารไปเสีย และทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีให้ถูกต้องเหมาะสม จึงจะทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าต่อไปได้ ความคิดที่จะเปลี่ยนประเทศให้เป็นแค่กองทัพ ประชาชนเป็นแค่กำลังพล ภายใต้บังคับบัญชานั้นเป็นการทำลายชาติ ไม่ใช่สร้างหรือพัฒนาชาติ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: