แรงงานประมงยังไม่ได้ 300 กม.ปิดช่องลูกจ้างต่อรองไม่ได้ ดันแก้ไข สมาคมประมงฯ เห็นด้วย

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 25 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2560 ครั้ง

รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งที่สร้างคะแนนเสียงทางการเมือง พอๆ กับเสียงคัดค้านกระหึ่มในช่วงแรก ถึงกระนั้นกลับยังมีแรงงานกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับค่าแรงตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด

ทำไมแรงงานกลุ่มนี้จึงไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ นั่นเป็นเพราะการจะได้ค่าแรงเท่าไหร่ขึ้นอยู่ตัวแรงงานและนายจ้างจะตกลงกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว อำนาจในการต่อรองระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง ใครสูงกว่า ต่ำกว่า ก็เป็นเรื่องที่คาดเดากันได้ไม่ยาก

แต่สิ่งที่ทำให้กติกานี้ยังคงอยู่ได้โดยไม่ต้องใยดีอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ก็เพราะ ‘กฎหมาย’ ที่เขียนรองรับเอาไว้เช่นนั้น

แรงงานกลุ่มที่ว่าคือแรงงานในกลุ่มอาชีพที่มีคนอยากทำน้อยมาก แม้แต่แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายก็ยังหลีกเลี่ยง พวกเขาคือแรงงานบนเรือประมง

กม.ยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ แต่ให้นายจ้าง-ลูกจ้างคุยกันเอง

ปี 2552 อุตสาหกรรมการส่งออกสินค้าประมงของไทยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ประมาณ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รองจากจีนและนอร์เวย์ แม้จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่กลับเป็นภาคการผลิตที่ขาดแคลนแรงงานสูง ปี 2555 สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย คาดการณ์ความต้องการแรงงานประมงว่ามีถึง 5 หมื่นคน และอาจเป็นไปได้ว่านี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข่าวคราวการค้ามนุษย์บนเรือประมงปรากฏอยู่เรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองชีวิตแรงงานประมงกลับสวนทางกับมูลค่าของอุตสาหกรรมประมง มาตรา 22 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ระบุว่า งานเกษตรกรรม งานประมงทะเล งานบรรทุก หรือขนถ่ายสินค้าเรือเดินทะเลงานที่รับไปทำที่บ้าน งานขนส่ง และงานอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาจะกำหนดในกฎกระทรวง ให้มีการคุ้มครองแรงงานกรณีต่าง ๆ แตกต่างไปจากพระราชบัญญัตินี้ก็ได้

ข้อความข้างต้นเท่ากับเปิดช่องว่างให้ความหละหลวมในการคุ้มครองแรงงานเกิดขึ้น ซึ่งตามมาด้วยกฎกระทรวงฉบับที่ 10  (พ.ศ.2541) ข้อ 1 ว่า การคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน และถึงจะมีข้อยกเว้นอยู่ แต่ข้อยกเว้นนี้ไม่ได้รวมเรื่องค่าจ้างเข้าไปด้วย

ทั้งในข้อ 2 ก็ระบุว่า ค่าจ้าง หมายความรวมถึง ส่วนแบ่งที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามมูลค่าของสัตว์น้ำที่จับได้

หรือในกรณีการทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เขียนไว้ชัดเจนว่า นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในอัตรากี่เท่าของค่าแรง ผิดกับแรงงานบนเรือประมงที่ทุกอย่างปล่อยให้เป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

ภาพจาก www.worldfishing.net

เร่งแก้กฎ 10 หวังแรงงานประมงได้ค่าแรงขั้นต่ำ

การที่ในอดีตมีกฎกติกาข้างต้น มาจากเหตุผลที่ว่าลักษณะการจ้างงานบนเรือประมงแตกต่างจากงานอื่นๆ บนฝั่ง เช่น ชั่วโมงการทำงานไม่แน่นอน ไม่สามารถกำหนดวันหยุดตายตัวได้ เป็นต้น แต่เรื่องค่าแรง ณัฐรัตน์ อรุณมหารัตน์ จากโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ตั้งคำถามว่า

“เมื่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นมาตรฐาน ดังนั้น อะไรก็แล้วแต่ก็ไม่ควรต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อแรงงานประมงก็เป็นแรงงานเหมือนกัน มีสัญญาเหมือนกับแรงงานในโรงงาน เหตุใดกฎกระทรวงจึงออกมาให้เขาไม่ได้รับการคุ้มครองหรือให้ความคุ้มครองต่ำกว่ามาตรฐานที่เขาควรจะได้รับ”

ช่องโหว่เหล่านี้ทำให้เกิดความพยายามการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 10 โดยคำว่า ‘ค่าจ้าง’ ให้เปลี่ยนนิยามเป็นค่าจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอแสดงความเห็นว่า การนิยามคำว่าค่าจ้าง ควรกำหนดหมายถึงค่าจ้างตามค่าจ้างขั้นต่ำและค่าจ้างที่เป็นส่วนแบ่งตามมูลค่าของสัตว์น้ำที่จับได้ ส่วนรายละเอียดจำนวนค่าจ้าง ส่วนแบ่ง วิธีการคำนวณส่วนแบ่ง ควรมีการระบุไว้ในข้อตกลงการจ้างงานให้ชัดเจนด้วย

สมาคมการประมงฯ ยินดีจ่าย แต่ต้องระบุนิยามต่างๆ ให้ชัด

ทางฝั่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า ทำไมต้องมีกฎกระทรวงฉบับที่ 10 และหากจะแก้ไขทางสมาคมฯ ไม่มีปัญหา เพียงแต่ขอให้มีการกำหนดนิยามต่างๆ  ให้ชัดเจน

“ที่เมื่อต้องมีกฎหมายต่างหากเพื่อระบุว่า ค่าแรงคืออะไร วันหยุดคืออะไร เช่น วิ่งเรือไปสิบวันกว่าจะถึงที่จับปลา คนงานนอนอย่างเดียว ถือเป็นวันทำงานหรือเปล่า จึงต้องระบุให้ชัดว่าทำงานบนเรือคืออะไร ทำงานบนฝั่งคืออะไร อย่าใช้นิยามเดียวกัน หรืองานทั่วไปบอกว่าต้องมีวันลาพักผ่อนให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่าสิบวัน แล้วงานประมงอยู่กลางทะเลจะให้พักผ่อนที่ไหน จึงต้องกำหนดร่วมกันให้ชัดเจนในกฎสิบที่กำลังร่าง”

ภาพจาก www.andrew-drummond

เมื่อถามว่า ทางสมาคมฯ เห็นด้วยกับการระบุเรื่องค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ ภูเบศ กล่าวว่า หากมีการกำหนดนิยามต่างๆ ให้ชัดเจน ทางสมาคมฯ ยินดีปฏิบัติตามกฎหมายและเห็นว่าน่าจะเป็นผลดีมากกว่า

“ทุกวันนี้ที่เราอยู่กัน ค่าแรงไม่เท่ากันเลย เรือลำนี้อยากได้คนงานก็อาจจ่ายเพิ่มอีก มันทำให้ผู้ประกอบการมั่ว แต่ถ้ามีหลักอะไรให้เราจับสักอย่าง จะให้พิเศษก็ว่าไป ถ้าจับได้ไม่ดีอาจจะไม่ให้ แต่ค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นตัวค้ำประกันว่า เรือประมงไม่ได้เอาเปรียบแรงงานหรือค้ามนุษย์ และเรายังสามารถชี้แจงได้ว่าเราทำตามกฎหมาย แม้ว่าที่ผ่านมาส่วนแบ่งที่เราจ่ายให้แรงงานอาจจะดีจริง แต่มันก็ยืนยันกับใครไม่ได้ จึงควรทำให้มันชัด”

เมื่อทางฝั่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยินดีที่จะจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ภารกิจที่เหลือก็ตกอยู่ในมือของภาครัฐแล้วว่า จะผลักดันกฎหมายออกมาคุ้มครองตามมาตรฐานขั้นต่ำที่ควรจะเป็นเมื่อใด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: