รายได้ตลอดช่วงชีวิตของคนจบป.ตรี

25 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 5862 ครั้ง


สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นสาขาที่ให้ผลตอบแทนตลอดช่วงชีวิตมากที่สุด โดยเริ่มต้นที่ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 14,609.28 บาทต่อเดือน และมีอัตราเติบโตสูงขึ้นตามลำดับจนกระทั่งสูงสุดที่อายุ 59 ปี ที่ค่าเฉลี่ย 32,268. 92 บาทต่อเดือน ซึ่งพบว่าปัจจัยการเสื่อมถอยของประสบการณ์มีอิทธิพลค่อนข้างน้อยต่อรายได้ ขณะที่สาขาทางด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นสาขาระดับปริญญาตรีที่มีรายได้เริ่มต้นต่ำที่สุด โดยมีรายได้รวมเฉลี่ยที่ 5,005.53 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม รายได้ของผู้จบการศึกษาสาขานี้มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีรายได้สูงสุดอยู่ที่อายุ 44 ปี ที่รายได้ 41,364.26 บาทต่อเดือน และลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน จนถึงอายุ 60 ปี มีรายได้ที่ 15,103.11 บาทต่อเดือนโดยทั่วไปรายได้เริ่มต้นของผู้จบปริญญาตรีแต่ละสาขา มีรายได้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน คือมีรายได้อยู่ระหว่าง 6,000 – 9,000 บาทต่อเดือน และพบว่าได้รับอิทธิพลจากการเสื่อมถอยจากปัจจัยประสบการณ์เพียงเล็กน้อย

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้จบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีกับผู้จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลาย พบว่า รายได้มีความแตกต่างกันมากโดยเฉพาะเมื่ออายุ 38 ปี มีความแตกต่างกันถึง 2 เท่า รายได้ของผู้จบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีแม้มีอัตราเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยตามอายุที่มากขึ้นแต่อ่อนตัวลงในช่วงปลายของอายุการทำงาน ขณะที่ผู้จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายมัอัตราการเติบโตคงที่ ทั้งนี้ แรงงานชายจะได้รับค่าจ้างเงินเดือนมากกว่าแรงงานหญิงทั้งสองระดับชั้นการศึกษาในช่วงแรกของการทำงาน (อายุ 18-23 ปี)

การคำนวณอัตราผลตอบแทนการลงทุนเรียนอุดมศึกษาชั้นปริญญาตรี เป็นการคำนวณโดยไม่มีการปรับการเติบโตของรายได้ โดยมีสมมติฐานว่ารายได้ของผู้จบการศึกษา ณ อายุระดับต่างๆ เป็นตัวแทนรายได้ของผู้จบการศึกษา โดยใช้ข้อมูลการสำรวจทางเศรษฐกิจสังคมในปี พ.ศ. 2552 นั้น ถือเป็นรายได้ที่แท้จริงที่จะได้รับ เมื่อผู้จบการศึกษามีอายุในแต่ละระดับ และกำหนดอัตราคิดลด (Discount rate) มีค่าเท่ากับ 8% เป็นค่าฐาน ขณะที่มีการปรับอัตราคิดลด (Discount rate) เป็น 6%, 7% และ 10% ตามลำดับ เพื่อเปรียบเทียบระดับของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) และอัตราผลตอบแทน (IRR)

ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งสำหรับใช้ในการคำนวณผลตอบแทนการลงทุนทางอุดมศึกษา เป็นข้อมูลค่าธรรมเนียมการเรียนอุดมศึกษาชั้นปริญญาตรีแต่ละสาขา แสดงได้ดังตารางที่ A.3. อันเป็นค่าธรรมเนียมเฉลี่ยที่คำนวณจากมหาวิทยาลัยประเภทต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัยของของรัฐและเอกชน ที่เปิดสอนสาขาดังกล่าว และเป็นการเฉลี่ยค่าธรรมเนียมทั้งหลักสูตรภาคปกติและหลักสูตรภาคพิเศษ ในหลักสูตร 4 ปี ของแต่ละมหาวิทยาลัย (ไม่รวมหลักสูตรอนุปริญญา และหลักสูตรต่อเนื่อง) ค่าธรรมการเรียนปริญญาตรีในสาขาสุขภาพ (ได้แก่ แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ และสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้งนี้ข้อมูลที่มีไม่สามารถแยกผู้จบการศึกษาในแต่ละสาขาย่อยเหล่านี้ได้ จึงคำนวณรวมเป็นกลุ่มสาขาสุขภาพ) มีอัตราค่าธรรมเนียมสูงสุด โดยเท่ากับ 64,757.70 บาทต่อปี และสาขาการบริการส่วนบุคคล อาทิเช่นสาขาเลขานุการ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และโรงแรม เป็นต้น) มีอัตราค่าธรรมเนียมการเรียนอยู่ที่ 64,656.25 บาทต่อปี ขณะที่สาขาการฝึกหัดครูและศึกษาศาสตร์ มีค่าธรรมเนียมการศึกษาอยู่ในระดับต่าที่สุด โดยเท่ากับ 14,877.33 บาทต่อปี สาขาวิชาส่วนมากคิดค่าธรรมเนียมการเรียนอยู่ระหว่าง 20,001 ถึง 30,000 บาทต่อปี และค่าธรรมเนียมเฉลี่ยรวมทุกสาขามีค่าเท่ากับ 35,047.14 บาทต่อปี

จากการคำนวณมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของแต่ละสาขาในระดับปริญญาตรี พบว่า สาขาที่มีผลตอบแทนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิมากที่สุดคือสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสาขาการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยมีมูลค่าเป็น 1,025,761.06 บาท และ 1,001,335.10 บาท ตามลำดับ รองลงมาเป็นสาขาวิศวกรรมและวิศวกรรมการค้า สาขารักษาความปลอดภัย สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ขณะที่สาขาที่มีผลตอบแทนต่ำกว่าเฉลี่ยจะเป็นสาขามนุษยศาสตร์ กฎหมาย คณิตศาสตร์และสถิติ สถาปัตยกรรมศาสตร์อละการก่อสร้าง ศิลปศาสตร์ สังคมและพฤติกรรม วารสารศาสตร์และสารสนเทศ บริหารธุรกิจ การผลิต เกษตรกรรม ป่าไม้ และสาขาบริการส่วนบุคคล และสาขาบริการสังคมเป็นสาขาที่ได้ผลตอบแทนต่ำที่สุด อัตราผลตอบแทน (IRR) มีลักษณะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยผลตอบแทนการลงทุนมีอัตราสูงสุดที่ 20.03%

ขอบคุณรูปภาพจาก https://encrypted-tbn2.gstatic.com/

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: