แนะจัดระเบียบ'ต่างด้าว' ‘แบ่งโซน-อาชีพ’ให้ชัดเจน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 26 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2545 ครั้ง

 กรณีปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าวและการที่ไทยถูกลดอันดับไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการบังคับใช้แรงงานทาสและ/หรือการค้ามนุษย์แย่ที่สุด (Tier 3) ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ปัญหาสองเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกัน  เนื่องมาจากในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่สามารถจัดระเบียบการใช้แรงงานต่างด้าวได้อย่างจริงจังและโปร่งใส ยังมีการปล่อยปละละเลย ใช้กลไกแบบอะลุ้มอะล่วยกึ่งนิรโทษมาตลอด คือ จับ ปรับ แล้วใช้ต่อ จนปัญหาพอกพูน ไม่รู้ความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวที่แท้จริงควรเป็นจำนวนเท่าใดจึงจะเพียงพอและไม่กระทบต่ออาชีพและการจ้างงานของแรงงานภายในประเทศ สิ่งที่น่าห่วงคือการไม่รู่ว่าแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ทำอะไรอยู่ที่ไหนอย่างไร

จากการศึกษาความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวในรอบสิบปีที่ผ่านมาคาดการณ์ได้ว่า จำนวนที่เหมาะสมคือ ราว 2.5-3 ล้านคนหรือ ไม่เกิน 5-6 เปอร์เซนต์ ของกำลังแรงงานภายในประเทศ ดังนั้นหากจะจัดระบบการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมีความชัดเจนในแนวทางปฎิบัติ ซึ่งในกลไกปกติทำได้ยาก นั่นคือการนิรโทษกรรม ซึ่งการนิรโทษกรรมกรณีนี้ เป็นการเปิดโอกาสตั้งต้นใหม่ให้กับทั้งนายจ้าง ตัวแรงงานต่างด้าว และผู้ติดตาม ในการมาลงทะเบียนแสดงตัวตนให้ชัดเจนและอยู่ในกระบวนการที่ถูกต้อง ถูกกฎหมาย และปลอดจากขบวนการแสวงหาประโยชน์จากการใช้แรงงานต่างด้าว ภายใต้อำนาจเบ็ดเสร็จในสถานการณ์ไม่ปกตินี้เป็นโอกาสที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ให้เบ็ดเสร็จและครบวงจรได้

ทั้งนี้ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวภายใต้ยุคคสช. สำหรับแรงงานต่างด้าวทุกอาชีพ (ยกเว้น แรงงานประมง) ซึ่งบางส่วน คสช.ดำเนินการแล้ว ประกอบด้วย คือ

1.ให้ชะลอการจับกุมแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายไปก่อน แต่ขอให้ใช้นโยบาย “จัดการแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ” โดยเสนอให้มีการนิรโทษกรรมเต็มรูปแบบ กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย คือ นายจ้าง ลูกจ้าง (รวมถึงผู้ติดตามที่มาอยู่ในราชอาณาจักร ณ วันที่ประกาศ) เพื่อกวาดล้างมิให้มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทยอีกต่อไป โดยวิธีการคือ ให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวทุกคน (ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย) รวมทั้งผู้ติดตามและบุตรมารายงานตัวทุกคนภายในระยะเวลา 1-2 เดือน เฉพาะแรงงานที่จดทะเบียนถูกต้องอยู่แล้ว ให้ทำงานต่อไปได้อีก 2 ปี โดยต่อทะเบียนทุกปี สำหรับแรงงานผิดกฎหมายที่นายจ้างยังต้องการใช้อาจพิจารณาดังนี้ คือ กรณีเคยมีสถานะบุคคลชัดเจน เช่น พิสูจน์สัญชาติแล้ว หรือหลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงสถานะบุคคลชัดเจน ให้เข้ากระบวนการตรวจโรค และขอ Work permit  ได้ 2 ปี กรณีไม่มีสถานะบุคคลอาจจะต้องให้เดินทางกลับประเทศไปก่อน เพื่อขอให้ประเทศต้นทางออกเอกสารแสดงสถานะบุคคลก่อน แล้วจึงเดินทางเข้ามาตามโควตาที่นายจ้างแจ้งเอาไว้ โดยวิธีการที่ถูกและประหยัดต่อนายจ้างและแรงงานคือให้กรมการจัดหางานตั้งโต๊ะจัดทำประวัติเฉพาะคนที่มีนายจ้างแล้วดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อให้ได้ work permit และผ่อนผันให้ทำงานตามเวลาที่กำหนดกับนายจ้างคนเดิม กรณีผู้ติดตามและบุตรอายุไม่เกิน 18 ปีต้องให้มีการตัดสินใจว่าจะให้อยู่กับครอบครัวต่อไปหรือให้กลับประเทศ หากจะอยู่ทำงานก็ต้องมีการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง

2.เมื่อพ้นระยะผ่อนผัน (2-3 เดือน) แล้วให้ทำการเร่งรัดจับกุมนายจ้าง (ลูกจ้าง) ทุกคนที่ยังลักลอบทำงานอยู่  หรือพยายามลักลอบเข้ามาใหม่อย่างเข้มงวดจริงจัง ต่อเนื่อง

3.ในช่วงเวลา 1-2 ปีนี้จะต้องจัดระเบียบใหม่ในเรื่องของอาชีพ สาขาการผลิต และพื้นที่ที่จะจ้างแรงงานต่างด้าวใหม่ทั้งหมดโดยมีการศึกษาวิจัยเรื่องเหล่านี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ กล่าวคือ ในเรื่องอาชีพ ให้ทำการวิจัยอย่างรวดเร็วประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ทราบความต้องการของการจ้างแรงงานต่างด้าว ทดแทนคนไทยที่ขาดแคลนในแต่ละอาชีพสาขาการผลิตและพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดระเบียบการจ้างแรงงานต่างด้าวตามสาขาอาชีพที่จำเป็นจริง ๆ เมื่อครบกำหนดผ่อนผัน 2 ปี โดยมีภาคีกลุ่มต่าง ๆ เช่น สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ และนายจ้างที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบการจ้างแรงงานต่างด้าวร่วมกับทางราชการอย่างจริงจังทำการศึกษาหารือเรื่องอาชีพที่ควรสงวนไว้ให้คนไทยทำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าอาชีพเดิมที่มีอยู่ประมาณ 39 อาชีพ ยังสมควรที่จะรักษาไว้ให้คนไทยทำอยู่หรือไม่ และอะไรบ้างที่จะมีการสงวนเพิ่มเติมหรือไม่   พิจารณาปรับปรุงอาชีพที่จะให้คนต่างด้าวทำ โดยเน้นสาขาหรือธุรกิจที่มีความต้องการเป็นจำนวนมาก เช่น 50 คนขึ้นไป (ยกเว้นผู้ช่วยงานบ้าน) เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับประเด็นพื้นที่ ซึ่งมีทั้งพื้นที่ชายแดน พื้นที่ทั่วไป และพื้นที่ชายทะเล การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในแต่ละพื้นที่ ควรให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว พ.ศ.2551 คือ ต้องให้มีระเบียบ กฎเกณฑ์ (กฎหมายลูก) ให้ชัดเจน ว่าจะมีระเบียบวิธีการอย่างไรในการจ้างแรงงานต่างด้าวตามชายแดน หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น แบบมาเช้ากลับเย็น รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีอย่างไร (มีข้อเสนอเรื่องนี้กันมานานแล้ว) ทั้งนี้ต้องพิจารณาประกอบกับกฎหมายการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในเรื่องของการอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวหรือไม่อย่างไร อีกทั้งจะต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไรให้คนไทยวัยทำงานหรือคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้รับประโยชน์จากนโยบาย เช่น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

การจ้างแรงงานต่างด้าวในจังหวัดชั้นใน ควรเป็นไปตามความสอดคล้องกับแนวปฎิบัติในเรื่องอาชีพโดยอาศัยผลการศึกษามาสนับสนุน ว่าจังหวัดไหน อาชีพอะไรที่ควรอนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้มากน้อยเท่าใด เช่น อาจจะไม่อนุญาตให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวในบางจังหวัดทั้งจังหวัดแบบถาวร ทำให้เป็นจังหวัดสีขาวไร้ต่างด้าว เป็นจังหวัดปลอดต่างด้าวถาวร เพื่อความสะดวกในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น

พื้นที่ชายทะเล หรือจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด ควรเป็นพื้นที่ที่ต้องจัดระเบียบในเรื่องของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงกุ้ง การเลี้ยงปลา รวมทั้ง การทำประมงทะเล และกิจการต่อเนื่องจากประมงให้ครบวงจร ทั้งนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประมงเหล่านี้ ทำให้ไทยต้องมีปัญหากับต่างประเทศมาตลอด เช่น เป็นประเทศที่ถูกกำหนดให้ถูกเฝ้าระวังเป็นพิเศษด้านการบังคับใช้แรงงาน หรือการค้ามนุษย์ เป็นต้น

จึงเสนอให้จัดทำเป็นโครงการพิเศษแยกออกมาจากการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวโดยทั่วไป เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาได้รวดเร็ว เป็นรูปธรรม ในแบบบูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาการถูกกล่าวหาว่า “ค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานเด็ก” โดยพิจารณานำ “สมุทรสาครโมเดล” มาพิจารณาอีกครั้ง หลักการคือ ให้สมาคมธุรกิจต่าง ๆ  สมาคมวิชาชีพ เช่น สมาคมประมง ต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบให้ความร่วมมือกับรัฐอย่างจริงจัง มีรูปแบบการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับภาวะตลาดแรงงาน

นอกจากนี้การจัดระเบียบแรงงานในสวนยาง สวนปาล์มและสวนผลไม้อยู่ห่างไกลลับตาผู้คน (Behind the Close-door) เช่น จังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้ ควรจะได้พิจารณาเป็นพิเศษอีกเรื่องหนึ่ง เพื่อจะให้เกิดความโปร่งใสในการแจ้งแรงงานต่างด้าวในกิจการดังกล่าว และสำหรับการจ้างแรงงานเป็นครอบครัวภาคการเกษตร เช่น ในกิจการสวนยาง การเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น (ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล) อาจจะต้องพิจารณารูปแบบการจ้างแตกต่างจากแรงงานในสาขาอุตสาหกรรมหรือบริการหรือไม่อย่างไร เช่น อาจจะเปิดโอกาสให้มีการจ้างแรงงานเป็นครอบครัวได้เนื่องจากเป็นการสร้างแรงจูงใจให้อยู่นาน เป็นต้น

4.ควรใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงรูปแบบองค์กรในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของกรมการจัดหางานให้มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการปฎิบัติงาน โดยยกระดับสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวให้มีสถานะเทียบเท่ากรม มีฝ่ายต่าง ๆ ที่ครอบคลุม เพิ่มจำนวนบุคลากรให้เพียงพอจากเดิมมีข้าราชการอยู่ 4-5 คน ให้เพิ่มขึ้น 10 เท่า คือ 50 คน รับผิดชอบฝ่ายต่าง ๆ และเพิ่มจำนวนลูกจ้างจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 50 คน ที่ทำหน้าที่ในการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศ เป็นประมาณ 100 คน โดย 50 คนที่เพิ่มขึ้นกระจายไปอยู่ตาม กองหรือฝ่ายต่าง ๆ เป็นต้น

5.พร้อมกันนี้ให้มีการจัดงบประมาณที่เพียงพอในการบริหารจัดการ เช่น ปีละ 200-300 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งได้มาจากเงินค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ได้จากการจดทะเบียนหรือต่ออายุแรงงานต่างด้าวโดยรัฐสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ให้มีเงินงบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอต่ออนุกรรมการด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการจับกุม การปราบปราม การส่งกลับ (โดยใช้เงินจากกองทุนส่งกลับ ตาม พ.ร.บ.ปี 2551) ด้านประชาสัมพันธ์ ด้านอำนวยการ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแรงงานและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี

ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ไม่อยากให้จำกัดเฉพาะแรงงานจาก 3 ประเทศ คือ พม่า กัมพูชา และลาว แต่ยังมีแรงงานจากประเทศอื่น ๆ ที่พร้อมจะทำงาน เช่น เวียดนาม บังคลาเทศ ถ้ามีนายจ้างชัดเจนและมีกระบวนการที่ดีและถูกต้อง มิเช่นนั้นถ้ามีเหตุการณ์แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านตื่นตระหนกกลับประเทศจำนวนมาก ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยก็จะเกิดขึ้นอีกได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: