จวกรัฐบาลลัดขั้นตอนจ่อผุดแลนด์บริดจ์ ชี้ย้ำรอยเดิม-พัฒนาแบบไม่ฟังชาวบ้าน

ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ 26 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 3273 ครั้ง

ยังเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง สำหรับการคัดค้านนโยบายการก่อสร้างท่าเรือเชื่อมฝั่งชายทะเลอันดามัน และอ่าวไทย สำหรับกลุ่มเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ หลังการออกมาประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่โครงการนี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลของประชาชนในพื้นที่ ที่เชื่อว่าจะสร้างผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมไปถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดการเสวนาเรื่อง “จากท่าเรือน้ำลึกปากบารา : หายนะของคนสตูล –โรงไฟฟ้าถ่านหิน : คนกระบี่ได้อะไร” เพื่อเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าว โดยมีนักวิชาการ และประชาชนจาก จ.สตูล, สงขลา, กระบี่ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นคึกคัก

ผิดหวังเปลี่ยนแปลงผู้นำแต่นโยบายเดิม

นายสมบูรณ์ กำแหง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล เปิดประเด็นโดยกล่าวย้อนถึงความเป็นมาของการรวมตัวกันของกลุ่มประชาชน และชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ว่า แม้ว่าโครงการขนาดใหญ่ด้านระบบคมนาคมทางน้ำ แลนด์บริดจ์ ทั้งหมดจะถูกจัดทำขึ้นล่วงหน้ามาแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลเลือกตั้งของ พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ประชาชนในพื้นกลับเพิ่งจะรู้เรื่องว่าจะมีการก่อสร้างหลังจากกระบวนการต่าง ๆ ถูกดำเนินไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติโครงการ งบประมาณหรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ฯลฯ โดยไม่มีการสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เลย หลังจากนั้นทุกรัฐบาลก็มีความพยายามที่จะเดินหน้าโครงการเหล่านี้ แม้ว่าจะมีการคัดค้านจากพื้นที่ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่สนใจเสียงเล็ก ๆ จากชาวบ้าน ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่ดำเนินมาโดยตลอด จนถึงการเปลี่ยนแปลงผู้นำเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่มีรัฐบาลทหารเข้ามาควบคุมดูแล ชาวบ้านมีความหวังเล็กๆ ว่า เสียงคัดค้านของประชาชนจะส่งถึงรัฐบาลใหม่ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ดูเหมือนว่า เป็นการคิดที่ผิด เพราะหลังการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล่าสุดที่ออกมาประกาศว่าจะมีการเร่งอนุมัติงบประมาณในการเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่นี้ จึงทำให้ความหวังประชาชนจบลงไปทันที

       “สิ่งที่ผู้นำออกมาพูดว่าจะเร่งเดินหน้าการอนุมัติโครงการทำให้เราหมดหวังกับการคัดค้านที่พยายามมาตลอด ที่ร้ายกว่านั้นคือ มีการระบุชัดเจนว่า จะพยายามลดขั้นตอนบางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าโครงการ เพื่อให้โครงการเสร็จอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การคัดค้านของประชาชนไม่สามารถทำได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นเสียงของประชาชนจึงไม่ดังพอที่จะทักท้วงหรือส่งให้รัฐบาลใหม่นี้ได้ฟังเลย ซึ่งนั่นก็ตอกย้ำให้เห็นว่ารัฐบาลก้าวล่วงเรื่องของสิทธิมนุษยชน จนทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำอะไรได้” นายสมบูรณ์กล่าว

เผยนักท่องเที่ยวยุโรปวิตก หวั่นกระทบระบบนิเวศ

สำหรับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นนั้น หากมองในมุมของผู้ประกอบการท่องเที่ยว นายสมบูรณ์ระบุว่า หากมีการสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการสร้างท่าเทียบเรือปากบารา หรือการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในจ.กระบี่ ย่อมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างแน่นอน ที่ผ่านมาหลังจากที่ประชาชนพยายามแสดงออกเพื่อคัดค้านการดำเนินการของรัฐ ก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่ ทำให้อึดอัด ในขณะที่นักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากยุโรป ที่เข้ามาและพักอยู่นาน มีการจับจ่ายในพื้นที่มาก การท่องเที่ยวบางครั้งต้องจองข้ามปี เมื่อมีการเปิดเผยเรื่องโครงการ ทั้งท่าเรือขนาดใหญ่ หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีการสอบถามมากมายเพื่อเกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัย มีผลกระทบ ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย

        “เรื่องของการท่องเที่ยวต้องพึ่งพาระบบนิเวศ ถ้าเติบโตได้ เกิดจากการต่อยอด ที่ผ่านมาชุมชนในพื้นที่พยายามที่จะรักษา โดยการมีส่วนร่วมเพื่อให้การท่องเที่ยวแข็งแรง แต่นโยบายการสร้างโครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่เกินที่ชุมชนจะรับได้ หากโครงการเกิดขึ้นจริงการท่องเที่ยวคงจะต้องหยุดไปโดยปริยาย” นายสมบูรณ์กล่าว

กลุ่มทุนอยู่เบื้องหลักผลักดันโครงการขนาดยักษ์

ขณะที่ตัวแทนเครือข่ายจาก อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวถึงประเด็นเรื่องของนโยบายด้านพลังงาน โดยระบุว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่พยายามผลักดันเรื่องของท่อก๊าซฯ จนมีการตั้งคำถามมากมาย ประชาชนคัดค้าน แต่ปตท.และกฟผ.พยายามบอกว่า หากไม่ทำพลังงานในภาคใต้จะไม่พอใช้ จึงมีการผลักดันให้เกิดขึ้นโดยไม่สนใจกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งตอนนั้นทหาร และตำรวจเองก็เข้าช่วยดำเนินการด้วย เมื่อมาถึงตอนนี้ สิ่งที่ประชาชนกังวลคือการที่ คสช.หรือรัฐบาลทหารประกาศเดินหน้าโครงการทั้งหมด โดยลดขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ  ยิ่งทำให้เป็นข้อกังวล เพราะหากย้อนกลับไปดูจะเห็นได้ว่า ในทุกรัฐบาลไม่สนใจเรื่องการได้ จำเป็นหรือไม่  ใครได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์ หรือ ประโยชน์ไปตกเฉพาะกลุ่มทุน เท่านั้นเรื่องนี้ต้องพิจารณาร่วมกันและรับฟังให้รอบด้าน

       “ก่อนหน้านี้ที่อ.จะนะ รัฐบาลออกมาบอกว่า ประโยชน์จะได้กับประชาชนภาคใต้  ไฟจะไม่ดับ พอมาตอนนี้ก็บอกอีกว่าไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอจะต้องทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งตอนนี้คิดว่าคสช.คิดจากแนวคิดเดิม  สงสัยในเงื่อนไขว่า มีอะไรจึงต้องรีบ  ย้อนไปเมื่อก่อน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สนใจกระบวนการการมีส่วนร่วม ไม่สนใจอีไอเอ อีเอชไอเอ ไปแอบทำ เช่น จัดประชุม เซ็นชื่อ แจกของก็เซ็นชื่อ เมื่อมาวันนี้เห็นการแถลงเดินหน้า และจากนั้นอธิบดีให้สัมภาษณ์ว่า ทำได้เลย โดยไม่ต้องทำกระบวนการอีไอเอ อีเอชไอเอ แค่ให้ไปทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ทำให้รู้สึกผิดหวัง และน่ากลัวมาก ทำให้เครือข่ายต้องสื่อสารกันมากขึ้น ตอนแรกคิดว่าการเปลี่ยนปกครองจะดีขึ้น แต่ปรากฎว่าส่วนร่วมไม่มีเลย มีเพียงวาทกรรม ที่บอกถูกบอกว่า พลังงานไม่พอที่ฟังกันอยู่ตลอดเวลา”

ระบุภาคใต้ไทยศูนย์กลางการค้าพลังงาน-ปิโตรเคมี

ด้าน ดร.อาภา หวังเกียรติ อาจารย์วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องรู้คือตอนนี้ กลุ่มทุนเป็นคนกำหนดอนาคตประเทศลงไปในแผนที่โลกแล้วว่า ประเทศนี้จะเป็นศูนย์ค้าโลก ปิโตรเคมี การคมนาคมขนส่ง เนื่องจากทำเลที่เหมาะสมเพราะอยู่พื้นที่ตรงกลาง เหมาะกับการเป็นเส้นทางขนส่งผ่าน โดยเฉพาะการขนส่งน้ำมันวิ่งข้ามไปฝั่งตะวันออกจำนวนมหาศาล ซึ่งก่อนหน้านี้ศูนย์กลางอยู่ที่สิงคโปร์ ที่มีโรงกลั่นใหญ่เป็นอันดับสองของโลก นโยบายของรัฐไทยจึงมองว่าจะทำอย่างไรให้ไทยเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายพลังงาน ไม่เพียงแต่น้ำมัน แต่เป็นไฟฟ้าด้วย

         “หากพิจารณาจากที่ผ่านมาจะพบว่า ในพื้นที่ต่างๆ ภาคใต้ ถูกปักหมุดไปแล้วว่าจะเป็นศูนย์กลางพลังงานบนแผนที่โลก ตอนนี้สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันต่าง ๆ ของรัฐบาลล้วนเป็นกลุ่มทุนอุตสาหกรรมใหญ่ทั้งสิ้น”

ดร.อาภากล่าวต่อว่า หลังการเข้ามาดูแลของคสช. จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันพบว่า เริ่มมีการปลดล็อกกลไกต่าง ๆ ในกระบวนการเดินหน้าโครงการอุตสาหกรรมมากมาย เช่น กรณี ปลดล็อก ใบรง.4  หลังจากที่ชาวบ้านคัดค้านมาก เพราะในการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ แต่เมื่อมีการปลดล็อกเรื่องใบรง.4  กรมโรงงานอุตสาหกรรมออกมาแสดงทันที จนสามารถปลดล็อกโครงการโรงงานอุตสาหกรรมไปได้ถึง 121 โครงการ รวมถึงเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมี Energy Bridge  ที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีการใช้เงินกองทุนศึกษาท่อพลังงานระหว่างสองฝั่ง และยังมีปลดล็อกอีไอเอ  โดยพบว่ามีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ในการพิจารณาอีไอเอทั้ง 9 ชุด โดยเน้นให้กระบวนการพิจารณาอีไอเอได้รวดเร็วภายใน 3 เดือน  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะการพิจารณาอีไอเอโดใช้ระยะเวลาที่สั้นมากนั้น ซึ่งการพิจารณาย่อมถูกตั้งคำถามว่า สามารถพิจารณาได้ละเอียดมากน้อยแค่ไหน

           “ตามกำหนดปกติคชก.จะต้องอ่านอีไอเอภายในเวลา 45 วัน ก่อนกลับแก้ไขเปลี่ยนแปลง อย่างกรณีของเชฟรอน มีการพิจารณาส่งไปมาเพื่อแก้ไขถึง 9 รอบ ไม่ผ่าน ถึงกระนั้นก็ยังถูกต่อต้านอย่างมากจากประชาชน แต่พอเปลี่ยนคชก.ก็พบว่า การพิจารณาผ่านทันที ซึ่งแนวคิดนี้เป็นที่สงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงคชก.เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการพิจารณาอีไอเอนั้น เป็นจุดประสงค์ที่แท้จริงของกระบวนการนี้หรือไม่ ในขณะที่ก็มีการปรับเรื่องแผนพีดีพี ที่มีการสั่งให้ทำให้เสร็จภายใน 3 เดือน คือเดือนแรกรับฟังความคิดเห็น แล้วกลับมาแก้ไข แล้วเดือนที่สามก็ให้กลับไปฟังอีก ซึ่งถือเป็นการใช้เวลาที่รวดเร็วมาก”

ดร.อาภากล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ เรื่องของความพยายามในการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรม เช่น กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหลังการ ลงพื้นที่ของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ได้มีคำสั่งให้มีการปรับเปลี่ยนผังเมืองเพื่อให้รองรับอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านต่อสู้เรื่องนี้มานาน และมาตอนนี้เมื่อมีนโยบายออกมาเช่นนี้ ในขณะที่ประชาชนเองไม่สามารถขยับเคลื่อนไหว แสดงความคิดเห็นอะไรได้จึงเป็นเรื่องน่าห่วงอย่างยิ่ง

ชาวบ้านเดินคัดค้านท่าเรือปากบารา จ.สตูล เมื่อปี 2556 เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการ

ผิดหวังรัฐบาลใหม่ไม่ฟังเสียงชาวบ้านนอกจากนายทุน

ด้านนายกิติภพ สุทธิสว่าง ตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กล่าวว่า ตอนนี้ชาวบ้านค่อนข้างหมดหวังเรื่องของการต่อสู้ เพราะมองว่าเสียงของชาวบ้านคงไปไม่ถึงรัฐบาลปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล กลุ่มที่ถูกเรียกเข้าไปในการเสนอความคิดเห็นมากที่สุดคือ กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มทุน หอการค้า หรือ สภาอุตสาหกรรม อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ภาพของชาวบ้านหายไปเลย

          “เท่าที่ฟังจากผู้นำดู เขาไม่ได้มองความรู้สึกของชาวบ้าน มองว่าชาวบ้านสร้างความแตกแยก แล้วมองว่า คุณจนหรือ คุณไม่มีเงินหรือ จึงต้องมาเดินและเชื่อฟังคนอื่นอย่างนั้นหรือ ซึ่งมองว่าแนวคิดแบบนี้เป็นความคิดที่แย่มาก อย่างไรก็ตามขณะนี้ในพื้นที่กลุ่มพลังงาน และกลุ่มธุรกิจรุกมาก แต่ตอนนี้ชาวบ้านพยายามปรับตัวคือทำข้อมูลด้วยตัวเองว่ามีอะไรบ้าง เช่น ในทะเล มีทรัพยากรอะไร ตอนนี้ชาวบ้านเข้มแข็ง ซึ่งตอนนี้ที่บอกว่าจะมีการลัดขั้นตอน เชื่อว่าเพราะกลัวสิ่งที่ชาวบ้านกำลังกระทำอยู่เรามองว่า ภาคใต้ ไม่เหมาะกับโครงการพลังงานขนาดใหญ่ แต่ เหมาะกับการท่องเที่ยว การศึกษา แต่สิ่งที่ถูกทำขณะนี้คือภาคใต้ถูกทำให้เป็นอุตสาหกรรม ที่กำลังมาเร็วและแรงจนน่ากลัว” นายกิติภพกล่าว

ขณะที่ นายนัทพล เด็นเบ็น จากกลุ่มพิทักษ์สตูล กล่าวว่า สิ่งที่ทุกคนในพื้นที่อยากจะบอกกับรัฐบาลคือ พื้นที่สตูล มีศัภยภาพหลายด้าน ที่เหมาะกับการเป็นมรดกสำคัญทั้งของอาเซียนและของโลก ทั้งอุทยานแห่งชาติทะเลบันติดกับมาเลเซีย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เป็นหมู่เกาะชุดใหญ่รอบสตูลเชื่อม จ.ตรัง ซึ่งถือเป็นเมืองหน้าด่านทางเศรษฐกิจ และ หมู่เกาะตะรุเตา ที่มีความมั่นคงทางนิเวศสูง เป็นมรดกแห่งอาเซียน แต่ตอนนี้สิ่งที่จะเกิดตอนบนคือนิคมอุตสาหกรรม และถ้าหากมีการทำท่าเรือน้ำลึกใหญ่ จะต้องถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตาออกจากการเป็นอุทยานแห่งชาติ ฐานทรัพยากรแห่งนี้สามารถประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ได้ สามารถดึงเงินเข้ามาจากนักท่องเที่ยว

          “ตอนนี้สิ่งที่อยากบอกรัฐบาลคือ ล่าสุดนักวิจัยค้นพบหินฟอสซิลอายุ 300 กว่าล้านปี เป็นหินยุคแรก พบฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ถ้าทำท่าเรือจะต้องมีการระเบิดภูเขา ฟอสซิลมีค่าเหล่านี้จะถูกทำลาย อยากฝากรัฐบาลว่าจะสร้างแลนด์บริจด์ ขอให้ลงพื้นที่ นักวิจัยไม่ได้โกหก การศึกษาอีไอเอ ที่บางหน่วยงานมาทำขัดแย้งกับการศึกษาของประชาชน โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิต ที่ไม่ได้รายงานในอีไอเอ ทั้งที่ในพื้นที่มีสิ่งมีชีวิต สปีชีส์สำคัญต่างๆ จำนวนมาก อยากให้รัฐบาลฟังเสียงประชาชนบ้าง

         ตอนนี้เจ้าหน้าที่รัฐมองประชาชนเป็นสีดำ ทั้งในระดับจังหวัด คุยแบบไม่ให้เกียรติ เป็นสองมาตรฐาน อยากให้มองด้วยความเข้าใจ ปรับทัศนคติในการคิด โลกเปลี่ยนไปแล้ว คนฉลาดขึ้น ลูกหลานในชุมชนไปเรียนมา ชุมชนดูงานวิจัยของตัวเอง ซึ่งก็คือภูมิปัญญา งานวิจัยของมหาวิทยาลัยคือการศึกษาสอนคน แต่คนในพื้นที่มีงานวิจัย กล้าฟันธงกับนักวิจัย ท้าได้ว่าอะไรคือความเป็นจริง ชุมชนมีประสบการณ์ มีงานวิจัยของตัวเอง เป็นมหาวิทยาลัย มี  ดร.ในชุมชน เจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องปรับทัศนคติเสียใหม่ อย่าดูถูกชาวบ้าน”

ชาวบ้านในภาคใต้ออกโรงคัดค้านโครงการที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผลักดัน ด้วยเินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท

ยื่นแถลงการณ์คัดค้านที่ทำเนียบ

หลังการเสวนากลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเรือเชื่อมชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย หรือแลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล พร้อมออกแถลงการณ์คัดค้านการบรรจุโครงการดังกล่าวไว้ในนโยบายของรัฐบาล มีเนื้อหาว่า

ตามที่รัฐบาลโดย ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายเพื่อการบริหารประเทศไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้มีการพัฒนาระบบคมนาคมเพื่อการขนส่งสินค้าทางน้ำระหว่างสองฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งหมายถึงโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล และโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา นั้น ในนามเครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมสงขลา- สตูล เห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นผลพวงจากการบริหารประเทศตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ และสืบเนื่องมาจนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ และมีเสียงคัดค้านจากประชาชนทั้งสองพื้นที่มาอย่างต่อเน่อง ทั้งยังมีข้อสังเกตเรื่องความเหมาะสมในการก่อสร้างที่จะส่งผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.สตูลที่จะต้องสูญเสียพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อันถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด รัฐบาลจะต้องมีความรอบคอบต่อเรื่องนี้ เพราะยังมีข้อถกเถียงระหว่างภาคเอกชนด้านโลจิสติกส์ กับหน่วยงานรัฐผู้รับผิดชอบโครงการต่อแนวนบายดังกล่าวว่าจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และไม่เป็นไปตามความต้องการของนักลงทุนอย่างแท้จริง

เครือข่ายประชาชนปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสงขลา-สตูล ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครการดังกล่าวทั้งสองฝั่งทะเล และประชาชนทั่วไปได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบการคมนาคมของประเทศโดยรวม หากแต่ในโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและสะพานเชื่อมทั้งสองฝั่งทะเลอ่ายไทย-อันดามันนั้น เราเห็นว่ารัฐบาลควรศึกษารายละเอียดและข้อมูลประกอบอื่น ๆ ให้รอบด้านซึ่งไม่เพียงแต่รับฟังข้อมูลของภาคราชการหรือภาคธุรกิจเพียงฝ่ายเดียว แต่จะต้องฟังเสียงทักท้วงของประชาชนร่วมด้วย เราจึงขอคัดค้านการดำเนินนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล และขอให้ยุติการดำเนินการใด ๆ ของหน่วยงานราชการในพื้นที่เพื่อที่จะนำไปสู่การจัดทำโครงการดังกล่าวต่อไป

อ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จับตา: การพัฒนาเส้นทางรถไฟแลนด์บริดจ์

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4923

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: