กระบี่ร้องศาลปกครอง หยุดท่าเรือรฟฟ.ถ่านหิน

วันชัย พุทธทอง TCIJ 26 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1914 ครั้ง

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ศาลปกครอง กรุงเทพมหานคร ตัวแทนชุมชน จ.กระบี่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่ และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเดินทางมายังศาลปกครองเพื่อยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยเรียกร้องความเป็นธรรมตามสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เพื่อปกป้องกระบี่จากโรงไฟฟ้าถ่านหินสืบเนื่องจากเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ให้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ขณะเดียวกัน บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ยังได้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EHIA) โดยจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) (ค.1) ในเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวกระบี่แต่บริษัทไม่ให้ความสำคัญต่อเสียงคัดค้าน

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วนั้นได้ระบุเส้นทางเดินเรือขนส่งถ่านหินและเรือบรรทุกถ่านหินขนาด 3,000 เดทเวทตันในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมค.1 แต่ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงขนาดเรือบรรทุกถ่านหินเป็นขนาด 10,000 เดทเวทตันและบรรจุในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ได้นำออกเผยแพร่เพื่อดำเนินการจัดเวทีการประชุมครั้งที่ 3 (ค.3) ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2557 นี้ โดยมิได้มีการจัดประชุม ค. 1 ใหม่เพื่อแจ้งอย่างเป็นทางการให้กับชุมชนรับทราบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญอันยิ่งยวด ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย จึงจำเป็นต้องฟ้องศาล

ด้านน.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การใช้สิทธิของประชาชนตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องความชอบธรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไร้ซึ่งธรรมาภิบาลในการดำเนินกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่

มีการปกปิดข้อมูลความจริงตั้งแต่การจัดทำเวที ค.1 และต่อมากลับปรากฏเขียนในรายงานค.3 แตกต่างจากเดิมในสาระสำคัญที่มีในค.1 ทำให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถเสนอขอบเขตการศึกษาผลกระทบได้ครอบคลุมทั้งหมดตั้งแต่การจัดประชุมค.1 การตั้งกรอบและโจทย์การศึกษาผิดตั้งแต่ต้นย่อมทำให้คำตอบที่ได้ไม่อยู่บนฐานของความเป็นจริง การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ต่ำกว่าความเป็นจริงและขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯตั้งแต่การจัดทำค.1 เป็นเจตนาของกฟผ.ที่ละเมิดสิทธิของชาวบ้านอย่างร้ายแรง

นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตาจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า วันนี้ชุมชนร้องต่อศาลปกครอง ขอให้คุ้มครองชั่วคราว กรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. จะเดินหน้าจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่

โดยมีตัวแทนชาวบ้านจากจังหวัดกระบี่ 45 คน ขอให้ศาลปกครอง มีคำสั่งเพิกถอนโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว จ.กระบี่ ขอให้เพิกถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ ของโครงการ ขอให้บังคับใช้กฎหมาย ห้ามมิให้มีการเดินหน้าโครงการใด ๆ ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและขอให้คุ้มครองชั่วคราว ระงับเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการกำหนดขอบเขตแนวทางประเมิณผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ Public Scoping ครั้งที่ 3 หลังพบว่า การจัดเวทีที่ผ่านมา มีการแก้ไขข้อมูลประกอบการรับฟังความเห็นประชาชน โดยไม่แจ้งให้ผู้เข้าร่วมรับทราบ

นายธีรพจน์กล่าวอีกว่า ตัวแทนชาวบ้านจากจังหวัดกระบี่และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยังฟ้องกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฐานละเลยต่อการปฎิบัติหน้าที่ โดยให้เหตุผลว่า พื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงการฯ อยู่ในเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ แต่กระทรวงทรัพย์ กลับไม่ให้ความสำคัญที่จะปกป้อง

ด้านนายประสาน  ร่าโสย ชาวประมงบ้านเกาะจำ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กล่าวว่า  ที่ผ่านมาการผลักดันเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่และท่าเทียบเรือคลองรั้ว เป็นส่วนหนึ่งของแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยขบวนการผลักดันเพื่อจะสร้างฯ การไฟฟ้าไม่สนใจเสียงคัดค้านของคนในเพื่อ ชาวบ้านถามเรื่องผลกระทบก็ไม่ตอบ อย่างเช่นกระทบต่อแหล่งหญ้าทะเล กระทบต่อปลาพยูน หรือกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว จะส่งผลกระทบหรือไม่หากมีผลกระทบจะทำอย่างไร แต่ไม่มีคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่

นายประสานกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทางเจ้าของโครงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาแล้ว 2 ครั้งทั้ง2ครั้งประชาชนคัดค้าน และ ครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 28 กันยายนนี้ ประชาชนจึงจำเป็นต้องฟ้องศาล โดยขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้อง เพราะหากมีการเปิดเวที ค.3 ก็หมายความว่าขบวนการเพื่อให้ได้ก่อสร้างโครงการได้เสร็จสมบูรณ์แล้วเพราะเจ้าของโครงการไม่ได้สนใจเสียงคัดค้าน พวกเขาตั้งธงใว้แล้วว่าจะสร้างให้ได้

นายประสาน กล่าวต่อว่า ผมเป็นชาวประมง ทำประมงในทะเลหน้าบ้าน และพื้นที่ก่อสร้างโครงการอยู่ใกล้บ้านประมาณ2 กิโลเมตร แน่นอนได้รับผลกระทบเต็ม ๆ และจะส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวด้วย จ.กระบี่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของจ.กระบี่ หากโครงการฯส่งผลกระทบ จ.กระบี่ก็จะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปด้วย

วันนี้คนในพื้นที่มีความห่วงกังวลมากมาย ในการนำถ่านหินมาใช้  หากถามว่าแล้วจะแก้ไขอย่างไร ขอเสนอว่าอยากให้เลือกใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ใช่ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งมีพลังงานลม พลังงานแสงแดด น้ำมันปาล์มก็นำมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้  อยากให้กฟผ.ระงับโครงการถ่านหิน แล้ว มาพูดคุยให้ชัดเจน คิดให้ดีว่ากระบี่ควรใช้เชื้อเพลิงอะไรที่เหมาะสม ขอวอนกฟผ.อย่าทำให้เกิดปัญหาผลกระทบจากถ่านหินในกระบี่ ถ้ากฟผ.บริสุทธิ์ใจจริงเวทีที่ชาวบ้านเชิญมาพูดคุยกันก่อนหน้านี้ทำไมไม่มา

ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่พึงพอใจกับความไม่โปร่งใสของกฟผ.ที่มีการให้ข้อมูลที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เช่นขนาดของเรือ แต่ยังรุดหน้าทำการรับฟังความคิดเห็นต่อเรื่อย ๆ ยืนยันไม่มีใครรู้จักพื้นที่ดีเท่าชาวประมง การสร้างท่าเทียบเรือจะส่งผลกระทบต่อวิถีของชาวประมงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: