ถกอนาคตพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ชูจุดแข็งเป็นแห่งเดียวในเอเชีย

27 มี.ค. 2557


เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย สัมมนาเรื่อง “ ทิศทางของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยสู่อนาคต ” จัดการประชุมสามัญประจำปี 2556 เพื่อวิเคราะห์ปัญหาการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยที่ผ่านมา 20 ปีกว่า และจัดทำแผนยุทธศาสตร์กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานในอนาคต

ในการสัมนา ผู้ร่วมสัมนามีความเห็นร่วมกันว่า  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมีจุดเด่นที่เป็นพิพิธภัณฑ์แรงงานแห่งเดียวในประเทศไทยและอาจจะในเอเชียด้วยในแง่ที่แสดงวิวัฒนาการของแรงงาน จุดเด่นตรงนี้นำมาซึ่งโอกาสหลายอย่าง เช่น มีคนสนใจอยากจะมาชมโดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่จำนวนมากเจาะจงอยากจะมา หรือภายในประเทศอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายท่านที่สอนวิชาเกี่ยวกับแรงงานก็จะแนะนำให้นักศึกษามาดูงาน ถือเป็นโอกาสหลายๆอย่าง

รวมทั้งยังมีจุดแข็งที่มีกรรมการและเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ฯที่เป็นผู้ใช้แรงงานจึงเข้าใจแรงงานได้ดี  และมีศักยภาพการทำงานเข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์มากกว่าทำงานไปวันๆ  และพบว่าในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมีบทบาทและมีความสำคัญที่ดีกับขบวนการแรงงานรวมทั้งนักวิชาการด้วย มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆมาช่วยพัฒนางานอยู่เสมอ ทำให้พิพิธภัณฑ์ฯมีการพัฒนามีบทบาทอย่างมาก

ทั้งนี้ ในการดำเนินการยุทธศาสตร์ ได้มีการหารือร่วมกัน เพื่อเร่งพัฒนาพิพิธภัณฑ์แรงงานในอนาคตให้แข็งแกร่งมากขึ้น โดยมุ่งพัฒนา 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่

เรื่องอาคารสถานที่ เป็นวิกฤตที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยกำลังเผชิญอยู่ โดยสถานที่ตั้งปัจจุบันนี้พิพิธภัณฑ์ฯไม่ได้เป็นเจ้าของและก็กำลังอยู่ในภาวะจะถูกไล่รื้อ เป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนในการคงอยู่ เพราะจุดที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ฯตอนนี้เป็นจุดที่อยู่ในเมือง สะดวกต่อผู้คนที่มาเยี่ยมชมและต่อองค์กรแรงงานต่างๆที่ใช้เป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรม

งบประมาณ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์ฯไม่ได้เป็นองค์กรที่จะมีรายได้เข้ามาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะแตกต่างจากพวกสหภาพแรงงานที่มีค่าบำรุงสมาชิก รายได้ของพิพิธภัณฑ์ฯก็มาจากการทำโครงการที่ไปขอเป็นครั้งๆ ซึ่งก็ไม่ยั่งยืน ซึ่งการทำแผนงานก็ให้ความสำคัญทั้งการหารายได้เฉพาะหน้าและให้มีเงินดำเนินงานในระยะยาวที่ไม่ต้องไปพึ่งแต่ทำโครงการเป็นครั้งๆไป

และบทบาทและภารกิจของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ซึ่งโจทย์ข้อนี้ต้องทำให้ชัดเจนว่า บทบาทหรือจุดยืนของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยจะต้องอยู่ในสถานภาพที่เป็นองค์กรของขบวนการแรงงานทั้งหมด ต้องทำงานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับองค์กรนำของแรงงานได้ทุกองค์กร ซึ่งก็เป็นเรื่องจำเป็นมากจากความเป็นจริงที่ปัจจุบันในขบวนการแรงงานไม่ได้มีองค์กรนำที่เป็นเอกภาพเพียงองค์กรเดียว เรื่องนี้จะมีผลต่อการระดมการสนับสนุนได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งการวางบทบาทให้เป็นสถาบันด้านแรงงานที่ทำหน้าที่ด้านการสนับสนุนส่งเสริมคุณค่าของแรงงาน เสริมศักยภาพของสหภาพแรงงาน เช่นงานด้านวิชาการ ประวัติศาสตร์ การฝึกอบรมเพิ่มทักษะความรู้ มากกว่าจะทำหน้าที่ด้านการขับเคลื่อนเหมือนองค์กรแรงงานทั่วไป ก็จะทำให้สามารถแสวงหาการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ง่าย เช่นเรื่องการท่องเที่ยว การศึกษา การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ชุมชน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: