ผ่าตัวเลข'ถือครองที่ดิน'ในประเทศไทย กรมป่าไม้ครองแชมป์แลนลอร์ดที่ดินรัฐ

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด TCIJ 27 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 19205 ครั้ง

ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับสังคมไทย เป็นเวลากว่าทศวรรษ งานศึกษาเพื่อแก้ปัญหาการถือครองที่ดินหลายชิ้นเสนอทางออกให้เก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระจุกตัวของที่ดิน ขณะที่หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานต่างมีที่ดินในความครอบครองเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในความดูแลของกรมป่าไม้มีพื้นที่ 144.54 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 45.19 ของที่ดินในประเทศไทย ยังไม่นับรวมที่ดินราชพัสดุของหน่วยงานต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ต่างได้รับการงดเว้นภาษีตามกฏหมาย

กรมป่าไม้ครองแชมป์แลนด์ลอร์ด

ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320.70 ล้านไร่ สามารถจำแนกออกเป็นที่ดินในความดูแลของกรมที่ดินมีพื้นที่ 130.74 ล้านไร่2 (ร้อยละ 40.88 ของที่ดินในประเทศ) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีพื้นที่ 34.76 ล้านไร่ (ร้อยละ 10.87) ป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ มีพื้นที่ 144.54 ล้านไร่ (ร้อยละ 45.19) และที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ มีพื้นที่ 9.78 ล้านไร่(ร้อยละ 3.06)

และหากลองเทียบสัดส่วนจะพบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นพื้นป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ จำนวน 144.54 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 45.19 ของพื้นที่ประเทศไทย และเมื่อนำมารวมกับที่ดินราชพัสดุ เท่ากับว่าที่ดินในประเทศไทยเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ จำนวน 154.32 ล้านไร่ อยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของรัฐ ขณะที่ที่ดินในความครอบครองของประชาชนอยู่ที่ 165.5 ล้านไร่

ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีที่ดินจำนวนมหาศาลที่ถือเป็นทรัพย์สินของการรถไฟฯ กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 234,976.96 ไร่ แบ่งเป็นที่ดินเพื่อการเดินรถ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก จำนวน 198,674.71 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่เขตราง 189,586.27 ไร่ พื้นที่ย่านสถานี 5,333.24 ไร่  บ้านพัก/ที่ทำการ 3,755.25 ไร่ ขณะที่ที่ดินสำหรับการพาณิชย์มีจำนวน 36,302.18 ไร่ ประกอบด้วย ที่ดินศักยภาพต่ำ 21,536.80 ไร่ ที่ดินศักยภาพกลาง 7,218.12 ไร่ และที่ดินศักยภาพสูง เช่น บริเวณสถานีรถไฟมักกะสัน รัชดาภิเษก ย่านพหลโยธิน และสถานีแม่น้ำ 7,547.32 ไร่

น้อยสุดเพียง 1 ตารางวา

หันกลับมาดูฝั่งเอกชน ประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 64.871 ล้านคน มีเพียง  15,900,047 คน  ที่มีที่ดินเป็นของตนเอง น้อยสุดคือ 1-10 ตารางวา จำนวน 285,952 คน และมากที่สุด คือ มากกว่า 1,000 ไร่ขึ้นไป จำนวน  837 คน โดยส่วนใหญ่ครอบครองที่ดินเฉลี่ยนคนละ 1-5 ไร่ มีจำนวน 3,482,206 คน

ส.ส.ครองที่ดินคนละ 71 ไร่

จากการรวบรวมข้อมูลการถือครองที่ดินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 507 คน จาก 11 พรรคการเมือง อ้างอิงข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) พบว่า นักการเมืองทั้ง 507 คน มีที่ดินรวมกัน 35,786 ไร่ 23 งาน 99 ตารางวา เฉลี่ยคนละ 71 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา คิดเป็นมูลค่ารวม 15,669,140,632.02 บาท โดยมูลค่าสูงสุดที่นักการเมืองถือครองสูงสุดอยู่ที่ 2,699,923,830 บาท ต่ำสุด 19,200 บาท หรือเฉลี่ยคนละ 30.91 ล้านบาท

แนะเก็บภาษีที่ดินทุกแปลง ‘อัตราก้าวหน้า’ ไม้เว้นที่ดินรัฐ

ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวว่า ส่วนใหญ่เมื่อกล่าวถึงการกระจุดตัวของการถือครองที่ดิน มักพิจารณาแค่การถือครองที่ดินในมือกลุ่มธุรกิจหรือนายทุนต่าง ๆ โดยมักลืมไปว่าหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน เช่น กรมป่าไม้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ต่างถือครองที่ดินจำนวนมากโดยไม่เสียภาษี เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นทางกฎหมายที่ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินของรัฐ ทำให้เงินภาษีจำนวนมากหายไป

แม้ว่าล่าสุด กระทรวงการคลังเปิดเผยอัตราการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกแปลง โดยใช้ฐานราคาประเมินของกรมธนารักษ์ กำหนดโครงสร้างภาษี 3 อัตรา ได้แก่ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ เก็บในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ของราคาประเมินที่ดิน, ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย เก็บในอัตราร้อยละ 0.1 และที่ดินเพื่อการเกษตร เก็บในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.05 และในกรณีที่ที่ดินว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ เก็บในอัตราร้อยละ 0.05 ของราคาประเมินที่ดิน และหากยังไม่ใช้ประโยชน์ติดต่อกัน ให้เพิ่มภาษีอีกหนึ่งเท่าในทุกๆ 3 ปี แต่จำนวนภาษีที่เรียกเก็บต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของราคาประเมินที่ดิน

แต่มาตรการดังกล่าวของกระทรวงการคลังกลับไม่ครอบคลุมถึงที่ดินในความครอบครองของรัฐ หลายหน่วยงาน อาทิ กรมป่าไม้ พื้นที่จำนวนมากถูกใช้ไปเพื่อการท่องเที่ยว สร้างรายได้แก่หน่วยงานแต่กลับไม่ต้องเสียภาษีทั้งที่มีศักภภาพเพียงพอถึงขั้นสามารถจ่ายภาษีในอัตราก้าวหน้าได้จริง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: