บทวิเคราะห์: นักปฏิรูปประเทศไทย

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี 27 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2028 ครั้ง

การปฏิรูปครั้งใหม่ที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน ที่มุ่งเสริมอำนาจและบทบาทของกองทัพและราชการ ก็กำลังส่อเค้าว่าจะนำพาประเทศไปสู่ความล้าหลัง ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะทำไม่สำเร็จและสร้างปัญหาอีกมากมายเอาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ต่อสู้ล้างผลาญกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

การปฏิรูปในปี 2557-2558 ผิดทิศผิดทางตั้งแต่เริ่มต้น เพราะเป็นกระบวนการปฏิรูปแบบบนลงล่างที่ไม่ได้รับความเห็นพ้องจากมหาชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่โดยที่กองทัพก็ปฏิเสธอย่างแข็งขันที่จะรับฟังความเห็นของกลุ่มคนที่อยู่ตรงกันข้าม หรือเชื่อว่าอยู่ตรงกันข้ามกับกองทัพและชนชั้นนำในสังคม

กระบวนการในการคัดเลือก “นักปฏิรูป” คับแคบเกินกว่าจะเชื้อเชิญให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างกว้างขวางได้ สภาปฎิรูปเที่ยวนี้จึงได้คนไม่กี่ประเภทเข้าไปวางแผนและเสนอแนะแนวทางการปฏิรูปประเทศ ยังไม่นับว่าคนไม่กี่ประเภทนั้นก็ขัดแย้งกันเองและขัดแย้งในตัวเองเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว

กองทัพและชนชั้นนำไม่มีศรัทธาต่อระบบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งหลงเหลืออยู่เลยแม้แต่น้อย (หรืออาจจะไม่มีตั้งแต่ต้นก็ได้) แต่กลับประกาศว่าจุดมุ่งหมายของการปฏิรูปคือการสร้างระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์  กองทัพมองเห็นความขัดแย้งอยู่ต่อหน้าและรู้ซึ้งถึงระดับความลึกแห่งความแตกแยกนั้นอย่างชัดเจน แต่กลับนำผู้สร้างความขัดแย้งเหล่านั้นไปนั่งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปอย่างไม่สมดุล เพราะเลือกมาเพียงข้างเดียว คุณค่าแห่งเป้าหมายของการปฏิรูปไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่า การล้างแค้นกันทางการเมือง นี่คือปรากฏการณ์ที่สภาแห่งผู้ชนะกำลังจะลงโทษตัดสินผู้แพ้เท่านั้นเอง มีคนจำนวนน้อยมากบนโลกนี้ที่จะเชื่อว่า นี่คือการปฏิรูปประเทศไทยจริง ๆ

ความเป็นประชาธิปไตยนั้นเน้นการมีส่วนร่วมและความหลากหลาย แต่การปฏิรูปโดยกองทัพนั้นเป็นการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจสั่งการของคณะรัฐประหาร ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จะต้องกีดกันบุคคลซึ่งมีความเห็นไม่สอดคล้องหรือแตกต่างกันออกไป ลักษณะเช่นนั้นย่อมเป็นปรปักษ์ต่อความเป็นประชาธิปไตย ในเมื่อพื้นฐานของกระบวนการในการปฏิรูปไม่เป็นประชาธิปไตย ผลที่ได้ก็ไม่อาจจะไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย  ประชาธิปไตยจริงนั้นเน้นกระบวนการ (process) ไม่ใช่ผลผลิต (product) ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยได้หมายความว่า มีกระบวนการในการปกครองและบริหารประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และกระบวนการเหล่านั้นต้อนรับคนหมู่มาก ไม่ใช่กระบวนการในการเฟ้นหาเทวดามาปกครองประเทศ กองทัพควรยอมรับความจริงข้อนี้และประกาศเป้าหมายของการปฏิรูปใหม่อย่างซื่อสัตย์และตรงไปตรงมาด้วยเกียรติของทหารจะดีกว่า ว่าการปฎิรูปนี้มุ่งสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้กองทัพและราชการ บั่นทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองประเทศ

ขอบคุณภาพจาก www.prachatai.com/

หากพรรคการเมือง นักการเมือง และการเลือกตั้งเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางสังคมที่น่ารังเกียจ ก็ไม่สมควรที่จะนำบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เคยยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในการกระบวนการปฏิรูป และสมควรที่จะประกาศให้โลกรู้ว่า เมื่อปฎิรูปเสร็จแล้วประเทศไทยจะปลอดจากประดิษฐกรรมที่ชั่วร้ายเหล่านี้อย่างแน่นอน

ความคับแคบของกระบวนการคัดเลือกและความตื้นเขินของตัวผู้คัดเลือกเอง ทำให้กองทัพได้ นักปฏิรูปหน้าเดิม ๆ ที่แสดงความสับสนและขัดแย้งในตัวเองอย่างสม่ำเสมอมาชั่วชีวิต พวกเขาหลายคน (อาจจะเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ) มีส่วนร่วมในการปฎิรูปประเทศไทยแทบทุกครั้ง อาจจะเป็นเพราะประเทศขาดแคลนทรัพยากรบุคคลหรืออาจจะเป็นเพราะพวกเขาแสวงหาโอกาสให้ตัวเองตลอดเวลา ทำให้การปฏิรูปประเทศไทยแต่ละครั้ง เราจึงได้แต่นักปฏิรูปหน้าเดิมๆ ความคิดสับสนปนเป เข้ามาทำงานอยู่ร่ำไป นายทหาร ข้าราชการชั้นสูง เนติบริกรหน้าเดิมและเอ็นจีโอคนดีเหล่านี้ เขียนรัฐธรรมนูญให้ประเทศไทยมากี่ฉบับ ประเทศไทยมีคณะกรรมการปฏิรูป สภาปฏิรูป โดยคนกลุ่มนี้มากี่ครั้งแล้ว เสียงบประมาณไปครั้งละหลายพันล้านบาท แต่ประเทศไทยกลับประสบกับปัญหาเรื่อยมา และดูท่าว่าก็จะยังมีปัญหาแบบนี้เรื่อยไป เพราะผลงานของคนหน้าเดิมก็คงไม่มีอะไรใหม่ไปกว่าที่เคยเป็นมา

ในแง่เนื้อหาของการปฏิรูปพวกเขาก็สับสนตลอดมา ในช่วงที่อยู่ในวัยเยาว์พวกนักปฏิรูปเหล่านี้หลายคนเคยรับใช้ระบอบเปรม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของ กองทัพ ราชการ และ นักการเมืองอาชีพ อยู่มาสักพักพวกเขาบอกว่า ระบบราชการบริหารประเทศไม่ทันสมัย ไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกทุนนิยมที่พัฒนาเร็วมาก พวกเขาคิดว่านักการเมืองอาชีพซึ่งส่วนหนึ่งคือนายทุนหรือผู้คุ้นเคยกับนายทุนน่าจะบริหารประเทศได้ดีกว่า นำพาประเทศไปสู่การพัฒนาได้ดีกว่า โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ พวกเขาเรียกร้องการปฏิรูป ให้นักการเมืองมีอำนาจ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สร้างนโยบายที่ข้ามระบบราชการไป สมัยนั้นพวกเขาหลายคนก็สนุกสนานไปกับมันด้วย หลายคนได้ดิบได้ดีในระบบที่พวกเขาช่วยกันสร้างขึ้น

พออายุมากขึ้น พวกเขาเห็นว่าระบบแบบนี้ไม่ดีแล้ว นักการเมืองโกงกินมากเกินไป เกินหน้าเกินหน้าพวกเขา ก็พากันเริ่มใส่ไฟถึงความชั่วช้าของพวกนักการเมือง โดยที่ก็อาจจะลืมไปว่า พวกเขาก็เป็นนักการเมืองเหมือนกัน ต่างกันนิดหน่อยตรงที่พวกเขาไม่ไปเสนอตัว เสนอนโยบายให้ประชาชนที่ไหน นอกจากผู้มีอำนาจให้คัดเลือกพวกเขามาใช้งาน ในขณะที่นักการเมืองนั้นต้องไปเสนอตัว เสนอนโยบายให้ประชาชนเลือกตั้งเขาเข้ามา นักปฏิรูปเหล่านี้เหมือนกับนักการเมืองอยู่อย่างหนึ่ง คือ พวกเขาแสวงหาอำนาจด้วยการอ้างว่าทำเพื่อชาติ เพื่อประชาชน

มาวันนี้นักปฏิรูปเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในวัยชรา พวกที่คิดว่าตัวเองอายุน้อยหรือเป็นคนรุ่นใหม่ก็ปาเข้าไปสี่สิบตอนปลายและห้าสิบตอนต้น ที่เหลือนอกนั้นอายุเกิน 60 ปี พวกเขาคิดหวนคืนสู่ระบอบการปกครองแบบเปรมกันอีกครั้งหนึ่ง สูตรปฎิรูปที่พวกเขาเปรย ๆ ออกมาในเวลานี้คือ ส่วนผสมของกองทัพ ราชการ และนักการเมืองอาชีพ (ที่เชื่อฟังพวกเขา) ผสมด้วยภาคประชาชน (ชั้นนำ-NGO Elite) อีกเล็กน้อยพอเป็นกระสายยารัฐธรรมนูญ กฎหมาย และแนวทางใด ๆ ที่พวกเขาจะเสนอและจัดทำออกมานั้นก็จะต้องสะท้อนดุลภาพทางอำนาจในสูตรนี้เท่านั้น เราจะได้เห็นผลงานของพวกเขาอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ และก็เชื่อได้เลยว่า นี่ไม่ใช่ผลงานครั้งสุดท้ายแน่นอน แต่จะเป็นงานด้อยคุณภาพแบบเดิม ๆ ที่เราคุ้นเคย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: