จีนรุกรัฐบาลประยุทธ์ ขอลงทุนรถไฟยกเข่ง ทางคู่ 1-1.435 เมตร "กทม.-หนองคาย" เชื่อมไฮสปีดเทรนคุนหมิง-เวียงจันทน์ ทวงสัญญาตั้งบริษัทร่วมทุน งัดบาร์เตอร์เทรดซื้อข้าว-ยางพาราแลกค่าก่อสร้าง ทำแผนชง "นายกฯตู่" ถกผู้นำจีน พ.ย.นี้
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้รับมอบหมายให้รวบรวมรายละเอียดความร่วมมือกับประเทศจีน เพื่อพัฒนาระบบรถไฟทั้งการก่อสร้างรถไฟทางคู่ราง 1 เมตร รถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร ที่รัฐบาลมีแผนจะลงทุนก่อสร้างตามยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย เพื่อเสนอข้อมูลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เป็นข้อมูลประชุมร่วมกับผู้นำประเทศจีน 9-11 พฤศจิกายนนี้
“โดยการหารือกับจีนจะปรึกษาหารือกันในระดับนโยบาย เรื่องของแผนงาน แผนเงินที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และความสามารถในการที่จะได้มาซึ่งงบฯลงทุนอย่างไรบ้าง เช่น จ่ายเป็นรูปแบบเงินสด หรือสินค้าเกษตร คาดว่ารายละเอียดทั้งหมดจะได้ข้อสรุปก่อนนายกรัฐมนตรีไปจีน โดยกระทรวงการต่างประเทศ พาณิชย์ คลัง และคมนาคม รวบรวมข้อมูลแล้ว”
ฟื้นข้อตกลงบาร์เตอร์เทรด
“หลักในการเจรจาความร่วมมือกับจีน จะนำข้อมูลที่เป็นข้อตกลงระหว่างไทย-จีนตั้งแต่ปี"53 และปี"56 มาสานต่อในด้านความร่วมมือก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือในการชำระค่าก่อสร้างทั้งเงินสดหรือสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา และความร่วมมือในการจัดตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียดร่วมกัน โดยให้อยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบของทั้งสองประเทศ” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศจีนกำลังใช้มาตรการเชิงรุกเข้มข้นเพื่อขอเป็นผู้ลงทุนระบบรถไฟในประเทศไทย ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้ปรับความเร็วจาก 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง มาเป็นรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร ความเร็ว 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง
โครงการระยะแรก สายหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง-มาบตาพุด และแก่งคอย-บ้านภาชี-ชุมทางบางซื่อ ระยะทาง 1,060 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงของจีนที่จะสร้างจากคุนหมิงมายังนครเวียงจันทน์ สปป.ลาว แยกเป็น 3 ช่วง คือ 1.กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด ระยะทาง 512 กิโลเมตร 2.ช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง 193 กิโลเมตร 3.ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย 355 กิโลเมตร มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 21 ตุลาคมให้ความเห็นชอบแล้ว
“ตามแผนนำร่อง 2 สาย ช่วง กรุงเทพฯ-โคราช 252 กิโลเมตร กับกรุงเทพฯ-ระยอง 193 กิโลเมตร ผลศึกษาจะเสร็จกลางปีหน้า ถึงตอนนั้นจะรู้ว่าใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 59 แล้วเสร็จปี 62-63”แหล่งข่าวกล่าว
ย้อนรอยเอ็มโอยู 2 รัฐบาล
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับข้อตกลง (MOU) เมื่อปี 2553 สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ไทยและจีนได้เซ็นเอ็มโอยูร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนรูปแบบรัฐวิสาหกิจ สัดส่วน 51 : 49 มีทุนจดทะเบียนเริ่ม 1 แสนล้านบาท โดยจะขอสัมปทานเช่าใช้เส้นทางจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 50 ปี ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ในมาตรา 190 แล้ว แต่รัฐบาลยุบสภาไปเสียก่อน
ต่อมาสมัยรัฐบาลเพื่อไทยปี 2555 ไทยและจีนได้เซ็นเอ็มโอยูพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง โดยจีนได้ศึกษารายละเอียดโครงการเบื้องต้นให้ประเทศไทยด้วยคือ สายกรุงเทพฯ-หนองคาย กับรุงเทพฯ-เชียงใหม่ วิ่งด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง พร้อมกับถ่ายทอดความรู้ให้ 100 คน
นอกจากนี้ยังลงนามเอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ว่าด้วยโครงการความร่วมมือระดับรัฐบาลด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ที่เชื่อมโยงกับการชำระค่าใช้จ่ายด้วยสินค้าเกษตร เมื่อเดือนตุลาคม 2556 โดยมีการลงนามซื้อข้าวจากไทย 1 ล้านตัน ระยะเวลา 5 ปี รวม 5 ล้านตัน และเพิ่มเติมอีกปีละ 1 ล้านตัน เป็นเวลา 2 ปี รวม 2 ล้านตัน ในราคาตันละ 13,000 บาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 26,000 ล้านบาท รวมถึงจีนจะรับซื้อยางพาราจากไทยปีละ 2 แสนตันด้วย แต่ไม่ทราบว่ารัฐบาลชุดนี้จะยังยืนยันข้อตกลงเดิม หรือมีการปรับเปลี่ยนนโยบายหรือไม่พาณิชย์รอคำสั่ง
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับการมอบหมายให้ ก.พาณิชย์ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการซื้อขายแลกเปลี่ยน (บาร์เตอร์เทรด) สินค้าเกษตรและรถไฟฟ้าจากจีน
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำสั่งเรื่องการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำบาร์เตอร์เทรด สอดคล้องกับนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ก็ไม่ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวเช่นกัน
ขอบคุณข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ