‘ปิยสวัสดิ์’ตอบคำถาม7ข้อ สัมปทานปิโตรเลียมรอบ21

27 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2624 ครั้ง

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ผู้สื่อข่าว TCIJ รายงานว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ค Piyasvasti Amranand ระบุว่า ประเด็นคำถาม สัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 จากกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย

คำถาม

1.สัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยหมดปี 2565 แหล่งบงกช ก๊าซของปตท.สผ.และเอราวัณ ของเชฟรอน หมดอายุต้องกลับมาเป็นของประเทศไทย กรณีนี้คือการวางหมาก เพื่อให้พื้นที่แหล่งผลิตขนาดใหญ่เพื่อต่อสัญญาให้กับผู้ผลิตเดิมใช่หรือไม่?

ตอบ: ไม่เกี่ยวกันเลย คนละเรื่องกัน

- การออกประกาศเชิญชวนฯในรอบที่ 21 นี้ เป็นไปเพื่อหาผู้มาลงทุนใหม่ในพื้นที่เก่า ที่เคยสำรวจแล้วไม่เจอ ถ้ามีคนมาขอสัมปทานตามที่ประกาศฯ ก็เป็นเรื่องดีที่จะมีคนมาลงทุนหาแหล่งก๊าซหรือแหล่งน้ำมันใหม่ให้เจอเป็นประโยชน์ด้านความมั่นคงพลังงานของชาติ

- ส่วนประเด็นเรื่องแหล่งก๊าซในอ่าวไทยที่ สปท.จะหมดอายุปี 2565 นั้น อยู่ในพื้นที่สัมปทานที่ ให้สิทธิไว้เดิมร่วม 40 กว่าปีมาแล้วยังไม่หมดอายุ แต่เชื่อว่ายังมีก๊าซเหลืออยู่ตอนนี้กระทรวงพลังงานก็ยังไม่ได้เสนอมาว่า จะมีแนวทางในการบริหารจัดการที่เหมาะสมอย่างไร? ยังพอมีเวลา อีกหลายปีที่จะเตรียมการเรื่องนี้

คำถาม

2.แปลง1/57 เป็นแหล่งใหม่ที่ไม่อยู่ในแผนปี 55 เดิม เป็นแหล่งที่เพิ่มขึ้นมา แหล่งนี้อยู่ใกล้กับแหล่งนงเยาว์กับมูบาดาลาและเพิลออย ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ใกล้เคียงกับพื้นที่เกาะกูด พื้นที่เส้นในแผนที่เป็นพื้นที่พิพาท ทำให้ไทยยอมรับเส้นแบ่งเขตดินแดนในทะเล?

ตอบ

- แปลงสำรวจในตอนเหนือของอ่าวไทย เลขที่ G1/57 ที่ขีดขอบเขตขึ้นมาได้ใหม่(ภายหลังประกาศฉบับก่อนเมื่อเดือนมิถุนายน 2555นั้น) ก็เพราะมีผู้คืนพื้นที่สัมปทานเก่ามาให้รัฐเพิ่มเติม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเขาให้นักธรณีวิทยาศึกษาดูแล้วว่า ยังพอมีศักยภาพน่าสนใจ จึงนำมากำหนดเป็นแปลงใหัมีการยื่นขอสิทธิได้ใหม่ ที่น่าสนใจก็เพราะอยู่ใกลักับแปลงที่มีการพบแหล่งปิโตรเลียมแล้วโดยผู้รับสัมปทานเจ้าอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าเปิดใกล้แปลงใดแล้ว ผู้อยู่ใกล้สุดจะได้ไป ขึ้นอยู่กับว่าใครเสนอเงื่อนไขลงทุนสูงสุดก็จะได้ไปอนึ่งแปลง G1/57 นี้ อยู่ในเขตสิทธิอธิปไตยในทะเล ของไทย 100 % ขอบเขตของแปลงจรดกับแปลงสัมปทานของผู้รับสัมปทานรายอื่นที่รัฐบาลไทยได้เคยให้ไปนานแล้ว ไม่มีประเด็นอะไรไปเกี่ยวกับเกาะกูด หรือพื้นที่ไหล่ทวีปในทะเลทับซ้อนกับกัมพูชาแต่อย่างใดเลย

คำถาม

3.บริษัทใหญ่ มีกลุ่มสหรัฐอาหรับอามิเรต สหรัฐอเมริกา ปตท.สผ. และญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทหรือการโอนขายกันในตลาดหุ้นต่างประเทศก็ตามกลุ่มนี้จะเข้ามามีการผูกขาดสัมปทานรอบนี้ใช่หรือไม่?

ตอบ:

การเปิดให้ยื่นขอสัมปทานเป็นการกระบวนการที่โปร่งใส ไม่ว่าบริษัทใดหากมีคุณสมบัติตามกฎหมาย พรบ. ปิโตรเลียม 2514 มาตรา 24 ก็สามารถยื่นขอรับสิทธิฯได้ ซึ่งการพิจารณาอนุมัติให้สัมปทานฯแก่บริษัทใด ก็มีกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการพิจารณาตามข้อเสนอปริมาณงานปริมาณเงินที่จะดำเนินการสำรวจในแปลงยื่นขอ รัฐเองก็พยายามส่งเสริมให้มีบริษัทต่างๆเข้ามาลงทุนในการสำรวจ ซึ่งที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีเพียงกลุ่มบริษัทใหญ่ตามที่กล่าวที่ได้รับสิทธิ ยังมีบริษัททั้งไทยและต่างชาติอีกกว่า 50 บริษัท ที่ได้รับสิทธิและมีการดำเนินงานในปัจจุบัน

คำถาม

4.พื้นที่ทางอีสานที่ให้สัมปทานจะกระทบกับพื้นที่ทางอาหารของอีสานอย่างร้ายแรง ที่อีสานมี shale Gas หินดินดาน ต้องใช้วิธี fracking โดยกระบวนการนำขึ้นมาใช้กระทบกับการปล่อยซัลเฟอร์ และกระทบกับพื้นที่เกษตรกรรมทั้งภาคของอีสาน ส่วนใหญ่พื้นที่ที่เปิดสัมปทานใหม่แต่เกาะกับพื้นที่เดิม เป็นการเปิดช่องให้กลุ่มทุนขุดเจาะสัมปทานมาผูกขาดการขุดเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทย อีสานทั้งภาคได้รับผลกระทบแน่นอน ที่ผ่านมาจังหวัดบุรีรัมย์ที่ได้สัมปทานไปแล้วบางส่วน ผลกระทบที่เกิดขึ้นรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพิกเฉยต่อการแก้ปัญหา!

ตอบ

- เหตุที่มีแปลงให้สำรวจมากในภาคอีสาน ก็เพราะภาคนี้ยังมีการพบแหล่งปิโตรเลียมค่อนข้างน้อยอยู่ คือมีเพียงแหล่งก๊าซน้ำพอง ที่ จ.ขอนแก่น กับแหล่งก๊าซสินภูฮ่อม ที่ จ.อุดรธานี เราจึงควรส่งเสริมให้ภาคอีสานมีแหล่งพลังงานของตนเอง เพื่อมาช่วยปั่นไฟฟ้า ให้พอเพียงในอีสาน จะได้ลดการซื้อไฟฟ้าจากลาวลงไปบ้าง อีกทั้งจะช่วยเป็นแหล่งเติมก๊าซ NGV ในรถยนต์ ช่วยไม่ให้ต้องขน NGV ไปจากสระบุรี

- ส่วนความกังวล เรื่องกระทบห่วงโซ่อาหาร หรือจะใช้ เทคนิค Fracking ชั้นหินก๊าซดินดานแบบที่อเมริกานั้น เป็นการจินตนาการกันเกินเหตุ คนพูดก็ไม่รู้จริงในสิ่งที่พูด ขอยืนยันว่า ภาคอีสานมีการสำรวจปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องมากว่า 40 ปีแล้ว ไม่เคยมีผลกระทบอะไรเลย กระบวนการเจาะหลุมสำรวจ ต้องทำ& ขอความเห็นชอบรายงานEIA ก่อนจึงจะดำเนินการได้ ปัญหาที่บุรีรัมย์เมื่อเดือนมิ.ย. 57 เป็นเรื่องของราษฎร 4 หมู่บ้านจาก 31 หมู่บ้าน ยังไม่เข้าใจวิธีการสำรวจธรณีฟิสิกส์ที่เขาทำสำเร็จด้วยดี ในหมู่บ้านหรือจังหวัดอื่น ๆ ในอีสานมาแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐก็ลงไปดูแลอยู่ให้เกิดความเข้าใจและเป็นธรรม ส่วนเทคนิค Fracking หิน shale gas ขอยืนยันว่า เมืองไทยไม่มีการสำรวจด้วยวิธีนี้ เพราะสภาพธรณีวิทยาเราไม่เหมือนอเมริกา

คำถาม

5.ในปี 2556 มีการขายต่อและโอนกรรมสิทธิ์กันระหว่างบริษัทที่ได้สัมปทานปิโตรเลียม ตัวอย่างการโอนที่ตลาดหุ้นสิงคโปร์ระหว่างบริษัทเหล่านี้ สร้างกำไรให้บริษัท 5,000 กว่าล้าน แต่ประเทศไทยไม่ได้อะไร?

ตอบ

ไม่ทราบว่าหมายถึงบริษัทไหน ขายต่อให้ใคร ที่สิงคโปร์ และทราบได้อย่างไรว่า เขามีกำไร 5,000 ล้านบาทขอให้ระบุมาหน่อย! อนึ่งการจะโอนสิทธิในสัมปทานในแปลงใด ต้องมาขออนุมัติจากทางราชการก่อน ตามมาตรา 50 ของกฎหมายปิโตรเลียม และหากการโอน นั้นถ้ามีกำไรก็ต้องเสียภาษีเงินได้ 50 % ตามกฎหมายภาษีปิโตรเลียมของไทย แต่ถ้าเป็นการเปลี่ยนเจ้าของโดยโอนหุ้น แต่ยังเป็นนิติบุคคลเดิม ก็เป็นเรื่องที่ทำกันได้เองเป็นปกติของทุกธุรกิจ ตามความพอใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แต่ไม่มีส่วนใด ๆ มากระทบสิทธิของรัฐ ในการเก็บค่าภาคหลวง/ภาษีต่าง ๆ จากกิจการนั้น ซึ่งยังต้องรับผิดชอบในฐานะนิติบุคคลคู่สัญญาของรัฐ การโอนสิทธิเป็นเรื่องปกติในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนี้ เพราะเป็นแผนบริหารความเสี่ยงและจัดการสัดส่วนลำดับความสำคัญก่อนหลังในการลงทุน ของบริษัทแต่ละรายซึ่งย่อมไม่เหมือนกัน - อนึ่ง ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานรายนึง เป็นบริษัทในเครือ ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอีกประเทศหนึ่ง(เช่นที่สิงคโปร์) โดยบริษัทแม่นั้นมี asset ทรัพย์สินหรือสิทธิสัมปทานอยู่ในหลายประเทศ การที่ต่อมาบริษัทแม่นั้น ถูกบริษัทผู้ลงทุนจากตอ.กลางมาซื้อหุ้นไปทั้งหมดออกจากตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้หมายความว่ากำไรจากการที่ขายหุ้น มาจากผลการผลิตปิโตรเลียมจากประเทศใดประเทศนึง แต่เป็นการตอบสนองราคาระหว่างผู้ซื้อ/ขายภายใต้กติกาของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศนั้นๆ.

คำถาม

6.ประเทศไทยมิใช่ขอทาน ที่จะรอรับเงินบริจาคและ CSR จากบริษัทที่ได้รับสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียม

ตอบ

ปัจจุบัน ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมทีรัฐเก็บได้จากการผลิตบนบก จะถูกจัดสรรคืนให้ท้องถิ่นและจังหวัดอันเป็นที่ตั้งของแหล่งผลิตๆนั้นๆ ผ่าน อบจ. และ อบต. ปีนึงๆ หลายพันล้านบาท. แต่อบต. หรือ อบจ. มักไม่มีโครงการที่ไปถึงประชาชนชาวบ้านให้จับต้องได้หรือเห็นประโยชน์มากนัก กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงเห็นควรให้กำหนดว่าเป็นหน้าที่ของผู้รับสัมปทานด้วย ที่จะต้องแสดงถึงความใส่ใจในความเป็นอยู่หรือการศึกษาของคนในท้องถิ่นโดยรอบฐานผลิตปิโตรเลียม นอกเหนือไปจากสิ่งที่รัฐ หรือ อปท. ต้องจัดให้อยู่แล้ว แต่อาจไม่ทั่วถึง.

คำถาม

7.ยกเลิกระบบทาสและอาณานิคมฝั่งภาคตะวันออก วันนี้ประเทศไทยมีการตีเส้นสัมปทานปิโตรเลียม รัฐบาลไทยรักไทยชี้เส้นนี้เป็นพื้นที่ทับซ้อนเพื่อแบ่งผลประโยชน์กัน แต่วันนี้รัฐบาลทหารไม่ควรเดินตามกลุ่มทุนที่รัฐบาลที่ผ่านมากระทำ รัฐบาลประหารครั้งนี้มาเพื่อแก้ปัญหาการเมืองจึงมิใช่มาแก้ปัญหาเรื่องสัมปทาน ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติเป็นของคนไทยทุกคนเป็นเจ้าของมิใช่กระทรวงพลังงานหรือรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน

ตอบ

รัฐบาลทุกยุคสมัยมีหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนประชาชน

เข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์แก่คนไทยทุกคน และด้วยความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี ประกอบกับก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบที่เรามีก็ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ และกำลังจะหมดไป ทำให้ในอนาคตจะต้องนำเข้าพลังงานมากขึ้น ในราคาที่แพงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ดังนั้น การสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศจึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะขั้นตอนตั้งแต่การออกสัมปทาน ไปจนถึง การสำรวจ การพัฒนาแหล่ง ต้องใช้เวลา 7-9 ปีเป็นอย่างน้อย กว่าจะเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งนั้น ๆ ได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: