ข้อสังเกตประการหนึ่งต่อการนับถือศาสนาพุทธของคนไทยในปัจจุบันคือ ความสูงส่งของศีลธรรมทางศาสนาอาจไม่ได้ช่วยส่งเสริมการเติบโตของจิตสำนึกแบบปัจเจกบุคคล คำสอนทางศาสนาอาจไม่ได้ช่วยปลดปล่อยความเป็นเฉพาะของมนุษย์แต่ละบุคคล (Individuality)
ยิ่งในยุคสมัยที่สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นสังคมประชาธิปไตย อันมีหลักพื้นฐานประการสำคัญคือการเคารพสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคด้วยแล้ว การเติบโตของสำนึกประชาธิปไตยจำเป็นต้องอาศัยการส่งเสริมศักยภาพ อิสรภาพ และความเป็นตัวของตัวเองของปัจเจกบุคคลไปพร้อมๆ กันด้วย ทว่า พุทธศาสนาไทยกลับไม่มีคำสอนที่มุ่งเน้นถึงความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพ และศักยภาพในตนเองมากนัก เช่น การที่ศาสนามุ่งสอนให้คนเป็นคนดี แต่ไม่เคยสอนให้คนเป็นตัวของตัวเอง มุ่งสอนว่าคนทุกคนมีกิเลส โดยไม่พูดถึงพุทธภาวะ หรือบ่อยครั้งที่มักได้ยินคำกล่าวจากปากพุทธศาสนิกชนไทยในทำนองว่า "พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนเรื่องเสรีภาพ" "เสรีภาพต้องมีขอบเขต" บ่อยครั้งที่เสรีภาพและความเป็นตัวของตัวเองถูกตัดสินว่าเป็นเรื่องความเห็นแก่ตัว เมื่อต่างคนต่างมีเสรีภาพจะทำตามใจตัวเอง ทำตามความอยาก ทำตามความต้องการเสียแล้ว สังคมก็รังแต่จะวุ่นวายโกลาหล
ผลคือเมื่อปัจเจกบุคคลไม่เคยได้รับการปลดปล่อย ยอมรับ และส่งเสริมศักยภาพในประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ของตัวเอง ก็ยากที่พวกเขาจะแสดงออกซึ่งการเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของคนอื่นอย่างเท่าเทียมกันได้ สังคมเต็มไปด้วยคนดีผู้มีคุณธรรมสูงส่งแต่ขาดสามัญสำนึกของการเคารพคนอื่น เพราะลึกๆ พวกเขาไม่เคยให้โอกาสตัวเอง
สังคมพุทธทุกวันนี้จึงเต็มไปด้วยภาพความสูงส่งทางศาสนาอันไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง ทั้งยังทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญของรัฐในการกดทับศักยภาพและความแตกต่างหลากหลายของปัจเจกบุคคลอย่างร้ายกาจ ศีลธรรมทางสังคมตั้งอยู่บนหลักการเดียวกัน ด้วยการมุ่งเน้นไปยังคุณค่าที่ข้ามพ้นตัวตน บุคคล ยุคสมัย เหตุปัจจัย และกาลเวลา เช่น ความรัก ความดีงาม ความสุข ความสงบสุข สันติภาพ ความปรองดอง ฯลฯ ซึ่งความเป็นสัมบูรณ์ (absolute) ดังกล่าวย่อมเอื้อประโยชน์และไปด้วยกันได้ดีกับวัฒนธรรม ประเพณี ในโครงสร้างอำนาจก่อนเก่าแบบศักดินา ศีลธรรมแบบแนวดิ่ง อันสะท้อนค่านิยมแบบเคารพสถานะ แยกลำดับชั้น เหมารวม คิดแทน ใช้อำนาจตัดสินถูกผิด และสัจธรรมอำนาจนิยมอกาลิโกแบบจริงแท้ตลอดกาล ยิ่งความเป็นสัมบูรณ์ถูกยกเป็นมาตรฐานทางสังคมมากเท่าไหร่ มนุษยธรรม ความเป็นคน และความเป็นประชาชนก็ดูจะถูกลดทอนคุณค่าลงไปมากเท่านั้น
การที่ศาสนธรรมที่ถูกกำกับโดยรัฐไม่ต้องการให้เกิดการตระหนักรู้ทางสังคมต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงสัมพัทธ์ (relative) อันสะท้อนอยู่ในพลังและการปลดปล่อยของปัจเจกบุคคล ก็เพราะพลังการตื่นรู้ดังกล่าวจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมและการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกทางสังคมในแนวราบให้ขยายและกระจายตัวออกไปอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ การตื่นรู้ในแนวราบจึงถูกมองว่าเป็นภัย และปัจเจกบุคคลที่คิดต่าง เห็นต่าง และสร้างความเปลี่ยนแปลงถูกมองว่าเป็นผู้ก่อการร้าย คนจำนวนไม่น้อยมองศีลธรรมทางศาสนาว่าไปด้วยกันไม่ได้กับคุณค่าแบบประชาธิปไตย บางครั้งถึงขั้นเป็นอะไรที่ตรงกันข้าม แม้แต่คุณค่าของวิชาการและการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดและการวิพากษ์วิจารณ์ ก็ถูกผลักให้กลายเป็นอื่นด้วยการใส่ป้ายว่าเป็น "คุณค่าแบบตะวันตก"
ในขณะที่ภูมิปัญญาตะวันออกส่องสว่างให้เราตระหนักถึงธรรมชาติสูงสุดแห่งสรรพสิ่ง ธรรมะอันเป็นอกาลิโก ข้ามพ้นโลกียวิสัย ข้ามพ้นตัวตน ข้ามพ้นบุคคล ข้ามพ้นหลักการและข้ามพ้นประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ภูมิปัญญาแห่งโลกตะวันตกกลับมีวิถีทางที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง การที่เราอยู่ที่นี่ เกิดมาบนโลกใบนี้ ในยุคสมัยนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อเป้าหมายแห่งการหลุดพ้นจากโลกเท่านั้น หากแต่หมายถึงอิสรภาพในการมีชีวิตอยู่ในโลก สัมพันธ์กับโลก และเข้าใจโลกในทุกแง่มุมอย่างเต็มที่ สะท้อนอยู่ในคุณค่าของประวัติศาสตร์ การต่อสู้ การมีส่วนร่วม จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ...และนั่นคือสาระสำคัญของคุณค่าทางจิตวิญญาณแบบโลกวิสัย
หากสังคมตะวันออกเน้นย้ำถึงจิตวิญญาณการหลุดพ้นในแนวดิ่งอันสอดรับกับโครงสร้างทางสังคมแบบชนชั้น โลกตะวันตกกลับมุ่งเน้นถึงจิตวิญญาณการหลุดพ้นในแนวราบ อันแสดงถึงพลังแห่งปัจเจกบุคคล ซึ่งแสดงตนอยู่ในชีวิตผู้คน "แต่ละคน" แต่ละยุค แต่ละสมัย และแต่ละบริบทเฉพาะ โลกตะวันตกได้ให้กำเนิดแนวคิดอันก้าวหน้ามากมายแก่โลกใบนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นแนวคิดปฏิวัติ แนวคิดแบบแปดเปื้อนไปกับความเป็นจริงแบบโลกย์ๆ ซึ่งมีพลังพลิกเปลี่ยนโลกใบนี้ราวกับพายุ เพราะแนวคิดแบบตะวันตกส่งเสริมศักยภาพและเคารพความศักดิ์สิทธิ์แห่งปัจเจกบุคคล นั่นคือคนแต่ละคนเกิดมาบนโลกนี้ไม่ได้เพียงเพื่อประพฤติปฏิบัติตนตามประเพณี วัฒนธรรม ที่ถูกสืบทอดต่อๆ กันมา ตามครอบครัว ตามสังคม และตามความเชื่อศาสนาเพียงเท่านั้น แต่ปัจเจกบุคคลมีภารกิจในการค้นพบศักยภาพ พรสวรรค์ พลังสร้างสรรค์ ที่เรียกว่า "ความเป็นตัวของตัวเอง" (Individuation) อันเปรียบได้กับของขวัญที่แต่ละคนจะมอบไว้ให้แก่โลกใบนี้
พ้นไปจากความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาแห่งโลกตะวันออกและโลกตะวันตกแสดงให้เห็นถึงสองแง่มุมที่แตกต่างในตัวเราเอง อุปมาอุปไมยเหมือนกับการหายใจออกและหายใจเข้า ...การตื่นรู้แบบโลกตะวันออกเกี่ยวข้องกับ "การปล่อยวาง" การยึดมั่นในโลกเชิงกายภาพ รูป วัตถุ ตัวตน ความคิด และอดีตที่ผ่านไปแล้วนั้น เปรียบได้กับการหายใจออก ขณะที่การตื่นรู้แบบตะวันตกที่เกี่ยวข้องกับ "การสัมพันธ์" ต่อการปรากฏขึ้นของรูป ปรากฏการณ์ แนวคิด ประสบการณ์ส่วนบุคคล ประวัติศาสตร์ ความมีตัวตน และพลังการสร้างสรรค์ในตัวบุคคล เปรียบเหมือนกับการหายใจเข้า... เมื่อการหายใจเข้าจำเป็นต้องสัมพันธ์อยู่กับการหายใจออก
เช่นเดียวกันกับที่การหายใจออกก็ต้องสอดคล้องไปกับการหายใจเข้า เป้าหมายหรืออุดมคติทางจิตวิญญาณจำเป็นต้องตั้งอยู่บนประสบการณ์ชีวิตและเส้นทางการลองผิดลองถูกเฉพาะตนของปัจเจกบุคคลอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้ การจะค้นพบศักยภาพที่แท้จริงในตัวมนุษย์แต่ละคน จำเป็นจะต้องนำทั้งสองด้านมาผนวกกัน ทั้งความจริงสัมบูรณ์และสัมพัทธ์ ข้ามพ้นบุคคลและในระดับบุคคล ฟ้าและดิน โลกุตระและโลกียะ
ตะวันออกและตะวันตกจะปะทะกัน เรียนรู้จากกัน และประสานกันในท้ายที่สุด และนี่คือจิตวิญญาณการตื่นรู้ของมนุษยชาติในโลกสมัยใหม่ ธรรมะที่มีบริบท ศาสนธรรมที่ไม่ลอยนวลอยู่เหนือมนุษยธรรม การรู้แจ้งที่จะงอกงามอยู่บนดิน และสัมพันธ์อยู่กับสุขทุกข์ตามที่เป็นจริง เติบโตเป็นความเคารพในความเป็นมนุษย์และศักยภาพอันแตกต่างหลากหลายของปัจเจกบุคคล และเมื่อพลังของปัจเจกบุคคลได้ถูกปลดปล่อยอยู่ในพื้นที่แห่งเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ พลวัตแห่งความเป็นธรรมและมนุษยธรรมอันดีงามอยู่แล้วโดยพื้นฐาน ก็จะรังสรรค์สังคมแห่งการรู้แจ้งขึ้นเองตามธรรมชาติ
ที่มา www.matichon.co.th
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ