เจาะแผนรถไฟฟ้า‘แดงไหนจะไปรังสิต’ ชานเมืองได้ใช้ปี60-รถตู้หวั่นรายได้หด

สรินยา ลอยประสิทธิ์ โรงเรียนนักข่าว TCIJ 28 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 6995 ครั้ง

ปัญหาความหนาแน่นเส้นทางจราจรและระบบขนส่งมวลชนในย่านรังสิต  จ.ปทุมธานี มีอัตราการใช้บริการขนส่งมวลชนอย่างสูงมาก ผู้คนนับแสนขึ้นไปมีความจำเป็นต้องใช้บริการระบบขนส่ง รถตู้ รถเมล์ รถไฟ เพื่อเข้าสู่เมือง อีกทั้งจำนวนผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวปริมาณ ปริมาณการจราจรอยู่ที่วันละ 315,000 คัน ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรที่คับคั่งแน่นหนาเป็นอย่างมาก และไม่มีความสะดวกในการเดินทาง สร้างผลกระทบในการดำรงชีวิต และแน่นอนว่าความต้องการระบบขนส่งรถไฟฟ้า จึงไม่แตกต่างจากเส้นทางอื่น ๆ กับการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองหลวงนั่นเอง

หลังการประกาศนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของรัฐบาล ที่บรรจุโครงการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีแดง ที่ระบุว่าจะเป็นเส้นทางขนส่งขนาดใหญ่ เพื่อขนคนจากพื้นที่ฝั่งเหนือของของกรุงเทพฯ คือ พื้นที่รังสิต-ปทุมธานี เข้าสู่พื้นที่รอบใน ทำให้กลายเป็นการคาดหวังสำคัญของคนในพื้นที่นี้  ที่รอคอยรถไฟฟ้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากความแออัดเรื่องการจราจร แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังสับสนกับแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่จะเปิดใช้ประมาณในปี พ.ศ.2560 ว่า รถไฟฟ้าสายสีแดงเส้นนี้ แท้จริงแล้วเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดงอะไรกันแน่ หลังพบว่า “รถไฟฟ้าสายสีแดง” ที่ถูกกล่าวถึงกันมากมาย ยังแบ่งออกเป็นหลายเฉด เช่น สายสีแดงอ่อน สายสีแดงเข้ม สายสีแดงเลือดหมู มีต้นทางปลายทางวิ่งผ่านเส้นทางใดบ้าง

แผนการให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคต จึงมีความน่าสนใจว่า รถไฟหลากสีแดงเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านการจราจรให้กับผู้คนแถบรังสิต-ปทุมธานี ได้มากน้อยแค่ไหน และแท้จริงแล้วพื้นที่วิ่งผ่านของรถไฟฟ้าเหล่านี้จะไปทางไหนบ้างนั่นเอง

กางแผน รฟท.สร้างรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง

จากข้อมูลการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) ระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง “เป็นรถไฟฟ้าชานเมืองที่เชื่อมโยงกับรถไฟทางไกลและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ” โดยโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วยระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ของ รฟท. ช่วงบางซื่อ  - ตลิ่งชัน , บางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก รวมระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร และ ตลิ่งชัน-ศิริราช จะทำหน้าที่ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองเข้าสู้กรุงเทพมหานคร ด้วยระบบรางที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้อนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีโครงข่ายอยู่แล้วและที่จะสร้างเพิ่มขึ้นในอนาคต

สำหรับรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต และ ส่วนขยายจากรังสิต - ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปทุมธานี โดยระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง ) จะใช้เส้นทางเดินรถไฟต่างจังหวัดที่เราใช้กันมา 100 กว่าปีที่ผ่านมา และจะพัฒนาระบบรางเดี่ยวเป็นระบบรางคู่ โดยมีรูปแบบการก่อสร้างระบบรางเพื่อแก้ปัญหาการจราจร ด้วยการยกระดับรางขึ้นเพื่อให้ถนนด้านล่างใช้สำหรับรถวิ่งผ่านไปมาได้ โดยไม่ต้องปิดกั้นเมื่อรถไฟวิ่งผ่าน ทำให้ไม่เกิดการชะลอตัวการจราจร

โครงการดังกล่าวการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการทั้งหมด เพื่อให้บริการผู้โดยสารระหว่างพื้นที่ย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพ ฯ กับพื้นที่ปริมณฑลในรูปแบบรถไฟฟ้ารูปโฉมทีทันสมัยขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ในปัจจุบันนี้โครงการได้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตรแล้ว เมื่อเดือนมกราคม 2556 และคาดว่าจะเสร็จเสร็จในปี 2560

โดยมีเส้นทางการเดินรถจากสถานีเขตบางซื่อ-จตุจักร-วัดเสมียนนารี-ทุ่งสองห้อง-บางเขน-การเคหะ ดอนเมือง-หลักหก และจะดำเนินการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อขยายไปจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.56 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟระดับดิน ขนาดราง 1 เมตร จำนวน 3 ราง สามารถรองรับได้ทั้งรถไฟฟ้าระบบสายส่งเหนือราง (Overhead Catenary System) สามารถเดินทางเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยชุมชนโดยรอบและชุมชนเมืองได้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากเส้นทางเดินรถจากสถานีรังสิต-สถานีคลอง 1-สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ-สถานีเชียงราก-สิ้นสุดที่สถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แดงหลักสร้างแล้ว พร้อมแผนสร้างอีก 3 สาย

ล่าสุดวันที่ 25 ตุลาคม 2556 มีรายงานถึงความคืบหน้าในการการก่อสร้างมีรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ระบุว่า ได้ปรับพื้นที่ขุด เจาะวางเสาเข็ม เพื่อก่อสร้างสถานีบางซื่อ และปรับพื้นที่รื้อย้ายรางหน้าย่านโรงรถจักรและตัดเสา Hopewell  ออกไปแล้ว ส่วนบริเวณก่อนถึงสะพานรัชวิภา มีการตัดเสาฝั่งตะวันออกไปแล้วจำนวนมาก แต่ฝั่งตะวันตกพื้นที่ยังติดผู้บุกรุกอยู่ บริษัทผู้รับเหมายังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ ส่วนสถานีบางเขนเตรียมพื้นที่วางอาคารคอนเทนเนอร์สำหรับอาคารชั่วคราว โดยงานที่มีความคืบหน้าที่สุด คือสถานีทุ่งสองห้อง มีโครงสร้างของเสาต้นแรกแล้ว สำหรับสถานีหลักสี่ร้านค้าถูกรื้อและบริเวณฝั่งถนนโลคัลโรด ได้ปรับพื้นที่ตอกเสาเข็มเป็นแนวยาว แต่สถานีหลักหกยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากผู้บุกรุกยังไม่เคลื่อนย้ายออกไป

ทั้งนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตามแผนแล้ว จะมีการดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีแดง อีกทั้งหมด 3 สาย ในอนาคต คือ

สายที่ 1 สีแดงเข้ม (ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-มหาชัย) เป็นเส้นทางตามแนวเหนือ-ใต้ ระยะทาง 80.5 กิโลเมตร

สายที่ 2 สีแดงอ่อน (ศาลายา-หัวหมาก) เป็นเส้นทางตามแนวตะวันออก- ตะวันตก ระยะทาง 54 กิโลเมตร

สายที่ 3 แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ (ดอนเมือง-พญาไท-สุวรรณภูมิ ) เป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานดอนเมืองกับท่าอากาศสุวรรณภูมิ ระยะทาง 50.3 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.5 กิโลเมตร

ใช้รถยนต์เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า 6 เส้นทาง

สำหรับแผนการด้านการให้บริการเพื่อเชื่อมต่อระหว่างรถโดยสารธรรมดากับ รถไฟฟ้านั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งมวลชน (สนข.) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง มีแผนรองรับการขนถ่ายมวลชนเพื่อใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงชานเมืองและโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต -สะพานใหม่ -คูคต  และเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น โดยมีแผนการเชื่อมต่อการเดินทางของผู้โดยสารจากระบบขนส่งมวลชน เขตพื้นที่จ.ปทุมธานี เน้นพื้นที่หลักบริเวณเชื่อมต่อกับสถานีของรถไฟฟ้าทั้งสองโครงการ 6 เส้นทางดังนี้

สายที่ 1 สถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต–หออัครศิลปิน วิ่งไปตามทางหลวงหมายเลข 3214 วัดพระธรรมกาย สิ้นสุดที่หออัครศิลปิน ถนนคลองห้า ระยะทาง 13.63 กิโลเมตร มี 10 สถานี ใช้เวลาเดินทาง 34 นาที ความถี่ในการเดินรถทุก ๆ 2.5 นาที ค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย เปิดให้บริการในปี 2562 พร้อมกับรถไฟสายสีแดง โดยเสนอเป็นระบบรถประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) มีทั้งวิ่งบนทางยกระดับ จากสถานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปจนถึงคลองสาม ระยะทาง 9.5 กิโลเมตร และจากคลองสามถึงคลองห้าระยะทาง 4.1 กิโลเมตร วิ่งบนถนนพื้นราบ

สายที่ 2 สถานีรังสิต-เมืองปทุมธานี จากสถานีรังสิต ไปตามถนนรังสิต-ปทุมธานี สิ้นสุดที่หน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 12.05 กิโลเมตร

สายที่ 3 สถานีรังสิต–ธัญบุรี จากสถานีรังสิต วิ่งไปตามถนนรังสิต-นครนายก สิ้นสุดที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ระยะทาง 16.22 กิโลเมตร โดยสายที่ 2 และ 3 เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อร่วมกันมี 14 สถานี ใช้เวลา 46.3 นาที ความถี่ในการเดินรถทุกๆ 2.5 นาที ค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย เปิดให้บริการในปี 2561 เป็นระบบรถ BRT มี 3 รูปแบบ วิ่งร่วมช่องจราจรทั่วไป วิ่งช่องทางเฉพาะ

และอีก 3 เส้นทางใช้รูปแบบรถ Shuttle Bus วิ่งยกระดับอาจจะเป็นรถตู้ รถสองแถว หรือรถเมล์ขนาดเล็ก สายที่ 1 ถนนคลองหลวง–ถนนรังสิต–นครนายก เริ่มจากถนนคลองหลวง หน้าวัดพระธรรมกาย เข้าถนนคลองสอง ถึงถนนรังสิต-นครนายก เลี้ยวกลับเข้าถนนคลองสาม สิ้นสุดถนนคลองหลวง ระยะทาง 20.7 กิโลเมตร

สายที่ 2 ถนนลำลูกกา-ถนนรังสิต-นครนายก เริ่มจากถนนรังสิต-นครนายก ช่วงระหว่างคลองสองกับคลองสาม เลี้ยวเข้าถนนฟ้าคราม ลำลูกกา และกลับไปใช้ถนนชลมารคพิจารณ์ จนถึงถนนรังสิต-นครนายก ระยะทาง 14.4 กิโลเมตร

สายที่ 3 สถานีคูคต–ถนนวงแหวนรอบนอก เริ่มจากสถานีคูคต ของสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว วิ่งไปตามถนนลำลูกกา สิ้นสุดห้างบิ๊กซี ลำลูกกา เลยจุดตัดถนนวงแหวนรอบนอก ระยะทาง 7.9 กิโลเมตร

ชี้หลักการสร้างรถไฟ ต้องเน้น ค่าโดยสารถูก-สะดวก

นายนคร จันทรศร ที่ปรึกษาโครงการระบบราง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  ผู้กำหนดแผนนโยบายรถไฟฟ้าสายสีแดง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอดีตรองผู้ว่าการ ด้านบริหารโครงการระบบรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า แนวทางสำหรับในการออกแบบเส้นทางรถไฟ ตามหลักการแล้วควรวางแผนว่า จะวิ่งรถไปรับคนหรือจะให้คนเดินไปหารถ วิธีการออกแบบโดยวิ่งรถไปรับคนเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Run-Through Operation  ซึ่งผู้โดยสารสามารถนั่งรถขบวนเดียวไปได้ไกลที่สุด ไม่ต้องเปลี่ยนรถ ไม่ต้องลงเดิน มีความสะดวกสบาย ไม่เหนื่อย ส่วนการให้คนเดินไปหารถ ผู้โดยสารต้องลงเดิน ไม่สะดวกและเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางมาก ดังนั้นจะออกแบบระบบรถไฟให้เป็นแบบใด ต้องดูที่ผู้โดยสารเป็นเกณฑ์ อย่างไรก็ตามรถไฟซึ่งเป็นบริการขนส่งสาธารณะ จะเป็นที่ดึงดูดให้คนเปลี่ยนวิธีการเดินทาง จากการขับรถยนต์มาใช้บริการก็ต่อเมื่อ หนึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางพอรับได้ สองเวลาในการเดินทางพอรับได้และสามความสะดวกสบาย ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางพอยอมรับได้

จุดมุ่งหมายในการขนส่งคนจากที่อยู่อาศัยนอกเมือง มาส่งต่อให้กับระบบกระจายคนในเมือง ระบบนี้จะมีสถานีอยู่ห่างกัน ขบวนรถจะวิ่งเร็วกว่าและวิ่งเลยศูนย์กลางเมืองออกไปอีกด้านหนึ่ง เพื่อย่นระยะเวลาเดินทางของคนที่ต้องการเดินทางไปยังฝั่งตรงข้ามของเมือง และนั่นคือ หน้าที่ของทางรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง ระบบขนส่งมวลชนซึ่งทำหน้าที่กระจายคน (Feeder / Distributor) จะวางเส้นทางในแนวเส้นรอบวง (Circumferential Pattern)และพยายามให้ครอบคลุมพื้นที่ของเมืองให้มากที่สุด ซึ่งก็คือหน้าที่ของรถบีทีเอส รถใต้ดิน รถไฟสายสีเขียว สีน้ำเงิน (รถใต้ดินต่อขยาย)และสีเขียว (รถบีทีเอสต่อขยาย) ส่วนพื้นที่ซึ่งไกลเกินกว่าระยะเดินเท้าของผู้โดยสาร จะมีระบบขนส่งย่อย (Feeder) อื่นเข้ามาเติมเต็มช่องว่างระบบขนส่งย่อยเหล่านี้ได้แก่ รถเมล์ รถโมโนเรล รถบีอาร์ที ฯลฯ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ตัดสินใจทิ้งรถไว้นอกเมืองและเดินทางเข้าเมืองมาโดยใช้รถไฟ

รถตู้ไม่อยากให้สร้าง เกรงกระทบรายได้

เมื่อโดยหลักการของระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าเป็นเช่นนี้ ความสะดวกสบายย่อมเกิดขึ้นในพื้นที่ที่รถไฟฟ้าเข้าไปถึง แต่ก็มีความรู้สึกที่ตรงกันข้ามโดยเฉพาะกลุ่มรถโดยสารรูปแบบต่าง ๆ ที่ยังคงหวาดหวั่นกับผลกระทบเรื่องรายได้ที่ย่อมเกิดขึ้นหลังรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ

นายดิชัย มนพิมาย คนขับรถตู้และเจ้าของรถ สายธรรมศาสตร์-อนุสาวรีย์ กล่าวว่า ไม่อยากให้สร้างรถไฟฟ้า เพราะหากมีรถไฟฟ้ามาถึงรังสิตจริง ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารคงได้รับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากนักศึกษา ประชาชน จะต้องหันไปขึ้นรถไฟฟ้ากันหมด เช่นทุกวันนี้ถ้านักศึกษาต้องนั่งรอบนรถตู้นานกว่าจะออก เขายังไม่รอ ลงจากรถรวมตัวกันขึ้นรถแท็กซี่เลย

            “ทุกวันนี้รถตู้สายรังสิต-อนุสาวรีย์ชัยฯ วิ่งได้วันละ 4-5 เที่ยวต่อคัน เริ่มตั้งแต่ตี 5 ถึง 4 ทุ่ม ในช่วงปิดเทอมวิ่งได้ประมาณวันละ 3 เที่ยว รายได้ก็จะแย่อยู่แล้ว ถ้ารถตู้ที่ยังต้องผ่อนค่าซื้อรถอยู่คงลำบาก คงต้องขายรถตู้ทิ้งกันแน่ ๆ สำหรับคนที่ผ่อนรถหมดแล้ว ยังสามารถหางานนอก งานเหมาได้บ้าง แต่ผมก็ไม่รู้ว่ารถไฟฟ้าที่จะวิ่งผ่านทางรังสิตจะเริ่มจากที่ไหน และเรียกว่าสายสีอะไร รู้แต่ว่าจะมีรถไฟฟ้ามาแถว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รู้ก็คุย ๆ กับคนขับรถตู้ด้วยกัน” นายดิชัยกล่าว

ทั้งนี้จากการสำรวจคิวรถตู้ย่านรังสิตฟิวเจอร์พาร์ค ที่ให้บริการขนส่งมวลชนเข้าสู่เมือง ประเมินรายได้วันละราว 3,000,000 บาท เนื่องจากรถตู้ยังคงเป็นช่องทางการโดยสารของประชาชนที่ได้รับความนิยมและความสะดวกสบายที่สุดในเวลานี้ แต่หากพัฒนาโครงการระบบการขนส่งทางราง รถไฟฟ้าชานเมือง เพื่อขนส่งมวลชนเข้าสู่เมือง ด้วยความสะดวก สบาย ปลอดภัย ตรงเวลา และเชื่อมโยงการเดินทางของระบบรถไฟฟ้าและโครงข่ายระบบขนส่งอื่น ๆ ได้ครบวงจร ประชาชนจะให้ความนิยมและหันมาใช้บริการรถไฟฟ้า  ทำให้ประหยัดค่าเชื้อเพลิงการขนส่ง โดยสามารถแก้ปัญหาการจราจรและสิ่งแวดล้อมได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่กลุ่มรถตู้อาจจะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดต่อไป

รฟท.หวั่นโครงการสะดุดเพราะไม่มีรัฐบาลอนุมัติ

อย่างไรก็ตามล่าสุด นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้สัมภาษณ์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ระบุถึงอุปสรรค ในการเดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงบางซื่อ-รังสิตว่า โครงการเร่งด่วนของ ร.ฟ.ท.ที่ต้องขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ คือขอปรับแบบก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร ให้รับกับรถไฟความเร็วสูง ถ้าไม่มีรัฐบาลใหม่มาอนุมัติ ทาง ร.ฟ.ท.จะให้ผู้รับเหมาหยุดการก่อสร้างไว้ก่อน รอจนกว่าจะมีแบบใหม่ จากนั้นให้ผู้รับเหมาขยายเวลาภายหลัง โดยใช้เหตุผลจากการได้รับผลกระทบมาจากการเมือง

            “ประเด็นอยู่ที่ว่า จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าไม่มี หรือเลื่อนไปจากเดือนกุมภาพันธ์นี้ เราต้องให้ผู้รับเหมาหยุดก่อสร้าง ปัจจุบันผู้รับเหมาก่อสร้างตามแบบเดิม ยังดำเนินการได้แค่ 1-2 เดือนนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่จะสร้างตามแบบใหม่แล้วไม่สามารถทำได้ ก็ต้องหยุด”

นั่นหมายความว่าประชาชนจะต้องรอที่จะมีโอกาสใช้รถไฟฟ้าสายนี้ต่อไปอีก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: