สำรวจสองขั้วขัดแย้ง'หาบเร่แผงลอย’ ปากท้องคนกรุงเทพฯvsสิทธิคนเดินเท้า

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล และรวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 28 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 5427 ครั้ง

ศูนย์ข่าว TCIJ ลงพื้นที่สำรวจหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ เพื่อติดตามปัญหาการปะทะกันระหว่างสิทธิของคนเดินเท้ากับสิทธิการทำมาหากิน  ภายหลัง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ประกาศการเข้มงวดกวดขัน แม้ว่าจะมีความพยายามออกกฎระเบียบ เพื่อกำกับดูแลหาบเร่แผงลอยอยู่เป็นระยะ แต่ในทางปฏิบัติกลับดูไร้ผล บางพื้นที่หาบเร่แผงลอยยึดครองพื้นที่ทางเท้า กระทั่งคนเดินเท้าต้องลงไปเดินบนถนนแข่งกับยวดยานพาหนะ สร้างปัญหาด้านความปลอดภัยและสาธารณสุข คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยเห็นว่า จะต้องจัดการนำหาบเร่แผงลอยออกไปให้หมดสิ้น และนำทางเท้ากลับมาเป็นของสาธารณะ ขณะเดียวกัน คนกรุงเทพฯอีกจำนวนมากก็เห็นว่า ต้นตอปัญหาเกิดจากการปล่อยปละละเลยให้กรุงเทพฯ ขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง รวมถึงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตในเมืองหลวง ทำให้หาบเร่แผงลอยเป็นที่พึ่งสำหรับปากท้องที่สำคัญที่สุดของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย

ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีจุดผ่อนผันสำหรับหาบเร่แผงลอยอยู่กว่า 1,400 จุด ผู้ค้าที่อยู่ในจุดผ่อนผันเหล่านี้มีประมาณ 5-6 หมื่นราย แต่หากนับรวมผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ทั้งหมดที่อยู่นอกจุดผ่อนผันด้วย ก็จะมีจำนวนสูงถึง 1.2 แสนราย

หาบเร่แผงลอยฐานชีวิตคนจน-ปากท้องคนเมือง

หาบเร่แผงลอยถือเป็นเศรษฐกิจนอกภาคทางการ ที่ไม่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ แต่แม้จะไม่ได้เสียภาษี กลับเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่และคงความสำคัญอย่างมาก ตัวเลขที่เคยมีการรวบรวมไว้ พบว่า ในปี 2545 ขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบ (ที่ไม่รวมอาชีพผิดกฎหมาย) มีมูลค่าประมาณ 2.38 ล้านล้านบาท หรือ เกือบครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี คิดเป็นร้อยละ 43.8 ของจีดีพี  ทั้งยังเป็นแหล่งรายได้และสร้างงานของคนในประเทศร้อยละ 73 หรือประมาณ 23 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ต้องกล่าวว่า ตัวเลขข้างต้นไม่ใช่แค่มูลค่าทางเศรษฐกิจของหาบเร่แผงลอยเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงเศรษฐกิจนอกภาคทางการทั้งหมด เช่น มอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง การผลิตสินค้าขายในชุมชน เป็นต้น ถึงกระนั้นก็ช่วยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและขนาดอันใหญ่โตของเศรษฐกิจนอกภาคทางการ ซึ่งในปี 2557 ขนาดของเศรษฐกิจนอกภาคทางการ น่าจะใหญ่โตกว่าเมื่อปีการสำรวจ 2545 มาก

งานวิจัยเรื่อง ‘รายได้ รายจ่าย หนี้สิน และการออม ของครัวเรือนหาบเร่แผงลอย กรณีศึกษา : ชุมชนท่าพระจันทร์’ ปี 2552 ของ ดวงฤทัย พรธเนศ ระบุว่า อาชีพหาบเร่แผงลอยมีบทบาทในการพยุงราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลิตอาหารราคาถูกให้แก่แรงงานในเมือง ช่วยกระจายสินค้าไปสู่ผู้มีรายได้ต่ำและปานกลางอย่างทั่วถึง ให้ความสะดวกแก่ประชาชนในการซื้อสินค้าที่จำเป็น ทำให้ผู้ที่ยากจนมีงานทำ มีรายได้จุนเจือครอบครัว จึงถือได้ว่าหาบเร่แผงลอยเป็นฐานชีวิตที่สำคัญของคนจนจำนวนหนึ่งในเขตเมือง นอกจากนี้ มูลค่าการค้าขายของหาบเร่แผงลอย ยังเป็นการค้าในประเทศ ที่สร้างรายได้จำนวนมากให้แก่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม และสนับสนุนการพึ่งตัวเองของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

หาบเร่แผงลอยจุดเชื่อมโยงชนบท-เมือง

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ นักวิชาการสถาบันพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชวนให้ลองจินตนาการว่า หากวันพรุ่งนี้ หาบเร่แผงลอยทุกแห่งในกรุงเทพฯ หายไป ไม่เพียงความโกลาหลจะเกิดแก่คนกรุงเทพฯ  หาบเร่แผงลอยยังเป็นน้ำหล่อเลี้ยงที่สำคัญของภาคเมือง และชีวิตคนเมือง เป็นตัวเชื่อมโยงความลื่นไหลระหว่างชนบทกับเมือง ซึ่งรศ.ดร.ปัทมาวดี กล่าวว่า

            “คนชนบทเวลาคิดถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ก็จะนึกถึงเมือง แต่เมื่อเข้ามาแล้วจะทำมาหากินตรงไหน การมีพื้นที่เล็ก ๆ ให้ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ จึงทำให้บทบาทของหาบเร่แผงลอยมีความสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะในเชิงเศรษฐกิจ แต่ยังมีผลในเชิงสังคมด้วย เพราะการที่คนสามารถมีพื้นที่ทำกินได้ ทำให้มีความมั่นคงในชีวิต”

การที่หาบเร่แผงลอยเพิ่มจำนวนขึ้นมาก ด้านหนึ่งต้องพึ่งพาคำอธิบายชุดหนึ่ง ที่ยังคงความจริงอยู่ไม่น้อย นั่นก็คือ การกระจายการพัฒนาที่ยังไม่ทั่วถึง เป็นเหตุให้คนต่างจังหวัดส่วนหนึ่งต้องอพยพเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งคนต่างจังหวัดกลุ่มที่ต้นทุนความรู้ไม่มากพอ ก็มักจะเลี้ยงปากท้องด้วยการจับจองทางเท้า เป็นพื้นที่ทำกิน ภาพของหาบเร่แผงลอยขายอาหาร ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นภาพของคนที่อยู่ชายขอบสังคมในหลายด้าน คนกลุ่มนี้หารายได้ก่อนหักต้นทุน ได้ประมาณวันละ 752-1,261 บาท หาบเร่แผงลอยจึงเป็นแหล่งสะสมทุนและเป็นแหล่งดูดซับแรงงานส่วนเกินจากภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ สำหรับคนที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร

กว่าครึ่งศตวรรษของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นความสำคัญของภาคเมืองและภาคอุตสาหกรรม ไม่เพียงทำให้ภาคการเกษตรอ่อนแอลง แต่ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอย่างขนานใหญ่ ที่ดินที่เคยเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุด หลุดมือจากเกษตรกรยากจนไปสู่นายทุนพานิชย์ จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่เกษตรกรจะหวนกลับไปสู่การผลิตบนผืนดิน และเมื่อความเป็นเมืองขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด วิถีการผลิตและหนทางการยังชีพของคนชั้นล่าง จนถึงคนชั้นกลางจำนวนมาก จึงเป็นการ “ทำมาหากิน” ในรูปแบบของการใช้ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสด (cash flow) โดยเร็ว  ซึ่งหาบเร่แผงลอย ก็คือการลงทุนปัจจัยการผลิตที่เป็นไปได้มากสุด เพียงแค่รถเข็น หม้อ กระทะ ชั้นวางของ  และการซื้อมาขายไป รวมถึงทักษะชีวิตขั้นพื้นฐานด้านการทำอาหารเป็น เป็นต้น

กทม.เน้นประนีประนอม แต่ต้องอยู่ในกติกา

การกำจัดหาบเร่แผงลอยออกจากทางเท้าจึงไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา แม้ว่าจะถูกจริตคนเมืองจำนวนไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า แนวทางของกรุงเทพมหานครในการจัดการปัญหาหาบเร่แผงลอย เน้นใช้แนวทางการประนีประนอม และเน้นการพูดคุยทำความเข้าใจ เพื่อให้อยู่ในกรอบกติกา มิใช่การหักหาญกำจัดหาบเร่แผงลอยออกไปจากพื้นที่

            “ผมเริ่มทำจากจุดที่ยากก่อน คือคลองหลอด คนบอกทำไม่ได้หรอก เขาอยู่มา 30-40 ปี เดี๋ยวนี้ตอนกลางวัน ไม่มีแล้ว ผมให้เขาขายกลางคืนตั้งแต่หนึ่งทุ่มเป็นต้นไป เมื่อก่อนรถไม่ต้องผ่านเลยนะ ผมค่อย ๆ แก้ทีละจุด ต่อมาปากคลองตลาด กลางวันรถแทบวิ่งไม่ได้เลย ห้าเลนเหลือเลนเดียว ผมเข้าไปเจรจา กลางคืนผมยอมให้คุณ เลนเดียวก็ยอม แต่ต้องหลังสามทุ่มไปแล้ว ส่วนกลางวันต้องไม่มี แต่เราก็ยังยอมให้จอดฝั่งละเลน เหลืออย่างน้อยสามเลน เพราะดอกไม้ต้องขายส่งทั่วประเทศ โบ๊เบ๊ก็ตกลงกันแล้วว่าจะขายกันฝั่งเดียว แต่บางพื้นที่ก็จะเข้มงวดไม่ให้มีการตั้งหาบเร่แผงลอย เช่น ก่อนถึงป้ายรถเมล์ 10 เมตร สะพานลอย หรือหน้าโรงพยาบาล เป็นต้น

พล.ต.อ.อัศวิน ยังให้ข้อมูลแก่ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีจุดผ่อนผันสำหรับวางขายสินค้าอยู่กว่า 1,400 จุด ผู้ค้าที่อยู่ในจุดผ่อนผันเหล่านี้มีประมาณ 5-6 หมื่นราย แต่หากนับรวมผู้ค้าหาบเร่ แผงลอย ทั้งหมดที่ไม่อยู่ในจุดผ่อนผันด้วย จะมีประมาณ 1.2 แสนราย  นับเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นสูงมากจากปี 2555 ที่ขณะนั้นกรุงเทพฯ มีจุดผ่อนผันเพียง 726 จุด และมีผู้ค้า 21,084 รายเท่านั้น

ใช้กลไกราคาจัดการ แต่ต้องแยกคนจน-คนชั้นกลางให้ชัด

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ปัทมาวดี ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ปัจจุบัน ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยจำนวนมากในกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนจนเช่นที่เข้าใจในอดีตอีกแล้ว แต่เป็นชนชั้นกลางที่อยู่สูงกว่าเส้นความยากจน และคนกลุ่มนี้ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งน่าจะแบ่งได้ 2 ประเภท คือผู้ที่มีงานประจำ แต่ต้องการหารายได้พิเศษ กับกลุ่มที่มีอาชีพเดินสายขายของตามตลาดนัดหรือย่านการค้า

ประเด็นนี้สะท้อนปัญหา 2 ประการคือ เมื่อพื้นที่สาธารณะมีจำกัด ย่อมเป็นไปได้ว่า ผู้ที่มีฐานะยากจนจริงอาจไม่สามารถเข้าถึง และใช้เป็นพื้นที่ทำกินได้ หรืออาจมีต้นทุนที่สูงขึ้น ประการที่ 2 การที่ชนชั้นกลางหันมาจับจองทางเท้าเป็นแหล่งประกอบธุรกิจ อาจหมายถึงอุปสรรคในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เช่น เงินทุน องค์ความรู้ ทำเล เป็นต้น ซึ่งกำลังฉายภาพของความเหลื่อมล้ำหรือไม่

            “เป็นความเหลื่อมล้ำแน่ ๆ อันหนึ่งที่เห็นชัด เวลาพูดถึงห้างหรือคอนวีเนียนสโตร์ที่เกิดขึ้น แล้วทำให้โชห่วยซบเซา แต่จุดอ่อนของโชห่วยคืออยู่กับที่ คนต้องมาหาเขาจึงจะขายได้ แต่สภาพการเกิดตลาดนัด ดิฉันคิดว่านี่เป็นนวัตกรรมใหม่ของตลาดในเมืองไทย คือมันเคลื่อนที่ไปหาลูกค้าและทำให้อยู่ได้ ราคาถูก แข่งกับห้างได้ ตอบสนองคนชั้นกลางอีกกลุ่มหนึ่ง ตรงนี้อาจเป็นเรื่องของคนที่ไม่มีทุน บางคนก็อยากขายของ มีของดี แต่ขึ้นห้างมันก็ต้องจ่ายเยอะ จึงถูกผลักออกมาในพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้

            “แต่ดิฉันคิดว่ามี 2 แบบ เขามาตรงนั้นเพราะเข้าไม่ถึงทรัพยากร ดิฉันเชื่อว่ามีคนที่สามารถเข้าถึง แต่มาตรงนี้เพราะต้นทุนต่ำกว่า มีรายได้สุทธิดีกว่า เพียงแต่ว่าไม่เคยมีการศึกษา ดังนั้นจะอ้างทุกอย่างด้วยความเหลื่อมล้ำอย่างเดียว  ดิฉันไม่ค่อยแน่ใจ ทุกคนที่มาอยู่ตรงนี้ไม่ใช่คนจนจริง ๆ” ดร.ปัทมาวดีกล่าว

ดร.ปัทมาวดีอธิบายว่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก กลไกเดียวที่จะใช้จัดการปัญหาหาบเร่แผงลอยคือกลไกราคา เพราะเมื่อต้นทุนสูงขึ้นจะผลักให้คนกลุ่มหนึ่งหลุดออกไป และหากจะจัดการด้วยวิธีนี้ กรุงเทพมหานครก็ต้องทำทั้งพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการโยกย้ายไปขายตามจุดอื่น ๆ แทน แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้เท่ากับผลักคนที่จนจริง ๆ ออกจากการใช้ทางเท้า ขณะที่ชนชั้นกลางจะจับจองทางเท้ามากขึ้น

            “คำถามคือ จะมีการคัดกรองอย่างไร มันต้องการข้อมูลอยู่พอสมควร ที่ทำยากคือในกทม. เพราะคนหลากหลาย ไม่มีทะเบียน เคลื่อนย้ายไปมา ต้นทุนการจัดการจะสูงพอสมควร คนที่มีรายได้มากแล้วมาวางขายก็กีดกันยาก เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ ถ้าเก็บฉัน ทำไมไม่เก็บคนอื่น เพราะคุณรวยกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต้องกลับไปเรื่องระบบภาษี แต่ก็ยากอีกในการบริหารจัดการ มันต้องมีระบบอื่นมาเสริม ถ้าคุณเป็นคนจนจริง ๆ และต้องการพื้นที่ตรงนั้นจริง และถ้าเราต้องการให้เป็นพื้นที่สาธารณะแล้ว ก็คงยากที่จะบอกว่าบางคนให้เข้า บางคนไม่ให้เข้าเพราะรวยกว่า”

วางผัง-วางแผนควบคู่ จัดพื้นที่ให้แต่ต้องใกล้ชุมชน

แม้จะยังเป็นปัญหาในทางเศรษฐศาสตร์ แต่ในทางการวางแผนภาคและเมือง ปัญหาหาบเร่แผงลอยใช่ว่าจะอับจนหนทาง เพียงแต่ต้องอาศัยการวางแผนและการวางผังควบคู่กัน อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า

            “เราจะคุยเรื่องหาบเร่แผงลอยจากมุมมองของใคร และจะใช้เหตุผลไหนในการจัดระเบียบ หนึ่ง เราจะพิทักษ์สิทธิของคนส่วนรวม ให้พื้นที่ที่เดินมันเดินได้จริง ผมเห็นด้วยที่จะยึดพื้นฐานตรงนี้เป็นหลัก แต่ถ้ามันกลายเป็นพื้นที่ส่วนรวม จนไม่มีที่เหลือสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางสังคม มันก็จะเป็นพื้นที่ส่วนรวมที่ไม่เห็นสภาพจริงของสังคม คือบางทีหลักการต้องปรับเปลี่ยนตามเงื่อนไขของบริบทของสังคม ซึ่งหมายความว่า ในกรณีไหนที่เราจะเอื้อให้กับคนบางกลุ่ม ที่จะใช้พื้นที่สาธารณะได้ เพื่อที่จะมีสิทธิ์ในการขายของ ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องของนโยบายสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดการพื้นที่สาธารณะทั่วไปว่า เราจะยอมผ่อนปรนหลักการบางอย่างที่สังคมพยายามจะยึดอยู่ อย่างพื้นที่สาธารณะ เราพยายามจะยึดไว้ แต่เราอยากจะผ่อนปรนตรงนั้นนิดหนึ่ง เพื่อให้คนยังอยู่กันได้ ซึ่งเป็นกรณีสำคัญที่จะต้องพูดถึง”

ในอุดมคติของการวางผังเมือง หรือการออกแบบเมือง ควรจะต้องเป็นการออกแบบที่เห็นคนอยู่ในพื้นที่ ขณะที่ปัจจุบันการออกแบบดังกล่าว มุ่งเน้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน และโครงสร้างขนาดใหญ่ มากกว่าพื้นที่เล็กๆ ที่คนใช้ร่วมกัน ขณะเดียวกันการวางผังต้องมาควบคู่กับแผน เพื่อให้การวางผังสอดคล้องกับภาพความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของเมือง แต่สิ่งที่เป็นอยู่ไม่ได้ดำเนินไปเช่นนี้ อภิวัฒน์กล่าวว่า การวางผังเมืองต้องวางไปพร้อม ๆ กับการวางแผน เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง และการบริหารความเปลี่ยนแปลง

            “เราจะจัดการพื้นที่อย่างไรให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของคนที่ด้อยโอกาสในสังคม ไปพร้อม ๆ กับจัดระเบียบให้พื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่สาธารณะจริง ๆ ทีนี้ผมคิดว่ามันจะต้องดูว่า สิ่งที่เรียกว่าสาธารณะนั้นสาธารณะขนาดไหน ทางเท้า เรายอมให้ขนาดไหน อันนี้ต้องไปเคลียร์กันก่อน พอเคลียร์ได้เสร็จ เราก็ต้องมาวางแผนต่อแล้วว่า ถ้าเรารู้ว่าตรงไหนเป็นอย่าง ไรแล้ว อีก 10 ปีข้างหน้า ตรงไหนที่เราคิดว่าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แล้วท้ายที่สุดมันเป็นภาพที่เราอยากจะให้เป็นหรือเปล่า”

อภิวัฒน์กล่าวถึง การแก้ไขปัญหาหาบเร่แผงลอยอย่างเป็นรูปธรรมว่า ประการแรกต้องแยกผู้ที่ไม่ใช่คนจนออกมาให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อกันพื้นที่ทางเท้าให้แก่คนจนจริง แล้วจึงคิดเรื่องการจัดหาพื้นที่ ซึ่งอภิวัฒน์เห็นว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่มากพอสำหรับเป็นพื้นที่ค้าขายของคนจน โดยเฉพาะร้านอาหารที่ถือเป็นปากท้องของคนเมือง เช่น ตามซอกหลืบ ตรอก หรือพื้นที่เล็ก ๆ ที่สามารถใช้องค์ความรู้ทางสถาปัตย์จัดการให้เกิดคุณค่าได้ โดยหน่วยงานรัฐต้องคำนึงถึงระยะทางระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ อาจไม่จำเป็นต้องนำหาบเร่แผงลอยไปกระจุกรวมอยู่จุดใดจุดหนึ่ง แต่จัดให้อยู่แบบกระจายเป็นหย่อม ๆ เพื่อให้สามารถอยู่ใกล้แหล่งชุมชนและผู้ซื้อ ขณะเดียวกันต้องหารูปแบบ ที่ส่งเสริมให้ชุมชนรอบข้างเข้ามาร่วมจัดการบริหารพื้นที่ด้วย

นอกจากการวางผังและวางแผน การกระจายอำนาจและความเจริญก็เป็นอีกหนทางหนึ่ง ในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รศ.ดร.ปัทมาวดีกล่าวว่า ที่ผ่านมาอำนาจและทรัพยากรถูกดึงเข้าสู่กรุงเทพฯ มากเกินไป หากทำให้ท้องถิ่นสามารถสร้างงานได้ ย่อมช่วยลดการอพยพของคนต่างจังหวัด

อีกด้านหนึ่ง ในเชิงหลักการแล้วมีการตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรที่จะดึงเศรษฐกิจภาคที่ไม่เป็นทางการเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มฐานภาษี แต่ภาษีต้องไม่สูงจนเพิ่มต้นทุนมากเกินไป เพื่อดึงดูดคนให้เข้าสู่ระบบ อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ยังสัมพันธ์กับปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจด้วย เพราะหากคนเหล่านี้เข้าไม่ถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ย่อมทำให้พวกเขาต้องออกมาบนทางเท้า การเก็บค่าเช่าที่ก็อาจจะเป็นเพียงปลายเหตุ ดังนั้นจำเป็นต้องกลับไปดูเชิงโครงสร้างในแง่ธุรกิจการค้า การแข่งขันที่เป็นธรรม และเปิดพื้นที่ให้คนที่ควรอยู่ในระบบได้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: