ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา "ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปสิ่งแวดล้อม ปฏิรูปอะไร" โดยมี ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมเสวนา
ดร.บัณฑูรกล่าวว่า ความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศไทย ต้องปฏิรูปที่กระบวนการกลไกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและเนื้อหาที่สำคัญของการปฏิรูป โดยขณะนี้กระแสการปฏิรูปประเทศ เริ่มมีความตื่นตัวอย่างมาก จากภาคประชาสังคมและภาคประชาชน และเรื่องที่ทุกภาคส่วนอยากให้เกิดการปฏิรูป คือเรื่องการคอร์รัปชั่น ปฏิรูปการกระจายอำนวจ และปฏิรูปการเมือง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศ และมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น กระแสการปฏิรูปประเทศ ยังคงต้องรวมการปฏิรูปสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา มีปัญหาที่แก้ไม่ได้หลายเรื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากผลประโยชน์ การคอร์รัปชั่น การกระจายอำนาจ และการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จึงจำเป็นต้องเร่งให้เกิดการปฏิรูปใน 3 ประเด็น คือ 1.ปฏิรูปกระบวนการนโยบายสาธารณะที่ต้องปรับปรุงรูปแบบกติกา และกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างจริงจัง โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต้องมีผลต่อการตัดสินใจทางสิ่งแวดล้อม เช่น การทำประชาพิจารณ์ การรับฟังความคิดเห็นประชาชนในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ความเห็นของประชาชนในพื้นที่ไม่ถูกนำมาใช้ในการตัดสินใจ ว่าจะทำโครงการหรือไม่ จนเกิดความขัดแย้งและศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มอีกครั้ง
2.ปฏิรูปเครื่องมือในการตัดสินใจทางสิ่งแวดล้อม เช่น การรื้อระบบโครงสร้างการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ โดยแยกเจ้าของโครงการออกจากการเป็นผู้ว่าจ้างจัดทำอีไอเอ ควรมีการกำหนดอายุอีไอเอที่ผ่านการอนุมัติแล้ว หากยังไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ควรมีการจัดทำอีไอเอใหม่ และอีไอเอต้องมีผลต่อการตัดสินใจยุติโครงการนั้น ๆ หากผลการศึกษาระบุว่า ส่งผลกระทำต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การสั่งให้กลับไปแก้ไขเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ต้องปฏิรูปองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่อนุมัติอีไอเอ เช่น สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้เป็นองค์การมหาชน และผลักดันการใช้การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ให้เกิดผลจริง (Strategic Environmental Assessment หรือ SEA) มาใช้ โดยเน้นที่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก หากโครงการมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ก็ให้ใช้ทางเลือกอื่น ๆ แทน ต่างจากการทำอีไอเอที่รู้ว่า โครงการนั้น ๆ มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่เจ้าของโครงการก็พยายามแก้ไขอีไอเอเพื่อให้สามารถทำโครงการนั้นๆ ได้
“จะเห็นว่าที่ผ่านมา หลายโครงการด้านอุตสาหกรรม สามารถดำเนินการจัดทำอีไอเอ จนสามารถทำโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้จนหลายแห่ง มีปัญหามลพิษส่งผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน จนต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ และยังคงประกาศอยู่ หมายความว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่ถูกแก้ไข ส่วนนี้จึงเป็นภาพความล้มเหลวของกระบวนการทางสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากรูปแบบกติกาการทำอีไอเอ ดังนั้น ควรมีการแก้ไขปรับปรุง และควรมีรอบการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน จนสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง จนต้องประกาศยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ แต่ปัจจุบันยังไม่มีพื้นที่ใดประกาศยกเลิก” ดร.บัณฑูร กล่าว
ผอ.สถาบันธรรมรัฐฯ กล่าวต่อว่า 3.ต้องปฏิรูปกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมโดยประเทศไทย มีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ ที่ยังค้างอยู่ในรัฐสภา และกฎหมายที่มีอยู่ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องปฏิรูป เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ที่มีอยู่แล้วให้มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งผลักดันร่างกฎหมายอื่น ๆ ที่ยังไม่เกิด เช่น พ.ร.บ.สิทธิชุมชนกับการร่วมจัดฐานทรัพยากร พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ พ.ร.บ.เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม และกฎหมายเฉพาะด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ในการปฏิรูปสิ่งแวดล้อม ดังนั้นข้อเสนอในการปฏิรูปภาคประชาสังคมต้องช่วยกันทุกฝ่าย อย่าฝากความหวังกับภาครัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวเพราะการเมืองไม่นิ่ง หากภาคประชาสังคมมีความพร้อมในการจะปฏิรูป ก็สามารถมาร่วมกันลงมือทำได้เลย โดยให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเป็นแกนหลักในการประสานงานช่วยออกแบบ ยุทธศาสตร์การปฏิรูปให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และก็มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อทำงานปฏิรูปในแต่ละประเด็น
ศศิน เฉลิมลาภ
ด้านนายศศิน กล่าวว่า การปฏิรูปสิ่งแวดล้อมมีการปฏิรูปกันมานาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อตั้งขึ้นก็กลายเป็นพื้นที่ทำให้นักการเมืองมาคอร์รัปชั่นและเข้ามาหาผล ประโยชน์กับทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าที่จะเข้ามาอนุรักษ์ดูแลรักษาไว้ ขณะที่การทำอีไอเอกลายเป็นเครื่องมือ ที่ให้คนที่หาผลประโยชน์มาใช้เป็นเครื่องต่อรองผล ประโยชน์แก่ตัวเอง และปัจจุบันองค์กรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมก็ลดน้อยลง การขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมของน้อยลงไปด้วย
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ