กฟผ.ละเมิดสิทธิพิจารณ์ ขนถ่านหินโรงไฟฟ้ากระบี่

28 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3860 ครั้ง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่แล้ว โดยที่การประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ ค.1 โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ซึ่งจัดขึ้นโดยกฟผ.กลับกลายเป็นกระบวนการที่ล้มเหลว ขาดความชอบธรรม และละเมิดสิทธิประชาชน

ตรงข้ามกับชื่อของเวทีที่ควรเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น พี่น้องชาวกระบี่ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ถูกข่มขู่ถึงความปลอดภัย มีการใช้ความรุนแรงทั้งทางวาจา การโห่ไล่ ใช้มือทุบ ขว้างปาขวดน้ำ และขว้างปาเก้าอี้ ในระหว่างการแสดงความคิดเห็น การมาของโรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้วิถีชีวิตของชุมชนชาวกระบี่ถูกทำลาย และเราจะต้องสูญเสียสรวงสวรรค์แห่งอันดามันไปอย่างถาวร แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากมายในเวทีรับฟังความคิดเห็น ถือเป็นการละเมิดสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองและของชุมชน

อย่างไรก็ตามเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า

1.การจัดทำกระบวนการ ค.1 มีการละเมิดสิทธิประชาชนหรือไม่

1.1 ชุมชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการกำหนดอนาคตตนเองด้วยการแสดงออกถึงการรวมตัวเพื่อทักท้วงและนำเสนอข้อมูลเพื่อชี้ทิศทางการพัฒนาที่ควรจะเป็น ในทางตรงกันข้ามเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาได้ล่วงละเมิดด้วยการไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายว่าด้วยขั้นตอนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งมีผลให้กระบวนการจัดทำ ค.1 มีผลเป็นโมฆะ

1.2 บริษัทที่ปรึกษาได้ล่วงละเมิดจรรยาบรรณ และข้อกำหนดของการจัดทำรายงานฯ แม้ในช่วงเวลาที่มีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็น ด้วยการกล่าวข้อมูลที่ยืนยันว่าการดำเนินกิจกรรมการขนส่งถ่านหินไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน อีกทั้งยังใช้เวลาล่วงเลยจนอาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิการใช้สิทธิของประชาชนในการแสดงความเห็นดังที่เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นแล้วทั่วประเทศ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงได้แสดงสิทธิของตนว่าบริษัทได้กระทำการเกินขอบเขตด้วยการยกมือขอให้บริษัทดำเนินการโดยการเคารพกติกา แต่การลุกขึ้นแสดงสิทธิดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองอีกทั้งยังมีการปิดไมล์โครโฟนสำหรับการแสดงความเห็นของประชาชน เมื่อเป็นเช่นนั้นประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงได้แสดงสิทธิของตนด้วยการยกป้ายแสดงเจตนารมณ์เพื่อคัดค้านการเกิดขึ้นของโครงการและเพื่อไม่ให้บริษัทดำเนินการที่ผิดหลักเกณฑ์ต่อไป

1.3 การแสดงออกดังกล่าวไม่ได้ก่อความรุนแรง เพียงเพื่อเตือนต่อบริษัทที่ปรึกษาให้ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง แต่การแสดงออกดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงขึ้น การใช้ความรุนแรงเริ่มด้วยการโห่ไล่ ใช้มือทุบ ขว้างเก้าอี้ ขว้างปาขวดน้ำ ทั้งที่วิธีการปฏิบัติเพื่อให้ผู้ชูป้ายยุติการกระทำสามารถดำเนินการได้ด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ก่อความรุนแรง ข้อสงสัยจึงมีอยู่ว่าเหตุใดฝ่ายปกครองจึงอนุญาตให้มีกองกำลังพิเศษมากมายขนาดนั้นและเหตุใดประชาชนที่เข้าร่วม ค๑ จึงร่วมก่อความรุนแรงต่อฝ่ายผู้คัดค้านด้วย จำเป็นต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาได้ร้องขอให้มีกองกำลังพิเศษต่อฝ่ายปกครองหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นถือว่ามีเจตนาที่ชัดเจนในการละเมิดสิทธิชุมชนโดยที่ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมและประกาศกระทรวงฯไม่ได้อนุญาตให้มีการจัดกองกำลังพิเศษ เหตุการณ์เช่นนี้ส่อให้เห็นถึงเจตนาเคลือบแฝงของเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาที่อยากผลักดันโครงการโดยไม่ใส่ใจต่อกระบวนการทางกฎหมาย อีกทั้งก่อนเริ่มเวทีค.1 ได้มีกระบวนการคุกคามอีกหลายรูปแบบ ภาวะเช่นนี้ดำรงอยู่ในนักการเมืองยุคปัจจุบันนึกไม่ถึงว่าบริษัทที่ประกาศว่าเป็นบริษัทธรรมาภิบาลจะมีพฤติกรรมเช่นนี้ด้วย

1.4 มีข้อพิสูจน์ต่อไปว่าการดำเนินการของประชาชนผู้ชูป้ายคัดค้านนั้นกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

2.การแสดงสิทธิของประชาชนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ที่มาของโรงไฟฟ้าละเมิดสิทธิชุมชนในการกำหนดอนาคตตนเองหรือไม่

2.1 การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 มิเพียงมีข้อพิจารณาประเด็นทางเทคนิคและรายละเอียดของโครงการเท่านั้น แต่มาตรา67 ได้บัญญัติขึ้นในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวดสิทธิชุมชน โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเพื่อให้สิทธิชุมชนในการกำหนดอนาคตตนเอง โดยระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 66 ว่า ‘บุคคลที่รวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน’ แม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 จะให้อำนาจว่า หากจะดำเนินโครงการจะต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนเสียก่อน กระนั้นก็ตามให้ถือสิทธิการกำหนดอนาคตของประชาชนเป็นหลักสำคัญการดำเนินกิจกรรมใดจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากร และสิทธิในการกำหนดอนาคตของประชาชน

2.2 การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินมีข้อพิจารณาว่าโครงการดังกล่าวได้ละเมิดต่อทิศทางการพัฒนาของคนส่วนใหญ่หรือไม่ เพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินได้รับการยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกรวมทั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกว่าเป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุด ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัดกระบี่อย่างยิ่งทั้งภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว ดังนั้นหากโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโครงการที่นำมาซึ่งการทำลายต่อการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิต่อการรวมตัวกันของชุมชนเพื่อจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 ดังนั้นประชาชนจึงมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะแสดงออกถึงการกำหนดอนาคตของตนเอง ส่วนประเด็นความมั่นคงด้านพลังงานนั้นได้ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีทางออกหลายประการโดยไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน อีกทั้งนานาประเทศต่างประกาศยุทธศาสตร์การก้าวไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนนั่นหมายความว่าพลังงานทางเลือกสามารถกลายเป็นความมั่นคงด้านพลังงานได้จริง เช่นนี้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งต้องการกำหนดอนาคตของตนเองจึงไม่ได้คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าแต่หากปฏิเสธการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินเท่านั้น

2.3 ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ.2552 เพื่อให้การเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๖๗ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งหน่วยงานเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดไม่ใช่คิดค้นหาช่องว่างของกฎหมายแล้วดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตนเพื่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้จงได้ หากเจ้าของโครงการหรือบริษัทที่ปรึกษามีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายถือว่าเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญซึ่งหมายถึงละเมิดต่อสิทธิของชุมชนในการกำหนดอนาคตตนเอง

2.4 การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินหมายรวมถึง กิจกรรมการทำเส้นทางขนส่ง การสร้างท่าเรือ และโรงไฟฟ้า ซึ่งโครงการหลักทั้ง๓ประการดังกล่าวถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะฉะนั้นเมื่อจะประเมินผลกระทบจึงต้องดำเนินการให้ประชาชนรับทราบกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดก่อน เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและชีวิตมนุษย์นั้นไม่ได้แยกตามกิจกรรมโครงการแต่ทุกกิจกรรมล้วนส่งผลกระทบทั้งนั้นและเมื่อรวมกันทั้ง 3 กิจกรรม ยิ่งส่งผลเป็นทวีคูณ การไม่ทำให้ประชาชนรับรู้ภาพรวมทั้งหมดของโครงการถือเป็นเจตนาหลบเลี่ยงการให้ข้อมูลอันสมบูรณ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

3.เจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาได้ละเมิดหรือปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่

3.1 กระบวนการรับฟังความเห็นเพื่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดขอบเขตและประเด็นสำคัญในการประเมินผลกระทบให้ถูกต้องครอบคลุมและชัดเจน ซึ่งกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ถูกกำหนดให้จัดขึ้นเมื่อวันที่9 มีนาคม 2557 ณ โรงเรียนบ้านคลองรั้ว อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ซึ่งมีขั้นตอนสำคัญที่กำหนดไว้ในกฎหมายคือ การกำหนดขอบเขตการประเมินผลกระทบโดยสาธารณะ (ค.1) ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน และเปิดเผยเอกสารก่อน 15 วัน ข้อเท็จจริงที่ต้องพิจารณาคือหน่วยงานเจ้าของโครงการ (กฟผ.)และบริษัทที่ปรึกษา (บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด) ได้ดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่

3.2 ประเด็นที่จะต้องพิจารณาคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครอบคลุมถึงระดับใด จากแผนที่การขนส่งถ่านหินตามที่หน่วยงานเจ้าของโครงการ (กฟผ.) ประกาศนั้นครอบคลุมพื้นที่เส้นทางขนส่งทางทะเลผ่านหลายพื้นที่ เช่น เกาะไห เกาะปอ เกาะห้า เกาะพีพี เกาะลันตา เกาะไผ่ เกาะศรีบอยา เกาะจำ และยังมีพื้นที่บนบกผ่านรางการขนส่งถ่านหินอีกจำนวนมาก  สำหรับการพิจารณาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นกฎหมายไม่ได้จำกัดเพียง๕กิโลเมตร การพิจารณาถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเพื่อให้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หมวดสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ

การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ระบุว่าให้หน่วยงานเจ้าของโครงการหรือกิจกรรม หรือหน่วยงานที่ให้ใบอนุญาต จัดเวทีกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Scoping) เพื่อให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย และภาคส่วนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอประเด็นห่วงกังวลและแนวทางในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และเพื่อให้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพเป็นไปอย่างครบถ้วนรอบด้านให้มากที่สุดการพิสูจน์ประเด็นนี้เพื่อทำความกระจ่างว่าผู้ใดสามารถเข้าร่วม ค.1 ได้บ้างและยังเป็นข้อพิจารณาว่าเจ้าของโครงการได้ปฏิบัติครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบถ้วนหรือไม่

3.3 ประเด็นที่ต้องพิจารณามีอีกว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาได้แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับรู้ครอบคลุมทั่วถึงหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่รับรู้การจัดทำ ค.1 ทั้งพื้นที่เกาะและพื้นที่บนบก มีเพียงกลุ่มผู้นำบางคนเท่านั้นที่ได้รับจดหมายเชิญจากเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาแม้บริษัทจะกล่าวอ้างว่าได้จัดทำการสื่อสารให้ประชาชนทราบแล้ว แต่เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้คือการทำให้ประชาชนรับรู้ไม่ใช่กำหนดที่วิธีการสื่อสาร หากบริษัทหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการ ส่อเจตนาว่าไม่ได้เคารพกฎหมาย จากข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์พบว่าประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับรู้มาก่อนว่าจะมีการจัดทำการรับฟังความเห็น ค.1 และหากพิจารณากลุ่มบุคคลตามข้อ 2.1 ยังตอกย้ำว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนเป็นไปอย่างจำกัดอย่างยิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นเจตนาการละเว้นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย

3.4 มีประเด็นที่ต้องพิสูจน์ต่อไปว่าประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับข้อมูลรายละเอียดโครงการก่อน 15 วันหรือไม่ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้ สามารถย้อนไปพิจารณาข้อเท็จจริงตามข้อ 2.1 ประเด็นการครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและข้อ 2.2 การแจ้งล่วงหน้าให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบก่อน 30 วัน จากข้อเท็จจริงทั้งสองประการพบว่าเกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติในข้อ 2.3 คือ เจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาไม่ได้ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลรายละเอียดของโครงการก่อนการจัดทำเวที ค.1 ล่วงหน้า 15 วัน หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดพบว่า การปฏิบัติของเจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงมีผลให้สภาพการจัดทำกระบวนการรับฟังความเห็นการกำหนดของเขตผลกระทบ(ค.1) มีสภาพเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น

การประกาศว่ากระบวนการ ค.1 ในวันที่ 9 มี.ค.ผ่านไปได้ย่อมต้องรับผิดชอบทั้งในแง่ที่มีอำนาจในการประกาศหรือไม่และในแง่ของความรับผิดชอบที่พึงมีต่อบทบัญญัติตามกฎหมาย ตามที่กล่าวมายืนยันว่าการดำเนินการของบริษัทล้วนละเมิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น จึงมีพฤติกรรมปกป้องการดำเนินการของตนให้ผ่านไปได้โดยยินยอมก่อความรุนแรงต่อประชาชนเพียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้การล่วงละเมิดต่อกฎหมายจึงเป็นความผิดที่เจ้าของโครงการและบริษัทที่ปรึกษาพึงรับผิดชอบทั้งมวล

3.5 จรรยาบรรณของผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องประกอบวิชาชีพด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยความเป็นกลาง ซื่อสัตย์ สุจริต ต้องไม่บิดเบือนข้อมูลที่จะนําเสนอหรือแสดงผลการวิเคราะห์ที่ไม่ถูกต้องเพียงพอ หรือเพื่อหวังให้งานบรรลุเป้าหมาย รวมทั้งไม่ใช้อํานาจหน้าที่ไม่ชอบธรรมหรือใช้อิทธิพลหรือให้ผลประโยชน์แก่บุคคลใด เพื่อให้ตนเองได้รับหรือผู้อื่นได้รับ ตลอดจนเพื่อให้ผลงานของตนได้รับความเห็นชอบ จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทที่ปรึกษาได้ทำหน้าที่ชี้แจงยืนยันว่าการก่อสร้างทุกกระบวนการไม่มีปัญหา แทนที่จะทำหน้าที่เพียงให้ข้อมูลโดยไม่ทำการสรุปยืนยันลงไปเพราะขั้นการทำ ค๑คือการรับฟังข้อห่วงกังวลเท่านั้น จากพฤติกรรมดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นถึงการละเมิดจรรยาบรรณของผู้ได้รับใบอนุญาตและส่อเจตนาอันไม่สุจริต ซึ่งต้องมีผลต่อการพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต

ด้วยพฤติการณ์ทั้งหมดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตและบริษัทที่ปรึกษา ถือว่ามีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการร่วมตัดสินใจการพัฒนาพื้นที่ทุกกระบวนการตั้งแต่ตอนต้นจนกระทั่งถึงกระบวนการ ค.1 ซึ่งเป็นสิทธิอันรับรองไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศ อันเป็นการรับรองสิทธิของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในอนาคตซึ่งอาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากความพยายามของเจ้าของโครงการ  ในขณะที่ภาคประชาชน ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว องค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดกระบี่ล้วนแสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการให้จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดนำร่องด้านพลังงานทางเลือกเป็นเมืองเกษตรและเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นของโลก ซึ่งเป็นเส้นทางการพัฒนาที่คนกระบี่ร่วมรับประโยชน์ โดยไม่ตกเป็นทาสของพ่อค้าถ่านหินที่มุ่งแสวงหากำไรเฉพาะกลุ่มตนแต่ปล่อยให้คนกระบี่เป็นผู้รับมลพิษเพียงฝ่ายเดียว

ท้ายที่สุดนี้เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ขอยืนยันว่า กระบวนการจัดทำ EIA, EHIA ของประเทศไทยทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้นเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน จึงไม่ยอมรับกระบวนการEIA,EHIA ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จ.กระบี่ และจะไม่ยอมรับกระบวนการจัดทำ EIA,EHIA จะที่เกิดขึ้นในพื้นที่จ.กระบี่นับจากนี้ จนกว่าจะมีการปฏิรูปการจัดทำEIA,EHIAที่เป็นธรรม

ติดตามข้อมูลข่าวสารจากแฟนเพจเฟสบุ๊คของ TCIJ

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: