พิจารณ์ท่าเรือสงขลาล่ม 'จะนะ'โอดเสียสละพอแล้ว

วันชัย พุทธทอง ศูนย์ข่าว TCIJ 28 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1597 ครั้ง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 เมษายน ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา กรมเจ้าท่า ร่วมกับ บริษัทที่ปรึกษา จัดสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 หรือ ค.1 โครงการศึกษาทบทวนและสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 โดยมีนายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า และนายทวีวุฒิสังข์ศิริ นายอำเภอจะนะ เป็นประธานเปิดสัมมนา มีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมเป็นจำนวนมากจนล้นห้องประชุม นอกจากนี้ ยังมีประชาชนจาก จ.สตูล เดินทางมาร่วมสัมมนาในครั้งนี้ด้วย 1 คันรถบัส เนื่องจากโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 เป็นโครงการต่อเนื่องเชื่อมโยงกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล

ทั้งนี้ตามกำหนดการที่กรมเจ้าท่ากำหนดไว้ คือ หลังจาก นายอำเภอจะนะ กล่าวเปิดงานเสร็จ จะมีผู้จัดการโครงการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ชี้แจงความเป็นมาให้แก่ประชาชนฟัง แต่เมื่อนายอำเภอจะนะ กล่าวเปิดงานเสร็จ กลุ่มชาวบ้านได้ใช้สิทธิของประชาชนแสดงความคิดเห็นต่อโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา ครั้งที่ 2

นายเจ๊ละ อนันทบริพงษ์ ตัวแทนชาวบ้านเปิดประเด็นด้วยถามคำถามต่อกรมเจ้าท่าว่า ลำคลองมีขอบเขตหรือไม่ ทะเลมีเขตหรือไม่ กรมเจ้าท่าอนุมัติให้บริษัทเอกชน ไถต้นไม้ริมคลองและทำการปักเขตคลอง เขตทะเลได้อย่างไร โดยจะมีการปักหลักและถมที่คลอง เทพา-สงขลา ชุมชนได้รับผลกระทบ

นายเจ๊ละกล่าวอีกว่า ส่วนโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 เป็นโครงการที่ใหญ่มาก ต้องการให้กรมเจ้าท่ากลับไปแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดให้ดีก่อน ชาวบ้านจึงจะเชื่อว่า กรมเจ้าท่าทำได้ เพราะฉะนั้นประชาชนต้องการยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 และยึดตามหลักศาสนาอิสลาม ที่ต้องการรักษาทรัพยากรไว้ให้อัลเลาะห์ ที่สำคัญเราทุกคนต้องรักษาสิทธิของตัวเอง ซึ่งชาวบ้านเห็นผลงานของกรมเจ้าท่าก่อนหน้านี้แล้ว กรมเจ้าท่าไม่เคยมีชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวใช้พื้นที่เท่าไร รัศมีการก่อสร้างส่งผลให้ชาวบ้านไม่สามารถทำมาหากินได้ แล้วการสร้างท่าเรือคนที่ได้ประโยชน์คือใคร เพราะสงขลาคือ แหล่งอาหารของอาเซียน พี่น้องจึงต้องการที่จะรักษาทะเลไว้

ด้านนางสุไรด๊ะ โต๊ะหลี กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ชาวบ้านขอหยุด ค.1 ครั้งนี้ไปเลย กรมเจ้าท่าใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 มาอ้าง แต่ชาวบ้านขอใช้ มาตรา 66 ซึ่ง มาตรา 67 คลุมเครือ จึงนำไปอ้างได้ ขณะนี้รัฐบาลกลางกำลังวุ่นวาย ดังนั้นขอให้หยุดไว้ก่อน ชาวบ้านอ.จะนะได้รับบทเรียน ได้รับความรู้จากโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย มาเจ็บปวดพอแล้ว เพราะฉะนั้นพวกเราจะสู้จนถึงที่สุด

            “ชาวบ้านมีความสุขโดยไม่ต้องซื้อมาด้วยเงิน เพราะทุกคนที่นี่มีความสุขกับวิถีชีวิตดั้งเดิมอยู่แล้ว คนจะนะเสียสละมามากแล้วกับกรณีโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรง และโรงแยกก๊าซ โครงการที่มีอยู่เอือมระอาพอแล้ว หลังจากนี้ชาวจะนะ จะไม่เสียสละอีกแล้ว” นางสุไรด๊ะกล่าว

ด้าน นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล กล่าวว่า ตอนนี้ที่ จ.สตูล อุทยานแห่งชาติไม่ให้เพิกถอนแล้ว EHIA ถูกยกเลิกไปแล้ว งบประมาณ 2.2 ล้านล้าน ก็ถูกยกเลิก เพราะฉะนั้นถ้าที่สตูลทำไม่ได้ที่จะนะก็ทำไม่ได้ รองอธิบดีกรมเจ้าท่ารู้แล้วมีคำถามว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ วันนี้มาจัดเวทีทำไมอีก ซึ่งทุก ๆ ครั้งกรมเจ้าท่าตอบคำถามไม่ได้ อธิบายไม่ได้ทุกครั้ง จึงมีข้อเสนอ ว่าขอให้ยกเลิกโครงการนี้

น.พ.สุภัทร์ ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ซึ่งเดินทางมาร่วมเวทีด้วย กล่าวว่า โครงการนี้ไม่สามารถรับฟังความคิดเห็นแยกส่วนได้ คือ หลายๆ โครงการจะแยกส่วนทำไม่ได้ มันต้องศึกษาทั้งระบบจึงจะยุติธรรม ถ้าจะทำการศึกษาขอให้ศึกษาโดยภาพรวม อยากให้มีการปฏิรูป EIA จริงๆ การนิยามให้รัศมี 5 กิโลเมตร ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง มันเป็นโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงทั้งจังหวัด มาบตาพุดเต็มแล้ว สิ่งที่ตามมามันคืออะไร เพราะที่นี่มีโรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้า พร้อมแล้ว มีศักยภาพที่เขาเตรียมไว้รองรับเพียงพอ ในฐานะส่วนราชการ ต้องแยกตัวเองออกมาจากบริษัทที่ปรึกษา แล้วทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย หาความจริงให้ชาวบ้าน ประเทศต้องพัฒนาก็ใช่ แต่ในการพัฒนามันต้องไม่กระทบต่อธรรมชาติ กับวิถีที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นรับไม่ได้กับการเปิดรับฟังความคิดเห็นในลักษณะนี้ มันไม่ยุติธรรมต่อชาวบ้าน

นายประสิทธิไชย หนูนวล จาก อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช คณะทำงานปฏิรูประบบ EIA กล่าวว่า รับไม่ได้กับพฤติกรรมที่ผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก โครงการนี้อยู่ในโครงการความรุนแรงในรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งมาตรา 66 เขียนก่อน คือ ลำดับที่ 1 ให้อำนาจกับประชาชนในการกำหนดอนาคตประเทศไทย ยกตัวอย่างพฤติกรรมของบริษัทที่ปรึกษา ที่เคยทำที่ท่าศาลา เคยจัดเวทีหลายครั้งแต่ไม่กล้ามา เพราะตอบคำถามประชาชนไม่ได้ ให้ประชาชนมั่นใจว่าเราทำถูกต้องแล้ว เพราะเราทำตามกฎหมาย ถ้ามีราชการมาอ้างว่าเป็นโครงการราชการ ชาวบ้านคัดค้านไม่ได้นั้น ประชาชนสามารถฟ้องได้เลย และอีกอย่างที่เห็นได้ชัดแล้วคือ EIA ในประเทศไทยไม่มีฉบับไหนที่ไม่ผ่าน หลังจากนี้เราต้องติดตามต่อว่า เขาจะเขียนให้ ค.1 นี้ผ่านอีกหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น ยังมีชาวบ้านทั้งในพื้นที่อ.จะนะ และจาก จ.สตูล ผลัดเปลี่ยนกันแสดงความคิดเห็น กระทั่งเวลาประมาณ 12.30 น. ชาวบ้านก็ขอให้กรมเจ้าท่า และบริษัทที่ปรึกษาเซ็นเอกสาร และประกาศให้เวทีความคิดเห็นครั้งนี้เป็นโมฆะ แต่ทางกรมเจ้าท่าไม่ยอมเซ็น และกล่าวว่า จะไม่มีการเซ็นเอกสารใด ๆ ก่อนทั้งหมดจะลุกออกจากหอประชุมไปอย่างรวดเร็ว ในส่วนชาวบ้าน หลังจากกรมเจ้าท่า และบริษัทที่ปรึกษาลุกออกไปจากห้องประชุมแล้วนั้น ก็ยังไม่ปักใจเชื่อ ยังคงปักหลักเฝ้าพื้นที่อยู่เพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่มีการประชุมใด ๆ เกิดขึ้นอีกจนถึงช่วงเย็น

อ่านบทความ ทำไมคนจะนะจึงไม่ต้องการท่าเรือน้ำลึกสงขลา

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4157

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: